×

‘ปาไข่ใส่โรงเรียน-คุกคามธุรกิจ’ สรุปดราม่าจีนต้านญี่ปุ่น หลังปล่อยน้ำเสียนิวเคลียร์ลงทะเล

30.08.2023
  • LOADING...

กรณีการปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีที่ผ่านการบำบัดจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก กลายเป็นประเด็นร้อนที่สร้างความขุ่นเคืองแก่ประชาชนในหลายประเทศ โดยเฉพาะจีน ซึ่งนอกจากปฏิกิริยาจากภาครัฐที่ตอบโต้ด้วยการแบนอาหารทะเลจากญี่ปุ่น ทางด้านประชาชนจีนก็เกิดกระแสต่อต้านญี่ปุ่นที่รุนแรงจนน่ากลัว และกลายเป็นการ ‘คุกคาม’ จนทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องออกมาร้องเรียนและแสดงความกังวล

 

ประเด็นดราม่าที่เริ่มลุกลามนี้มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง THE STANDARD สรุปมาให้อ่านกัน

 

โทรศัพท์คุกคาม-ปาไข่ใส่โรงเรียน

 

  • กระแสการวิพากษ์วิจารณ์ที่รุนแรงซึ่งลุกลามไปสู่การคุกคามเกิดขึ้นโดยตรงกับชาวญี่ปุ่น ภายหลังมีการปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งแม้น้ำเสียจะผ่านการบำบัดแล้ว และมีการยืนยันความปลอดภัยจากทางญี่ปุ่นและทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) แต่ก็ไม่ก่อให้เกิดความเชื่อมั่นว่าประเทศในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกจะปลอดภัยจากสารกัมมันตรังสี

 

  • ความไม่พอใจถึงขั้นโกรธแค้นลามจากรัฐบาลไปถึงประชาชน จนทางการจีนต้องสั่งเซ็นเซอร์คลิปวิดีโอหรือข้อความปลุกปั่นความไม่พอใจที่ปะทุขึ้น

 

  • โดยคลิปวิดีโอหลายคลิปบนโซเชียลมีเดียจีนแสดงให้เห็นชาวจีนที่ไม่พอใจและปลุกระดมให้โทรศัพท์ไปยังสถานประกอบธุรกิจและสถาบันหรือหน่วยงานต่างๆ ของญี่ปุ่น พร้อมทั้งตะโกนข้อความเชิงตั้งคำถามไปว่า “ทำไมพวกแกถึงปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลงมหาสมุทร?”

 

  • ในขณะที่คอมเมนต์ในคลิปวิดีโอเหล่านี้เต็มไปด้วยชาวเน็ตจีนที่พากันแชร์เบอร์โทรและส่งเสริมกันและกัน ซึ่งหลายคนบอกว่า “ฉันก็โทรไปแล้วเหมือนกัน”

 

  • ฮิโรชิ โคฮาตะ นายกเทศมนตรีเมืองฟุกุชิมะ กล่าวเมื่อวันเสาร์ (26 สิงหาคม) ว่าศาลาว่าการของเมืองได้รับโทรศัพท์คุกคามกว่า 200 สายในช่วง 2 วันก่อนหน้านี้ และยังมีอีกหลายสถานที่ทั่วทั้งเมือง รวมถึงโรงเรียนประถมและมัธยม ร้านอาหาร โรงแรมทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ที่ได้รับโทรศัพท์ก่อกวนในลักษณะเดียวกัน

 

  • “หลายคนที่โทรมามาจาก +86 (รหัสประเทศของจีน) และพูดเป็นภาษาจีน” โคฮาตะระบุในโพสต์ข้อความทาง Facebook 

 

  • สถานีโทรทัศน์ NHK ของญี่ปุ่น รายงานว่า ตลาดอาหารทะเลแห่งหนึ่งในจังหวัดฟุกุชิมะได้รับโทรศัพท์หลายสิบสายจากหมายเลขโทรศัพท์ที่มาจากจีน

 

  • ขณะที่นายกเทศมนตรีเมืองฟุกุชิมะตัดพ้อว่า “นอกเหนือจากความเสียหายที่เกิดจากอุบัติเหตุนิวเคลียร์แล้ว ฟุกุชิมะยังได้รับภาระจากผลที่ตามมาด้วย” พร้อมทั้งเรียกร้องไปยังรัฐบาล “ให้รับทราบสถานการณ์นี้และดำเนินการแก้ไขโดยเร็วที่สุด”

 

  • นอกจากในฟุกุชิมะ หน่วยงาน โรงเรียน และสถานประกอบธุรกิจของชาวญี่ปุ่นในจีนก็เดือดร้อนจากการถูกคุกคามเช่นกัน 

 

  • NHK รายงานว่า โรงเรียนของชาวญี่ปุ่นแห่งหนึ่งในเมืองชิงเต่า มณฑลชานตง ถูกคนขว้างก้อนหินใส่บริเวณโรงเรียน และในวันถัดมาโรงเรียนของชาวญี่ปุ่นอีกแห่งในเมืองซูโจว มณฑลเจียงซู ก็ถูกคนขว้างไข่หลายฟองใส่โรงเรียน 

 

  • โชคดีที่ทั้งสองเหตุการณ์ไม่มีเด็กนักเรียนบาดเจ็บ และทางโรงเรียนของชาวญี่ปุ่นในจีนต้องปรับเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยหลังจากเกิดเหตุ แม้จะไม่มีการยืนยันว่าใครคือผู้ก่อเหตุ และเป็นการก่อเหตุที่เกี่ยวข้องกับกรณีปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะหรือไม่

 

  • เหตุการณ์คุกคามที่เกิดขึ้นก่อให้เกิดความหวาดกลัวและวิตกกังวลในหมู่ชาวญี่ปุ่นในประเทศจีน 

 

  • ภายหลังการปล่อยน้ำเสีย สถานทูตญี่ปุ่นในจีนยังได้ประกาศเตือนพลเรือนชาวญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในจีนว่าอย่า “พูดภาษาญี่ปุ่นเสียงดังเมื่อออกไปในที่สาธารณะ” และให้ “ระมัดระวังคำพูดและพฤติกรรม”

 

  • ด้านกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นเปิดเผยเมื่อวันจันทร์ (28 สิงหาคม) ว่าได้เรียกเอกอัครราชทูตจีนเข้าพบกรณีการโทรศัพท์คุกคามในฟุกุชิมะ และกล่าวว่าเหตุการณ์ดังกล่าว “น่าเสียใจและน่าเป็นกังวลอย่างยิ่ง” พร้อมทั้งเรียกร้องให้จีนรับประกันความปลอดภัยของชาวญี่ปุ่นในจีนและสถานทูตญี่ปุ่นในจีน” ซึ่ง NHK รายงานว่า สถานทูตญี่ปุ่นในปักกิ่งได้เพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยและจัดกำลังเจ้าหน้าที่ดูแลรอบๆ อาคารมากขึ้น

 

  • ขณะเดียวกัน รัฐบาลโตเกียวได้เรียกร้องให้ปักกิ่งใช้ ‘มาตรการที่เหมาะสม’ เพื่อแก้ไขและป้องกันไม่ให้สถานการณ์บานปลายในทันที รวมทั้งเพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่กระจายข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการปล่อยน้ำเสียดังกล่าว

 

จีนปัดแพร่ข้อมูลบิดเบือน อ้างถูกคุกคามเหมือนกัน

 

  • ด้านสถานเอกอัครราชทูตจีนในญี่ปุ่นออกแถลงการณ์เมื่อวันจันทร์ ประณามการปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะอีกครั้ง และกล่าวหาญี่ปุ่นว่าก่อให้เกิด “อันตรายที่คาดเดาไม่ได้” ต่อสุขภาพของมนุษย์และทะเล และปฏิเสธว่าไม่ได้เผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องใดๆ ขณะที่อ้างว่าได้รับโทรศัพท์คุกคามเช่นกัน แต่มาจากหมายเลขโทรศัพท์ของญี่ปุ่น

 

  • และเพื่อเป็นการสะท้อนแถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น สถานเอกอัครราชทูตจีนยังเรียกร้องให้รัฐบาลโตเกียวปกป้องความปลอดภัยของชาวจีนที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน

 

  • ส่วนการปรับมาตรการความปลอดภัยเพื่อรับมือกับการคุกคามชาวจีนนั้น ทางโฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนยืนยันว่า ที่ผ่านมา “จีนได้ปกป้องความปลอดภัยและผลประโยชน์ที่ชอบด้วยกฎหมายของชาวต่างชาติในจีนมาโดยตลอด”

 

การทูตซูชิ

 

  • การปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีที่ผ่านการบำบัดของญี่ปุ่น ทำให้ทางการจีนตอบโต้ด้วยความไม่พอใจ ถึงขั้นแบนการนำเข้าอาหารทะเลทั้งหมดจากญี่ปุ่น

 

  • โดยชาวเน็ตจีนหลายคนพยายามเรียกร้องการตอบโต้ที่รุนแรงขึ้น ถึงขั้นให้บอยคอตไปถึงสินค้าที่มาจากญี่นทั้งหมด ซึ่งใน Douyin หรือ TikTok เวอร์ชันจีน ผู้ใช้หลายคนได้เผยแพร่รายชื่อแบรนด์สินค้าญี่ปุ่น ตั้งแต่เครื่องสำอางไปจนถึงอาหารและเครื่องดื่ม และเรียกร้องให้ชาวจีนไม่ซื้อผลิตภัณฑ์ของญี่ปุ่น

 

  • อย่างไรก็ตาม ผู้สังเกตการณ์บางคนมองว่า “ปฏิกิริยาตอบโต้ที่รุนแรงในจีนอาจได้รับแรงผลักดันทางการเมืองมากกว่าการให้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้อง” และกล่าวหาปักกิ่งว่า ‘สองมาตรฐาน’ 

 

  • เนื่องจากหลายประเทศรวมทั้งจีนก็เคยปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของตนเอง และบางครั้งอาจมีความเข้มข้นสูงกว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะด้วยซ้ำ

 

  • แต่ข้อเท็จจริงนี้ถูกลบหายไปจากการสนทนาทางออนไลน์ในจีน เสียงไม่กี่เสียงที่พยายามอธิบายวิทยาศาสตร์เบื้องหลังการปล่อยน้ำเสียดังกล่าวถูกเซ็นเซอร์และลบออกจากโซเชียลมีเดีย

 

  • “การปนเปื้อนในทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้ร้ายแรงขนาดนั้น และการปล่อยน้ำเสียของจีนเอง หรือการปล่อยน้ำเสียของประเทศอื่นๆ นั้นมีความเข้มข้นสูงกว่ากรณีของญี่ปุ่นมาก” ยาสุฮิโระ มัตสึดะ ศาสตราจารย์ด้านการเมืองระหว่างประเทศจากสถาบันการศึกษาขั้นสูงด้านเอเชียแห่งมหาวิทยาลัยโตเกียวกล่าว

 

  • ขณะที่เขามองว่าการปล่อยน้ำเสียดังกล่าวไม่ใช่ประเด็นที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์สำหรับจีนในแบบเดียวกับประเด็นความมั่นคงของชาติ ดังนั้นความเดือดดาลของชาวจีนที่ปะทุขึ้นจึงอาจเป็นความพยายามของปักกิ่งที่จะได้มาซึ่ง ‘อำนาจทางการเมือง’

 

  • ทั้งนี้ เขายังมองว่าการโจมตีทางโซเชียลมีเดียและความรู้สึกของสาธารณชนในจีนที่เพิ่มสูงขึ้นจนเกินการควบคุม กลับกลายเป็น “การทุบตีใส่ญี่ปุ่นอย่างเต็มกำลัง”

 

  • ด้านฝ่ายที่สนับสนุนแผนปล่อยน้ำเสียนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นพยายามที่จะแสดงออกถึงความสามัคคี และสร้างความมั่นใจด้วยการรับประทานอาหารทะเลที่มาจากทะเลในภูมิภาค

 

  • โดยประธานาธิบดียุนซอกยอล และนายกรัฐมนตรีฮันด็อกซู ของเกาหลีใต้ ได้ร่วมรับประทานอาหารทะเลกันในมื้อกลางวันของวันจันทร์ที่โรงอาหารของทำเนียบประธานาธิบดี ซึ่งมีการเสิร์ฟซาชิมิและปลาแมคเคอเรลย่างในเมนูด้วย

 

  • ขณะที่ ยูริโกะ โคอิเกะ ผู้ว่าการกรุงโตเกียว ก็เลือกปลาดิบจากฟุกุชิมะมารับประทานเป็นอาหารกลางวันเมื่อวันศุกร์ (25 สิงหาคม) หรือ 1 วันหลังการปล่อยน้ำเสีย เพื่อแสดงการสนับสนุนการฟื้นฟูจังหวัดฟุกุชิมะและภูมิภาคโทโฮกุที่เสียหายหลังภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อปี 2011

 

  • เช่นเดียวกับรัฐบาลกรุงโตเกียวที่เลือกเสิร์ฟอาหารทะเลจากฟุกุชิมะในโรงอาหารของพนักงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยมีเมนูประกอบด้วยปลาซาร์ดีนทอดและปลาแมคเคอเรลย่าง 

 

  • ส่วนจังหวัดอื่นๆ ก็กำลังพิจารณาดำเนินการคล้ายกัน โดยผู้ว่าราชการจังหวัดโอซาก้าเสนอให้เสิร์ฟอาหารทะเลจากฟุกุชิมะในโรงอาหารของรัฐบาลทุกแห่ง

 

  • ทางด้าน ราห์ม เอ็มมานูเอล เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำญี่ปุ่น คาดว่าจะไปเยือนเมืองฟุกุชิมะในสัปดาห์นี้ และวางแผนที่จะรับประทานปลาที่จับได้ในท้องถิ่น เพื่อแสดงการสนับสนุนแผนปล่อยน้ำเสีย 

 

ความสัมพันธ์ที่ร้าวลึก

 

  • ความตึงเครียดและกระแสต่อต้านญี่ปุ่นของชาวจีนที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและจีนที่ร้าวลึกมาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกทั้งยังมีข้อพิพาทด้านอาณาเขตทางทะเลอีกหลายกรณี

 

  • ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การที่ชาวจีนเรียกร้องให้คว่ำบาตรญี่ปุ่นนั้นเกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยจะเกิดขึ้นเมื่อความคับข้องใจเก่าๆ เข้ามาครอบงำ หรือมีข้อพิพาทเรื่องดินแดนลุกลาม

 

  • ในปี 2012 ความสัมพันธ์ทางการค้าของทั้งสองประเทศจมดิ่งลงถึงจุดต่ำสุด หลังจากที่ญี่ปุ่นโอนหมู่เกาะในทะเลจีนตะวันออกที่ทั้งสองฝ่ายต่างอ้างสิทธิเป็นเจ้าของ ทำให้เกิดกระแสการประท้วงต่อต้านญี่ปุ่นอย่างรุนแรงในหลายเมืองของจีน จากการคว่ำบาตรกลายเป็นการโจมตีอย่างรุนแรงต่อโรงงานหรือแบรนด์สินค้าของญี่ปุ่นในจีน ซึ่งรวมถึงผู้ผลิตรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน

 

  • ผู้เชี่ยวชาญยังมองว่าสถานการณ์ตอนนี้กับในปี 2012 นั้นคล้ายกัน โดยเฉพาะความโกรธแค้นของชาวจีนที่กำลังเผชิญความลำบาก ทั้งอัตราว่างงานและค่าครองชีพที่พุ่งสูง ท่ามกลางสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ไม่สู้ดีภายหลังการระบาดของโควิด 

 

  • ซึ่งกรณีการปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะนี้อาจเป็นเพียงสิ่งที่กระตุ้นให้ชาวจีน ‘ปลดปล่อย’ ความคับข้องใจเหล่านี้ แต่ถึงกระนั้นผู้เชี่ยวชาญก็มองว่าความไม่พอใจที่เกิดขึ้นไม่น่าจะลุกลามไปสู่การก่อความรุนแรงและการประท้วงบนท้องถนนเช่นเดียวกับปี 2012

 

  • อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างจีนและญี่ปุ่นดูเหมือนจะตึงเครียดอีกครั้ง โดยจีนขอให้ นัตสึโอะ ยามากุชิ หัวหน้าพรรคโคเมโต พรรคร่วมรัฐบาลของญี่ปุ่น เลื่อนการเยือนตามแผนที่วางไว้ในสัปดาห์นี้

 

  • ซึ่งยามากุชิคาดหวังว่าจะได้พบกับสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน และส่งมอบจดหมายส่วนตัวจาก ฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ให้กับผู้นำจีน แต่ทางการจีนบอกกับพรรคโคเมโตเมื่อวันเสาร์ว่า “ช่วงเวลานี้ยังไม่เหมาะสม เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ปัจจุบันของความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-จีน”

 

ภาพ: Vernon Yuen / NurPhoto via Getty Images

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising