×

‘จากโควิดเป็นศูนย์ สู่การใช้ชีวิตกับโควิด’ จับตาจีนเปิดพรมแดนสู่โลกภายนอกในรอบ 3 ปี จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง?

27.12.2022
  • LOADING...

ข่าวใหญ่สำหรับภาคธุรกิจและการท่องเที่ยวทั่วโลก รวมถึงไทย ซึ่งมีนักท่องเที่ยวจีนเป็นลูกค้ารายใหญ่ตลอดหลายปีที่ผ่านมา หลังรัฐบาลจีนประกาศเตรียมเปิดพรมแดนอีกครั้งและยกเลิกมาตรการกักตัวสำหรับผู้เดินทางเข้าประเทศ เริ่มตั้งแต่วันที่ 8 มกราคมที่จะถึงนี้ 

 

ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นส่งผลให้จีนกลับมาอยู่บนเส้นทางแห่งการฟื้นฟู และหลุดพ้นจากมาตรการกักตัวเองภายใต้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ หรือ Zero-COVID ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนมาตลอด 3 ปี 

 

สิ่งที่น่าสนใจและต้องจับตามองคือหลังจากนี้จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง หลายฝ่ายคาดว่านักท่องเที่ยวจีนจะหลั่งไหลเดินทางไปทั่วโลก ในขณะที่นักเดินทางจากทั่วโลกก็จะหลั่งไหลไปยังจีน แต่การเปิดประเทศจีนและผ่อนคลายมาตรการป้องกันโควิดให้เหมือนกับทั่วโลก ตามแนวทาง ‘ใช้ชีวิตร่วมกับโควิด’ ท่ามกลางสถานการณ์ระบาดที่ยังรุนแรง จะส่งผล ‘ดี’ หรือ ‘ร้าย’ มากน้อยแค่ไหน ต้องติดตามกัน

 

แผนเปิดประเทศมีอะไรบ้าง อะไรที่ยกเลิก อะไรที่ยังคุมเข้ม?

 

ก่อนจะกล่าวถึงแผนเปิดประเทศที่กำลังจะเกิดขึ้น ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า นับตั้งแต่ปี 2020 ทางการจีนได้กำหนดให้โควิดเป็นโรคติดเชื้อประเภท A ซึ่งเป็นระดับสูงสุด ทำให้การบริหารจัดการพรมแดนต้องดำเนินไปภายใต้กฎหมายว่าด้วยอนามัยชายแดนและกฎหมายกักกันโรค

 

ภายใต้กฎหมายดังกล่าว ทางการจีนต้องบังคับใช้มาตรการที่เข้มงวดสูงสุด เช่น การกักกันและแยกผู้ติดเชื้อและผู้สัมผัสใกล้ชิด และการล็อกดาวน์แบบปิดทั่วทั้งเมืองเพื่อควบคุมโรค

 

ซึ่งในพื้นที่ชายแดน ผู้ติดเชื้อต้องถูกแยกกักตัว ส่วนผู้มีโอกาสติดเชื้อจะถูกกักตัว โดยระยะเวลานั้นขึ้นอยู่กับระยะฟักตัวของไวรัส

 

ความเคลื่อนไหวล่าสุดในการเปิดพรมแดนของจีนมีขึ้นหลังสื่อท้องถิ่นอ้างข้อมูลจากแหล่งข่าว 3 ราย จากหน่วยงานสาธารณสุขประจำมณฑลและโรงพยาบาลหลายแห่งในมณฑลกวางตุ้ง ฝูเจี้ยน และเจียงซู โดยระบุว่าพวกเขาได้รับแจ้งจากคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (25 ธันวาคม) ขอให้เตรียมพร้อมสำหรับการปรับลดระดับการจัดการโควิดเป็นประเภท B ตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 

 

การลดระดับการจัดการโควิดจากประเภท A เป็น B หมายความว่า “ให้ใช้แค่การรักษาและมาตรการที่จำเป็นเท่านั้นในการควบคุมการระบาด” 

 

ขณะที่เมื่อวานนี้ (26 ธันวาคม) คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติของจีนได้แถลงรายละเอียดของ ‘แผนโดยรวมสำหรับการดำเนินการจัดการโรคติดเชื้อประเภท B สำหรับการติดเชื้อโควิด’ โดยกำหนดว่า เริ่มตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2023 จีนจะ

 

  • ยกเลิกมาตรการกักตัวผู้ติดเชื้อโควิด
  • ยกเลิกการระบุตัวผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อโควิด
  • ยกเลิกการกำหนดพื้นที่ความเสี่ยงสูงและความเสี่ยงต่ำ
  • ให้การรักษาแบบแยกประเภทสำหรับผู้ป่วยโควิด และปรับนโยบายการประกันสุขภาพ
  • ปรับให้การตรวจเชื้อแบบ PCR เป็นการตรวจเชื้อโดยสมัครใจ
  • ปรับความถี่และเนื้อหาในการเผยแพร่ข้อมูลการระบาด
  • ยกเลิกมาตรการควบคุมโรคติดเชื้อที่กักกันได้ สำหรับบุคคลและสินค้าที่เข้าประเทศ

 

นอกจากนี้ แผนโดยรวมสำหรับจัดการโควิดดังกล่าวยังระบุว่า ทางการจีนจะดำเนินการ “ปรับปรุงการจัดการการแลกเปลี่ยนบุคลากรระหว่างจีนกับประเทศต่างๆ” และจะดำเนินการตามมาตรการดังต่อไปนี้

 

  • ผู้เดินทางขาเข้าจีนไม่จำเป็นต้องขอรหัสสุขภาพจากสถานทูตหรือสถานกงสุลจีนอีกต่อไป แต่ยังต้องมีผลตรวจเชื้อแบบ PCR เป็นลบในช่วง 48 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง
  • การตรวจเชื้อแบบตรวจสารพันธุกรรม และการกักตัวแบบรวมศูนย์สำหรับผู้เดินทางเข้าจีนทั้งหมดจะถูกยกเลิก 
  • มาตรการควบคุมจำนวนเที่ยวบินโดยสารระหว่างประเทศ รวมถึงนโยบาย ‘5 ต่อ 1’ (สายการบินต่างประเทศทั้งหมดจะต้องให้บริการเส้นทางบินไปยังจีนเพียงเส้นทางเดียว และให้บริการไม่เกิน 1 เที่ยวบินต่อสัปดาห์) และมาตรการจำกัดจำนวนผู้โดยสารจะถูกยกเลิก
  • สายการบินยังต้องดำเนินมาตรการป้องกันโรคบนเครื่องบิน และผู้โดยสารจะต้องสวมหน้ากากอนามัยเมื่อทำการบิน 
  • ทางการจีนจะปรับการจัดการและอำนวยความสะดวกด้านวีซ่ามากขึ้น สำหรับชาวต่างชาติที่เดินทางกลับมายังจีน เพื่อมาทำงาน ทำธุรกิจ มาศึกษาต่อ หรือเยี่ยมครอบครัว
  • การเดินทางเข้าและออกประเทศทั้งทางน้ำและทางบกจะกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง
  • จีนจะฟื้นการท่องเที่ยวนอกประเทศอย่างเป็นระเบียบ โดยพิจารณาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดระหว่างประเทศและความสามารถในการรองรับการบริการของทุกภาคส่วน

 

สัญญาณบวกเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว?

 

การดำเนินนโยบาย Zero-COVID ที่เข้มงวดของรัฐบาลจีนตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา แม้จะประสบผลสำเร็จ โดยสามารถควบคุมการระบาดและส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากโควิดของจีนมีจำนวนที่น้อยเมื่อเทียบกับหลายประเทศทั่วโลก แต่ในขณะเดียวกัน จีนเองก็ได้รับผลกระทบด้านลบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจของประเทศ มูลค่า 17 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก

 

แต่การเปลี่ยนท่าทีปรับลดนโยบายโควิดที่เข้มงวดให้ผ่อนคลายลงตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคมที่ผ่านมา ภายหลังการประท้วงต่อต้านของประชาชนในหลายเมือง ส่งผลให้ประชาชนและผู้ประกอบธุรกิจในจีนเริ่มมีความหวัง 

 

กระทั่งความเคลื่อนไหวล่าสุดในการประกาศเปิดพรมแดนและยกเลิกมาตรการเข้มงวดสำหรับนักเดินทาง กลายเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าจีนจะกลับมาเดินเครื่องฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่าง ‘จริงจัง’ และในขณะเดียวกัน ยังเป็นโอกาสและความหวังของหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงไทยที่ต้องการต้อนรับและดึงดูดนักท่องเที่ยวจีน ที่โหยหาการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศให้กลับมาอีกครั้ง

 

ข้อมูลจากแพลตฟอร์มการท่องเที่ยว Ctrip ของจีนแสดงให้เห็นว่า ภายในครึ่งชั่วโมงหลังข่าวการเปิดพรมแดน จำนวนการค้นหาจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวต่างประเทศยอดนิยมเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า โดย Ctrip ระบุว่า มาเก๊า ฮ่องกง ญี่ปุ่น ไทย และเกาหลีใต้ เป็นประเทศที่ถูกค้นหาข้อมูลมากที่สุด

 

ขณะที่ข้อมูลจาก Trip.com แสดงให้เห็นว่าการจองเที่ยวบินขาออกของจีนเพิ่มขึ้นถึง 254% ในช่วงเช้าวันนี้ (27 ธันวาคม) เมื่อเทียบกับวันก่อนหน้า

 

ทั้งนี้ พบว่าหุ้นในกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยทั่วโลก ซึ่งพึ่งพาผู้ซื้อชาวจีนเป็นหลัก เพิ่มขึ้นในวันอังคารเนื่องจากการประกาศผ่อนคลายข้อจำกัดการเดินทาง โดยจีนมีสัดส่วน 21% ของตลาดสินค้าฟุ่มเฟือยทั่วโลกมูลค่า 3.5 แสนล้านยูโร

 

ในช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด นักท่องเที่ยวจีนถือเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวอันดับ 1 ของไทย โดยตั้งแต่ปี 2014 จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาไทยเพิ่มขึ้นจาก 4.64 ล้านคน เป็น 12 ล้านคนในปี 2019 

 

สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ASSOCIATION OF THAI TRAVEL AGENTS: ATTA) ประเมินว่า การเปิดพรมแดนของจีนอาจส่งผลให้มีชาวจีนราว 3-5 ล้านคนเดินทางมาไทยในปีหน้า 

 

โดยหลายบริษัทนำเที่ยวของจีนกำลังเร่งเตรียมความพร้อมสำหรับการกลับมาดำเนินงานตามปกติ แต่คาดว่าอาจต้องใช้เวลา เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาแรงงานจำนวนมากในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของจีนต่างเปลี่ยนไปประกอบอาชีพอื่น 

 

นอกจากนี้ หลายบริษัทนำเที่ยวของจีนยังชี้ถึงความกังวลของชาวจีนต่อสถานการณ์โควิดในต่างประเทศ รวมทั้งไทย แม้ว่ารัฐบาลไทยจะประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) อีกทั้งยกเลิกจากการเป็นโรคติดต่ออันตราย และกำหนดให้เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังแล้วก็ตาม

 

ขณะที่บริษัทนำเที่ยวของจีนชี้ว่า การกลับสู่ภาวะปกติของการท่องเที่ยวต่างประเทศสำหรับชาวจีนอาจใช้เวลาอีกหลายเดือน เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับโควิดและการใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น เพราะผลกระทบของการระบาดใหญ่ที่ผ่านมา

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อพรมแดนระหว่างจีนและฮ่องกงเปิดอีกครั้งในเดือนหน้า ชาวจีนแผ่นดินใหญ่จะสามารถเดินทางข้ามไปฉีดวัคซีน mRNA ที่ผลิตโดย BioNTech ซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่าวัคซีนเชื้อตายที่พัฒนาในประเทศ ทำให้โอกาสที่จะลดจำนวนชาวจีนที่ป่วยหนักและเสียชีวิตจากโควิด ตลอดจนลดความกังวลในการติดเชื้อมีเพิ่มมากขึ้นด้วย

 

ผลกระทบต่อสถานการณ์โควิดในจีน

 

ข่าวการเปิดพรมแดนของจีน ในแง่เศรษฐกิจอาจเป็นข่าวดีที่ฉายภาพความหวังและการฟื้นตัว แต่ในอีกทางหนึ่งก็มีความกังวลจากหลายฝ่ายที่หวั่นวิตกต่อสถานการณ์ระบาดของโควิดในจีน

 

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางการจีนได้หยุดรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดรายวัน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ยกเลิกการรายงานข้อมูลผู้ติดเชื้อแบบไม่มีอาการ ซึ่งส่งผลให้เกิดข้อสงสัยเรื่องความน่าเชื่อถือของข้อมูล  

 

ขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโควิดเพียง 1 รายในช่วง 7 วัน นับจนถึงวันจันทร์ที่ผ่านมา ทำให้เกิดข้อสงสัยมากขึ้นในหมู่ประชาชนและผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข 

 

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศประเมินว่า จีนอาจเผชิญจำนวนผู้ติดเชื้อหลายล้านคนต่อวัน และผู้เสียชีวิตจากโควิดสูงถึงอย่างน้อย 1 ล้านคนในปีหน้า

 

และในขณะที่ชาวจีนจำนวนมากกำลังตื่นเต้นและดีใจต่อข่าวการเปิดประเทศและเดินหน้าสู่วิถีชีวิตก่อนโควิด แต่ระบบรักษาพยาบาลของจีนกำลังเผชิญกับแรงกดดันมหาศาลที่เพิ่มขึ้น 

 

โดยแพทย์หลายรายเปิดเผยสถานการณ์ในโรงพยาบาลหลายแห่ง พบว่ามีผู้ป่วยเพิ่มมากกว่าปกติถึง 5-6 เท่า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ขณะที่สถานที่จัดพิธีศพเปิดเผยว่าความต้องการใช้บริการก็พุ่งสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว

 

สื่อของรัฐรายงานว่า มีการขอให้พยาบาลและแพทย์ทำงานแม้จะมีอาการป่วย ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์ที่เกษียณแล้วในชนบทถูกจ้างให้กลับมาช่วยงาน นอกจากนี้พบว่าบางเมืองเริ่มประสบปัญหาในการจัดหายาลดไข้สำหรับผู้ป่วย

 

นอกจากนี้ แม้ว่าเศรษฐกิจจีนอาจจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในปีหน้า แต่มีการประเมินว่าในช่วงไม่กี่สัปดาห์หรือหลายเดือนข้างหน้า สถานการณ์อาจยากลำบากมากขึ้น เนื่องจากแรงงานที่ล้มป่วยจากโควิดมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

 

ภาพ: Photo by Kevin Frayer / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X