เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 หน่วยงานด้านสาธารณสุขแคนาดา อนุมัติการขึ้นทะเบียนวัคซีน Covifenz ของบริษัท Medicago นับเป็นวัคซีนโควิดลำดับที่ 6 ต่อจากวัคซีน 3 ยี่ห้อหลัก Johnson & Johnson และ Novavax แต่เป็นวัคซีนจากพืช (Plant-Based Vaccine) ยี่ห้อแรกที่ได้รับการรับรอง วัคซีน Covifenz คืออะไร และต่างจากยี่ห้ออื่นที่ผ่านมาอย่างไรบ้าง
วัคซีน Covifenz คืออะไร
วัคซีน Covifenz ผลิตโดยบริษัท Medicago ของแคนาดา โดยใช้สารกระตุ้นภูมิจากบริษัท GlaxoSmithKline ของสหราชอาณาจักร ได้รับการขึ้นทะเบียนในแคนาดาเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 สำหรับผู้มีอายุ 18-64 ปี ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 2 โดส ห่างกัน 21 วัน แต่ละโดสประกอบด้วยโปรตีนหนาม (S Protein) 3.75 ไมโครกรัม และสารกระตุ้นภูมิ AS03 ปริมาณ 0.25 มิลลิลิตร
ถ้าแบ่งวัคซีนตามเทคโนโลยีการผลิตที่เราเคยได้ยินก่อนหน้านี้จะแบ่งเป็น 4 ชนิดหลัก ได้แก่
- วัคซีนชนิดสารพันธุกรรม (mRNA Vaccine) เช่น Pfizer-BioNTech, Moderna
- วัคซีนชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ (Viral Vector) เช่น AstraZeneca
- วัคซีนที่ทำจากโปรตีนส่วนหนึ่งของเชื้อ (Protein Subunit) เช่น Novavax
- วัคซีนชนิดเชื้อตาย เช่น Sinovac, Sinopharm
วัคซีน Covifenz จะมีความใกล้เคียงกับวัคซีน Novavax เพราะเป็นวัคซีนชนิดอนุภาคไวรัสเสมือน (Virus-Like Particles: VLP) ซึ่งทำจากโปรตีนเหมือนกับ Novavax แต่เลียนแบบไวรัสทั้งตัว โดยไม่มีสารพันธุกรรมของไวรัส จึงไม่สามารถแบ่งตัวหรือติดเชื้อได้ เมื่อฉีดเข้าสู่ร่างกายจะกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันต่อโปรตีนหนามที่ประกอบขึ้นมาเป็นอนุภาคไวรัส
วัคซีนชนิด VLP ได้รับการวิจัยมานานกว่า 30 ปี เช่น วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี (HBV) วัคซีนไวรัสเอชพีวี โดยผลิตโปรตีนจากยีสต์ แบคคิวโลไวรัส/เซลล์แมลง เซลล์พืช หรือเซลล์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สำหรับวัคซีน Covifenz ผลิตโปรตีนจากพืชตระกูลใบยาสูบ (Nicotiana benthamiana) ซึ่งมีปริมาณสารนิโคตินต่ำ เริ่มวิจัยระยะที่ 1 เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 และระยะที่ 2 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563
ประสิทธิผลเป็นอย่างไร
วันที่ 7 ธันวาคม 2564 บริษัท Medicago และ GSK แถลงข่าวความสำเร็จการวิจัยวัคซีน Covifenz ระยะที่ 3 ในอาสาสมัครมากกว่า 24,000 คน อายุ 18 ปีขึ้นไป ที่แคนาดา, สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักรแม็กซิโก, อาร์เจนตินา และบราซิล ซึ่งเริ่มเมื่อเดือนมีนาคม 2564 พบว่ามีประสิทธิผลป้องกันอาการป่วย
– ทุกสายพันธุ์เท่ากับ 71% (ช่วงความเชื่อมั่น 58.7-80.0%)
– สายพันธุ์เดลตาเท่ากับ 75.3% (ช่วงความเชื่อมั่น 52.8-87.9%)
– สายพันธุ์แกมมาเท่ากับ 88.6% (ช่วงความเชื่อมั่น 74.6-95.6%)
– ในกลุ่มที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อนเท่ากับ 75.6% (ช่วงความเชื่อมั่น 64.2-83.7%)
ส่วนประสิทธิผลป้องกันอาการรุนแรง ในการวิจัยนี้พบผู้ป่วยอาการหนักจำนวนน้อย แต่ไม่พบในกลุ่มที่ได้รับวัคซีน โดยพบผู้เสียชีวิตจากสายพันธุ์อัลฟา แลมป์ดา และมิว จำนวน 12 รายในกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีน
ทั้งนี้ บริษัทตั้งข้อสังเกตว่า การวิจัยนี้ดำเนินการในระยะที่มีการระบาดของสายพันธุ์ต่างๆ จึงไม่สามารถเปรียบเทียบกับผลการวิจัยในช่วงแรกของวัคซีนยี่ห้ออื่นได้โดยตรง เพราะเป็นระยะที่สายพันธุ์ดั้งเดิมระบาด อย่างไรก็ตาม การวิจัยไม่ครอบคลุมระยะที่มีการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน และคาดว่าจะตีพิมพ์ผลการวิจัยฉบับเต็มในวารสารวิชาการเร็วๆ นี้
ผลข้างเคียงเป็นอย่างไร
ในการวิจัยระยะที่ 2 ไม่พบอาการไม่พึงประสงค์รุนแรงจากการฉีดวัคซีน ผลข้างเคียงเป็นอาการน้อยถึงปานกลาง เกิดขึ้นชั่วคราวและดีขึ้นภายใน 1-3 วัน ซึ่งผลการวิจัยในระยะที่ 3 ก็สอดคล้องกัน โดยอาการไข้ต่ำพบน้อยกว่า 10% ถึงแม้จะได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 ส่วนในเว็บไซต์ของหน่วยงานด้านสาธารณสุข แคนาดา ระบุว่าผลข้างเคียงที่พบบ่อยของวัคซีน ได้แก่
- อาการเฉพาะที่ เช่น แดง, ปวด, บวม
- อาการทั่วไป เช่น หนาวสั่น, อ่อนเพลีย, ปวดข้อ, ปวดศีรษะ, ไข้ต่ำ, ปวดกล้ามเนื้อ, คัดจมูก, เจ็บคอ, ไอ, คลื่นไส้, ท้องเสีย
- ในขณะที่ภาวะแพ้รุนแรง พบได้ยาก
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า วัคซีนจากพืชสามารถผลิตได้ปริมาณมากในราคาถูก โปรตีนมีความคงที่และสามารถเก็บได้นาน (วัคซีน Covifenz เก็บในอุณหภูมิตู้เย็นปกติ 2-8 องศาเซลเซียส) และการปนเปื้อนไวรัสจากพืชจะไม่มีผลต่อคน ปัจจุบันวัคซีน Covifenz ได้รับการขึ้นทะเบียนในแคนาดาเพียงประเทศเดียวเท่านั้น แต่ในไทยก็มีการวิจัยวัคซีนจากพืชอยู่นั่นคือ ‘วัคซีนใบยา’
วัคซีนใบยาของไทย
วัคซีนใบยา หรือ Baiya SASRS-CoV-2 Vax ผลิตโดยบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด สตาร์ทอัพของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อตั้งโดย รศ.ดร.วรัญญู พูลเจริญ และ ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นวัคซีนชนิด Protein Subunit กลุ่มเดียวกับวัคซีน Novavax และผลิตโปรตีนจากพืชชนิดเดียวกับวัคซีน Covifenz ซึ่งเป็นใบยาสูบจากออสเตรเลีย
รศ.ดร.วรัญญู อธิบายกับสำนักข่าว Hfocus ว่า กระบวนการผลิตโปรตีนเริ่มจากการออกแบบชิ้นส่วนโปรตีนในรูปร่างที่ต้องการ ใช้เวลาประมาณ 10 วัน แล้วใส่ยีนเข้าไปในพืช เพื่อให้พืชผลิตโปรตีนนั้น จากนั้นไม่เกิน 1 สัปดาห์จะสามารถตัดใบมาสกัดโปรตีนบริสุทธิ์แยกจากโปรตีนอื่นๆ ของพืชเพื่อนำไปผลิตวัคซีน ดังนั้นในเวลาไม่ถึง 1 เดือนก็สามารถนำไปทดลองในสัตว์ทดลองได้
วัคซีนใบยาผ่านการทดสอบในหนูและลิงด้วยการฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์ พบว่ามีความปลอดภัยไม่เกิดผลข้างเคียงและกระตุ้นเม็ดเลือดขาวชนิด T cell ได้ดี และเริ่มวิจัยระยะที่ 1 เมื่อเดือนกันยายน 2564 ในอาสาสมัคร 96 คน อายุระหว่าง 18-60 ปี โดย ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา แถลงข่าวเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2564 ว่าในขณะนั้นอยู่ระหว่างติดตามความปลอดภัย ซึ่งไม่พบผลข้างเคียงรุนแรง
ส่วนผลการกระตุ้นภูมิคุ้มกันจะติดตามหลังจากอาสาสมัครเริ่มเข้าโครงการ 50 วัน ขณะเดียวกันอยู่ระหว่างรับอาสาสมัครกลุ่มอายุ 61-75 ปี คาดว่าจะเริ่มทดสอบในเดือนธันวาคม 2564 และได้พัฒนาวัคซีนรุ่น 2 เป็นวัคซีนชนิดผสม (Cocktail Vaccine) จากไวรัสกลายพันธุ์มากกว่า 10 รูปแบบ เตรียมทดสอบในคนในเดือนมกราคม 2565 และวิจัยระยะที่ 2 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565
ปัจจุบันยังไม่มีการแถลงความคืบหน้าเพิ่มเติม แต่ข่าวการขึ้นทะเบียนวัคซีน Covifenz ที่แคนาดา ก็ทำให้มีความหวังว่าไทยจะมีวัคซีนโควิดจากพืชได้ หากเป็นไปตามแผนเดิมคาดว่าจะสามารถขออนุมัติให้ใช้ได้อย่างเร็วที่สุดในไตรมาสที่ 3 หรือ 4 ของปี 2565 ทว่า เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนชุดแรก (Primary Vaccine series) ครบ 2 เข็มแล้ว การวิจัยต่อไปก็อาจเป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นแทน
อ้างอิง:
- COVID-19 plant-based vaccines: https://www.canada.ca/en/health-canada/services/drugs-health-products/covid19-industry/drugs-vaccines-treatments/vaccines/plant-based.html
- Medicago Covifenz COVID-19 vaccine: https://www.canada.ca/en/health-canada/services/drugs-health-products/covid19-industry/drugs-vaccines-treatments/vaccines/medicago.html
- Virus-like particles: preparation, immunogenicity and their roles as nanovaccines and drug nanocarriers: https://jnanobiotechnology.biomedcentral.com/articles/10.1186/s12951-021-00806-7
- Medicago and GSK announce positive Phase 3 efficacy and safety results for adjuvanted plant-based COVID-19 vaccine candidate: https://medicago.com/en/press-release/medicago-and-gsk-announce-positive-phase-3-efficacy-and-safety-results-for-adjuvanted-plant-based-covid-19-vaccine-candidate/
- Canada approves Medicago’s plant-based COVID-19 vaccine for adults: https://www.reuters.com/business/healthcare-pharmaceuticals/canada-approves-medicagos-plant-based-covid-19-vaccine-adults-2022-02-24/
- World’s First Plant-Based Covid Vaccine “Covifenz” Approved by Canada: https://vegconomist.com/science/worlds-first-plant-based-covid-19-vaccine/
- Plant-derived vaccines: https://www.who.int/teams/health-product-policy-and-standards/standards-and-specifications/vaccine-standardization/plant-derived-vaccines
- วัคซีนป้องกันโรค COVID-19: https://waa.inter.nstda.or.th/stks/pub/nac/2021/vaccine01.pdf
- เปิดแล็บวิจัยใบยาสูบ ความหวังวัคซีนโควิด-19 หากสำเร็จคาดปลายปี 64: https://www.hfocus.org/content/2020/09/20098
- ยาและวัคซีนจากใบยาสูบ กับโควิด-19: https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/line/%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%84%E0%B8%8B%E0%B8%B5%E0%B8%99%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B9%83%E0%B8%9A%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B8%9A-%E0%B8%81/
- จุฬาฯ-ใบยา เผยคืบหน้าวัคซีนโควิดทีมไทย ชี้ ChulaCov19 ภูมิฯ สูงกว่าไฟเซอร์ แต่ยังต้องเผื่อใจ จ่อทดลองเฟส 3 ปลายปี คาดใช้จริงปี‘65: https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_3047032
- คืบหน้าวัคซีนโควิด สัญชาติไทย 2 ตัว คาดได้ใช้ปี 65: https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%82%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E/160791