×

สำรวจมาตรการสวมหน้ากากในต่างประเทศ ไทยจะเอาอย่างไรต่อ?

08.06.2022
  • LOADING...
สวมหน้ากากอนามัย

เดิมการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าเพื่อป้องกันการติดหรือแพร่เชื้อโควิด เป็นเพียง ‘คำแนะนำ’ ของหน่วยงานด้านสาธารณสุข ประชาชนสามารถตัดสินใจด้วยตัวเองว่าจะสวมหรือไม่สวม เหมือนการป้องกันโรคอื่นๆ 

 

ต่อมาการระบาดเพิ่มขึ้น หลายประเทศจึงยกระดับเป็น ‘คำสั่ง’ ให้สวมหน้ากากในสถานที่สาธารณะ ประชาชนจึงต้องปฏิบัติตามกฎหมาย และหากฝ่าฝืนจะถูกปรับตามกฎหมาย แต่เมื่อปัจจุบันการระบาดอยู่ในช่วงขาลง ประเทศส่วนใหญ่ก็เริ่มผ่อนคลายคำแนะนำ/คำสั่งนี้

 

สำหรับประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขพูดถึง ‘การถอดหน้ากาก’ มาระยะหนึ่ง จนมีความชัดเจนในวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 ว่าเตรียมเสนอ ศบค. ให้ถอดหน้ากากในพื้นที่นำร่อง แต่โฆษกรัฐบาลชี้แจงเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2565 ว่ารัฐบาลยังไม่มีนโยบายดังกล่าว 

 

จนกระทั่งมีความเคลื่อนไหวจากผู้ว่าฯ กทม. เตรียมหารือเรื่องการถอดหน้ากากในที่โล่ง เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 และ ศบค. ชุดเล็กกำลังพิจารณาเรื่องนี้ ทำให้ประชาชนกลับมาสนใจเรื่องการถอดหน้ากากอีกครั้ง

 

บทความนี้จะไปสำรวจมาตรการสวมหน้ากากในต่างประเทศในขณะนี้ว่าเป็นอย่างไรบ้าง

 

แคนาดา

การสวมหน้ากากเป็น ‘ทางเลือกส่วนบุคคล’ (Personal Choice) ประเทศแคนาดาอธิบายในคำแนะนำเรื่องการสวมหน้ากาก (ปรับปรุงล่าสุด 22 เมษายน 2565) ว่า ประชาชนบางคนอาจสวมหน้ากากต่อ แต่บางคนอาจไม่สวม โปรดเข้าใจและเคารพการตัดสินใจของผู้อื่น แต่หน่วยงานด้านสาธารณสุขยังคงแนะนำให้ประชาชนสวมหน้ากากในสถานที่สาธารณะภายในอาคาร และยืนยันว่าสามารถสวมหน้ากากได้ ถึงแม้ชุมชนหรือสถานที่นั้นจะไม่บังคับสวมหน้ากากก็ตาม โดยเฉพาะในกรณีต่อไปนี้

 

  • ผู้ที่มีความเสี่ยงต่ออาการรุนแรง
  • ผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ที่มีความเสี่ยงต่ออาการรุนแรง
  • เมื่อเยี่ยมสถานที่ที่พักรวมเป็นกลุ่ม
  • เมื่ออยู่ในสถานที่แออัด หรืออากาศถ่ายเทไม่สะดวก

 

อย่างไรก็ตามคำสั่งบังคับสวมหน้ากากแตกต่างกันในแต่ละรัฐ เช่น รัฐควิเบก ยกเลิกการบังคับสวมหน้ากากในร้านขายของชำ ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ฟิตเนส สนามกีฬา และสถานที่รัฐเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2565 ในขณะที่รัฐออนแทรีโอ ขยายมาตรการสวมหน้ากากในระบบขนส่งสาธารณะ โรงพยาบาล และบ้านพักคนชรา จากวันที่ 27 เมษายน 2565 เป็นสิ้นสุดวันที่ 11 มิถุนายนที่จะถึงนี้ และมีรายงานว่าหน่วยงานด้านสาธารณสุขกำลังพิจารณาว่าจะปรับมาตรการหรือไม่

 

สหรัฐอเมริกา

ตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา (CDC) แนะนำให้ประชาชนสวมหน้ากากตามความเสี่ยงของโควิดในชุมชน (COVID-19 Community Levels) ซึ่งประเมินจาก 3 ตัวชี้วัด คือ อัตราป่วยรายใหม่ อัตรารักษาตัวในโรงพยาบาล และอัตราครองเตียง แบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ต่ำ ปานกลาง และสูง (พื้นที่สีเขียว เหลือง และส้มตามลำดับ) ประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบระดับความเสี่ยงในพื้นที่ของตนเองได้จากเว็บไซต์ และปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้

 

  • พื้นที่สีเขียว การสวมหน้ากากขึ้นกับความต้องการส่วนบุคคล (Personal Preference)
  • พื้นที่สีเหลือง ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำหรือมีความเสี่ยงต่ออาการรุนแรง หรือผู้ที่อาศัยอยู่ร่วมกับบุคคลดังกล่าว ควรสวมหน้ากากในสถานที่สาธารณะภายในอาคาร
  • พื้นที่สีส้ม ทุกคนควรสวมหน้ากากในสถานที่สาธารณะภายในอาคาร

 

เดิม CDC เคยบังคับการสวมหน้ากากในระบบขนส่งสาธารณะ เช่น เครื่องบิน รถไฟ รถโดยสารประจำทาง แท็กซี่ ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม 2564 จนกระทั่งเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2565 ศาลชั้นต้นแห่งรัฐฟลอริดาพิพากษาเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวด้วยเหตุผลเชิงเทคนิค กล่าวคือ คำสั่งที่ไม่ตรงกับนิยามคำว่าสุขาภิบาล และกระบวนการออกกฎหมายละเมิดบัญญัติวิธีปฏิบัติทางปกครอง (APA) แต่ CDC ยังคงแนะนำการสวมหน้ากากในสถานที่สาธารณะภายในอาคารและระบบขนส่งสาธารณะอยู่

 

สหราชอาณาจักร

อังกฤษยกเลิกบังคับสวมหน้ากากตามกฎหมายตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2565 เพียง 3 สัปดาห์หลังจุดสูงสุดของการระบาดระลอกสายพันธุ์โอมิครอน แต่ยังคงแนะนำให้ประชาชนสวมหน้ากากต่อในสถานที่แออัดและอากาศถ่ายเทไม่สะดวก ซึ่งอาจทำให้สัมผัสกับผู้ที่ไม่ได้พบปะกันเป็นประจำ ลูกค้า แขก หรือเจ้าหน้าที่ สามารถเลือกที่จะสวมหน้ากากได้ในทุกสถานที่ ทั้งนี้การสวมหน้ากากยังจำเป็นในสถานพยาบาล เช่น โรงพยาบาล คลินิก ตามแนวทางของรัฐ

 

ต่อมาวันที่ 1 เมษายน 2565 สหราชอาณาจักรประกาศใช้แนวทางการอยู่ร่วมกับโควิดอย่างปลอดภัย (Living Safely with COVID-19) ซึ่งไม่ได้บังคับสวมหน้ากากตามกฎหมาย และแนะนำให้ประชาชนสวมหน้ากากในกรณีต่อไปนี้

  • เมื่อสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่มีความเสี่ยงต่ออาการรุนแรงจากการติดเชื้อโควิด หรือโรคติดเชื้อทางเดินหายใจอื่น
  • เมื่อการระบาดของโควิดอยู่ในระดับสูง และอาจสัมผัสใกล้ชิดกับผู้อื่น เช่น ในสถานที่แออัดและอาการถ่ายเทไม่สะดวก
  • เมื่อมีการระบาดของไวรัสทางเดินหายใจ เช่น ในฤดูหนาว และอาจสัมผัสใกล้ชิดกับผู้อื่น 

 

สำหรับผู้ป่วยหรือตรวจพบเชื้อโควิดควรสวมหน้ากากเพื่อลดการแพร่เชื้อ ส่วนนักเรียนหรือเด็กเล็กไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากาก และไม่แนะนำให้เด็กอายุต่ำกว่า 3 ปีสวมหน้ากาก ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย

 

เกาหลีใต้

ย้ายมาที่ฝั่งเอเชียกันบ้าง เกาหลีใต้เริ่มผ่อนคลายมาตรการสวมหน้ากาก ยกเลิกการบังคับสวมหน้ากากในที่โล่งนอกอาคาร (Outdoor) ตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2565 โดยนายกรัฐมนตรีคิมบูคยอมของเกาหลีใต้กล่าวว่า รัฐบาล “ไม่อาจมองข้ามความไม่สะดวกของประชาชนได้อีกต่อไป” เมื่อสถานการณ์การระบาดของโควิดเริ่มคงที่ อย่างไรก็ตามยังบังคับการสวมหน้ากากในกรณีที่มีการรวมตัวกันมากกว่า 50 คน เช่น การชุมนุม คอนเสิร์ต และสนามกีฬา รวมถึงภายในอาคารด้วย

 

ญี่ปุ่น

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2565 ฮิโรคาสุ มัตสึโนะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น กล่าวว่า รัฐบาลกำลังทบทวนมาตรการป้องกันโควิด พร้อมกับติดตามสถานการณ์ภายในประเทศและปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ จึงแนะนำให้ “ประชาชนถอดหน้ากากในที่โล่งเมื่อสามารถเว้นระยะห่างจากผู้อื่นได้ โดยเฉพาะเมื่ออากาศร้อนและความชื้นสูง” แต่ถ้าไม่สามารถเว้นระยะห่างได้เพียงพอขณะพูดคุยนอกอาคาร ควรสวมหน้ากาก เพราะมีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ

 

สำนักข่าว NHK สรุปมาตรการสวมหน้ากากในประเทศญี่ปุ่นว่า แนวทางใหม่กล่าวว่า

  • ประชาชนไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากากในสถานที่นอกอาคาร เช่น ขณะเดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน ยกเว้นเมื่อพูดคุยใกล้ชิด และในฤดูร้อนประชาชนควรถอดหน้ากาก เพื่อป้องกันโรคลมแดด (Heatstroke) 
  • ส่วนภายในอาคาร การสวมหน้ากากไม่จำเป็นเมื่อสามารถเว้นระยะห่างมากกว่า 2 เมตร และเมื่อไม่ได้พูดคุยกัน หรือพูดคุยกันเล็กน้อย เช่น การเข้าห้องสมุดหรือพิพิธภัณฑ์

 

ฮ่องกง

ฮ่องกงประกาศขยายการบังคับใช้กฎหมายภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างวันที่ 2-15 มิถุนายน 2565 ซึ่งในประเด็นการบังคับสวมหน้ากาก ระบุว่า ประชาชนต้องสวมหน้ากากตลอดเวลาเมื่ออยู่ในยานพาหนะสาธารณะ รวมถึงพื้นที่ของระบบขนส่งมวลชนทางราง (MTR) หรือในสถานที่สาธารณะ 

 

แต่อนุญาตให้ถอดหน้ากากในสถานที่นอกอาคาร เช่น สวนสาธารณะ และขณะมีกิจกรรมทางกายระดับหนัก เช่น การออกกำลังกาย การวิ่งในที่โล่ง ส่วนฟิตเนสและสนามกีฬา ผู้ใช้บริการและเจ้าหน้าที่ต้องสวมหน้ากากตลอดเวลา ยกเว้นขณะออกกำลังกาย หรือสถานที่ที่มีการถ่ายเทอากาศผ่านเกณฑ์

 

สิงคโปร์

ปิดท้ายที่ประเทศสิงคโปร์ ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2565 เป็นต้นมา สิงคโปร์บังคับสวมหน้ากากเฉพาะสถานที่สาธารณะภายในอาคาร และกับผู้ที่มีอายุ 6 ปีขึ้นไป ส่วนการสวมหน้ากากในที่โล่งเป็นทางเลือก (Optional) แต่ยังสนับสนุนให้สวมหน้ากาก โดยเฉพาะในสถานที่แออัด เนื่องจากหน้ากากสามารถลดการกระเด็นของละอองสารคัดหลั่งและการแพร่เชื้อ สำหรับผู้ที่มีอาการคล้ายโรคโควิด เช่น ไข้ ไอ น้ำมูกไหล ควรสวมหน้ากากเมื่อออกจากบ้าน

 

นอกจากนี้ประชาชนยังสามารถถอดหน้ากากขณะออกกำลังกายระดับหนักในที่โล่ง และกลับมาสวมหน้ากากอีกครั้งหลังออกกำลังกายเสร็จ กระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์อธิบายว่า สถานที่โล่งนอกอาคารมีการระบายอาการที่ดี ดังนั้นความเสี่ยงในการระบาดจึงต่ำ ตัวอย่างของสถานที่โล่ง เช่น ทางเดินหรือสะพานเชื่อมที่เปิดโล่ง ป้ายรถประจำทางและจุดเปลี่ยนรถที่มีการระบายอากาศตามธรรมชาติ และพื้นที่เปิด เช่น สาธารณะ สนาม และเส้นทางศึกษาธรรมชาติ

 

บทสรุป ‘บังคับ’ หรือ ‘แนะนำ’ ไว้ใจประชาชนแค่ไหน

‘คำแนะนำ’ การสวมหน้ากากเพื่อป้องกันการติดและแพร่เชื้อโควิด สะท้อนวิธีคิดของหน่วยงานด้านสาธารณสุขในแต่ละประเทศ ว่าประเมินความเสี่ยงในการแพร่ระบาดอย่างไร บุคคล/สถานที่/เวลาใดที่จำเป็นต้องสวมหน้ากาก ทั้งนี้ต้องขึ้นกับสถานการณ์การระบาดภายในประเทศด้วย เช่น อัตราการติดเชื้อ อัตราครองเตียง ส่วน ‘คำสั่ง’ บังคับสวมหน้ากาก สะท้อนวิธีคิดของรัฐบาลในประเทศนั้นๆ ว่าเคารพการตัดสินใจ (Autonomy) และความรับผิดชอบของประชาชนเพียงใด แต่ในอีกแง่หนึ่งก็สะท้อนถึงความกังวลต่อการควบคุมสถานการณ์การระบาดภายในประเทศนั้นด้วย

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X