×

สรุปเวที 45 ปี Baker McKenzie โอกาสและความเสี่ยงของธุรกิจไทยในโลกดิจิทัล

22.03.2023
  • LOADING...

ปัจจุบันเทคโนโลยีกลายเป็นส่วนสำคัญในชีวิตของผู้คน ระบบอินเทอร์เน็ตที่กระจายไปในทุกพื้นที่ทำให้วิถีชีวิตของผู้คนใกล้ชิดกับเทคโนโลยีจนแยกจากกันไม่ออก

 

เราเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหารนอกบ้านมาเป็นการสั่งอาหารออนไลน์ หรือเปลี่ยนจากการจ่ายเงินสดมาเป็นจ่ายผ่านระบบ Mobile Banking และแม้แต่โลกการเงินก็ถูกกระแสของคริปโตเคอร์เรนซีหรือเงินดิจิทัลเข้ามาเขย่าการเงินและการลงทุนในรูปแบบเดิมอยู่ไม่น้อย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


แต่ที่ทำให้เกิดความฮือฮาไปทั่วโลกในขณะนี้คงต้องยกให้โปรแกรม ChatGPT ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่มาพร้อมความสามารถรอบด้าน ทั้งเขียนนิยาย เขียนโค้ด เขียนข่าว และถามอะไรก็ตอบกลับมาได้อย่างเฉลียวฉลาด จนเริ่มมีความกังวลว่าเทคโนโลยีที่เคยอำนวยความสะดวกสบายให้มนุษย์ จะแย่งงานมนุษย์เข้าสักวัน

 

ที่สำคัญเทคโนโลยีไม่ได้เพียงเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้คนทั่วไป แต่กำลังพลิกโฉมหน้าภาคธุรกิจไปด้วย และกลายเป็นความท้าทายใหม่ที่ภาคธุรกิจไทยต้องก้าวตามให้ทัน

 

บนเวทีเสวนา Global Economic Challenges: The Asian Opportunity เนื่องในโอกาสครบรอบ 45 ปีของ Baker McKenzie ประเทศไทย ได้เชิญ ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย และประธานกรรมการ สมาคมธนาคารไทย เศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) และ สรชน บุญสอง ทนายความหุ้นส่วน บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองว่าภาคธุรกิจไทยจะคว้าโอกาสได้อย่างไรในวันที่การพัฒนาเทคโนโลยีก้าวกระโดด

 

เทคโนโลยีที่พร้อมไล่ต้อนธุรกิจรูปแบบเก่า

 

ในหนังสือ The Fourth Industrial Revolution ระบุไว้ตอนหนึ่งว่า สิ่งสำคัญในการแข่งขันทางธุรกิจของยุคสมัยนี้ไม่ใช่การลดต้นทุนอีกต่อไป แต่คือ ‘นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์’

 

หลายปีที่ผ่านมา Disruptive Technology หรือการที่เทคโนโลยีรูปแบบใหม่ๆ เข้ามาเปลี่ยนแปลงการดำเนินธุรกิจและพฤติกรรมของผู้บริโภคไปทีละนิด จนส่งผลให้ธุรกิจที่ยังคงดำเนินการในรูปแบบเดิมต้องหยุดชะงักหรือทยอยล้มหายตายจากลง เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

เหมือนเช่นการมาของ Netflix ที่เปลี่ยนพฤติกรรมการดูภาพยนตร์ของผู้คนไปจากเดิมเกือบสิ้นเชิง ร้านขาย DVD ทยอยปิดตัวกันถ้วนหน้า ขณะที่โรงภาพยนตร์ก็ต้องประสบกับยอดคนดูลดลงจนหลายแห่งเข้าข่ายวิกฤต

 

Disruptive Technology ในลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในธุรกิจภาพยนตร์หรือธุรกิจบันเทิงอื่นๆ เท่านั้น แม้แต่ธุรกิจการค้าก็ได้รับผลกระทบจาก Online Marketplace ที่ทำหน้าที่เป็นตลาดกลางให้ผู้ซื้อและผู้ขายมาเจอกันบนแพลตฟอร์มออนไลน์ และทำให้คนนิยมซื้อของออนไลน์มากขึ้น

 

ทั้งนี้ บรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของโลกตั้งแต่ Alibaba ไปจนถึง Amazon กำลังแข่งขันกันเพื่อเป็นผู้นำของโลก AI และนำ AI มาใช้งานจริง เช่นกรณีของ Alibaba ที่ใช้ AI คาดการณ์ว่าลูกค้าต้องการซื้อสินค้าประเภทใด และสร้างคำอธิบายผลิตภัณฑ์สำหรับเว็บไซต์โดยอัตโนมัติ นอกจากนี้ Alibaba ยังใช้ AI ในโครงการ City Brain เพื่อสร้างเมืองอัจฉริยะ โดยใช้อัลกอริทึม AI เพื่อช่วยลดการจราจรติดขัดผ่านการตรวจสอบรถทุกคันในเมือง

 

ด้าน Amazon ก็ใช้ AI รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมการซื้อของลูกค้า และคาดการณ์ว่าลูกค้าต้องการอะไรก่อนที่พวกเขาจะค้นหาสินค้าเหล่านั้น ทั้งยังมี Amazon Go ร้านสะดวกซื้อแบบใหม่ที่ไม่มีการคิดเงินกับแคชเชียร์ แต่กล้องและเทคโนโลยี AI สุดอัจฉริยะจะคอยติดตามสินค้าที่ถูกหยิบไป เพื่อเรียกเก็บเงินอัตโนมัติผ่านแอพลิเคชัน Amazon Go

 

โอกาสของภาคธุรกิจอยู่ตรงไหน

 

แม้ Disruptive Technology จะทำให้ภาคธุรกิจตกอยู่ในความเสี่ยง แต่ ผยง ศรีวณิช มองว่าประเทศไทยยังสามารถคว้าโอกาสได้จาก 3 ช่องทางนี้

 

1. Digital Economy

 

เศรษฐกิจดิจิทัล หรือ Digital Economy นั้นเป็นการนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิต การขนส่ง การขาย และการบริการ

 

ที่ผ่านมาภาคธุรกิจไทยมีการเติบโตของ Digital Economy อย่างเห็นได้ชัด จากการใช้ระบบการจ่ายเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่แพร่หลายในกลุ่มผู้บริโภคและผู้ค้ารายย่อย จนการจ่ายเงินผ่านการสแกน QR Code กลายเป็นเรื่องปกติ ซึ่งนับเป็นพื้นฐานของเศรษฐกิจดิจิทัลที่เทคโนโลยีได้เข้ามาเป็นสื่อกลางในการซื้อขายสินค้ามากขึ้น

 

อีกทั้งคนไทยยังมีทักษะความเข้าใจการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) ค่อนข้างสูง และมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตมากถึง 69.5% เมื่อเทียบกับประชากรทั้งประเทศ จึงถือว่าประเทศไทยมีความพร้อมและเริ่มก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลไปแล้วก้าวหนึ่ง

 

นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ภาคธุรกิจขนาดใหญ่และภาครัฐต้องเร่งปรับตัวให้มีความสามารถเข้าถึงประชาชนได้รวดเร็วผ่านระบบอินเทอร์เน็ต และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ตรงจุด

 

2. Low Carbon Economy

 

ธุรกิจคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Economy) เป็นเทรนด์ของโลกที่มุ่งผลักดันให้ภาคธุรกิจปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินธุรกิจโดยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งระบบให้ได้มากที่สุด แต่อุปสรรคคือต้นทุนการดำเนินงานที่ค่อนข้างสูง

 

ผยงให้ความเห็นว่า เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net Zero Emission) เป็นเรื่องจำเป็นที่ภาคธุรกิจจะต้องทำให้ได้ เพราะนอกจากจะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนแล้ว ยังทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากมายจากการลงทุนในรูปแบบใหม่ที่เข้ามาตอบโจทย์ธุรกิจคาร์บอนต่ำ

 

แม้ว่าธุรกิจคาร์บอนต่ำอาจดูไม่เกี่ยวข้องกับ Disruptive Technology แต่การตระหนักถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้นจะส่งผลให้การดำเนินธุรกิจแบบเดิมที่ทำร้ายโลกเป็นตัวเลือกรองในการบริโภค เห็นได้จากผลการศึกษาของ Simon-Kucher & Partners บริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์และการกำหนดราคา ที่พบว่าผู้บริโภคทั่วโลกมากกว่า 1 ใน 3 ยินดีจ่ายมากขึ้นสำหรับผลิตภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน

 

3. Open Technology

 

Open Technology เปรียบเหมือนความหวังใหม่ของภาคธุรกิจไทย โดยผยงอธิบายว่า หากระบบเศรษฐกิจและแพลตฟอร์มต่างๆ กลายมาเป็นระบบเปิดที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ จะช่วยให้ Disruptive Technology ถูกทลายลง เนื่องจาก Open Technology ได้เปลี่ยนระบบเศรษฐกิจให้เปิดกว้างมากขึ้น และก่อให้เกิดระบบเศรษฐกิจแบบเปิด (Open Economy) ที่ช่วยเพิ่มจำนวนผู้เล่นในตลาดได้มากขึ้น กระทั่งสามารถทำลายระบบเดิมที่มีเพียงภาคธุรกิจรายใหญ่ไม่กี่รายเท่านั้นที่คุมตลาดอยู่ได้

 

ในอีกแง่หนึ่ง Open Technology ยังเปิดประตูแห่งโอกาสที่ช่วยให้ผู้คนสามารถเข้าถึงทรัพยากรได้มากขึ้น ซึ่งมีส่วนสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำได้

 

เราสามารถเห็นสิ่งนี้ได้ผ่านแอปพลิเคชัน ‘เป๋าตัง’ แพลตฟอร์มธนาคารที่รัฐบาลเลือกใช้เทคโนโลยี Open Platform เพื่อเข้าถึงประชาชนได้โดยตรง และสามารถจัดการสวัสดิการให้ประชาชนกว่า 25-30 ล้านคน ผ่านช่องทางนี้ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนทางเงินอย่างโครงการคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน ไทยชนะ ตลอดจนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

 

นอกเหนือจากทั้ง 3 โอกาสข้างต้น สรชน บุญสอง ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ภาคกฎหมายเองก็สามารถมีส่วนร่วมสนับสนุนภาคธุรกิจได้เช่นกัน ยกตัวอย่างกฎหมายแข่งขันทางการค้า (Anti-Competition) ที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันทางการค้าอย่างเป็นธรรม แต่ต้องบังคับใช้อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

 

ความเสี่ยงของธุรกิจไทยในโลกดิจิทัล

 

เศรษฐา ทวีสิน กล่าวว่า แม้ไทยจะมีโอกาสจากด้าน Digital Economy, Low Carbon Economy และ Open Technology แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือตลาดแรงงาน ที่ต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี และต้องปรับปรุงทักษะของตัวเองอย่างมากเพื่อต่อสู้กับ AI

 

ในรายงาน World Economic Forum 2020 คาดการณ์ว่า ในปี 2025 จะมีงาน 85 ล้านตำแหน่งถูก AI เข้ามาแทนที่ ในขณะเดียวกันก็จะมีตำแหน่งงานว่างขึ้นอีก 97 ล้านตำแหน่ง แต่ส่วนใหญ่เป็นตำแหน่งที่คอยดูแลระบบ AI หรือประสานงานระหว่าง AI กับผู้ใช้บริการ

 

สรชนกล่าวเพิ่มเติมว่า Baker McKenzie ประเทศไทย มีเทคโนโลยีหลายชนิดที่สามารถช่วยในทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการร่างสัญญาและสรุปเนื้อหาของเอกสารต่างๆ อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ล่าสุด ChatGPT เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีความฉลาดมาก สามารถร่างสุนทรพจน์ หนังสือสัญญา รวมถึงหนังสือมอบอำนาจที่เป็นภาษาอังกฤษได้

 

อย่างไรก็ดี ณ ปัจจุบัน AI ยังไม่สามารถจะพลิกโฉมวงการกฎหมายได้ งานทางกฎหมายต้องมีการวางแผนเจรจาต่อรองแทนลูกค้า และ AI ยังไม่มีความสามารถถึงขั้นนั้น ทางด้านเศรษฐาแลกเปลี่ยนว่า เขาลองใช้ ChatGPT เขียนแปลนบ้าน และพบว่ายังทำงานได้ไม่ดีเท่ากับมนุษย์ การที่ AI จะเข้ามาแทนที่มนุษย์ได้จึงเป็นเรื่องอีกยาวไกล แต่หากถึงวันนั้นสังคมจะเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน

 

ขณะที่ผยงมีความเห็นว่า การเติบโตของ AI ทวีขึ้นอย่างรวดเร็ว และเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ องค์กรธุรกิจต่างๆ จึงจำเป็นที่จะต้องปรับตัว บางครั้งอาจมีความจำเป็นที่ต้องใช้ AI มาช่วยในการจัดการกับข้อมูลจำนวนมากมหาศาล (Big Data) เพื่อสร้างโอกาสใหม่ต่อการบริหารองค์กร

 

พร้อมยกตัวอย่างกรณีธนาคารเสมือน (Virtual Bank) หรือการที่ธนาคารพาณิชย์ดำเนินธุรกิจอยู่ในดิจิทัลทั้งหมดโดยไม่มีสาขา และตู้ ATM มีเพียงสำนักงานใหญ่เท่านั้น สิ่งนี้สะท้อนว่าแม้ระบบธนาคารแบบเดิมจะมั่นคง แต่การเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่อยู่มายาวนานกว่า 50-100 ปีนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแก้ไขระบบทั้งหมดได้ Virtual Bank จึงเกิดขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ระบบเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปเน้นการให้บริการในรูปแบบดิจิทัลมากขึ้น นี่จึงเป็นอีกตัวอย่างของการปรับตัวของธุรกิจขนาดใหญ่เพื่อความอยู่รอด ในยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลง แต่สิ่งที่ภาคธุรกิจต้องประสบและแบกรับความเสี่ยงคืออาชญากรรมทางไซเบอร์

 

จากสถิติเมื่อปี 2021 พบว่าอาชญากรรมทางไซเบอร์สร้างความเสียหายทั่วโลกรวมแล้วเป็นเงินกว่า 6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และสำหรับในประเทศไทยนั้น สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยสถิติเมื่อเดือนมีนาคม 2021 ว่า ระหว่างช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาชาวไทยกว่า 50% เคยมีประสบการณ์ถูกหลอกลวงทางออนไลน์ โดย 2 ใน 5 คน หลงเชื่อและตกเป็นเหยื่อ

 

ผยงย้ำด้วยว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาคธุรกิจไทยจะต้องตระหนักว่าเราไม่ใช่ประเทศผู้ผลิตเทคโนโลยี จึงไม่ควรมุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อความเหนือกว่านานาชาติ สิ่งสำคัญคือประเทศไทยเป็นประเทศผู้บริโภคเทคโนโลยี ดังนั้นเราจะทำอย่างไรถึงจะเป็นผู้ใช้ที่มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการรู้เท่าทันข้อมูลในสื่อ การรักษาข้อมูลส่วนตัวของตนเอง ตลอดจนสามารถรู้เท่าทันอาชญากรรมทางไซเบอร์ ที่สำคัญในการเป็นผู้ใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพคือการมีทักษะความรู้ภาษาอังกฤษ (English Literacy) ซึ่งเป็นข้อจำกัดของประเทศไทยในขณะนี้ เพราะภาษาหลักของ AI คือภาษาอังกฤษ และคงจะต้องใช้เวลานานกว่า AI จะสามารถประมวลผลภาษาไทยได้อย่างกว้างขวางเท่าภาษาอังกฤษ หากองค์กรต่างๆ จะดึง AI มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด การผลักดันให้คนในองค์กรมีความรู้ด้านภาษาอังกฤษจึงเป็นอีกกุญแจสำคัญ

 

สุดท้ายนี้ ยุคสมัย Disruptive Technology ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและฉับพลันในทุกภาคส่วนของสังคม รวมถึงภาคธุรกิจด้วยเช่นกัน ในวันที่นวัตกรรมมากมายเกิดขึ้นมาเพื่อแข่งขันกับความสามารถของมนุษย์ องค์กรธุรกิจไม่ว่าเล็กหรือใหญ่จึงต้องปรับตัวในทันต่อสถานการณ์นี้ ก่อนที่จะถูกเทคโนโลยีผลักเราให้หายไปแทน

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising