×

บลิงเคนเยือนจีน คาดหารือ 3 ประเด็นสำคัญ มุ่งสมานรอยร้าวสหรัฐฯ-จีน

โดย THE STANDARD TEAM
18.06.2023
  • LOADING...

แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เปิดฉากเยือนจีนวันนี้ (18 มิถุนายน) เพื่อเริ่มต้นภารกิจฟื้นฟูความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนที่ถดถอยลงอย่างหนักท่ามกลางความขัดแย้งในหลายประเด็น

 

การเยือนจีนครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกของบลิงเคน หลังจากแผนการเดินทางเดิมเมื่อเกือบ 5 เดือนที่แล้วถูกยกเลิกอย่างกะทันหัน เนื่องจากเกิดเหตุการณ์บอลลูนจีนลอยเหนือแผ่นดินสหรัฐฯ ซึ่งวอชิงตันระบุว่าเป็นบอลลูนสอดแนม

 

สำหรับภารกิจเยือนจีนในครั้งนี้ บลิงเคนมีกำหนดประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่นโยบายต่างประเทศระดับสูงของจีน แต่ยังไม่มีข่าวยืนยันว่าเขาจะได้เข้าพบประธานาธิบดีสีจิ้นผิงหรือไม่

 

นอกจากประเด็นความขัดแย้งที่ถูกจับตาแล้ว คาดว่าการเดินทางครั้งนี้อาจเป็นใบเบิกทางไปสู่ความร่วมมือระหว่างสองชาติมหาอำนาจของโลกด้วยเช่นกัน และต่อไปนี้คือ 3 ประเด็นสำคัญที่คาดว่าเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ และจีนจะหยิบยกขึ้นมาหารือในการพบกันครั้งนี้

เยียวยาความสัมพันธ์

 

เรื่องแรกและสำคัญที่สุดคือ การฟื้นฟูปฏิสัมพันธ์ทางการทูตขึ้นมาใหม่

 

โดยที่ผ่านมามีความพยายามจากทางฝั่งสหรัฐฯ ที่จะคลี่คลายความมึนตึงระหว่างสองฝ่าย ซึ่งรวมถึงการประชุมร่วมกันของ เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ กับ หวังอี้ นักการทูตระดับสูงของจีน ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยแถลงการณ์จากทำเนียบขาวระบุว่า การประชุมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของสหรัฐฯ ที่จะรักษาช่องทางการสื่อสารกับจีนให้กลับมาเป็นปกติอีกครั้งหลังจากเหตุการณ์บอลลูนสอดแนม

 

ความพยายามเยียวยาความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ ได้รับการตอกย้ำด้วยการเดินทางเยือนปักกิ่งของบลิงเคนในครั้งนี้ โดยบลิงเคนถือเป็นเจ้าหน้าที่อาวุโสสูงสุดจากฝ่ายบริหารของไบเดนที่เดินทางเยือนจีน และนับเป็นการเยือนปักกิ่งครั้งแรกของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2018

 

เคิร์ต แคมป์เบลล์ รองผู้ช่วยประธานและผู้ประสานงานกิจการอินโด-แปซิฟิก กล่าวก่อนการเดินทางของบลิงเคนว่า เวลานี้เป็นเวลาที่ดีสำหรับสองฝ่ายที่จะได้กลับมาพูดคุยกันอีกครั้ง เพราะจะช่วยลดความเสี่ยงของความขัดแย้งได้

 

“เราไม่สามารถปล่อยให้ความคิดเห็นที่แตกต่างขัดขวางไม่ให้เราก้าวไปข้างหน้าในประเด็นเร่งด่วนระดับโลกที่เราต้องร่วมมือกัน” แคมป์เบลล์กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม การตอบสนองของจีนต่อการมาเยือนของบลิงเคนนั้นค่อนข้างเย็นชา

 

มีรายงานว่าในระหว่างการพูดคุยกันทางโทรศัพท์เมื่อคืนวันพุธที่ผ่านมา (14 มิถุนายน) ฉินกัง รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน ได้กล่าวกับบลิงเคนว่า “มันชัดเจนมากว่าใครต้องถูกตำหนิ” ที่เป็นต้นเหตุของความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่ลงในช่วงที่ผ่านมา

 

“สหรัฐฯ ควรเคารพความกังวลของจีน หยุดแทรกแซงกิจการภายในของจีน และหยุดบ่อนทำลายอธิปไตย ความมั่นคง และการพัฒนาของจีน เพื่อประโยชน์ในการแข่งขัน” ฉินกล่าวตามที่มีการรายงาน

 

แดเนียล เจ ไครเตนบริงก์ นักการทูตอาวุโสด้านเอเชียตะวันออกของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า อย่าคาดหวังถึงความก้าวหน้าหรือการเปลี่ยนแปลงวิธีการที่ทั้งสองฝ่ายมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน อย่างไรก็ดี ทั้งสองฝ่ายอาจเดินหน้าต่อไปได้ หากการประชุมครั้งนี้นำไปสู่การสื่อสารเพิ่มเติมระหว่างเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ และจีน

คลายความขัดแย้งทางการค้า

 

ความสัมพันธ์ของจีนกับสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน เริ่มต้นขึ้นไม่ดีนัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไบเดนไม่เต็มใจที่จะยกเลิกมาตรการทางการค้าที่สหรัฐฯ บังคับใช้กับจีนในสมัยของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งรวมถึงการเก็บภาษีนำเข้ามูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สำหรับสินค้าที่ผลิตในจีน

 

ยิ่งไปกว่านั้น กลับกลายเป็นว่าไบเดนบีบจีนหนักขึ้นอีกในบางเรื่อง หนึ่งในนั้นคือการจำกัดการส่งออกชิปคอมพิวเตอร์ของสหรัฐฯ ไปยังจีน เพื่อรักษาความเหนือกว่าของสหรัฐฯ ในด้านเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงสุด

 

การดำเนินการดังกล่าวส่งผลให้จีนออกมาตอบโต้ด้วยการออกคำสั่งห้ามใช้ชิปหน่วยความจำคอมพิวเตอร์ที่จำหน่ายโดย Micron ผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ

 

สำหรับในเรื่องนี้แคมป์เบลล์ยืนยันว่า สหรัฐฯ รับทราบถึงความกังวลของจีน แต่ขณะเดียวกันก็กล่าวด้วยว่าสหรัฐฯ มีเหตุผล และจะอธิบายถึงสิ่งที่ได้ทำไปแล้ว และสิ่งที่อาจรออยู่เบื้องหน้าให้ฝ่ายจีนได้ทราบ

 

อย่างไรก็ดี ถ้าเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เป็นประเด็นความขัดแย้งทางการค้าระหว่างมหาอำนาจทั้งสอง การค้ายาเสพติดที่ผิดกฎหมายอาจเป็นประเด็นที่นำสหรัฐฯ และจีนให้หันหน้ามาร่วมมือกัน

 

สหรัฐฯ ต้องการจำกัดการส่งออกส่วนประกอบทางเคมีที่ผลิตในประเทศจีน เนื่องจากส่วนประกอบทางเคมีเหล่านี้ใช้ในการผลิตเฟนทานิล ซึ่งเป็นสารกลุ่มฝิ่นสังเคราะห์ที่มีฤทธิ์รุนแรงกว่าเฮโรอีนหลายเท่า โดยอัตราการเสียชีวิตจากการเสพยาเกินขนาดในสหรัฐฯ ที่เกี่ยวข้องกับเฟนทานิลนั้นเพิ่มขึ้นกว่าสามเท่าในช่วงเจ็ดปีที่ผ่านมา

 

“นี่เป็นปัญหาสำคัญและเร่งด่วนอย่างยิ่งสำหรับสหรัฐอเมริกา” ไครเตนบริงก์กล่าว

 

หลีกเลี่ยงสงคราม

 

หลังจากเหตุการณ์บอลลูนสอดแนม มีรายงานว่าจีนกำลังพิจารณาที่จะส่งอาวุธให้รัสเซียเพื่อใช้ในการทำสงครามกับยูเครน อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ พยายามที่จะไม่ทำให้เรื่องนี้ลุกลามบานปลายออกไป เพื่อขจัดสิ่งที่อาจเป็นประเด็นปัญหาระหว่างสองประเทศ และทำให้สถานการณ์ในยูเครนและรัสเซียกลายเป็นสงครามตัวแทนระหว่างสหรัฐฯ กับจีน

 

อย่างไรก็ดี คาดว่าบลิงเคนจะยังคงเตือนจีนในการพบกันครั้งนี้ว่า จะมีผลร้ายแรงหากจีนให้ความช่วยเหลือทางทหารและทางการเงินแก่รัสเซีย

 

นอกจากนี้อีกหนึ่งประเด็นที่หลายฝ่ายจับตาคือ การที่เรือรบสหรัฐฯ และจีนเผชิญหน้ากันบ่อยครั้งมากขึ้นในบริเวณช่องแคบไต้หวันและทะเลจีนใต้ ซึ่งจีนอ้างสิทธิ์เหนือพื้นที่ดังกล่าว ขณะที่สหรัฐฯ ยืนยันว่าเป็นน่านน้ำสากล

 

บลิงเคนและทีมงานกล่าวก่อนการเดินทางว่า เป้าหมายของการเดินทางครั้งนี้คือการ ‘ลดระดับความเสี่ยง’ ของความตึงเครียด และฟื้นช่องทางการสื่อสารขึ้นมาใหม่

 

การบรรลุเป้าหมายที่มากกว่านี้อาจเป็นงานยากเกินไปสำหรับสถานการณ์ในเวลานี้ เช่นเดียวกับความร่วมมือที่กว้างมากขึ้นระหว่างสองประเทศอาจเป็นเรื่องยากสำหรับไบเดน เนื่องจากคาดว่าการกล่าวโจมตีจีนในวอชิงตันจะร้อนระอุเมื่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2024 กำลังใกล้เข้ามา

 

ดังนั้นผลลัพธ์ที่น่าพอใจของทั้งสองฝ่ายจากการเดินทางเยือนจีนของบลิงเคนในครั้งนี้ อาจเป็นเพียงการกลับมาเปิดช่องทางการสื่อสารระหว่างกันเพื่อป้องกันเหตุการณ์ที่นำไปสู่ความขัดแย้งทางทหาร ส่วนความร่วมมือที่ใหญ่กว่านั้น ยังไม่น่าจะเกิดขึ้นในเวลาอันใกล้นี้

 

ภาพ: LEAH MILLIS / POOL / AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X