×

‘นิรโทษกรรม’ เคลียร์ปมขัดแย้งหรือขยายความเห็นต่าง

โดย THE STANDARD TEAM
04.12.2023
  • LOADING...

นิรโทษกรรม (Amnesty) มาจากภาษากรีก Amnēstía แปลว่า ลืมหรือปล่อยให้ผ่านไป มักถูกใช้เพื่อคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมืองเพื่อให้ทุกฝ่ายได้เริ่มต้นใหม่ แต่ในประเทศไทยการนิรโทษกรรมถูกใช้กับการรัฐประหาร เพื่อให้ผู้ยึดอำนาจการปกครองพ้นผิด

 

แม้ในอดีตจะเคยมีการออกกฎหมายระดับพระราชบัญญัติและรัฐธรรมนูญเพื่อนิรโทษกรรมเหตุการณ์ทางการเมืองอย่างน้อย 23 ครั้ง ในจำนวนนั้น 11 ครั้งเป็นการนิรโทษกรรมแก่บรรดาคณะรัฐประหารที่เข้ามายึดอำนาจ ส่วนการนิรโทษกรรมผู้ที่พยายามยึดอำนาจ (คดีกบฏ) 6 ครั้งไม่สำเร็จ 

 

แล้วร่างกฎหมายนิรโทษกรรมปัจจุบันจะมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน THE STANDARD ขอรวบรวมความเห็นและทัศนคติจากหลากหลายฝ่ายให้ได้พิจารณากัน

 

ณัฐวุฒิเรียกร้องให้ทุกฝ่ายผลักดันนิรโทษกรรม

 

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย กล่าวในการร่วมเวที THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2023 ถึงร่างกฎหมายนิรโทษกรรมว่า “ผมขอเรียกร้องให้อำนาจรัฐและฝ่ายค้านปัจจุบันผลักดันวาระนิรโทษกรรมผู้ต้องหา ผู้ต้องคดีความ ผู้ต้องขังทางการเมือง ทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย ทุกค่าย ทุกสี ทุกข้อกล่าวหา ทุกบทบัญญัติ และทุกข้อกฎหมาย ไม่มีการยกเว้น ถ้าจะเว้นก็คือความผิดอันเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันและความผิดซึ่งเกิดผลถึงแก่ชีวิต ทั้งต่อประชาชนและเจ้าหน้าที่” ณัฐวุฒิกล่าว  

 

ณัฐวุฒิกล่าวต่อว่า สำหรับผู้ต้องคดีความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้นก็ควรจะต้องอยู่ในกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ด้วย เพราะเงื่อนไขทางการเมืองปัจจุบัน การจับขั้วทางการเมืองในรัฐบาลปัจจุบันทำให้เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย แบ่งข้างทางการเมืองตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ต่อไปการเมืองต้องสู้กันในระบบ สู้กันในสนามเลือกตั้ง 

 

ณัฐวุฒิกล่าวว่า การปล่อยให้คนหนุ่มสาวยุคหนึ่ง สมัยหนึ่ง เผชิญหน้ากับกฎหมายมาตราใดมาตราหนึ่งเพียงลำพัง ไม่สามารถทำให้สังคมไทยทั้งสังคมเดินไปข้างหน้าได้จริง ซึ่งไม่ควรมียุคสมัยใดมีใครถูกจำขังเพราะความคิดที่แตกต่าง และจะต้องไม่มียุคสมัยใดมีใครถูกโบยตีเพียงเพราะเห็นไม่ตรงกับอำนาจรัฐไปบ้าง รวมทั้งคนที่ลี้ภัยไกลบ้านได้เห็นว่าบ้านหลังนี้เปิดต้อนรับ ส่วนเขาจะกลับหรือไม่กลับก็เป็นเสรีภาพของแต่ละคน

 

นิรโทษกรรมคือบาดแผลของเพื่อไทย

 

พรรคเพื่อไทยเคยเสนอร่าง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเมื่อปี 2556 ซึ่งร่างกฎหมายดังกล่าวถูกเรียกว่า ‘นิรโทษกรรมสุดซอย’ จนนำไปสู่เหตุการณ์รัฐประหารในปี 2557 นิรโทษกรรมจึงกลายเป็นตราบาปที่ไม่มีนักการเมืองคนใดกล้ายกขึ้นมาพูดอีก

 

สมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยมีบาดแผลเรื่องดังกล่าวอยู่ ขณะนี้เพิ่งจะตกสะเก็ด เลยออกหน้าไม่ได้ อย่าให้เป็นคนเริ่มต้น เพราะเริ่มไปแล้วไม่รู้ฝ่ายอื่นจะว่าอย่างไร จึงขอให้ทุกคนไปพูดคุยกันกับวิปรัฐบาล ตนพร้อมเป็นสะพานให้ และให้ฟังความเห็นจากทุกพรรคในภาพรวม อย่าเพิ่งลงรายละเอียด 

 

สมคิดระบุอีกว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม แต่เพื่อไทยต้องระมัดระวัง ซึ่งที่ผ่านมาภูมิธรรมระบุว่าไม่อยากทำกฎหมายนิรโทษกรรมโดยที่ไปสร้างความแตกแยกใหม่ 

 

ก้าวไกลเสนอนิรโทษกรรมย้อนหลังชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ-ปัจจุบัน   

 

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลนำโดย ชัยธวัช ตุลาธน สส. บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล นำทีม สส. ของพรรคเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากการเหตุการณ์ขัดแย้งทางการเมือง พ.ศ. … ต่อ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร 

 

โดยชัยธวัชระบุถึงเหตุผลในการยื่นร่างกฎหมายฉบับนี้ว่า ความขัดแย้งทางการเมืองในรอบเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ตั้งแต่การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2549 ลุกลามบานปลายจนเกิดรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)

 

และเกิดรัฐประหารซ้ำเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีประชาชนจำนวนมากเข้าไปมีส่วนร่วมในการชุมนุมและการแสดงออกในรูปแบบต่างๆ ทำให้ประชาชนหลายพันคนถูกดำเนินคดีตั้งแต่คดีเล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึงคดีที่มีข้อกล่าวหาร้ายแรงหรือคดีความมั่นคง และเป็นการยากที่สังคมไทยจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติสุขและเกิดความสามัคคีกัน

 

“เพื่อให้สังคมกลับมาเริ่มต้นกันใหม่ เราจำเป็นต้องยุตินิติสงครามต่อประชาชน ให้ประชาชนที่เคยแสดงออกทางการเมืองโดยมีมูลเหตุความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงเวลาดังกล่าว ได้หลุดพ้นจากการดำเนินคดี การนิรโทษเป็นหนทางที่จะถอดฟืนออกจากกองไฟ ยุตินิติสงคราม เพื่อเป็นก้าวแรกในการสร้างความยุติธรรมและปรองดองอย่างยั่งยืนในสังคมต่อไป” ชัยธวัชกล่าว

 

ไม่นิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่-คดีอาญา

 

ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวจะไม่นิรโทษกรรมไปถึงบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมหรือการกระทำผิดต่อชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา เว้นแต่เป็นการกระทำโดยประมาทและการกระทำที่ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 (คดีกบฏล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ, คดีล้มล้างอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ รวมทั้งคดีแบ่งแยกการปกครอง)

 

ชัยธวัชระบุอีกด้วยว่า ในปี 2519 รัฐบาล พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เคยออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/23 เพื่อนิรโทษกรรมให้กับคนที่ใช้อาวุธลุกขึ้นสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐและมีส่วนทำให้เจ้าหน้าที่รัฐเสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งความผิดส่วนใหญ่เป็นความผิดมาตรา 112 และคดีกบฏล้มล้างการปกครอง 

 

ภูมิธรรมย้ำ นิรโทษกรรมต้องเป็นฉันทมติ

 

ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยจะเสนอร่างกฎหมาย พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ประกบคู่กับร่างฉบับของพรรคก้าวไกล ว่า เรื่องกฎหมายนิรโทษกรรมขณะนี้เป็นฉันทมติของหลายส่วนว่าอยากเห็นการนิรโทษกรรมและการแก้ปัญหา แต่ที่ยังติดประเด็นมาตรา 112 ต้องหาข้อยุติให้ได้ก่อน เนื่องจากหลายพรรคการเมืองไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของพรรคก้าวไกล และขณะนี้ในสังคมก็ยังไม่มีข้อยุติ ส่วนจะเสนอร่างประกบกันอย่างไรก็ต้องพิจารณาอีกครั้ง

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ประเด็นมาตรา 112 พรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วยใช่หรือไม่ ภูมิธรรมระบุว่า “พรรคเพื่อไทยบอกชัดเจนแล้วว่าเรื่องไหนเป็นความขัดแย้งในสังคม ต้องเคลียกันให้ได้ข้อยุติ ไม่ใช่จะเอาหรือไม่เอา ซึ่งถ้าทุกอย่างเป็นข้อสรุปที่มีความชัดเจนว่าทุกคนเห็นด้วยและเข้าใจก็สนับสนุนอยู่แล้ว เพราะเราไม่อยากเห็นการสร้างความขัดแย้งขึ้นมาใหม่แทนความขัดแย้งเดิม ซึ่งไม่เป็นประโยชน์”

 

ส่วนคำถามที่ว่ากรณีที่พรรครวมไทยสร้างชาติติดใจเรื่องคดีทุจริตและการเผาเมื่อปี 2553 ในส่วนของพรรคเพื่อไทยติดใจอะไรหรือไม่ ภูมิธรรมระบุว่า ต้องดูในรายละเอียดว่ามีเหตุมีผลที่สมควรหรือไม่ ส่วนตัวคิดว่ากรอบทางความคิดไม่มีใครเห็นต่าง ขณะที่รายละเอียดต้องมาดูก่อนว่ามีความเหมาะสมอย่างไร 

 

ชลน่านย้ำ ขัดแย้งไม่เคลียร์ นิรโทษกรรมเดินหน้าไม่ได้ 

 

ส่วนทางด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะ สส. จังหวัดน่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีพรรคเพื่อไทยเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ประกบกับของพรรคก้าวไกล ว่า ก็ขึ้นอยู่กับทางฝ่ายกฎหมายและผู้บริหารว่าเห็นควรอย่างไร จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องเสนอเป็นร่างของพรรค ซึ่งก็ต้องไปพิจารณาในรายละเอียด เนื่องจากเนื้อหาสาระของแต่ละร่างอาจแตกต่างกัน ก็เป็นกลไกของสภาว่าจะใช้ร่างใดเป็นหลัก 

 

ส่วนในพรรคเพื่อไทยมีการพูดถึงเรื่องนี้อย่างไรบ้าง นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เท่าที่ตนทราบยังไม่น่าจะมีการพูดคุยกัน น่าจะเป็นแนวคิดของเลขาธิการพรรคที่อาจจะมีการนำเสนอ 

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ส่วนตัวคิดว่าการนิรโทษกรรมจะสามารถเดินต่อไปได้หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า จะไปได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ที่จะต้องดำเนินการ ถ้าหากประโยชน์โดยรวมไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งก็เป็นไปได้ แต่หากเป็นความเห็นที่นำไปสู่ความขัดแย้ง การนิรโทษก็จะเป็นไปไม่ได้ จึงต้องลดข้อจำกัดลง 

 

อนุทินไม่รู้เพื่อไทยจะเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมประกบก้าวไกล 

 

ขณะที่ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ระบุถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยจะเสนอร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ประกบกับพรรคก้าวไกล ว่า พรรคภูมิใจไทยมีจุดยืนของพรรคอยู่แล้ว ซึ่งยังไม่ทราบในรายละเอียด พร้อมปฏิเสธตอบว่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องมาตรา 112 หรือไม่ โดยระบุเพียงสั้นๆ ว่า ตอนนี้มาถึงหนองบัวลำภูแล้ว

 

พลังธรรมใหม่-วราวุธ ไม่หนุน​นิรโทษกรรมมัดรวมคดี​ 112 และ​ทุจริต

 

ในประเทศไทยเกิดรัฐประหารขึ้นบ่อยครั้ง เช่นเดียวกับการออกกฎหมายล้างความผิดให้ตนเอง โดยหยิบยกความปรารถนาต่อบ้านเมืองมาใช้ แต่ที่ผ่านมานอกจากจะไม่สร้างความปรองดองแล้ว ยังมักเกิดความเห็นต่างและความขัดแย้งในบทบาทใหม่ขึ้นมาเสมอ โดยเฉพาะประเด็นมาตรา 112 ผู้ต้องขังไม่ได้รับการประกันตัวเหมือนคดีอื่นๆ 

 

ในร่าง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สร้างเสริมสังคมสันติสุข หรือร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับพรรคพลังธรรมใหม่ กำหนดให้การกระทำการที่มีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 – 30 พฤศจิกายน 2565 ไม่เป็นความผิดทั้งทางอาญาและทางแพ่ง แต่ไม่รวมถึงความผิดคดีทุจริตและคดีมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา

 

เช่นเดียวกับ วราวุธ​ ศิลปอาชา​ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์​ ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า​ ขณะนี้ตนยังไม่เห็นร่างของพรรคเพื่อไทย แต่จุดยืนของพรรคชาติไทยพัฒนา การจะนิรโทษกรรมใดๆ นั้น สิ่งใดที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 หรือความผิดร้ายแรง รวมถึงคดีอาญา​ ตนไม่สนับสนุน​ ส่วนจะมองอย่างไรกับร่าง พ.ร.บ. ที่แต่ละพรรคเสนอมานั้น ตนต้องขอเวลาไปศึกษา​ก่อน 

 

ส่วนที่หลายฝ่ายไม่อยากให้นำเรื่องการทุจริตเข้ามาอยู่ใน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม​นั้น วราวุธ​กล่าวว่า เรื่องที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นคนละประเด็นกัน

 

นิรโทษกรรมขยายความเห็นต่าง

 

ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ ‘เยาวชนปลดแอก’ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2566 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างน้อย 1,928 คน ในจำนวน 1,249 คดี นอกจากนี้ยังมีผู้ถูกคุมขังในเรือนจำจากการแสดงออกทางการเมืองหรือมีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับการเมือง โดยไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดีอย่างน้อย 25 คน โดยเป็นคดีตามมาตรา 112 จำนวน 10 คน

 

ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 หลายๆ กรณีไม่ได้รับสิทธิการประกันตัวเหมือนคดีอื่นๆ ในการร่างกฎหมายนิรโทษกรรมก็เช่นกัน ไม่ว่าเอ่ยมาเมื่อไร หากเป็นเรื่องมาตรา 112 มักจะมีความเห็นที่หลากหลายออกมาเสมอ และนี่คงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้กฎหมายฉบับนี้ยังไปไม่ถึงฝั่งฝัน

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X