×

เจาะลึกสนธิสัญญาความมั่นคง AUKUS สหรัฐฯ-อังกฤษ ช่วยออสเตรเลียสร้างเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์ หวังคานอำนาจจีน

16.09.2021
  • LOADING...
AUKUS

วานนี้ (15 กันยายน) ผู้นำออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ พร้อมใจกันประกาศความร่วมมือในสนธิสัญญาความมั่นคงอินโด-แปซิฟิกฉบับใหม่ และจัดตั้ง ‘พันธมิตรไตรภาคีด้านความมั่นคง’ หรือที่เรียกว่า AUKUS ซึ่งโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยืนยันว่าเป็นความร่วมมือเพื่อส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกในระยะยาว

 

แต่สิ่งที่น่าจับตามองภายใต้กรอบความร่วมมือไตรภาคีนี้ คือ เนื้อหาข้อตกลงในสนธิสัญญา ที่สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร จะช่วยให้ออสเตรเลียได้ครอบครองเทคโนโลยีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่านี่อาจเป็นเป้าหมายหลัก เพื่อ ‘คานอำนาจ’ และท้าทายโดยตรงต่อจีนที่มีอิทธิพลเหนือน่านน้ำในภูมิภาคนี้

 

‘ปลอดภัยและมั่นคงกว่า’

 

  • ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ พร้อมด้วย บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร และ สก็อตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย แถลงพร้อมเพรียงกันจากประเทศของตน ประกาศว่าทั้ง 3 ประเทศกำลังเดินหน้า ‘ขั้นตอนแห่งประวัติศาสตร์’ เพื่อกระชับความร่วมมือระหว่างกันให้แน่นแฟ้นมากขึ้น โดยเห็นพ้องให้จัดทำสนธิสัญญาความมั่นคงอินโด-แปซิฟิกฉบับใหม่ และประกาศตั้งพันธมิตรไตรภาคีด้านความมั่นคง เพื่อเสริมสร้างสันติภาพในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

 

  • ไบเดนกล่าวถึงความจำเป็นในการร่วมตั้งพันธมิตรไตรภาคีด้านความมั่นคง เพื่อจัดการและปรับปรุงสภาพแวดล้อมเชิงกลยุทธ์ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับอนาคตของโลก และเพื่อให้ภูมิภาคอินโดแปซิฟิกมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างเสรีและเปิดกว้าง

 

  • มอร์ริสันประกาศว่า ความร่วมมือครั้งใหม่นี้จะส่งมอบความปลอดภัยและความมั่นคงที่มากกว่าให้กับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อทุกฝ่าย โดยในส่วนของข้อสงสัยเกี่ยวกับการที่สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร จะช่วยให้ออสเตรเลียได้ครอบครองเทคโนโลยีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์นั้น ผู้นำออสเตรเลียยืนยันชัดเจนว่า “ออสเตรเลียไม่ได้แสวงหาอาวุธนิวเคลียร์ หรือสร้างขีดความสามารถด้านนิวเคลียร์” และออสเตรเลียจะยังคงปฏิบัติตามพันธกรณีในการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ต่อไป

 

ท้าทายอิทธิพลจีนโดยตรง

 

  • ภายใต้เนื้อหาข้อตกลงในสนธิสัญญาความมั่นคงอินโด-แปซิฟิกนั้น ออสเตรเลียแสดงความตั้งใจที่จะสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ถึง 8 ลำ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมองว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะมองเรื่องนี้เป็นอย่างอื่น นอกจากการตอบโต้และท้าทายการขยายอำนาจของจีนในภูมิภาค

 

  • เทคโนโลยีในการสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์เป็นเทคโนโลยีที่สำคัญและมีความซับซ้อน ซึ่ง Sam Roggeveen ผู้อำนวยการโครงการความมั่นคงระหว่างประเทศของสถาบัน Lowy Institute ในซิดนีย์ ระบุว่า ประกาศที่ออกมาของผู้นำทั้ง 3 ประเทศนั้น ‘ไม่ธรรมดา’ เนื่องจากหลายสิบปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ มีการแบ่งปันเทคโนโลยีนี้กับสหราชอาณาจักรเท่านั้น ซึ่งการเข้าร่วมในฐานะพันธมิตรไตรภาคีของออสเตรเลียถือเป็นก้าวย่างใหม่ และทำลายบรรทัดฐานเดิม เพื่อท้าทายต่อการขยายอิทธิพลของจีน ขณะที่ความเคลื่อนไหวนี้ยังเป็นสัญญาณและหลักฐานว่าสหรัฐฯ เตรียมพร้อมเข้าสู่สงครามเย็นกับจีน

 

  • สนธิสัญญาฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ในอีก 18 เดือนข้างหน้า โดยมอร์ริสันเผยว่า เรือดำน้ำทั้งหมดจะถูกสร้างที่เมืองแอดิเลด ภายใต้ความร่วมมือใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร และจะไม่ติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ในเรือดำน้ำ

 

  • ถ้อยแถลงของผู้นำทั้ง 3 ประเทศ เน้นย้ำความร่วมมือในการสร้างความมั่นคงและสันติภาพในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก แต่ไม่ได้กล่าวถึงจีนอย่างชัดเจน แต่หลังการประกาศไม่นาน โฆษกสถานเอกอัครราชทูตจีนในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ก็ออกมาให้ข่าวตอบโต้ว่า ทั้ง 3 ประเทศควรสลัดแนวคิดในยุคสงครามเย็นและความมีอคติออกไป

 

  • ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ยังปรากฏขึ้นท่ามกลางการแข่งขันและท่าทีที่ดุเดือดระหว่างรัฐบาลปักกิ่งและวอชิงตัน ตลอดจนพันธมิตรของแต่ละฝ่ายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยเฉพาะในประเด็นไต้หวันและความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ ซึ่งจีนอ้างกรรมสิทธิ์ครอบครองน่านน้ำแทบทั้งหมด และมีกรณีพิพาทกับทั้งเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย

 

  • ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างออสเตรเลียและจีนนั้นถดถอยลงอย่างมาก ท่ามกลางข้อขัดแย้งในหลายด้าน ทั้งกรณีการแพร่ระบาดของโรคโควิด ข้อขัดแย้งทางการค้า และความกังวลของออสเตรเลียเกี่ยวกับการดำเนินการเพื่อขยายอิทธิพลทางการเมืองของจีน

 

  • Tom Tugendhat สมาชิกสภานิติบัญญัติของพรรคอนุรักษนิยมแห่งสหราชอาณาจักร และประธานคณะกรรมการการต่างประเทศของรัฐสภา เขียนบน Twitter ให้เหตุผลต่อความเคลื่อนไหวทั้งหมดอย่างชัดเจนว่า “หลังจากหลายปีของการกลั่นแกล้งและค้าขายเป็นปรปักษ์ และการเฝ้าดูเพื่อนบ้านในภูมิภาค เช่น ฟิลิปปินส์ถูกรุกล้ำน่านน้ำของพวกเขา ทำให้ออสเตรเลียไม่มีทางเลือก และสหรัฐฯ หรือสหราชอาณาจักรก็เช่นกัน”

 

  • ซึ่งในช่วงไม่กี่ปีมานี้ จีนได้ขยายอิทธิพลเหนือทะเลจีนใต้ด้วยการสร้างเกาะเทียมขนาดเล็กหลายเกาะ และเปลี่ยนเป็นฐานทัพ พร้อมจัดส่งกองกำลังรักษาการทางทะเลและหน่วยคุ้มกันชายฝั่งเข้าคุมพื้นที่ ขณะที่ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา รัฐบาลปักกิ่งยังผ่านกฎหมาย อนุญาตให้หน่วยคุ้มกันชายฝั่งยิงเรือต่างชาติที่รุกล้ำน่านน้ำได้

 

ผลกระทบไม่ใช่แค่จีน

 

  • เจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ เปิดเผยต่อสำนักข่าว Reuters ว่า ความร่วมมือไตรภาคีที่เกิดขึ้นไม่ได้พุ่งเป้าไปที่จีนหรือประเทศอื่นใดเพียงประเทศเดียว แต่ยังมีภารกิจความร่วมมือที่ครอบคลุมในหลายด้าน ทั้งการเสริมสร้างประสิทธิภาพในการป้องกันความมั่นคง ตลอดจนความร่วมมือด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เทคโนโลยีควอนตัม และความร่วมมือในการสร้างความมั่นคงด้านไซเบอร์ รวมถึงความร่วมมือในการเป็นฐานอุตสาหกรรม

 

  • แต่การทำข้อตกลงแบ่งปันเทคโนโลยีสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ให้กับออสเตรเลีย สร้างความไม่พอใจแก่รัฐบาลฝรั่งเศส ซึ่งมองว่าสนธิสัญญาไตรภาคีนี้เป็นการ ‘แทงข้างหลัง’ เนื่องจากอาจทำให้ออสเตรเลียยกเลิกสัญญาจ้างผลิตเรือดำน้ำ วงเงิน 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ทำกับฝรั่งเศสเมื่อ 2 ปีก่อน 

 

  • โดยกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงกลาโหมฝรั่งเศสออกแถลงการณ์ร่วม วิจารณ์การตัดสินใจของออสเตรเลีย ที่สวนทางกับเจตนารมณ์ความร่วมมือระหว่างออสเตรเลียและฝรั่งเศส ซึ่งคาดว่าผลจากเรื่องนี้อาจจะกระทบกระเทือนถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างออสเตรเลียกับฝรั่งเศสที่มีมาอย่างยาวนาน

 

  • อย่างไรก็ตาม ผู้นำทั้ง 3 ประเทศแสดงความชัดเจนว่าการตั้งพันธมิตรไตรภาคีจะไม่กระทบต่อความร่วมมือด้านความมั่นคงในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกอื่นๆ เช่น พันธมิตรสี่เส้าด้านความมั่นคง (Quadrilateral Security Dialogue) หรือ ‘Quad’ ซึ่งสหรัฐฯ และออสเตรเลีย จับมือกับอินเดียและญี่ปุ่น จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2007

 

  • ขณะที่รัฐบาลวอชิงตันย้ำว่า สหรัฐฯ จะยังคงความร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตรต่างๆ ทั้ง Quad, อาเซียน และกลุ่มพันธมิตรในอีก 5 สนธิสัญญา ตลอดจนนานาประเทศที่เป็นพันธมิตรในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

 

ภาพ: Photo by Win McNamee/Getty Images 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising