×

ขยายดีลหยุดยิง-แก้น้ำท่วม จับตาอันวาร์, มิน อ่อง หล่าย, ทักษิณ พบกันที่ไทย 17 เมษายนนี้

16.04.2025
  • LOADING...
มิน อ่อง หล่าย

อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และประธานอาเซียนปี 2025 มีกำหนดเดินทางเยือนไทยวันพรุ่งนี้ (17 เมษายน) โดยสื่อท้องถิ่นมาเลเซียและสื่อต่างประเทศหลายสำนักรายงานว่า อันวาร์จะพบหารือกับ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ประธานสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) ของเมียนมาที่กรุงเทพฯ ด้วย ซึ่งจะถือเป็นการเจรจาหารือกันครั้งแรกระหว่างประธานอาเซียนและผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา นับตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหารเมื่อ 4 ปีก่อน

 

สื่อนอกยังรายงานอีกว่า ในโอกาสนี้ อันวาร์ ยังเตรียมเข้าพบ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ ทักษิณ ชินวัตร ที่ปรึกษาประธานอาเซียน โดยจะมุ่งเน้นไปที่การหารือเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมภาคใต้ และพื้นที่บางส่วนของมาเลเซีย 

 

เบื้องต้นยังไม่ทราบแน่ชัดว่า ทั้งอันวาร์ มิน อ่อง หล่าย และทักษิณ จะเจรจาหารือร่วมกันทั้ง 3 ฝ่าย หรือการพบกันจะเกิดขึ้นในลักษณะที่จัดแยกกัน เพื่อขับเคลื่อนหนึ่งในวาระสำคัญของอาเซียน

 

ประเด็นน่าจับตามอง

 

ศ. ดร.สุรชาติ บำรุงสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ยุทธศาสตร์ทหาร และความมั่นคง มองว่า การพบกันครั้งนี้มีเรื่องที่น่าจับตามอง 3 เรื่อง 

 

เรื่องแรกคือ การขยายระยะเวลาหยุดยิง เพราะทุกฝ่ายต้องการให้รัฐบาลทหารขยายระยะเวลาหยุดยิงออกไปอีก เพื่อเป็นช่องทางส่งความช่วยเหลือไปให้ผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ 

 

เรื่องสองคือ สิ่งที่รัฐบาลทหารต้องการความช่วยเหลือและแรงสนับสนุนจากอาเซียน อาจารย์คาดว่าน่าจะเป็นเรื่องการจัดการเลือกตั้งขึ้นในอนาคต ซึ่งอาจเป็นช่วงปลายปี 2025 หรือช่วงต้นปี 2026 โดยที่ผ่านมาไม่มีแนวโน้มตอบรับจากอาเซียน ท่ามกลางความกังวลเรื่องความโปร่งใสและการสะท้อนเจตนารมณ์ที่แท้จริงของประชาชนชาวเมียนมา

 

และเรื่องสามคือ อาเซียนต้องให้รัฐบาลทหารเมียนมาลดการใช้อาวุธในการปราบปรามผู้เห็นต่าง และผลักดันฉันทมติ 5 ข้อ

 

ส่วนความเป็นไปได้ในการประชุม 3 ฝ่ายนั้น อาจารย์มองว่า มันเป็นไปในตัวของมันเองอยู่แล้ว แต่เราไม่ใช้คำว่าประชุม 3 ฝ่าย เพราะอาจจะทำให้เกิด ‘ความคาดหวังทางการทูต’ ว่าอะไรคือผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ถ้ามองจากการพูดคุยปัจจุบัน ทุกฝ่ายพยายามไม่ให้เป็นเวทีทางการ เพราะการประชุม 3 ฝ่าย จะเกิดสภาวะ ‘เวทีทางการ’ ทันที ดังนั้นครั้งนี้จึงเป็น ‘เวทีไม่เป็นทางการครั้งแรก’ ของประธานอาเซียน ซึ่งวางน้ำหนักไว้ที่อันวาร์มากกว่าเรา เพราะทักษิณมีลักษณะเป็นเพียง ‘คนกลาง’ มากกว่า และเป็นไปในลักษณะการทูต Track 2 มากกว่าที่จะเดินหน้าในนามรัฐบาลไทย

 

อาจารย์สุรชาติยังเน้นย้ำว่า สิ่งที่ทุกฝ่ายคาดหวังคือ อยากให้ทักษิณผลักดันการเปิดเส้นทางการช่วยเหลือให้มากยิ่งขึ้น ขยายเวลาการหยุดยิง และอยากให้อันวาร์และทักษิณพูดคุยกัน เพื่อหาทางโน้มน้าวให้มิน อ่อง หล่าย หยุดหรือลดปฏิบัติการทางทหารลง เพราะสถานการณ์ภัยพิบัติแบบนี้ สงครามที่ใช้อาวุธปราบปรามนั้นไม่เป็นประโยชน์ เพราะคนที่บาดเจ็บคือคนเมียนมาเอง

 

อย่างน้อยการประกาศขยายระยะเวลาหยุดยิงออกไปและเปิดเส้นทางการให้ความช่วยเหลือ อาจเป็นเงื่อนไขที่ดีในเบื้องต้น สำหรับการเปิดเจรจาระหว่างรัฐบาลทหารและกลุ่มชาติพันธุ์ในสังคมเมียนมา

 

ข้อแนะนำสำหรับอาเซียนและรัฐบาลไทย

 

ขณะที่ รศ. ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิอาเซียน และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า การที่อันวาร์ อิบราฮิม ในฐานะประธานอาเซียนปีนี้ เจอกับพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย อาจได้เห็นการเปลี่ยนแปลงต่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในเมียนมาในวิถีทางอื่น เนื่องจากว่าที่ผ่านมา ได้เห็นชัดแล้วว่าการมีซึ่งฉันทมติ 5 ข้อในอาเซียนต่อเมียนมา ‘ไม่เห็นผล’

 

ส่วนการที่อันวาร์ มีความประสงค์อยากขยายระยะเวลาหยุดยิงต่อไปอีกกับพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดี และชัดเจนมากขึ้น เพราะการที่ประธานอาเซียนตัดสินใจไปพบปะพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ด้วยตัวเองเป็นการพิสูจน์ว่าในฐานะประธานอาเซียนก็เห็นความสำคัญถึงประเด็นนี้ และต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงจริง

 

ขณะที่อันวาร์ หากมีการพบปะพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ก็ควรจะต้องมีการมีปฏิสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์ (Constructive Engagement) ในเวลาเดียวกัน อันวาร์ก็ควรต้องมีการถอยออกจากความขัดแย้งหรือความสัมพันธ์เชิงลบอย่างมีเป้าหมายและสร้างสรรค์ (Constructive Disengagement) ด้วย โดยการยื่นคำขาดในฐานะประธานอาเซียนปีนี้ว่า การหารือร่วมกันต้องเป็นรูปธรรมอย่างไร และหากพลเอกอาวุโสมินอ่อง หล่าย ไม่ปฏิบัติตามจะมีมาตรการอย่างไร เช่น การถูกโดดเดี่ยวในเวทีอาเซียน เป็นต้น 

 

ขณะที่เมื่อถามถึงโอกาสความเป็นไปได้ที่ประเด็นความขัดแย้งนี้จะบรรลุผลสำเร็จมากขึ้นหรือไม่ หากทักษิณ ชินวัตร ในฐานะที่ปรึกษาประธานอาเซียนจะเข้ามามีบทบาท อาจารย์ปิติให้ความเห็นส่วนตัวว่า ‘ยังมองไม่เห็นโอกาสนั้น’ 

 

ส่วนข้อแนะนำกับรัฐบาลไทย ในมุมอาจารย์ปิตินั้น ที่จริงแล้วเมื่อครั้งที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม BIMSTEC ไทยควรแสดงบทบาทตั้งแต่ครั้งนั้นที่พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย เดินทางมาร่วมประชุมที่ไทย โดยไทยอาจจะยกระดับด้วยการยื่นคำขาด หาข้อแลกเปลี่ยนว่าถ้าหากจะเดินทางมาร่วมประชุมจริง อาจต้องมีการจัดการปัญหาภายในที่คาราคาซังก่อน หรือแม้แต่เมื่อมาประชุมแล้ว อาจต้องมีการคุยส่วนตัวเพื่อหารือถึงทางออกที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งไทยสามารถใช้เวทีประชุมนี้ให้เกิดประโยชน์ได้ 

 

แฟ้มภาพ: Getty Images / Reuters

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising