×

สรุปอุตสาหกรรมขนส่งดีหรือแย่? เพราะ Kerry Express ‘ขาดทุน’ 3,880 ล้านบาท แต่ไปรษณีย์ไทย (บอกว่า) มี ‘กำไร’

19.02.2024
  • LOADING...
Kerry Express

HIGHLIGHTS

10 min read
  • ตลาดอีคอมเมิร์ซคาดว่าจะเติบโตจากปีก่อนประมาณ 7% หรือคิดเป็นมูลค่าตลาดรวม 6.34-6.94 แสนล้านบาท เนื่องจากเทคโนโลยีในปัจจุบันเอื้อให้การช้อปปิ้งออนไลน์สะดวกกว่าเดิม และลดขั้นตอนการจ่าย ทำให้ประหยัดเวลาในกระบวนการตั้งแต่ต้นจนจบ
  • การเติบโตของอีคอมเมิร์ซส่งผลดีต่อตลาดขนส่งพัสดุด่วนในไทย และจะยังคงเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจทะลุ 1 แสนล้านบาทภายในปี 2567
  • คำถามคือ ขนส่งพัสดุเติบโต แต่ทำไม ‘ผู้เล่น’ ในตลาดนี้กลับขาดทุน ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ Kerry Express ขาดทุน 3,880.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.1% จากปีก่อนหน้าซึ่งมีตัวเลขขาดทุน 2,829.8 ล้านบาท แถม บล.กรุงศรียังประเมินว่า จะยังขาดทุนหนักถึง 3.5 พันล้านบาทในปีนี้
  • ผู้เชี่ยวชาญต่างมองว่า เหตุผลที่ทำให้ผู้เล่นดั้งเดิมต้องขาดทุนส่วนหนึ่งเป็นเพราะ Shopee และ Lazada ที่ให้บริการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เช่น ขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มของตัวเอง และขนส่งสินค้าด้วยบริษัทขนส่งของตัวเอง ทำให้สามารถควบคุมต้นทุนและบริการได้ดีกว่า จนพลิกจากขาดทุนมาเป็นกำไรในช่วง 2-3 ปีหลัง
  • ในขณะที่เบอร์รองกำลังขาดทุน แต่พี่ใหญ่ในตลาดอย่างไปรษณีย์ไทยได้ออกมาบอกว่า สามารถทำรายได้รวมเพิ่มสูงขึ้นกว่าปี 2565 และพลิกฟื้น ‘ไม่อยู่ในภาวะขาดทุน’ ทั้งที่ปี 2565 มีรายได้ 19,546 ล้านบาท และขาดทุนมากถึง 3,018 ล้านบาทด้วยกัน

คาดว่าภาพรวมของตลาดอีคอมเมิร์ซจะเติบโตขึ้นจากปีก่อนประมาณ 7% หรือคิดเป็นมูลค่าตลาดรวม 6.34-6.94 แสนล้านบาท เนื่องจากเทคโนโลยีในปัจจุบันเอื้อให้การช้อปปิ้งออนไลน์สะดวกกว่าเดิม และลดขั้นตอนการจ่าย ทำให้ประหยัดเวลาในกระบวนการตั้งแต่ต้นจนจบ อีกทั้งสินค้าในตลาดออนไลน์มีจุดเด่นคือ ผู้ซื้อสามารถเปรียบเทียบราคาจากร้านต่างๆ ได้แบบเรียลไทม์ จึงทำให้เกิดการตัดสินใจซื้อได้เร็วกว่า

 

นี่คือการประเมินจาก สวภพ ท้วมแสง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซอร์ทเอาท์ จำกัด (ZORT) แพลตฟอร์มบริหารจัดการออร์เดอร์และสต็อกครบวงจร (Seller Management Platform) ที่สะท้อนถึงภาพอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซของไทยที่กำลังเติบโต

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

อุตสาหกรรมขนส่งยังเติบโต?

 

แน่นอนว่าเมื่ออีคอมเมิร์ซเติบโต สิ่งที่ควรจะเติบโตตามไปด้วยคืออุตสาหกรรมขนส่ง เพราะต้องเป็นคนจัดส่งพัสดุไปให้กับลูกค้า ttb analytics ระบุไว้ในบทวิเคราะห์เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 ว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาธุรกิจขนส่งพัสดุเป็นหนึ่งในธุรกิจบริการที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2561-2562 ธุรกิจขนส่งพัสดุมีมูลค่าในตลาดราว 4.6 หมื่นล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 15%

 

ขณะที่ SHIPPOP ประเมินว่า ถึงตลาดขนส่งพัสดุจะมีอัตราการเติบโตที่ลดลงหลังจากที่โตแรงในช่วงโควิด คาดการณ์ในปี 2566 และ 2567 ตลาดขนส่งพัสดุด่วนในไทยจะยังคงเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากปัจจุบันผู้ที่ขายสินค้าออนไลน์มีแพลตฟอร์มช่องทางการขายที่หลากหลาย ประกอบกับผู้บริโภคเองก็ยังมีพฤติกรรมการสั่งซื้อออนไลน์อยู่ด้วยเช่นกัน ดังนั้นมูลค่าตลาดขนส่งพัสดุด่วนจะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอาจทะลุ 1 แสนล้านบาทภายในปี 2567

 

โดยในปี 2566 คาดว่าตลาดจะมีมูลค่า 9.6 หมื่นล้านบาท เติบโต 13% และ ปี 2567 อยู่ที่ 1.07 แสนล้านบาท เติบโต 12% ด้วยกัน

 

ตามข้อมูลของ SHIPPOP ประเมินส่วนแบ่งตลาดขนส่งพัสดุด่วนปัจจุบัน ตลาดขนส่งพัสดุด่วนในประเทศไทยมีการแข่งขันสูง จากข้อมูลดังกล่าวพบว่า มีผู้ให้บริการรายใหญ่ 5 ราย ได้แก่

 

  • ไปรษณีย์ไทย มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 23.5%
  • Kerry Express มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 20.1%
  • Flash Express มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 17.4%
  • DHL Express มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 16.5%
  • J&T Express มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 13.9%
  • และขนส่งอื่นๆ รวมกันอยู่ที่ 8.7%

 

อย่างไรก็ตาม คำถามที่ตามมาคือ ทั้งที่ตลาดขนส่งพัสดุถูกประเมินว่าเติบโตจนจะทะลุ ‘แสนล้านบาท’ แต่ทำไมผู้เล่นในตลาดจึงขาดทุน โดยเฉพาะเบอร์ 2 อย่าง ‘Kerry Express’

 

 

Kerry Express ‘ขาดทุน’ เพิ่ม 37.1%

 

Kerry Express เพิ่งรายงานผลประกอบการปี 2566 ที่ระบุว่า รายได้จากการขายและการให้บริการอยู่ที่ 11,470.3 ล้านบาท ลดลง 32.5% เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน อันเนื่องมาจากการลดลงของปริมาณการจัดส่งพัสดุ โดยยอดรวมของปริมาณการจัดส่งพัสดุลดลง 30% เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า 

 

สาเหตุหลักมาจากปริมาณการซื้อ-ขายผ่านทางตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) ที่ต่ำกว่าคาดการณ์ โดยเฉพาะการลดลงในช่วงไตรมาส 3/2566 ส่งผลให้ Kerry Express บริหารจัดการให้อยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพได้ยาก

 

ดังนั้น แม้ต้นทุนขายและให้บริการจะลดลง 23.3% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เหลือ 14,337.8 ล้านบาท แต่ท้ายที่สุดก็ไม่ได้ช่วยให้ Kerry Express พลิกกลับมามีกำไร แต่ขาดทุน 3,880.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.1% จากปีก่อนหน้า ซึ่งมีตัวเลขขาดทุน 2,829.8 ล้านบาท 

 

“บริษัทเชื่อว่าช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดได้ผ่านพ้นไปแล้ว” นี่คือสิ่งที่บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEX ระบุในรายงานที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 

ถึง Kerry Express จะเชื่อแบบนั้น แต่สำหรับบทวิเคราะห์จาก บล.กรุงศรีกลับประเมินว่า จะยังขาดทุนหนักถึง 3.5 พันล้านบาทในปีนี้ เพราะยังไม่เห็นแนวโน้มการพลิกฟื้นอย่างจริงจังของผลการดำเนินงานในเร็วๆ นี้

 

“เรามองว่าอุปสงค์บริการของ KEX ยังคงถูกกดดัน เพราะผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซอย่างเช่น Shopee เริ่มทำการจัดส่งสินค้าเอง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มี Margin สูงอย่างเช่น กรุงเทพฯ และปริมณฑล” ปฏิภาค นวาวัตน์ นักวิเคราะห์ของ บล.กรุงศรี ประเมิน

 

ผู้เล่นเดิมขาดทุนเพราะอีคอมเมิร์ซลงมาเล่นเอง

 

การวิเคราะห์ดังกล่าวถือว่าน่าสนใจ เพราะสอดคล้องกับสิ่งที่ ป้อม-ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพย์ โซลูชั่น จำกัด ได้ประเมินผ่าน 12 เทรนด์อีคอมเมิร์ซไทยในปี 2567 (Thailand E-Commerce Trends 2024) ซึ่งระบุในข้อที่ 3 ว่า ‘การแข่งขันส่งสินค้าดุเดือด ขาดทุนแทบทุกราย ยกเว้นผู้ให้บริการขนส่งครบวงจร’

 

ผู้บุกเบิกอีคอมเมิร์ซไทยอย่าง ‘ป้อม ภาวุธ’ ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันการส่งสินค้ากลายเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจการค้าออนไลน์ เห็นได้จากผลประกอบการของบริษัทขนส่งในประเทศไทยที่ขาดทุนเกือบทุกราย ตัวอย่างเช่น ไปรษณีย์ไทยขาดทุนเกือบ 20,000 ล้านบาท, Kerry Express และ Flash Express ขาดทุนนับหมื่นล้านบาทเช่นกัน สาเหตุที่ขาดทุนหนักหน่วงขนาดนี้เพราะการแข่งขันสูง มีการลดราคาเพื่อดึงดูดลูกค้า

 

 

“แต่ผู้ให้บริการขนส่งครบวงจรอย่าง Shopee, Lazada และ J&T มีกำไรมากกว่า เพราะให้บริการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เช่น ขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มของตัวเอง และขนส่งสินค้าด้วยบริษัทขนส่งของตัวเอง ทำให้สามารถควบคุมต้นทุนและบริการได้ดีกว่า” 

 

สิ่งนี้ไม่เกินจริงเลย ซึ่งส่วนหนึ่งสามารถสะท้อนได้จาก ‘ไปรษณีย์ไทย’ ที่เปิดเผยในปีที่ผ่านมา ปี 2565 นั้นมีรายได้ 19,546 ล้านบาท แต่ขาดทุนมากถึง 3,018 ล้านบาท

 

อย่างไรก็ตาม ttb analytics ได้วิเคราะห์ไว้ว่า สำหรับโครงสร้างธุรกิจขนส่งในปี 2564 แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มธุรกิจขนส่งพัสดุดั้งเดิม มีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 75% ซึ่งลดลงจาก 93% ในปี 2561 และกลุ่มธุรกิจขนส่งพัสดุที่ต่อยอดมาจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซ มีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 25% เพิ่มจาก 7% ในปี 2561 

 

“กลุ่มธุรกิจขนส่งพัสดุที่ต่อยอดมาจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น จากความได้เปรียบในการมีตลาดอีคอมเมิร์ซรองรับการให้บริการการขนส่งสินค้าของตนเอง” ttb analytics ระบุ

 

โดยมีการกำหนดให้ผู้ใช้บริการเลือกใช้การขนส่งของช่องทางอีคอมเมิร์ซนั้นๆ เป็นหลักกว่า 50% นอกจากนี้ยังมีอัตราการเติบโตของรายได้ที่เพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่าในช่วงปี 2562-2564 ในขณะที่กลุ่มธุรกิจขนส่งพัสดุดั้งเดิมกลับมีอัตราการเติบโตของรายได้ทรงตัวเฉลี่ยอยู่ที่ 16%

 

Shopee และ Lazada ต่างมี ‘กำไร’ กันแล้ว 

 

ttb analytics มองอีกว่า ธุรกิจขนส่งพัสดุมีการแข่งขันภายในสูง ถึงแม้จะมีรายได้ที่เติบโตต่อเนื่อง แต่มีความสามารถในการทำกำไรที่น่ากังวล เนื่องจากธุรกิจต้องพึ่งพาผู้บริโภคเป็นหลัก ที่ผ่านมาผู้ประกอบการแต่ละรายมีการนำกลยุทธ์ต่างๆ มาใช้เพื่อดึงดูดผู้ใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้บริหารคลังสินค้าและการจัดส่ง (Fulfillment) การขยายพื้นที่การให้บริการ การขายแฟรนไชส์ และการลดราคาค่าบริการจัดส่งพัสดุ 

 

ทว่าผู้ประกอบการอาจไม่สามารถนำกลยุทธ์ด้านราคามาใช้ในการแข่งขันได้อย่างยั่งยืน เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากต้นทุนการขนส่งสินค้า โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งมีสัดส่วนราว 40% ของต้นทุนค่าขนส่งทั้งหมด ส่งผลให้ในช่วงปี 2561-2565 ผู้ประกอบการหลายรายยังคงมีอัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) ที่ลดลงหรือขาดทุนต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนส่งพัสดุดั้งเดิม ในขณะที่เริ่มเห็นอัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) เป็นบวกในปี 2565 จากกลุ่มธุรกิจขนส่งพัสดุที่ต่อยอดมาจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซบางรายแล้ว

 

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเผยว่า Shopee ภายใต้ชื่อบริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) จำกัด ในปี 2565 นั้นมีรายได้ 2.2. หมื่นล้านบาท และมีกำไรกว่า 2.38 พันล้านบาท ซึ่งถือเป็นการพลิกกลับมามีกำไรหลังจากที่ขาดทุนหลัก 4 พันล้านบาทในช่วง 4 ปีก่อนหน้านั้น

 

เช่นเดียวกัน Lazada ภายใต้บริษัท ลาซาด้า จำกัด ที่มีรายได้ระหว่างปี 2564-2566 อยู่ที่ 1.4-1.9 หมื่นล้านบาท สามารถทำกำไรได้ 227 ล้านบาท, 413 ล้านบาท และ 605 ล้านบาท ตามลำดับ ทั้งที่ปี 2563 ขาดทุนเกือบ 4 พันล้านบาท ส่วนปีก่อนหน้าก็ขาดทุน 3.7 พันล้านบาท

 

 

แต่ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ รายได้และกำไรของบริษัท ลาซาด้า เอ็กซ์เพรส จำกัด ที่ระบุวัตถุประสงค์ตอนจดทะเบียนธุรกิจไว้ว่า ‘ขนส่งและขนถ่ายสินค้า’ มีตัวเลขที่นับว่าสูงและมีกำไรแซงหน้า Lazada เสียด้วยซ้ำ โดยปี 2565 มีรายได้ 1.6 หมื่นล้านบาท กำไร 2.7 พันล้านบาท ขณะที่ปี 2566 มีรายได้ 1.7 หมื่นล้านบาท กำไร 2.9 พันล้านบาท 

 

ไปรษณีย์ไทย (บอกว่า) มี ‘กำไร’ แล้ว

 

กำไรของ Shopee และ Lazada ที่พลิกมาจากขาดทุนซึ่งถูกประเมินว่าเป็นเพราะบุกเข้าสู่ธุรกิจขนส่ง ทำให้สามารถควบคุมต้นทุนของตัวเองได้ดี แต่สิ่งนี้กลับเป็น ‘เนื้อร้าย’ สำหรับผู้เล่นดั้งเดิมที่ต้องเผชิญกับภาวะขาดทุนดังเช่น Kerry Express ถึงอย่างนั้น ภาพที่เกิดขึ้นกับเบอร์รองกลับเป็นเหรียญคนละด้านกับผู้นำตลาดอย่าง ‘ไปรษณีย์ไทย’ ที่แว่วๆ มาว่าไม่ขาดทุนแล้ว

 

“ตลอดปี 2566 ไปรษณีย์ไทยมีการปรับตัวเพื่อส่งมอบบริการที่ดีที่สุดกับคนไทยมาอย่างต่อเนื่อง เป็นผลให้ผู้ใช้บริการพึงพอใจเลือกใช้บริการ และสามารถทำรายได้รวมเพิ่มสูงขึ้นกว่าปี 2565 และพลิกฟื้นไม่อยู่ในภาวะขาดทุน” ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวในแถลงการณ์

 

ดร.ดนันท์ ยอมรับว่า ปีที่ผ่านมาภาคธุรกิจขนส่ง-โลจิสติกส์เผชิญกับความผันผวนทั้งต้นทุนพลังงาน การแข่งขันด้านราคา และสภาพเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ ทำให้ผู้ให้บริการต้องปรับตัว ปรับกลยุทธ์ รวมถึงเพิ่มโซลูชันการบริการ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นทางธุรกิจ

 

สำหรับไปรษณีย์ไทย สร้างรายได้จาก 4 กลุ่มธุรกิจศักยภาพหลัก ซึ่งประกอบด้วย ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ ธุรกิจไปรษณียภัณฑ์ ธุรกิจระหว่างประเทศ และธุรกิจค้าปลีก-การเงิน โดยกลุ่มธุรกิจที่ทำรายได้สูงสุดคือ ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ ซึ่งมีรายได้สูงกว่าปี 2565 ถึง 19.70% และมีปริมาณชิ้นงานสะสมสูงกว่าปี 2565 กว่า 26.18%

 

 

ไปรษณีย์ไทยยังไม่เปิดเผยถึงตัวเลขที่แน่นอน เพราะอยู่ในระหว่างสรุปผลประกอบการประจำปี โดยบอกแต่เพียงว่า ในปี 2567 ไปรษณีย์ไทยยังมีเป้าหมายที่จะขยายฐานผู้ใช้บริการไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่และภาคธุรกิจออนไลน์ต่อไป

 

สำหรับผลประกอบการที่แน่นอนนั้นจะมีการเปิดเผยต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งน่าสนใจว่า ในขณะที่ Kerry Express ที่เคยเป็นดาวรุ่งจนใครๆ ก็บอกว่าไปรษณีย์ไทยต้อง ‘กลัว’ กลับอยู่ในภาวะเลือดไหลไม่หยุด แต่ไปรษณีย์ไทยทำอย่างไรถึงหยุดเลือดของตัวเองได้

 

คำตอบคงจะได้เห็นในช่วงเวลาอีกไม่นานต่อจากนี้!

 

Kerry Express กำลังจะถูก ‘เทกโอเวอร์’

 

ทว่าสิ่งที่มองข้ามไม่ได้คือ การที่ยักษ์ใหญ่ด้านโลจิสติกส์ของแดนมังกรอย่าง ‘เอสเอฟ อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้ง (ประเทศไทย)’ ได้เสนอซื้อหุ้นเคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) หรือ KEX ที่ราคา 5.50 บาท ตามที่เคยแจ้งไว้ก่อนหน้านี้ โดยจะรับซื้อหุ้นในส่วนของ 73.18% ที่เหลือ คิดเป็นมูลค่าราว 7 พันล้านบาท ความเคลื่อนไหวนี้เป็นสิ่งที่ THE STANDARD WEALTH ได้เคยประเมินไว้ในบทความ ‘วิเคราะห์อนาคต ‘เคอรี่ เอ็กซ์เพรส’ หลังปรับโครงสร้างถือหุ้น พร้อมความเสี่ยงถูกเทขายจากรายย่อยฮ่องกง’ ซึ่ง Kerry Express ก็ได้ออกแถลงการณ์ย้ำหลังจากนั้นอีก 2-3 ครั้งว่า การ ‘เทกโอเวอร์’ ดังกล่าวนั้นกำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการ

 

ขณะเดียวกัน Kerry Express ก็ได้ระบุไว้เช่นเดียวกันว่า ในปี 2566 ได้มีการมุ่งเน้นการปฏิรูปการดำเนินงานของธุรกิจทั้งหมด ซึ่งการปรับปรุงดังกล่าวจะส่งผลชัดเจนหลังจากที่บริษัทได้นำความรู้ความสามารถในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงระบบการดำเนินงานอันล้ำสมัยที่ได้รับการแบ่งปันจาก SF Express มาใช้

 

 

ผลการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นได้สะท้อนผ่านคุณภาพในการให้บริการ ทั้งในแง่ของจำนวนข้อร้องเรียนจากลูกค้าที่ลดลงกว่า 61% และการลดลงของจำนวนพัสดุที่เสียหาย สูญหาย หรือต้องชดเชย ซึ่งลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่อัตราการลาออกของพนักงานขนส่งลดลงกว่า 3 เท่า อันเนื่องมาจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นตามผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น 

 

เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับบริษัทที่ปรับใช้แผนการจัดการทรัพยากรและมาตรวัดประสิทธิภาพใหม่ โดยการปรับปรุงขั้นตอนการดำเนินงานทั้งหมด ซึ่งประกอบไปด้วยการปรับใช้ระบบและเทคโนโลยีใหม่ ปรับโครงสร้างการดำเนินงานใหม่ การขยายแพลตฟอร์มการขนส่งให้ครอบคลุม และการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรอย่างแม่นยำ

 

“บริษัทเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าจะยังคงได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการดำเนินธุรกิจและการเงินจากผู้ถือหุ้นหลัก เพื่อให้บริษัทสามารถปฏิรูปองค์กรและพลิกฟื้นผลประกอบการต่อไป ในขณะเดียวกัน ฝ่ายบริหารของบริษัทยังคงให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการส่งมอบผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียต่อไป” Kerry Express ระบุ

 

ไม่แน่ว่าการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นครั้งนี้อาจจะทำให้ Kerry Express หักปากกาเซียน พลิกกลับมาทำกำไรในปี 2567 ก็ได้ ซึ่งไม่มีใครรู้จนกว่าจะถึงวันที่ประกาศผลประกอบการของปีนี้ที่จะเกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2568

 

พวกเราก็มาลุ้นไปด้วยกัน!

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X