×

เปิดปม ‘กำไล EM’ อดีตเป้าขบวนการนักร้องศรีสุวรรณ

20.02.2024
  • LOADING...

โครงการจัดเช่ากำไล EM ของกระทรวงยุติธรรม ในสมัยที่ สมศักดิ์ เทพสุทิน ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี เคยตกเป็นเป้าหมายในขบวนการร้องเรียนนำโดย ศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน และ ยศวริศ ชูกล่อม หรือ เจ๋ง ดอกจิก ทั้งสองเปิดหน้าเดินทางไปร้องเรียนที่กระทรวงยุติธรรมด้วยตัวเองเมื่อ 20 ตุลาคม 2566 ก่อนจะเดินทางไปยื่นหนังสือต่อที่สภาผู้แทนราษฎร

 

โดยขณะนั้นมีการร้องขอให้ทางกระทรวงยุติธรรมตั้งคณะกรรมการสอบสวนเอาผิดขบวนการฮั้วประมูลโครงการจัดเช่ากำไล EM มูลค่า 1,600 ล้านบาท 

 

THE STANDARD ชวนย้อนดูความเป็นมาของโครงการพันล้านว่าเกิดอะไรขึ้น ถึงนำไปสู่การร้องเรียน

 

9 ปีที่ผ่านมา ‘ยุติธรรม’ ทำอะไรกับ ‘กำไล EM’

 

ทีมข่าวได้สืบค้นข้อมูลจากเว็บไซต์ตรวจสอบข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ ‘ภาษีไปไหน’ โดยค้นหาด้วยคำว่า ‘อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว’ สืบย้อนไปตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558 จนถึงปัจจุบัน (ปี 2567) ซึ่งปรากฏข้อมูลว่าหน่วยที่จัดซื้อคือกรมคุมประพฤติ สังกัดกระทรวงยุติธรรม มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

 

ปีงบประมาณ 2561

 

  • โครงการจ้างผลิตแผ่นพับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวและแผ่นพับความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวสำหรับประชาชน ด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง งบประมาณ 400,180 บาท

 

ปีงบประมาณ 2563

 

  • โครงการประกวดราคาเช่าโครงการการนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวมาใช้เพื่อเป็นมาตรการทางเลือกแทนการลงโทษจำคุก ครั้งที่ 2 ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) งบประมาณ 848,245,371 บาท
  • โครงการจ้างที่ปรึกษาโครงการการศึกษาและจัดทำแนวทางการบริหารจัดการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (Electronic Monitoring: EM) สำหรับผู้กระทำผิดในกระบวนการยุติธรรม โดยวิธีเฉพาะเจาะจง งบประมาณ 864,000 บาท

 

ทั้งนี้ในปี 2563 มี 2 โครงการที่กรมราชทัณฑ์ สังกัดกระทรวงยุติธรรม เป็นหน่วยจัดซื้อ ได้แก่

 

  • โครงการจ้างเหมารถบัสปรับอากาศและรถตู้ปรับอากาศ โครงการสัมมนาเพื่อวางแผนแนวทางและการปฏิบัติต่อนักโทษเด็ดขาดที่ต้องใส่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (Electronic Monitoring: EM) โดยวิธีเฉพาะเจาะจง งบประมาณ 38,000 บาท
  • โครงการจ้างเช่าห้องประชุม สำหรับโครงการสัมมนาเพื่อวางแผนแนวทางและการปฏิบัติต่อนักโทษเด็ดขาดที่ต้องใส่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (Electronic Monitoring: EM) โดยวิธีเฉพาะเจาะจง งบประมาณ 20,000 บาท

 

ปีงบประมาณ 2564

 

  • โครงการซื้อวัสดุหมึกพิมพ์คอมพิวเตอร์ โครงการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว สำนักงานคุมประพฤติจังหวัดเชียงราย โดยวิธีเฉพาะเจาะจง งบประมาณ 66,961 บาท
  • โครงการซื้อหมึกพิมพ์ใช้สำหรับเครื่องพิมพ์อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว โดยวิธีเฉพาะเจาะจง งบประมาณ 24,400 บาท
  • โครงการซื้อกระดาษถ่ายเอกสาร โครงการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว EM โดยวิธีเฉพาะเจาะจง งบประมาณ 11,900 บาท

 

ปีงบประมาณ 2565

 

  • โครงการจ้างดำเนินกิจกรรมสร้างความเข้าใจในการนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (Electronic Monitoring: EM) มาใช้เฝ้าระวังผู้กระทำความผิดคดีทางเพศหรือใช้ความรุนแรงภายหลังพ้นโทษ โดยวิธีเฉพาะเจาะจง งบประมาณ 100,000 บาท

 

ปีงบประมาณ 2566

 

  • โครงการประกวดราคาเช่าการนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวมาใช้เพื่อเป็นมาตรการทางเลือกแทนการลงโทษจำคุก โดยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) งบประมาณ 782,000,000 บาท
  • โครงการซื้อหมึกพิมพ์เพื่อใช้ในภารกิจอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว โดยวิธีเฉพาะเจาะจง งบประมาณ 13,400 บาท

 

ผู้ชนะประมูลโครงการใหญ่มีเพียงรายเดียว

 

หากพิจารณา 2 โครงการที่มีงบประมาณมากที่สุด และตกเป็นเป้าในการร้องเรียนในเวลาต่อมาคือ โครงการจัดเช่ากำไล EM ในปีงบประมาณ 2563 และ 2566 ซึ่งรวมมูลค่างบประมาณอยู่ที่ 1,630,245,371 บาท

 

ผู้ชนะการประมูลจากทั้ง 2 ปีงบประมาณคือ บริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

 

เมื่อค้นหาข้อมูลกิจการจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่าบริษัท ฟอร์ท จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อ 8 กรกฎาคม 2548 ทุนจดทะเบียน 467,687,350 บาท 

 

มีรายชื่อกรรมการ 10 คน โดยพบว่ามี สนิท วรปัญญา อดีตอธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก อดีตสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดลพบุรี และเป็นอดีตประธานวุฒิสภา และ พงษ์ชัย อมตานนท์ กรรมการองค์การเภสัชกรรม ร่วมด้วย

 

ประเภทธุรกิจที่ส่งงบการเงินปีล่าสุด 2565 คือการผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์โทรคมนาคมและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รับเหมาผลิตและรับจ้างประกอบแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์

 

ข้อมูลผลประกอบการเบื้องต้น ปีงบการเงิน 2565 มีรายได้รวม 3,139,372,519 บาท มีกำไรสุทธิ 499,147,880 บาท

 

มูลค่าหุ้นและสัดส่วนการลงทุนจำแนกตามสัญชาติ (ข้อมูลปี 2563-2567) ประเทศไทย 442.26 ล้านบาท รวม 8,750 ราย ประเทศอื่นๆ 25.43 ล้านบาท รวม 45 ราย

 

ข้อชี้แจงจากกรมคุมประพฤติ

 

เมื่อช่วงเดือนกันยายน 2566 วิตถวัลย์ สุนทรขจิต อธิบดีกรมคุมประพฤติ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์จากกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ พ.ศ. 2564 ถึงความผิดปกติในโครงการกำไล EM โดยสรุปได้ว่า

 

  • การที่บริษัท ฟอร์ท เสนอราคากำไล EM แพงกว่า แต่ชนะการประมูล เพราะการประกวดราคาปี 2563 มีผู้ยื่นข้อเสนอ 2 ราย แต่มีเพียงบริษัท ฟอร์ท ที่มีการนำอุปกรณ์มาทดสอบ และมีคุณสมบัติผ่านถูกต้องครบถ้วนตาม TOR จึงเป็นผู้ชนะการประกวดราคา
  • สาเหตุที่กรมคุมประพฤติต้องเช่าซื้อ ไม่ซื้อขาด เพราะอุปกรณ์นี้เกี่ยวกับเทคโนโลยี ต้องอาศัยเรื่องระบบการสื่อสาร สัญญาณดาวเทียม และเครือข่ายโทรศัพท์ เทคโนโลยีต่างๆ เหล่านี้พัฒนาตลอด ถ้าเราจัดซื้ออุปกรณ์เอง หากเทคโนโลยีเปลี่ยนอุปกรณ์นั้นจะกลายเป็นเศษเหล็ก 
  • การเช่าอุปกรณ์ EM ปี 2564 วงเงินสัญญา 849 ล้านบาท รวมค่าเช่าอุปกรณ์เป็นเวลา 30 เดือน ประกอบด้วย 1. เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว 30,000 เครื่อง 2. ค่าบริการเครือข่ายสื่อสารสำหรับแท็ก 30,000 เครื่อง 3. ค่าวงจรสื่อสาร 4. โปรแกรมควบคุมเครื่องมือติดตามตัว 5. ระบบแจ้งเตือนผ่านอุปกรณ์อัจฉริยะ 6. ค่าจ้างบุคลากรปฏิบัติหน้าที่ควบคุมไม่น้อยกว่า 62 คน และ 7. ค่าฝึกอบรมบุคลากรไม่น้อยกว่า 240 คน
  • การเช่าอุปกรณ์ปี 2563-2565 เป็นราคาที่รวมครุภัณฑ์ คอมพิวเตอร์ การปรับปรุงศูนย์ EM และการใช้ระบบสัญญาณสื่อสารที่มีประสิทธิภาพสูง ใช้ระบบ 4G ส่วนของปี 2561-2563 เป็นราคาไม่รวมครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์และการปรับปรุงศูนย์ EM และใช้เป็นระบบ 2G 

 

ร่วมมือเปิดโปงขบวนการเรียกรับทรัพย์

 

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ เป็นครั้งแรกที่ นายกองตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำรองนายกรัฐมนตรี (สมศักดิ์ เทพสุทิน) เดินทางเข้าพบเจ้าหน้าที่กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) อย่างเป็นทางการ นำข้อมูลและพยานหลักฐานที่มีเพื่อขยายผลพฤติการณ์ขบวนการเรียกรับทรัพย์

 

หลังย้อนกลับไปเมื่อปี 2566 ตัวเขาที่ขณะนั้นเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเคยถูกสมาชิกหนึ่งในขบวนการติดต่อมาพูดคุยในลักษณะ ‘คล้ายกันกับที่อธิบดีกรมการข้าว’ โดน

 

นายกองตรี ธนกฤต ยืนยันว่าเป้าหมายครั้งนั้นของขบวนการเรียกทรัพย์คือ ‘โครงการจัดเช่ากำไล EM’

 

“วันนี้เราได้เห็นแล้วว่ารูปแบบขบวนการนี้มีจุดเริ่มต้นจากคนปั้นข้อมูล ส่วนคนอื่นก็แบ่งหน้าที่และบทบาททำเป็นขบวนการ รูปแบบไม่ต่างกันในการก่อเหตุแต่ละครั้ง” นายกองตรี ธนกฤต กล่าว

 

ด้าน พล.ต.ต. จรูญเกียรติ ปานแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ในฐานะหัวเรือใหญ่ที่ดำเนินคดีขบวนการรีดทรัพย์ ได้ระบุว่า จากการพูดคุยและรับพยานหลักฐานเบื้องต้น พิจารณาได้ว่า 2 กรณีมีลักษณะแผนประทุษกรรมไม่ต่างกัน เพียงแต่ของกรมการข้าวมีการระบุจำนวนเงิน แต่ของกระทรวงยุติธรรมยังไม่มีการระบุจำนวนเงิน แต่ใช้ ‘คำแบบเดียวกัน’ กับกลุ่มเป้าหมาย

 

1 เดือนบุกจับนักร้อง ผู้เสียหายยังไม่สิ้นสุด

 

มาจนถึงวันนี้ (20 กุมภาพันธ์) ระยะเวลาไม่ถึง 1 เดือนตั้งแต่ปฏิบัติการบุกจับนักร้องและขยายผลต่อไปถึงพรรคพวก ได้ปรากฏผู้เสียหายในหลายแวดวงตั้งแต่ข้าราชการไปจนถึงหน่วยงาน และดูเหมือนว่าจะยังไม่สิ้นสุดลงเพียงเท่านี้

 

มีข้อมูลจากแหล่งข่าวที่ใบ้มาอย่างมีนัยแล้วว่าผู้เสียหายยังมีอีกหลายวง เพราะอย่าลืมว่าแม้บางรายจะยังไม่รับ-ให้เงิน แต่ในทางกฎหมายก็ถือว่าความผิดนั้นเกิดขึ้นสมบูรณ์แล้ว

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X