×

ถอดบทเรียน ‘นาฬิกาเพื่อน’ 4 ปีผ่านไป สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลของสื่อและประชาชนอยู่ที่ไหน

20.09.2021
  • LOADING...
Prawit Wongsuwan

เป็นเวลาเกือบ 4 ปี ตั้งแต่สังคมเริ่มให้ความสนใจนาฬิกาหรูบนข้อมือของ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ปรากฏสู่สังคมครั้งแรกในการยกมือขึ้นบังแดดขณะถ่ายภาพหมู่คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2560 จนจุดกระแสการขุดคุ้ยบัญชีทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไปทั่วโลกออนไลน์

 

ทว่าการสืบสวนก็ถึงคราวสะดุดลง เมื่อมติของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไม่รับคดีนี้ไว้ไต่สวนตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2561 โดยไร้ซึ่งการเปิดเผยข้อมูลในกระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริง เป็นเหตุให้ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวออนไลน์ The MATTER ได้ยื่นฟ้อง ป.ป.ช. เพื่อทวงถามข้อมูลและความโปร่งใสในการทำงานขององค์กรอิสระที่มีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐในครั้งนี้ โดยล่าสุดศาลปกครองได้อ่านคำพิพากษาให้ ป.ป.ช. ต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของคดีนี้ภายใน 15 วัน

 

THE STANDARD ได้พูดคุยกับ ‘พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์’ ผู้สื่อข่าวและบรรณาธิการอาวุโส สำนักข่าวออนไลน์ The MATTER เพื่อถอดบทเรียนจากการเคลื่อนไหวของ ป.ป.ช. ในปมแหวนมารดานาฬิกาเพื่อนของ พล.อ. ประวิตร ที่ถึงแม้ในตอนนี้ยังไม่มีใครได้รับทราบคำชี้แจงของ พล.อ. ประวิตรที่ถูกปกปิด แต่สังคมอาจจะได้รับคำตอบบางอย่างจากกระบวนการตรวจสอบอันยาวนานของ ป.ป.ช. ชุดนี้ 

 

ย้อนความคดี ‘นาฬิกาเพื่อน 25 เรือน’ ของ พล.อ. ประวิตร  

  • 4 ธันวาคม 2560 พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้เข้าร่วมถ่ายภาพหมู่ของคณะรัฐมนตรีบริเวณหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ต่อมารูปภาพของ พล.อ. ประวิตร ที่ยกมือขึ้นบังแดดพร้อมสวมแหวนเพชร และนาฬิกาหรูยี่ห้อ Richard Mille มูลค่าหลายล้านบาทจากการถ่ายภาพดังกล่าวได้ถูกเผยแพร่บนสื่อสังคมออนไลน์ 
  • 7 ธันวาคม 2560 ป.ป.ช. ได้ส่งหนังสือให้ พล.อ. ประวิตรเข้าชี้แจง ต่อมา พล.อ. ประวิตร ยอมรับว่ายืมนาฬิกาเพื่อนมาใส่ แต่คืนหมดแล้ว
  • 16 มกราคม 2560 เพจเฟซบุ๊ก CSI LA ได้โพสต์สรุปข้อมูลนาฬิกาหรูของ พล.อ. ประวิตรจากการสืบค้น โดยระบุว่ามีนาฬิกาหรู 25 เรือน รวมมูลค่า 39.5 ล้านบาท
  • 29 มีนาคม 2561 ป.ป.ช. แถลงความคืบหน้าของคดี พบว่า พล.อ. ประวิตรยืมนาฬิกา 22 เรือน จากเพื่อนคนเดียว และเพื่อนเสียชีวิตไปแล้ว พร้อมตรวจสอบข้อมูลจากบริษัทตัวแทนจำหน่ายนาฬิกาหรูเพิ่ม โดย พล.อ. ประวิตรได้ส่งเอกสารชี้แจงมาทั้งหมด 4 ครั้ง
  • 27 ธันวาคม 2561 ป.ป.ช. มีมติ 5:3 ไม่รับพิจารณากรณีนาฬิกายืมเพื่อนของ พล.อ. ประวิตรเป็นคดี
  • 28 ธันวาคม 2561 พงศ์พิพัฒน์ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวออนไลน์ The MATTER ยื่นฟ้อง ป.ป.ช. กรณีไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับคดีนาฬิกาหรู 
  • ต้นเดือนมิถุนายน 2562 ป.ป.ช. ได้ส่งเอกสารลับ ซึ่งเป็นรายละเอียดมติของ ป.ป.ช. ให้พงศ์พิพัฒน์ พบว่าครึ่งหนึ่งเป็นเป็นเอกสารที่เคยเผยแพร่กับสาธารณชนไปแล้ว และอีกครึ่งหนึ่งเป็น ‘กระดาษเปล่า’ จึงดำเนินการยื่นอุทธรณ์ไปยังกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร แต่ ป.ป.ช. กลับไม่ทำตามการตัดสินของกรรมการฯ ท้ายสุดทางสำนักข่าวจึงยื่นฟ้องไปยังศาลปกครอง
  • 15 กันยายน 2564 ศาลปกครองกลางได้พิพากษาให้ ป.ป.ช. ต้องเปิดเผยผลสอบและคำชี้แจงเกี่ยวกับคดีนี้ให้พงศ์พิพัฒน์ ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด

 

พัฒนาการความโปร่งใสของ ป.ป.ช. ที่ลดน้อยถอยลง

  • พงศ์พิพัฒน์ ผู้สื่อข่าวและบรรณาธิการอาวุโสสำนักข่าวออนไลน์ The MATTER ได้ให้สัมภาษณ์ว่า การปิดบังข้อมูลของสารของ ป.ป.ช. ครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการควบคุมข้อมูลข่าวสาร จากการติดตามการทำงานของ ป.ป.ช. มาหลายปี ตนเห็นถึงพัฒนาการความโปร่งใสของ ป.ป.ช. ที่ลดลงน้อยถอยลงจนน่าตกใจและน่าเสียดาย เวลาผ่านไป อำนาจความยิ่งใหญ่ของ ป.ป.ช. เพิ่มมากขึ้น แต่ความโปร่งใสของ ป.ป.ช. กลับน้อยลงเรื่อยๆ
  • ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้มีการยื่นขอข้อมูลไปยัง ป.ป.ช. แล้วหลายเรื่อง ไม่ใช่เฉพาะกรณีนาฬิกาหรูของ พล.อ. ประวิตร แต่ก็พบว่าผลออกมาเหมือนกัน คือ ล่าช้า และพยายามปกปิดข้อมูลด้วยเหตุผลที่คลุมเครือ 

 

ใครจะตรวจสอบผู้ตรวจสอบคนอื่น

  • “ภารกิจของ ป.ป.ช. คือป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งโลกสมัยใหม่ หลักคิดในการป้องกันปราบปรามทุจริตคือหลักในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร แต่ ป.ป.ช. เองที่ควรจะเป็นต้นแบบกลับมีลักษณะแบบนี้” 
  • พงศ์พิพัฒน์กล่าวเสริมว่า ผู้ที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบคนอื่นควรจะโปร่งใสเป็นตัวอย่าง แต่ที่ผ่านมา หลายคดี ป.ป.ช. ก็ไม่เปิดเผยข้อมูลด้วยข้ออ้างเดิมๆ ตรวจสอบยาก ถ่วงเวลา ขัดขวาง รอจนสุดกระบวนการของศาลปกครองสูงสุด
  • ส่งผลให้สังคมมีความเชื่อถือและศรัทธาต่อ ป.ป.ช. ลดลง ซึ่งตนมองว่าจะเป็นปัญหาในการทำงานในการป้องกันและปราบการการทุจริต เพราะงานนี้ ป.ป.ช. ทำด้วยตัวคนเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากสังคมและสื่อ
  • ภายในคำพิพากษาศาลปกครองกลางได้มีการระบุวลีหนึ่งที่น่าสนใจอยู่หลายครั้งว่า “ความโปร่งใสและตรวจสอบได้ของ ป.ป.ช. จะเป็นตัวสร้างความศรัทธาและความเชื่อมั่นในการทำงานของ ป.ป.ช. กับประชาชน” 

 

ศาลปกครองยังพึ่งได้ แต่ต้องเฝ้าระวังร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ฉบับใหม่

  • กฎหมายรับรองสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เช่น รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน แม้ตัวรัฐธรรมนูญจะออกแบบมาได้ไม่ดี แต่ยังมีเนื้อหาในส่วนของสิทธิเสรีภาพในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนอยู่ ซึ่งเป็นตัวที่ศาลปกครองใช้ตัดสินในการยื่นขอเอกสารในครั้งนี้ ร่วมกับ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร พ.ศ. 2540 
  • แต่ในปัจจุบัน ร่างกฎหมายข้อมูลข่าวสารตัวใหม่ของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ ที่พยายามจะออกมาเพื่อแก้ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารตัวเก่า เป็นกฎหมายที่น่าเป็นห่วง เน้นการปกปิดมากกว่าเปิดเผย โดยมีการนำกฎหมายความมั่นคงมาผสมรวมด้วย 
  • เป็นที่น่าจับตามองว่า หากกฎหมายตัวนี้ถูกบังคับใช้ ศาลปกครองจะไม่มีหลักกฎหมายที่ใช้ยืนยันว่าประชาชนมีสิทธิเข้าถึงข้อมูลข่าวสารจากภาครัฐ แล้วต่อไปรัฐทำอะไร เช่น จัดซื้ออาวุธ ใช้ภาษีโดยไม่ชอบ ประชาชนและสื่อมวลชนไม่มีสิทธิที่จะรู้ หรือต่อให้รู้ ผู้ที่นำออกมาเปิดเผยก็จะมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 10 ปี

 

การต่อสู้เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนยังไม่สิ้นสุด 

  • พงศ์พิพัฒน์กล่าวว่า แม้คำตัดสินของศาลปกครองกลางจะพิพากษาให้ ป.ป.ช. ต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของคดีนี้ภายใน 15 วันแล้ว แต่คำตัดสินนี้ยังไม่ถึงที่สุด เนื่องจากยังมีขั้นตอนที่สามารถขออุทธรณ์ไปยังศาลปกครองสูงสุดได้ภายใน 30 วัน หรือภายในวันที่ 15 ตุลาคม 2564 ซึ่งต้องรอดูต่อไปว่า ป.ป.ช. ยื่นขออุทธรณ์ต่อหรือไม่ และคดีนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อไร
  • อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอาจจะต้องใช้ระยะเวลาต่อจากนี้อีกหลายปีกว่าจะได้อ่านคำชี้แจงของ พล.อ. ประวิตรจากเอกสาร แต่สิ่งที่สำคัญพอกับตัวผลคำตัดสิน คือ กระบวนการระหว่างทางในการต่อสู้ในการขอเปิดเผยข้อมูลครั้งนี้ ซึ่งนอกจากคดีนาฬิกาหรูของ พล.อ. ประวิตร ยังมีอีกหลายคดีที่ได้ยื่นไปยัง ป.ป.ช. และต้องรอติดตามผล เช่น การขอเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และวิษณุ เครืองาม ที่เพิ่งถูก ป.ป.ช. ปฏิเสธไป
  • “เราพยายามตรวจสอบระหว่างทาง เพื่อบอกสังคมว่าขณะนี้สถานการณ์ในประเทศมันมีอะไรอยู่ มันเกิดอะไรขึ้นบ้าง”
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising