×

สหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP ยังไม่บังคับใช้ ไทยยังมีเวลาเจรจาแก้ไข

โดย THE STANDARD TEAM
29.10.2019
  • LOADING...

 

 

นายกฯ เรียกประชุม ครม. เศรษฐกิจด่วน ถกปม GSP

เช้าวันนี้ (29 ตุลาคม) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เรียกประชุมด่วนรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประจำสัปดาห์ เพื่อหารือเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ

 

พล.อ. ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์หลังการประชุม ครม. ถึงกรณีไทยถูกตัดสิทธิ GSP ว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ ซึ่งได้พยายามมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว ทั้งในส่วนของกระทรวงแรงงาน กระทรวงพาณิชย์ ในปีนี้เมื่อสหรัฐฯ ประกาศตัดสิทธิ ก็จำเป็นต้องไปพิจารณาว่ามีปัญหาในจุดใด และนำไปสู่การเจรจาขอคืนสิทธิต่อไป 

 

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้เจรจามาหลายครั้งแล้ว และได้รับกลับคืนมา 7 รายการ แต่ในครั้งนี้มีผลในหลายรายการ ซึ่งไม่เฉพาะแต่ประเทศไทยเท่านั้นที่ถูกตัดสิทธิ แต่หลายประเทศในอาเซียนก็ถูกตัดสิทธิเช่นกัน 

 

อย่างไรก็ตาม หากมองวิกฤตเป็นโอกาส ก็ต้องพยายามหามาตรการแก้ไข ระยะสั้น คือ การเจรจาเพื่อขอคืนสิทธิให้ได้โดยเร็ว ซึ่งอาจเป็นหลังการประชุม East Asia Summit ภายใต้การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 ในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยเจรจาภายใต้กรอบการตกลงทางการค้าและการลงทุนของไทยและสหรัฐฯ ต่อไป   

 

ส่วนในระยะยาวคือ การหาตลาดใหม่เพิ่มเติม ได้แก่ รัสเซีย, ยุโรปตะวันออก, อเมริกาใต้, ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ด้วยการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี ตลอดจนการขยายการลงทุนไปยังประเทศที่ยังคงได้รับสิทธิ GSP โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้านคือ กัมพูชา อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ที่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีมากกว่าไทย อีกทั้งต้องปรับกลยุทธ์ทางการแข่งขัน ยกระดับความสามารถด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีและการพัฒนาคุณภาพสินค้า เพื่อรองรับสถานการณ์การค้าในตลาดโลกที่มีการแข่งขันอย่างเสรี 

 

ทั้งนี้ ขอประชาชนอย่าวิตกกังวล เพราะรัฐบาลกำลังหามาตรการแก้ไขปัญหา และจะหารือร่วมกับภาคเอกชนด้วย เป็นเรื่องธรรมดาเมื่อสหรัฐฯ มีการให้สิทธิ ก็สามารถเรียกคืนสิทธิได้ ซึ่งการที่ระบุเหตุผลว่า ไทยมีปัญหาเรื่องแรงงาน ก็ต้องไปพิจารณาเรื่องนี้ด้วย เพราะยังมีกฎหมายและบางมาตรการที่ไทยยังไม่สามารถปฏิบัติได้ เพราะเป็นเรื่องภายในที่ต้องระมัดระวังผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องสิทธิประโยชน์ และสหภาพแรงงานต่างด้าวในไทย ซึ่งหลายประเทศก็ไม่ได้ดำเนินการเช่นเดียวกับไทย

 

 

ตัดสิทธิ GSP มีผลเดือนเมษายน 2563 คาดกระทบ 1,500-1,800 ล้านบาท 

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ให้สัมภาษณ์หลังประชุม ครม. เศรษฐกิจ กรณีสหรัฐอเมริกามีคำสั่งให้ระงับข้อตกลงตามมาตรการสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) กับไทยว่า เบื้องต้น หากมีการตัดสิทธิทางภาษี จะส่งผลให้สินค้าที่ส่งไปขายที่สหรัฐฯ มีภาระภาษีประมาณ 1,500-1,800 ล้านบาท แต่เรื่องดังกล่าวจะมีผลเดือนเมษายน 2563

 

ดังนั้น เรายังมีช่องทางขอให้สหรัฐฯ ทบทวน และก่อนหน้านี้ได้แจ้งให้ทูตพาณิชย์ประสานกับทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. หารือกับสำนักงานคณะผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ถึงรายละเอียดต่างๆ คาดว่าจะได้รับคำตอบกลับมาว่า จะต้องทำอย่างไรในเร็วๆ นี้

 

สหรัฐฯ ขอนำเนื้อหมูเข้ามาขายในไทย-ให้แรงงานต่างด้าวตั้งสหภาพฯ ได้

นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยการประชุม ครม.เศรษฐกิจ เพื่อหารือกรณีไทยถูกตัดสิทธิ GSP ว่า

 

เมื่อวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา มีการทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีว่า จากการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน สหรัฐอเมริกามีการยกประเด็นการทบทวนสิทธิ GSP โดยมีเงื่อนไขหลัก 2 เรื่อง ที่ขอให้ไทยไปพิจารณา คือ การนำเข้าเนื้อสุกรเข้าประเทศไทย และประเด็นเรื่องแรงงาน ซึ่งสหรัฐฯ อยากให้แก้ไข 7 ประเด็น ซึ่งไทยได้แก้ไป 4 ประเด็น เหลือ 3 ประเด็นคงค้าง คือ การให้แรงงานต่างด้าวตั้งสหภาพแรงงานได้, การให้ลูกจ้างเหมาสามารถตั้งสหภาพแรงงานได้ และการให้สิทธิคุ้มครองลูกจ้างในการไม่ถูกฟ้องกลับจากนายจ้าง 

 

ซึ่งเรื่องเหล่านี้มีผลกระทบ จึงต้องรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย ส่วนเรื่องนำเข้าเนื้อหมู จะทำได้มากน้อยแค่ไหนขอให้คำนึงถึงสุขภาพคนไทยเป็นหลัก โดยมอบให้กระทรวงพาณิชย์ดูความเหมาะสมต่อไป

 

อุปทูตสหรัฐฯ ยันตัดสิทธิ GSP ไม่เกี่ยวไทยยกเลิกสารเคมีเกษตร 

วันเดียวกันที่ทำเนียบรัฐบาล ไมเคิล ฮีธ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประเทศไทย เปิดเผยหลังเข้าพบ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ว่า หลังมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ความสัมพันธ์ระหว่าประเทศไทยกับสหรัฐฯ เป็นไปในทางที่ดีขึ้น แต่การตัดสิทธิ GSP เป็นการตัดสินใจที่เกิดขึ้นนานแล้ว และไม่เกี่ยวข้องกับการที่ไทยยกเลิกการใช้สารเคมีทางการเกษตร เพราะมีการพูดคุยกันมากว่าครึ่งปี

 

แม้ไทยจะถูกตัดสิทธิ GSP บางส่วน แต่ไทยยังเป็นประเทศที่ได้รับสิทธิสูงที่สุดในโลก และแม้ว่าจะมีการประกาศตัดสิทธิดังกล่าว ก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ และสหรัฐอเมริกาพร้อมที่จะหารือกับไทยในข้อกฎหมายต่างๆ เฉพาะในเรื่องแรงงานว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่ยืนยัน หากดูในเรื่องของเม็ดเงินเสียหายไม่มาก ซึ่งการตัดสิทธิ GSP ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา ไทยมีเวลา 6 เดือน ที่จะดำเนินการแก้ไข และคาดหวังว่า การประชุมอาเซียนที่ไทยเป็นเจ้าภาพจะดำเนินไปด้วยดี ซึ่งสหรัฐฯ ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ด้วย

 

 

สมคิดเผย ตัดสิทธิ GSP ยังไม่สิ้นสุด มีโอกาสเจรจา เล็งมองไปข้างหน้าร่วมมือภาพใหญ่

ขณะที่ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การตัดสิทธิ GSP ยังไม่เป็นที่สิ้นสุด ยังมีเวลาเจรจากัน โดยในการประชุม World Pacific Forum ในการประชุม ASEAN Summit จะมีที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ และนักลุงทุนชาวอเมริกัน มาร่วมพูดคุยกับประเทศไทยและที่ประชุม EEC 

 

ทั้งนี้ การตัดสิทธิ GSP มีมูลค่าไม่มาก สิ่งเหล่านี้น่าจะคุยกันได้ เนื่องจากไทยและสหรัฐอเมริกาเป็นมิตรกันมานาน น่าจะใช้ช่วงเวลาที่ผู้ใหญ่ของสหรัฐอเมริกามาประเทศไทยหารือกับนายกรัฐมนตรีได้

 

สมคิดกล่าวด้วยว่า ประเด็นหลักในการหารือกับสหรัฐฯ คงไม่ใช่การขอคืนสิทธิ GSP หรือคุยเรื่องที่เป็นชิ้นๆ แต่ควรใช้เวลานี้พูดคุยเรื่องยุทธศาสตร์ความร่วมกันมือกันในอนาคต เช่น ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี- เจ้าพระยา-แม่โขง หรือแอ็กเมกส์ (ACMECS) เนื่องจากสหรัฐอเมริกาเองก็สนใจเรื่องลุ่มแม่นำ้โขงเช่นเดียวกับจีนและญี่ปุ่น จึงอยากให้มองไปไกลๆ บนพื้นฐานของมิตรภาพ ส่วนเรื่อง GSP ค่อยเจรจากันไป เป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ และอยู่ที่การสื่อความไปถึงผู้ใหญ่ทางสหรัฐฯ เนื่องจากเราเป็นมิตรที่ดี และผู้ประกอบการไทยเองก็สนใจไปลงทุนที่สหรัฐอเมริกา เช่น กลุ่ม ปตท.

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising