×

บทสรุป Amazon Summit 2023 ความฝันใหม่ของผืนป่าแอมะซอน

10.08.2023
  • LOADING...

ปิดฉากลงไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับ Amazon Summit 2023 เวทีการประชุมสุดยอดผู้นำของประเทศสมาชิก ‘องค์การสนธิสัญญาความร่วมมือแอมะซอน’ (Amazon Cooperation Treaty Organization: ACTO) ที่มีผืนป่าแอมะซอนขนาด 6.7 ล้านตารางกิโลเมตร ครอบคลุมอยู่ในทั้ง 8 ประเทศสมาชิก ประกอบด้วยโบลิเวีย บราซิล โคลอมเบีย เอกวาดอร์ กายอานา เปรู ซูรินาม และเวเนซุเอลา 

 

โดยในปี 2023 นี้ เมืองเบเล็ง (Belém) รัฐปารา (Pará) ของบราซิลรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระหว่างวันที่ 8-9 สิงหาคมที่ผ่านมา นับเป็นการประชุมสุดยอดผู้นำ ACTO ครั้งแรกในรอบ 14 ปี นับตั้งแต่ปี 2009 

 

ผืนป่าแอมะซอนนับเป็นผืนป่าที่มีความสำคัญอย่างมากต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมโลก มีบทบาทสำคัญในการช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจก เพื่อบรรเทาสภาวการณ์ ‘โลกเดือด’ ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเครือข่ายด้านวิทยาศาสตร์อย่าง MapBiomas ระบุว่า ผืนป่าแห่งนี้ราว 17% หรือคิดเป็น 7.5 แสนตารางกิโลเมตร ซึ่งเกือบมีขนาดพื้นที่เท่าตุรกีทั้งประเทศ ได้ถูกทำลายลงภายในปี 2021 

 

นอกจากวิกฤตเรื่องการตัดไม้ทำลายป่าที่ผืนป่าแอมะซอนกำลังเผชิญความท้าทายแล้ว ยังมีปัญหาไฟป่า การบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำเหมืองแร่ผิดกฎหมาย เพื่อทำการเกษตรและปศุสัตว์ รวมถึงการขยายอิทธิของแก๊งมาเฟีย ส่งผลให้ปัญหาอาชญากรรมและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่แถบนี้มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย

 

New Amazon Dream

 

ลูอิซ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา ประธานาธิบดีบราซิล เริ่มต้นการประชุมในครั้งนี้ด้วยการให้คำมั่นว่า บราซิลจะมีส่วนช่วยพลิกฟื้นผืนป่าแอมะซอนให้ออกจากกับดักทางเศรษฐกิจและวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมที่เผชิญมาตลอดในช่วงหลายศตวรรษผ่านมา พร้อมผลักดันให้ ‘ความฝันใหม่ของผืนป่าแอมะซอน’ (New Amazon Dream) เป็นวาระสำคัญของบรรดาประเทศสมาชิก ACTO 

 

“แอมะซอนสามารถเป็นอะไรก็ได้ตามแต่ที่พวกเราอยากจะให้เป็น แอมะซอนที่มีเมืองสีเขียวเพิ่มมากขึ้น มีอากาศที่สะอาดยิ่งขึ้น มีแม่น้ำและป่าไม้ที่ปราศจากสารพิษอย่างปรอท เป็นแอมะซอนที่อุดมสมบูรณ์ มีอาหาร มีงาน มีบริการที่รองรับกับทุกกลุ่มคน เป็นแอมะซอนที่เด็กๆ สุขภาพดีขึ้น ผู้อพยพได้รับการต้อนรับขับสู้อย่างดี และชนพื้นเมืองต่างได้รับความเคารพ (ในสิทธิขั้นพื้นฐานของพวกเขา) นี่คือความฝันของแอมะซอนของพวกเรา”

 

โดยลูลายังระบุอีกว่า ตนพร้อมที่จะฟื้นฟูภาพลักษณ์ของบราซิล หลังจากเผชิญกับหายนะครั้งใหญ่ภายใต้การบริหารประเทศของฌาอีร์ โบลโซนาโร อดีตประธานาธิบดีบราซิลคนก่อนหน้า และพร้อมผลักดันให้การตัดไม้ทำลายป่าเป็นศูนย์ภายในปี 2030 นี้

 

ขณะที่ กุสตาโว เปโตร ประธานาธิบดีโคลอมเบีย ก็เดินหน้าผลักดันเสนอให้ยุติการสำรวจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในป่าแอมะซอน พร้อมทั้งเสนอให้มีการจัดตั้ง ‘กองกำลังนาโตประจำแอมะซอน’ (Amazonian NATO) เพื่อร่วมกันพิทักษ์ผืนป่า อีกทั้งยังเสนอ ‘แผนการมาร์แชลล์’ (Marshall Plan) เพื่อหาแหล่งเงินทุนในการสนับสนุนภารกิจที่เกี่ยวข้องกับแอมะซอน รวมถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชนพื้นเมืองและความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ป่า และเสนอให้มีการจัดตั้ง ‘ศาลแอมะซอน’ (Amazonian Court) เพื่อลงโทษผู้กระทำผิดต่อระบบนิเวศของแอมะซอนโดยเฉพาะ

 

United for Our Forests

 

บรรดาผู้นำและผู้แทนระดับสูงของประเทศสมาชิก ACTO ผนึกกำลังร่วมกับประเทศแถบลุ่มน้ำคองโกและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีพื้นที่ของเขตป่าฝนขนาดใหญ่อย่างอินโดนีเซีย รวมกันเป็นกลุ่ม ‘United for Our Forests’ เพื่อแสดงจุดยืนร่วมกันในการเรียกร้องให้ประเทศที่พัฒนาแล้วปฏิบัติตามพันธกรณีที่มีอยู่ในการสนับสนุนเงินทุนจำนวน 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี สำหรับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศของโลก 

 

พร้อมทั้งยังแสดงความกังวลต่อคำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้ว่า ประเทศที่มั่งคั่งเหล่านี้จะสนับสนุนเงินทุนด้านสภาพภูมิอากาศจำนวน 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการปรับตัวและการรับมือกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกที่นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งในขณะนี้ก็ยังไม่สามารถปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้ได้ 

 

โดยพื้นที่ป่าฝนในประเทศต่างๆ เหล่านี้ ทั้งผืนป่าแอมะซอนในกลุ่มประเทศ ACTO ผืนป่าฝนในคองโก ดีอาร์คองโก อินโดนีเซีย รวมถึงเซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์ ล้วนแล้วแต่เป็นระบบนิเวศที่สำคัญในการต่อสู้กับวิกฤตสภาพภูมิอากาศโลก มีส่วนช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเป็นที่อยู่อาศัยให้กับสิ่งมีชีวิตหลากหลายสายพันธุ์อีกด้วย

 

ลูลามองว่า Amazon Summit 2023 ให้ ‘พื้นที่’ และ ‘โอกาส’ กับบรรดาประเทศที่มีพื้นที่ป่าฝนของตนเองได้ผนึกกำลังและหาจุดยืนร่วมกัน ก่อนการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 28 หรือ COP28 เวทีการประชุมด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลก จะเปิดฉากขึ้นอย่างเป็นทางการในช่วงปลายปี 2023 ณ นครอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 

 

Belém Declaration 

 

ในช่วงสุดท้ายของการประชุม บรรดาประเทศสมาชิก ACTO ต่างแสดงจุดยืนร่วมกันผ่าน ‘ปฏิญญาเบเล็ง’ (Belém Declaration) โรดแมปที่จะปูทางไปสู่การพัฒนาผืนป่าอย่างยั่งยืน ยุติปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า รวมถึงต่อสู้กับแก๊งมาเฟียและกลุ่มอิทธิพลต่างๆ ที่จะมีส่วนทำให้สถานการณ์ภายในแอมะซอนซับซ้อนและยากลำบากมากยิ่งขึ้น 

 

ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกทั้ง 8 ประเทศยังเห็นพ้องที่จะยกระดับความร่วมมือกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยข่าวกรองของแต่ละประเทศให้เข้ามาช่วยจัดการกับปัญหาเรื้อรังเหล่านี้ พร้อมทั้งผลักดันการจัดตั้งหน่วยงานทางด้านวิทยาศาสตร์ที่จะคอยเฝ้าติดตามและรายงานสถานการณ์ในป่าแอมะซอนประจำปี ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ (IPCC)

 

สิ่งที่น่าผิดหวังที่สุดในการประชุมครั้งนี้คือ สมาชิกทั้ง 8 ประเทศไม่สามารถลงนามเห็นพ้องในเป้าหมายสำคัญที่ต้องการจะยุติปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าอย่างจริงจังด้วยการทำให้การตัดไม้ทำลายป่าเป็นศูนย์ภายในปี 2030 นี้ได้ โดยโบลิเวียและเวเนซุเอลาเป็นเพียง 2 ประเทศในกลุ่มสมาชิก ACTO ที่ยังไม่เห็นชอบกับเป้าหมายดังกล่าว โดยที่ยังไม่เปิดเผยถึงเหตุผลที่แน่ชัด ขณะที่บรรดานักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมต่างมองว่าการประชุมในครั้งนี้เต็มไปด้วยเป้าหมายที่ดี แต่ขาดตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรม 

 

อย่างไรก็ตาม ลูลายังคงยืนยันว่าการสนับสนุนจากนานาชาติจะเป็น ‘กุญแจสำคัญ’ ในการปกป้องผืนป่าแอมะซอน และบรรดากลุ่มสมาชิกและชาติพันธมิตรทั้งหลายจำเป็นต้องร่วมมือกัน เพื่อเป็นกระบอกเสียงสำคัญในการอนุรักษ์และฟื้นฟูผืนป่า ก่อนที่เวทีประชุม COP28 จะเปิดฉากขึ้นในระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 12 ธันวาคม 2023

 

โดยการประชุม Amazon Summit 2023 ถือเป็นเวทีซ้อมใหญ่ ก่อนที่เมืองเบเล็งของบราซิลแห่งนี้จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม COP30 ในปี 2025 ซึ่งจะยิ่งทำให้บราซิลขยับกลับมาเป็นประเทศ ‘ผู้มีบทบาทนำ’ ด้านสิ่งแวดล้อมในเวทีระหว่างประเทศอย่างเต็มภาคภูมิอีกครั้ง

 

แฟ้มภาพ: Photo700BR / Shutterstock

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising