×

กุญแจเจรจาต่อรองหนี้ให้ได้ผล ‘ไม่หนี มีจ่าย’ เคล็ดลับ Kevin O’Leary นักธุรกิจคนดังชาวแคนาดา

โดย THE STANDARD TEAM
15.12.2020
  • LOADING...
กุญแจเจรจาต่อรองหนี้ให้ได้ผล ‘ไม่หนี มีจ่าย’ เคล็ดลับ Kevin O'Leary นักธุรกิจคนดังชาวแคนาดา

วิกฤตเศรษฐกิจในปัจจุบันที่เกิดขึ้นเพราะการระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ประชากรหลายหมื่นคนในหลายประเทศทั่วโลกกลายเป็นคนตกงาน ที่กระเทือนถึงรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ อันเกิดจากค่าเช่าและค่าใช้จ่ายอื่นที่ไม่ทันเวลา

 

โดยผลสำรวจพบว่า เฉพาะในสหรัฐฯ 14% ของชาวอเมริกันต้องควักเงินออมฉุกเฉินออกมาใข้เพื่อให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน

 

เมื่อชีวิตต้องเผชิญกับภาวะอัตคัดขัดสน หรือชักหน้าไม่ถึงหลัง Kevin O’Leary นักธุรกิจและนักลงทุนชาวแคนาดา ผู้เป็นที่รู้จักจากรายการ Shark Tank ในฐานะ Mr.Wonderful ผู้มีเทคนิกการเจรจาสุดเขี้ยว กล่าวว่า ทางออกของปัญหาดังกล่าวที่ดีที่สุดก็คือ หาเวลาและหาหนทางไปจับเข่าพูดคุยกับบรรดาเจ้าหนี้ทั้งหมดที่มี อย่าหลบลี้หนีหน้าโดยเด็ดขาด

 

“ถ้าคุณมีปัญหาทางการเงินในขณะนี้ ก็เจรจาต่อรองซะ ซึ่งกฎข้อแรกของการเจรจาก็คือ ทำให้เจ้าหนี้เชื่อมั่นว่า คุณเป็นลูกหนี้ชั้นดี” O’Leary กล่าว ก่อนอธิบายเพิ่มเติมว่า ลูกหนีที่ดีนี้ หมายถึงการพร้อมที่จ่ายในระยะยาว

 

“เจ้าหนี้ที่เห็นว่าลูกหนี้ใส่ใจกับเจ้าหนี้ ในระดับเดียวกับที่เจ้าหนี้ใส่ใจลูกหนี้ มีแนวโน้มที่จะผ่อนผันผ่อนปรนให้” O’Leary กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม ลำพังแค่การพบหน้าเพื่อพูดคุย ไม่เพียงพอที่ทำให้การเจรจาต่อรองบรรลุเป้าหมายได้ หากการเจรจานั้นไร้ซึ่งแผนงานมารองรับ

 

พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือว่า เมื่อกล้าที่จะคุยแล้ว ก็ต้องคุยอย่างมีหลักการ อธิบายชี้แจงลงรายละเอียดอย่างชัดเจนว่า จะจ่ายหนี้คืนได้เมื่อไร จ่ายได้มากน้อยแค่ไหน และจ่ายอย่างไร เป็นการจ่ายรวดเดียวหรือแบ่งจ่าย                                                 

 

Kelly Long นักวางแผนทางการเงิน และสมาชิกสถาบันอเมริกันผู้สนับสนุนการศึกษาด้านการเงินของผู้บริโภค (American Institute of CPAs’ Consumer Financial Education Advocates) แนะว่า การวางแผนที่ว่านี้ เริ่มต้นด้วยการเขียนแผนออกมาให้เห็น ระบุตัวเลขเงินที่สามารถจ่ายหนี้ได้ให้ชัดเจน และกำหนดวันจ่ายที่ประเมินแล้วว่าตนสามารถจ่ายได้

 

ขณะเดียวกัน เมื่อใดก็ตามที่รู้ว่ามีเหตุให้แผนไม่เป็นไปตามแผน สิ่งที่ทำได้คือสื่อสารเพื่อพูดความจริงที่เกิดขึ้น พร้อมเสนอทางออกที่ลูกหนี้สามารถทำตามที่ลั่นวาจาไว้ได้

 

“จำไว้ว่า เจ้าหนี้ก็ต้องการรายได้เหมือนกัน ดังนั้นการชี้แจงให้ชัดเจนว่าลูกหนี้เพียงแค่จ่ายช้าเท่านั้น ไม่ได้มาเจรจาขอยกหนี้” Long กล่าว

 

นอกจากนี้ O’Leary แนะนำเสริมว่า กรณีที่เจ้าหนี้มีสถานะเป็นบริษ้ท สถาบัน องค์กร หรือห้างร้าน ให้ลูกหนี้ติดต่อกับหน้าที่ฝ่ายรักษาสมาชิกภาพ (Retention Officer) เพราะเจ้าหน้าที่เหล่านี้จะปฏิบัติต่อลูกหนี้ในฐานะลูกค้าขององค์กร

 

“ถ้าคุณประสบปัญหาจากการที่มีคนๆ หนึ่งโทรศัพท์ตะคอกใส่คุณ หาว่าเบี้ยวหนี้ ให้ติดต่อไปยังเจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาสมาชิกภาพ ยืนกรานให้พวกเขารู้ว่าคุณไม่ได้หนีหนี้หรือเบี้ยวหนี้ และยินดีที่จะจ่ายหนี้ที่มีทันทีที่ได้งานทำ หรือทันทีที่นายจ้างยกเลิกคำสั่งพักงาน” O’Leary ให้คำแนะนำ

 

สรุปในท้ายที่สุดแล้ว หากมีปัญหาหนี้สิน หัวใจสำคัญที่จะทำให้การเจรจาผ่อนผันหนี้สินประสบความสำเร็จก็คือ ไม่หนีหน้า พูดความจริง ซื่อสัตย์กับเจ้าหนี้ และมีเมื่อไรต้องจ่าย ไม่ว่าจะมากหรือน้อย

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X