×

สมดุลเศรษฐกิจและสุขภาพ กับ ‘ขาขึ้นใหม่’ ของโควิดในไทย อาจมีผู้ติดเชื้อแฝงแตะ 7 ล้านคน

โดย THE STANDARD TEAM
09.09.2021
  • LOADING...
COVID-19

นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์การโควิด-19 (ศบค.) กล่าวในรายการ NBTรวมใจ สู้ภัยโควิด-19 ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2564 ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดในประเทศไทย ที่ถึงแม้ว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อจะลดลง แต่แนวโน้มสถานการณ์โควิดของโลกและไทยกำลังเป็น ‘ขาขึ้นใหม่’ จากการระบาดของสายพันธุ์เดลตา และอาจมีการติดเชื้อแฝงได้มากถึง 7 ล้านคน ซึ่งต้องเร่งฉีดวัคซีนเพื่อลดการป่วยหนัก-เสียชีวิต และไม่มีทางทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ ต้องปรับตัววิถีใหม่อยู่ร่วมกับโรคให้ได้ สร้างสมดุลระหว่างสุขภาพกับเศรษฐกิจ

 

  1. นพ.อุดมเปิดเผยว่า สถานการณ์การระบาดขณะนี้ ถ้าดูจากตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1.4-1.5 หมื่นรายต่อวัน เมื่อเทียบกับปี 2563 ซึ่งอยู่ที่หลักพัน จึงนับได้ว่าเป็นสถานการณ์โควิดของโลกและของไทยเป็นขาขึ้นใหม่ เหตุผลมาจาก 2 ปัจจัยคือ โควิดสายพันธุ์เดลตากระจายได้รวดเร็วมากและรุนแรง ทั่วโลกพบประมาณ 80-90% และของไทยพบผู้ติดเชื้อสูงถึง 91% ที่เป็นเชื้อสายพันธุ์เดลตา

 

  1. นพ.อุดมกล่าวว่า จากการศึกษาของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า การระบาดปัจจุบันสอดคล้องกับการระบาดที่อู่ฮั่น กล่าวคือมีผู้ที่ไม่มีอาการ และไม่เคยไปตรวจโควิดจำนวนมาก และเมื่อไปตรวจกลับพบว่าติดเชื้อ ซึ่งมีคนกลุ่มนี้อีกประมาณ 5-6 เท่าของตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดที่ได้รับการยืนยัน ยกตัวอย่างในปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อโควิดยืนยันใน กทม. ประมาณ 2.5 แสนคน หากคูณ 6 เท่า จะพบว่ามีผู้ติดเชื้ออีกราว 1.5 ล้านคน ซึ่งเรียกว่าผู้ติดเชื้อแฝง คือไม่เคยไปตรวจ ไม่รู้ และไม่มีอาการ ดังนั้นผู้ติดเชื้อใน กทม. จึงไม่ได้มีเพียงแค่วันละ 4-5 พันคนเหมือนตัวเลขที่เห็นในปัจจุบัน ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อยืนยันสะสมของประเทศไทยทะลุ 1.2 ล้านคน หากคูณด้วย 5-6 เท่า หมายความว่าอาจมีผู้ติดเชื้อแฝงประมาณ 6-7 ล้านคน ซึ่งคนเหล่านี้สามารถแพร่เชื้อต่อได้ และเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดการติดเชื้อจากคนใกล้ชิด หรือคนในครอบครัว 

 

  1. นพ.อุดมกล่าวว่า ประชาชนต้องทำความเข้าใจว่า ขณะนี้วัคซีนไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ แม้จะเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดอย่าง mRNA เช่น Pfizer หรือ Moderna เพราะเมื่อดูสถานการณ์จริงในสหรัฐอเมริกา อิสราเอล สิงคโปร์ ที่ฉีดวัคซีน Pfizer ครบ 2 เข็มไปแล้วถึง 60-70% ของคนทั้งประเทศ แต่กลับพบว่ามีผู้กลับมาติดเชื้อใหม่เต็มไปหมด ดังนั้นวัคซีนจึงป้องกันการติดเชื้อได้ประมาณ 50-60% เท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามวัคซีนยังช่วยป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรง และการนอนโรงพยาบาลได้ โดยเฉพาะป้องกันการเข้า ICU และการเสียชีวิต ไม่ว่าจะเป็นวัคซีน Sinovac, AstraZeneca หรือ Pfizer ล้วนป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ประมาณ 90-100% เหมือนกัน นี่คือประโยชน์ของวัคซีน

 

  1. นพ.อุดมกล่าววว่า “จะเห็นได้ว่าทั่วโลกกราฟยังขึ้นอยู่ ติดเชื้อวันละ 5-6 แสนรายต่อวัน แต่ตายน้อยลง อย่างประเทศอังกฤษที่มีการติดเชื้อสูง แต่ผู้เสียชีวิตน้อย เพราะเขาฉีดกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ และโรคเรื้อรังไปกว่า 90% แล้ว ตอนนี้เราจึงจะคิดแบบเดิมไม่ได้แล้ว จะมานั่งล็อกดาวน์มันก็ไม่ไหว เศรษฐกิจไม่ไหว ต้องยอมรับ ตัวเลขเศรษฐกิจเดือนหนึ่งเสียหายเป็นแสนล้าน เราต้องมาปรับใหม่ นั่นเป็นเหตุผลที่ ศบค. ยอมผ่อนปรน ทั้งที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังเป็นหมื่น…เรารู้อยู่แล้วว่าอย่างไรก็ไม่มีทางลง ขนาดใช้มาตรการเต็มที่ยังลดลง (ผู้ติดเชื้อรายใหม่) ได้นิดเดียว ดังนั้นเราต้องมาชั่งน้ำหนักสมดุลระหว่างสุขภาพกับเศรษฐกิจ ถ้าเข้มเรื่องสุขภาพมากเศรษฐกิจก็เสีย ถ้าปล่อยเศรษฐกิจเสรีเลยสุขภาพก็จะแย่ คนจะตายเยอะเราก็รับไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องทำให้มีความสมดุล จึงผ่อนปรนโดยมีเงื่อนไขคือ ทุกคน ทุกองค์กรต้องปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด”

 

  1. นพ.อุดมกล่าวต่อว่า เป้าหมายของการควบคุมโรคระบาดโควิดต้องเปลี่ยนไป จากเดิมที่ต้องทำให้ตัวเลขเป็นศูนย์ ขณะนี้บอกได้เลยว่าไม่มีทางเป็นศูนย์แน่นอน ดังนั้นเป้าหมายคือทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดน้อยลง สามารถปรับตัวอยู่กับโรคได้ ประชาชนดำเนินชีวิตได้ตามปกติในวิถีใหม่ และอีกเป้าหมายคือการฟื้นฟูและขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้มีความสมดุลกับสุขภาพ

 

  1. อีกหนึ่งเป้าหมายของประเทศ คือ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องการเปิดประเทศให้ได้ ซึ่งไม่ได้หมายความถึงการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้าประเทศได้เพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงการให้คนไทยทุกคนออกไปใช้ชีวิตได้ สามารถเดินทางท่องเที่ยว นั่งรับประทานอาหารในร้าน กลับไปเยี่ยมพ่อแม่ ควบคู่ไปกับการเปิดให้ชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยได้ เพราะการท่องเที่ยวคือรายได้หลักของประเทศไทย

 

  1. นพ.อุดมกล่าวยืนยันว่า หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการส่งมอบวัคซีน เราจะสามารถฉีดวัคซีน 2 เข็มได้ตามเป้าหมาย ซึ่งมากกว่า 70% ของจำนวนประชากรอย่างแน่นอน และน่าจะฉีดเข็มที่ 3 ได้ด้วย ซึ่งคาดว่าจะมีวัคซีนเพียงพอสำหรับการฉีดเข็มที่ 3 เพราะจากการติดตามข้อมูลอย่างต่อเนื่องพบว่า หลังฉีดวัคซีนไปแล้ว 3 เดือน ภูมิคุ้มกันจะลดต่ำลง ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนยี่ห้อใดก็ตาม

 

  1. “ถ้าภูมิตกไปมากจะสู้กับไวรัสสายพันธุ์เดลตาไม่ไหว เราต้องสร้างภูมิให้มากขึ้นด้วยการฉีดเข็มที่ 3 โดยตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไปเราจะได้เข็มที่ 3 เป็น AstraZeneca และ Pfizer เราวางแผนไว้เรียบร้อย” แพทย์ที่ปรึกษา ศบค. กล่าว พร้อมย้ำว่าอย่าไปกังวลเรื่องวัคซีน เนื่องจากวัคซีนทุกตัวมีประโยชน์แน่นอน อย่าด้อยค่า Sinovac เพราะล่าสุดมีข้อมูลจากจีนระบุว่า วัคซีน Sinovac สามารถป้องกันการติดเชื้อที่รุนแรงโดยไม่ต้องเข้า ICU ได้ถึง 88% ในจำนวนคนไข้ 4,000 รายที่ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา 
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X