×

วัคซีนเข็ม 4 ป้องกันโอมิครอนได้หรือไม่ ต้องฉีดกี่เข็มถึงจะพอ

20.01.2022
  • LOADING...
วัคซีนเข็ม 4
  • อิสราเอลเริ่มฉีดวัคซีนเข็มที่ 4 ให้กับผู้สูงอายุ ผู้มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง และบุคลากรทางการแพทย์มาตั้งแต่ปลายธันวาคม 2564 เหตุผลหนึ่งคือการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน แต่การศึกษาเบื้องต้นของศูนย์การแพทย์ชีบา (Sheba Medical Center) ประเทศอิสราเอล พบว่าถึงแม้ระดับภูมิคุ้มกันจากการฉีดเข็มที่ 4 จะสูงกว่าเข็มที่ 3 แต่ยังไม่เพียงพอที่จะป้องกันการติดเชื้อโอมิครอน 

 

  • เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2564 ผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงสาธารณสุขของอิสราเอล แนะนำให้ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง และบุคลากรทางการแพทย์เข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 4 หลังได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 ตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือการระบาดระลอกที่ 5 จากโอมิครอน นอกจากนี้ยังลดระยะเวลาระหว่างเข็มที่ 2 และเข็มที่ 3 จาก 5 เดือนเป็น 3 เดือนอีกด้วย

 

  • ถึงแม้อิสราเอลจะเริ่มฉีดวัคซีนก่อนประเทศอื่นตั้งแต่งเดือนธันวาคม 2563 โดยเป็นวัคซีน Pfizer ตั้งแต่เข็มแรก จนมีผู้ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มเกินครึ่งหนึ่งเมื่อเดือนมีนาคม 2564 แต่จนถึงปัจจุบันความครอบคลุมของการฉีดวัคซีนไม่ได้สูงมากเมื่อเทียบกับหลายประเทศ ผู้ได้รับวัคซีน 1 เข็มประมาณ 6.7 ล้านคน (72.4%) และผู้ได้รับครบ 2 เข็มแล้วประมาณ 6.0 ล้านคน (65.3%) 

 

  • เมื่อภูมิคุ้มกันจากวัคซีนลดลงตามระยะเวลา ทำให้อิสราเอลต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นก่อนประเทศอื่น คือเริ่มฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 เมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 ปัจจุบันมีผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 ประมาณ 4.9 ล้านคน (53.3%) ข้อมูลวัคซีนเข็มกระตุ้นในช่วงแรกจึงมาจากอิสราเอล เช่น วัคซีนเข็มกระตุ้นสามารถลดความเสี่ยงต่อการรักษาตัวในโรงพยาบาลจากเดลตาได้ 93% เมื่อเทียบกับการฉีดวัคซีน 2 เข็ม

 

  • เวลาผ่านไปภูมิคุ้มกันจากวัคซีนเข็มที่ 3 ลดลง ในขณะที่สายพันธุ์ที่ระบาดเปลี่ยนไปเป็นโอมิครอนที่หลบหลีกภูมิคุ้มกันได้มากขึ้น ซึ่งสามารถอธิบายได้จากการกลายพันธุ์บนโปรตีนหนามจำนวนมาก และยืนยันจากการทดสอบในห้องปฏิบัติการ ที่อิสราเอลจึงเริ่มฉีดวัคซีนเข็มที่ 4 ให้กับประชาชน โดยเริ่มจากกลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรงและบุคลากรทางการแพทย์ก่อน แต่ยังคงใช้วัคซีน Pfizer รุ่นเดิม

 

  • เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2565 นาฟตาลี เบนเนตต์ นายกรัฐมนตรีอิสราเอลแถลงข่าวว่า เขามีความมั่นใจในความปลอดภัยของวัคซีนเข็มที่ 4 หลังจากเริ่มฉีดวัคซีนเข็มที่ 4 มา 1 สัปดาห์ และผลการศึกษาเบื้องต้นยังพบว่าระดับภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีนเข็มที่ 4 ที่ 1 สัปดาห์ยังเพิ่มขึ้นจากก่อนฉีดถึง 5 เท่า ทำให้มั่นใจว่าจะสามารถป้องกันการติดเชื้อ การรักษาตัวในโรงพยาบาล และการเสียชีวิตได้

 

  • ทว่าเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2565 ศูนย์การแพทย์ชีบา ประเทศอิสราเอล ได้แถลงผลการศึกษาเบื้องต้นของวัคซีนเข็มที่ 4 ว่าระดับภูมิคุ้มกันหลังจากฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นสูงกว่าเข็มที่ 3 เล็กน้อย แต่ยังไม่เพียงพอที่จะป้องกันการติดเชื้อโอมิครอน โดยงานวิจัยนี้แบ่งกลุ่มบุคลากรที่ได้รับวัคซีน Pfizer 3 เข็ม เป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มที่ได้รับวัคซีน Pfizer กลุ่มที่ได้รับวัคซีน Moderna และกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีน

 

  • เปรียบเทียบกันพบว่ากลุ่มที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 4 ติดเชื้อต่ำกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีนเล็กน้อย (น่าจะไม่แตกต่างกันในทางสถิติ) ทั้งนี้ในการแถลงข่าวไม่ได้เปิดเผยค่าระดับภูมิคุ้มกัน รวมถึงอัตราการติดเชื้อในแต่ละกลุ่ม และผลการศึกษานี้ยังไม่ได้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ จึงยังต้องรอผลการศึกษาฉบับเต็ม ซึ่งอาจมีการเปรียบเทียบอัตราป่วยรุนแรงด้วยว่าวัคซีนเข็มที่ 4 ยังคงป้องกันได้หรือไม่

 

  • ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กว่า ผลการศึกษาดังกล่าวเป็นเรื่องไม่เกินความคาดหมาย เพราะวัคซีนที่ใช้เป็นเข็มที่ 4 ยังเป็นวัคซีนเดิมที่ออกแบบมาจากสายพันธุ์ดั้งเดิมตั้งแต่ปี 2563 ในขณะที่โอมิครอนมีโปรตีนหนามต่างออกไปอย่างชัดเจน ภูมิคุ้มกันที่สร้างขึ้นจากวัคซีนจึงยับยั้งการติดเชื้อได้น้อยลง

 

  • อย่างไรก็ตามระดับภูมิคุ้มกันจากการกระตุ้นด้วยวัคซีนจะมี 2 ระดับใหญ่ คือ ระดับที่ป้องกันการติดเชื้อ และระดับที่ป้องกันอาการรุนแรง และทั้งสองระดับนี้ยังขึ้นกับสายพันธุ์ที่ระบาดตรงหรือใกล้เคียงกับวัคซีน (Well-matched) หรือต่างจากวัคซีน (Less Well-matched) หากสายพันธุ์ที่ระบาดตรงกับวัคซีน ระดับภูมิที่เพียงพอต่อการป้องกันการติดเชื้อ และอาการรุนแรงจะไม่สูงมากและไม่ต่างกันมากนัก 

 

  • แต่ถ้าสายพันธุ์ที่ระบาดต่างจากวัคซีน ระดับภูมิที่ร่างกายต้องการใช้ป้องกันการติดเชื้อจะต้องสูงขึ้น ยิ่งต่างกันมาก เช่น โอมิครอน ยิ่งต้องสูงขึ้นมาก “ประเด็นสำคัญคือ เส้นระดับภูมิคุ้มกันที่ป้องกันอาการหนักสำหรับโอมิครอน ‘ไม่ได้’ ขยับขึ้นมากนัก แสดงว่าภูมิคุ้มกันจากเข็มกระตุ้นหรือเข็มมาตรฐานก่อนกระตุ้นน่าจะเพียงพอต่อการป้องกันอาการรุนแรงของโอมิครอนได้อยู่” ดร.อนันต์ระบุ

 

  • ดังนั้นการฉีดวัคซีนชนิด mRNA เป็นเข็มที่ 4 หลังจากได้รับวัคซีน Pfizer ครบ 3 เข็มอาจไม่ป้องกันการติดเชื้อ แต่น่าจะยังป้องกันอาการรุนแรงได้ ประเทศอื่นๆ นอกจากอิสราเอลยังไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 4 ทว่าสำหรับประเทศไทย ผลการศึกษาที่อิสราเอลอาจไม่สามารถนำมาปรับใช้ได้โดยตรงเพราะใช้วัคซีนคนละชนิดกัน จึงต้องรองานวิจัยในประเทศและอ้างอิงตามกระทรวงสาธารณสุข

 

  • ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขของไทย (7 มกราคม 2565) แนะนำการฉีดวัคซีนเข็มที่ 4 ให้บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคเรื้อรังที่ได้รับวัคซีน Sinovac 2 เข็ม และได้รับเข็มกระตุ้นด้วย AstraZeneca หรือ Pfizer มาแล้ว 3 เดือนขึ้นไป ให้รับการฉีดวัคซีน Pfizer/Moderna เป็นเข็มที่ 4 สำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีน AstraZeneca เป็นเข็มที่ 3 อาจเลือก AstraZeneca เป็นเข็มที่ 4 ได้

 

  • ด้าน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อธิบายเรื่อง ‘โควิด-19 วัคซีน จะฉีดวัคซีนกี่เข็มพอ’ ผ่านเฟซบุ๊กวันนี้ (20 มกราคม 2565) เนื่องจากมีผู้สอบถามมามากถึงจำนวนครั้งของการฉีดวัคซีนว่า “ความจริงการให้วัคซีนเหมือนเติมน้ำให้เต็มขัน การจะเติมเต็มได้ต้องมีการให้เบื้องต้น 2 เข็ม และกระตุ้นอีก 1 เข็มก็จะเต็ม”

 

  • การให้เข็ม 4-5 ถ้ารีบให้ น้ำเต็มขันแล้วถึงเติมไปก็ล้นทิ้งหมด ดังนั้นการจะให้เข็ม 4 ก็ควรให้ห่างจากเข็มที่ 3 ไป 3-6 เดือน โดยเฉพาะวัคซีนที่กระตุ้นได้มาก เติมน้ำได้มาก เช่น วัคซีนชนิด mRNA ก็ควรรอได้ถึง 6 เดือน ถึงแม้วัคซีนจะไม่มีปริมาณที่เกินขนาด (Overdose) แต่จะมีอาการไม่พึงประสงค์ที่เราไม่อยากได้ เพราะฉะนั้น “ไม่มีความจำเป็นที่ต้องฉีดมากเกินไป จะฟรี หรือจอง หรือเสียเงินก็ไม่จำเป็น” ศ.นพ.ยงกล่าวทิ้งท้าย 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X