ถึงแม้การระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนทั่วโลกจะอยู่ในช่วงขาลง แต่ไวรัสยังไม่หยุดพัฒนา การระบาดในช่วงต้นปีที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1 แล้วต่อด้วย BA.2 อย่างรวดเร็ว
แต่หลังจากนั้นแต่ละประเทศมีสายพันธุ์แยกย่อย เช่น BA.2.3, BA.2.9, BA.2.10 ระบาดแตกต่างหลากหลาย ถ้ามองในมุมของไวรัส ภูมิคุ้มกันของมนุษย์กดดันให้ไวรัสต้องกลายพันธุ์เพื่อความอยู่รอด
สายพันธุ์ที่น่าจับตามองในขณะนี้คือ BA.2.12.1 ซึ่งกำลังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในสหรัฐอเมริกา และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (CDC) จัดให้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variant of Concern: VOC)
การระบาดของสายพันธุ์ BA.2.12.1
สายพันธุ์ BA.2.12.1 กลายพันธุ์จากสายพันธุ์ดั้งเดิม (สายพันธุ์อู่ฮั่น) มากที่สุดประมาณ 90 ตำแหน่ง และการกลายพันธุ์เพิ่มจากสายพันธุ์ BA.2 ที่สำคัญคือ L452Q บนโปรตีนหนาม หมายถึงมีการเปลี่ยนแปลงกรดอะมิโนที่ตำแหน่ง 452 จากลิวซีนเป็นกลูตามีน ซึ่งเคยพบในสายพันธุ์แลมบ์ดา (C.37) ที่ระบาดในเปรูเมื่อปีที่แล้ว และอาจทำให้ไวรัสหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้มากขึ้น
ส่วนการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่งนี้ยังพบในสายพันธุ์แคปปาและเดลตา แต่เป็น L452R หมายถึงมีการเปลี่ยนแปลงกรดอะมิโนที่ตำแหน่ง 452 จากลิวซีนเป็นอาร์จินีน
สายพันธุ์นี้พบในสหรัฐฯ ครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2022 มีแนวโน้มระบาดเพิ่มขึ้น โดยในสัปดาห์ล่าสุดพบ 19.0% ในขณะที่สายพันธุ์ BA.1.1 และ BA.2 มีแนวโน้มลดลงเหลือ 6.1% และ 74.4% ตามลำดับ พบระบาดมากในรัฐฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือ โดยขณะนี้กลายเป็นสายพันธุ์หลักในนิวยอร์กแล้ว (80.6%) ส่วนประเทศอื่นที่มีรายงาน เช่น แคนาดา นอร์เวย์ อิสราเอล อินเดีย ยังพบเป็นสัดส่วนน้อย
คุณสมบัติของสายพันธุ์ BA.2.12.1
ข้อมูลจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขของนิวยอร์กเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2022 พบว่า สายพันธุ์ย่อยนี้มีความสามารถในการแพร่กระจายเพิ่มขึ้นจาก BA.2 ประมาณ 23-27% แต่ยังไม่มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าไวรัสมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ หน่วยงานดังกล่าวแนะนำให้ประชาชนปฏิบัติตัวดังนี้เพื่อลดการแพร่ระบาด
- การฉีดวัคซีนและเข็มกระตุ้นเมื่อถึงกำหนด
- สวมหน้ากากในพื้นที่สาธารณะภายในอาคาร
- ตรวจหาเชื้อเมื่อสัมผัสผู้ติดเชื้อ/มีอาการ/หลังเดินทาง
- หากตรวจพบเชื้อให้อยู่บ้านและปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการรักษา
- เพิ่มการระบายอากาศหรือรวมตัวกันนอกอาคาร
การระบาดในประเทศไทย
สายพันธุ์ย่อย BA.2 ระบาดเป็นสายพันธุ์หลักในประเทศไทย แต่เมื่อแยกย่อยลงไปอีก ข้อมูลจากฐานข้อมูล GISAID ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา พบว่า 4 สายพันธุ์ ได้แก่ BA.2 (33%), BA.2.9 (23%), BA.2.10 (22%) และ BA.2.3 (9%) และยังไม่พบสายพันธุ์ BA.2.12.1 เหมือนในสหรัฐฯ แต่การเปิดรับนักท่องเที่ยวเต็มรูปแบบในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ ก็ทำให้มีโอกาสนำเข้าสายพันธุ์นี้เข้ามา
ด้านศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสายพันธุ์ที่ใกล้เคียงกับ BA.2.12.1 ว่า ประเทศไทยพบสายพันธุ์ BA.2.12 ไม่น้อยกว่า 186 ตัวอย่าง แต่มีอัตราการเพิ่มจำนวนสัมพัทธ์ (Relative Growth Advantage) เพียง 34% ต่ำกว่าของ BA.2 ที่กำลังระบาดเป็นสายพันธุ์หลัก ซึ่งเท่ากับ 51% ดังนั้น BA.2.12 ไม่น่าจะสามารถระบาดแทนที่ BA.2 ในประเทศไทยได้
โดยสรุป สายพันธุ์ BA.2.12.1 แพร่กระจายเร็วกว่า BA.2 ประมาณ 25% แต่ยังต้องติดตามต่อไปว่าจะมีความรุนแรงหรือความสามารถในการหลบหลีกภูมิคุ้มกันหรือไม่ การตรวจพบโควิดสายพันธุ์ใหม่ต่อเนื่องเป็นสัญญาณที่บอกว่าไวรัสน่าจะอยู่กับเราไปอีกนาน อย่างไรก็ตาม สายพันธุ์ใหม่มักไม่รุนแรงในผู้ที่ได้รับวัคซีน และการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจะทำให้เรามีภูมิคุ้มกันที่สูงพอในการรับมือกับสายพันธุ์ใหม่ได้
อ้างอิง:
- https://www.nytimes.com/live/2022/04/13/world/covid-19-mandates-cases-vaccine
- https://outbreak.info/situation-reports?pango=BA.2.12.1
- https://www.forbes.com/sites/williamhaseltine/2022/04/22/survival-of-the-fittest-the-rise-of-ba2121/?sh=143cd704413d
- https://covid.cdc.gov/covid-data-tracker/#variant-proportions
- https://www.health.ny.gov/press/releases/2022/2022-04-13_covid-19.htm
- https://www.facebook.com/CMGrama/posts/4981803611927379