×

วาระร้อน เกมซ้อนเกม: หลากเรื่องในรัฐสภารอสมัยประชุมหน้า

01.11.2024
  • LOADING...
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร

การประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดสุดท้ายของสมัยประชุมนี้สิ้นสุดลงเมื่อเวลา 17.21 น. ของวันที่ 30 ตุลาคม 2567 ภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาคนที่ 2 ที่อยู่บนบัลลังก์ขณะนั้นกล่าวขอบคุณ สส. ทุกคนแทน วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภา “ขอบคุณสมาชิกทุกท่านที่ตลอดสมัยประชุมนี้ทำหน้าที่ด้วยความเข้มแข็ง ไม่มีสภาล่มแม้แต่ครั้งเดียว”

 

การปิดสมัยประชุมเป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ว่า สมัยประชุมหนึ่งจะมีวันประชุม 120 วัน และในสมัยสามัญประจำปี ครั้งที่ 1 ได้เรียกประชุมนัดแรกเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2567 โดยการประชุมสมัยต่อไปจะเริ่มในวันที่ 12 ธันวาคม 2567 – 10 เมษายน 2568

 

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายภารกิจสำคัญของรัฐสภาที่ยังต้องติดตามต่อว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไรในสมัยประชุมหน้า และบางภารกิจก็ต้องแข่งขันกับเวลาด้วย เนื่องจากเป็นสัญญาที่รัฐบาลเคยให้ไว้กับประชาชนว่าจะต้องสำเร็จในวาระนี้ THE STANDARD รวบรวมวาระร้อนที่ยังคงค้างในสมัยประชุมนี้ว่ามีเรื่องใดที่ควรจับตา

 

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร

บรรยากาศการประชุมสภาผู้แทนราษฎร 

สมัยสามัญประจำปี ครั้งที่ 1

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

 

ทางแพร่ง ‘นิรโทษกรรม’ รวมหรือไม่รวมคดี ม.112

ประเด็นเรื่องการนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองสร้างผลสะเทือนในหลายระดับ ตั้งแต่ที่ประชุมสภาตีตกข้อสังเกตในรายงานผลการศึกษาแนวทางการตรากฎหมายนิรโทษกรรมที่เสนอการนิรโทษกรรม ‘คดีที่มีความอ่อนไหว’ อย่างคดีความผิดมาตรา 110 และ 112 ไว้ 3 แนวทาง คือ รวมคดีดังกล่าว ไม่รวมคดีดังกล่าว หรือรวมคดีดังกล่าวแบบมีเงื่อนไข

 

ชัยธวัช ตุลาธน อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล และหนึ่งในกรรมาธิการ ตั้งข้อสังเกตว่า ทางแพร่งเรื่อง ‘คดีที่มีความอ่อนไหว’ สะท้อนให้เห็นความไม่เป็นเอกภาพของพรรคร่วมรัฐบาล และความไม่ชัดเจนของแนวทางการนิรโทษกรรมคดีการเมือง

 

โดยเฉพาะในการลงมติของพรรคเพื่อไทยที่เป็นเสมือนเจ้าภาพในเรื่องนี้ กลับปล่อยให้ สส. ในพรรคลงมติแบบ ‘ฟรีโหวต’ คือมีทั้งเสียงเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย และงดออกเสียง ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลอื่นโหวตไม่เห็นด้วยอย่างพร้อมเพรียง และแสดงออกชัดเจนว่าขอ ‘ปิดประตู’ การนิรโทษกรรมที่รวมคดีมาตรา 110 และ 112 อย่างเด็ดขาด แม้กรรมาธิการบางคนในสัดส่วนของพรรคเพื่อไทยจะบันทึกความเห็นไว้ว่า ‘เห็นด้วย’ และ ‘เห็นด้วยแบบมีเงื่อนไข’ ก็ตาม

 

ตัวแทนนิสิตและนักศึกษาแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม 

ตีระฆังร้องทุกข์ที่หน้ารัฐสภา ถามถึงแนวทางของรัฐบาล

ในการนิรโทษกรรมนักโทษคดีการเมือง

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

 

 

อย่างไรก็ตาม ด่านต่อไปจะเป็น ‘ของจริง’ คือร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม ที่ต่อคิวเข้าพิจารณาในสมัยประชุมหน้า ขณะนี้มีอยู่ทั้งหมด 4 ร่าง และอีก 1 ร่างที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ซึ่งสะท้อนความเห็นที่แตกต่างกันของแต่ละฝ่ายทางการเมืองได้เป็นอย่างดี ประกอบด้วย

 

  1. ฉบับ ‘ก้าวไกล’: ไม่ได้ห้ามการนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112
  2. ฉบับ ‘รวมไทยสร้างชาติ’ หรือ พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข: ไม่ให้นิรโทษกรรมคดีมาตรา 112
  3. ฉบับ ‘นิรโทษกรรมประชาชน’: กำหนดให้นิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 ทันที
  4. ฉบับ ‘ประชาธิปัตย์และครูไทยเพื่อประชาชน’: ไม่ให้นิรโทษกรรมคดีมาตรา 112
  5. ฉบับ ‘เพื่อไทย’ (ยังไม่เสร็จสมบูรณ์): รอความเห็นจากกรรมการยุทธศาสตร์พรรคว่าจะรวมคดีมาตรา 110 และ 112 หรือไม่

 

พ.ร.บ.ประชามติ สภาสูงงัดข้อสภาล่าง

 

กุญแจสำคัญดอกแรกที่จะไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญคือร่าง พ.ร.บ.ประชามติ แต่ดูเหมือนจะส่อแววยืดเยื้อ เนื่องจากความพยายามของ สส. ในการแก้ไขหลักเกณฑ์การทำประชามติให้เป็นเสียงข้างมากชั้นเดียว (Single Majority) แต่ สว. ส่วนใหญ่กลับเห็นแย้ง และลงมติให้กลับไปใช้หลักเสียงข้างมาก 2 ชั้น (Double Majority) ซึ่ง สส. มองว่าจะทำให้ประชามติเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านยากกว่า

 

ปมขัดแย้งระหว่างสองสภานำมาสู่การตั้งกรรมาธิการร่วมกันเพื่อหาทางออก ซึ่งก็เป็นเกมซ้อนเกม เนื่องจากฝ่าย สว. ที่มีโควตา 14 คน เสนอชื่อ สว. ในสายเดียวกันคือกลุ่มที่เห็นด้วยกับหลักเสียงข้างมาก 2 ชั้น เข้าสู่กรรมาธิการได้ทั้งหมด ทำให้ในทางปฏิบัติดูเหมือนว่าฝั่ง สว. จะมีคะแนนเสียงมากกว่าฝั่ง สส. แล้ว

 

 

ตัวแทนฝั่ง สว. ในการประชุมของกรรมาธิการร่วมระหว่าง สส. และ สว. 

เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ นัดแรก

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

 

เห็นได้ชัดจากผลการประชุมกรรมาธิการร่วมนัดแรกคือ การชิงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการที่ทั้ง สส. และ สว. ต่างถกเถียงกันให้ฝ่ายตัวเองได้ตำแหน่ง แต่สุดท้ายเมื่อต้องลงมติกลับกลายเป็น พล.ต.ต. ฉัตรวรรษ แสงเพชร สว. อดีตผู้การสายตรงบุรีรัมย์ ชนะเสียงโหวตได้ตำแหน่งประธานไป เนื่องจากฝ่าย สส. เข้าไม่ครบตามสัดส่วน 14 คน มี สส. บางคนลาออก และบางคนไม่ได้เข้าร่วมประชุม สส. บางคนไม่ลงคะแนน ขณะที่บางคนงดออกเสียง

 

อย่างไรก็ตาม รายงานจากกรรมาธิการร่วมเผยว่า การประชุมของกรรมาธิการร่วมอาจใช้เวลาไม่นาน หรือนัดประชุมไม่เกิน 3 ครั้งก็ได้ข้อยุติ ในระหว่างปิดสมัยประชุมสภา เนื่องจากมีข้อเห็นต่างเพียงจุดเดียวคือเรื่องหลักเสียงข้างมาก 2 ชั้น 

 

โดย สส. อาจเสนอแนวทางรอมชอมกับ สว. คือจากเดิมที่ต้องมีจำนวนผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียง และเสียงที่ได้รับความเห็นชอบในการทำประชามติต้องมีเสียงเกินครึ่งจากจำนวนผู้มาใช้สิทธิออกเสียง แก้ไขเป็นให้มีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงไม่น้อยกว่า 20% จากจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียง ส่วนเสียงที่ได้รับความเห็นชอบในการทำประชามติยังเหมือนเดิมคือ ต้องมีเสียงเกินครึ่งจากจำนวนผู้มาใช้สิทธิออกเสียง 

 

พล.ต.ต. ฉัตรวรรษ แสงเพชร สว. 

ได้รับเลือกเป็นประธานคณะกรรมาธิการร่วม

เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

 

7 แพ็กเกจแก้ไขรัฐธรรมนูญ ด่านหิน ‘พรรคประชาชน’

 

เมื่อดูจากกระบวนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ก็ค่อนข้างชัดเจนว่ากรอบเวลาการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับน่าจะไม่ทันในวาระของรัฐบาลนี้ เพราะลำพังการทำประชามติจากทั้งหมด 3 ครั้งที่ต้องทำ น่าจะเกิดขึ้นไม่ทันการเลือกตั้งนายก อบจ. ต้นปีหน้า

 

ด้วยเหตุนี้พรรคประชาชนจึงเริ่มเดินเส้นทางคู่ขนานคือ ‘การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา’ ที่สามารถใช้กลไกรัฐสภาได้ โดย พริษฐ์ วัชรสินธุ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เป็นเจ้าภาพยื่นร่างแก้ไข 7 แพ็กเกจ และหมายเหตุไว้ว่าพร้อมจะพักประเด็นการแก้ไขกฎหมายด้านจริยธรรมของนักการเมืองไว้ เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีความเห็นต่างกันมาก ซึ่งพรรคเพื่อไทยเองที่ต้องถอยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราของตัวเองออกไปก็ด้วยเหตุนี้

 

 

ดังนั้นจึงยังเหลืออีกหลายประเด็นที่พรรคประชาชนยังต้องโน้มน้าวเพื่อรวมเสียงโหวตจากทั้งสองสภา ให้เห็นชอบกับประเด็นต่างๆ ที่เสนอแก้ไขในรัฐธรรมนูญ โดยฝั่งพรรคประชาชนเองก็หวังผลในเรื่องที่ทุกฝ่ายน่าจะเห็นตรงกัน เช่น สิทธิการศึกษาหรือเรียนฟรี 15 ปี

 

วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เผยว่า การประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญน่าจะเริ่มในช่วงต้นเดือนธันวาคม โดยมีร่างบรรจุเข้ามาแล้ว 4 ฉบับ ขณะที่ยังมีช่องทางเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญได้ หากรัฐบาลหรือสภาเห็นว่ามีความเร่งด่วนจำเป็น

 

 

พริษฐ์ วัชรสินธุ สส. พรรคประชาชน 

และ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ตัวแทนเครือข่ายประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

 

วัดกำลังฝ่ายค้าน-รัฐบาล ‘พ.ร.บ.ก้าวหน้า’

 

สำหรับประเด็นอื่นๆ ที่เป็น ‘เกมยาว’ ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้านคือ ร่าง พ.ร.บ. ต่างๆ ที่แต่ละฝ่ายต่างมีฉบับ หรือ ‘เวอร์ชัน’ ของตนเอง และต้องนำเข้าสู่ชั้นกรรมาธิการในสมัยประชุมหน้า เพื่อแก้ไขกันต่อไปในรายละเอียด

 

ร่าง พ.ร.บ. สำคัญที่น่าจับตา เช่น ร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง และร่าง พ.ร.บ.จัดสรรที่ดิน ซึ่งต่างก็มีคู่เทียบทั้งฉบับที่รัฐบาลเสนอมาและฉบับที่ สส. พรรคประชาชน เสนอ ซึ่งมีความแตกต่างกันในรายละเอียด ส่วนสภาจะเห็นชอบกับร่างใดนั้น แม้พรรคร่วมรัฐบาลจะเป็นต่อเรื่องเสียงโหวตที่มีมากกว่า แต่การอภิปรายของฝ่ายค้านก็จะเป็นพื้นที่แสดงความแหลมคมและเปิดประเด็นใหม่ในการถ่วงดุลกับรัฐบาลได้ด้วย

 

 

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร

ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน 

และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

 

นอกจากนี้ยังต้องไม่ลืมวาระสำคัญคือ การยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปหรืออภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ซึ่งจะเป็นการวัดขุมกำลังกันครั้งแรกระหว่างผู้นำหน้าใหม่ของทั้งสองขั้วคือ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และ ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ผู้นำฝ่ายค้าน และหัวหน้าพรรคประชาชน ที่ดุเดือดเข้มข้นกว่าการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาและการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ที่ผ่านมา

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X