×

เลือกตั้งประธานาธิบดีเคนยาเดือด สังเวยแล้ว 4 ศพ วานนี้

27.10.2017
  • LOADING...

     การเลือกตั้งซ่อมประธานาธิบดีของเคนยาถึงจุดวิกฤต ภายหลังจากที่มีการปะทะกันของกลุ่มผู้ประท้วงและเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 4 คน บาดเจ็บเกือบ 40 คน โดยการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้มีขึ้นภายหลังจากที่ศาลสูงสุดของเคนยามีมติ 4-2 เสียง ตัดสินให้การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมามีผลเป็นโมฆะ เนื่องจากศาลสูงสุดได้พิจารณาแล้วว่ามีการทุจริตและการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมายเกิดขึ้น

 

 

     ทางด้าน อูฮูรู มุยไก เคนยาตา (Uhuru Muigai Kenyatta) บุตรชายของประธานาธิบดีคนแรกของเคนยา ผู้ซึ่งได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 เมื่อ 2 เดือนก่อน จึงเดินหน้าผลักดันให้มีการจัดการเลือกตั้งซ่อมขึ้นเมื่อวานนี้ (26 ต.ค.) เพื่อขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกสมัย แม้ว่าตัวเขาจะถูกกล่าวหาว่าพัวพันกับคดีทุจริตและละเมิดสิทธิมนุษยชนก็ตาม

 

 

     ความตึงเครียดเริ่มทวีคูณมากยิ่งขึ้น หลังจากที่ผู้นำของฝ่ายค้านอย่าง ไรลา โอดินกา (Raila Odinga) ในวัย 72 ปี ผู้สมัครที่ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีมาโดยตลอด แต่ในครั้งนี้เขาตัดสินใจไม่ลงรับเลือกตั้ง พร้อมเรียกร้องให้กลุ่มต่อต้านแบนการออกมาเลือกตั้งซ่อมในครั้งนี้ แม้ประธานการจัดการเลือกตั้งจะออกมารับรองความโปร่งใสของการเลือกตั้งที่จัดขึ้นก็ตาม โดยผู้นำทั้งสองฝ่ายยืนยันที่จะไม่มีการเจรจาหาทางออกร่วมกัน

 

 

     การเลือกตั้งซ่อมในครั้งนี้เป็นตัวจุดชนวนรอยร้าวที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานระหว่างไรลาและครอบครัวเคนยาตา นับตั้งแต่เคนยาประกาศเอกราชและพ่อของเขาก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกของเคนยา เหตุปะทะกันที่เกิดขึ้น ยิ่งส่งผลให้การเมืองในเคนยาแตกเป็นขั้วอย่างชัดเจน และทำให้ยอดผู้เสียชีวิตจากจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่างกันพุ่งสูงถึง 44 คนแล้ว นับตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

 

 

     โดย วาฟูลา เชบูกาติ (Wafula Chebukati) ประธานจัดการเลือกตั้งออกมาชี้แจงว่า จากเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นใน 4 เมืองใหญ่ทางด้านทิศตะวันตกของประเทศอย่าง Kisumu, Homa Bay, Migori และ Siaya ทำให้การนับผลคะแนนล่าช้าออกไป และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในวันเสาร์นี้

 

 

     ออสติน โอลัง (Austin Olang) หนึ่งในคุณครูผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในเขตเมือง Kisumu เผยว่า “วันนี้การเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมไม่ได้เกิดขึ้น พวกรัฐบาลต้องการที่จะบังคับให้พวกเราไปลงคะแนนเสียงรับรอง แต่พวกเราไม่ได้ต้องการที่จะเลือกตั้งและจะไม่ไปลงคะแนนในครั้งนี้ด้วย”

     นักวิเคราะห์มองว่า การแบนการเลือกตั้งซ่อมในประเทศที่มีสถานภาพทางเศรษฐกิจที่ร่ำรวยที่สุดในแอฟริกาตะวันออก รวมถึงมีประชาธิปไตยที่ค่อนข้างแข็งแรงอย่างในเคนยานี้ อาจจะทำให้ภาพจำของวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่เลวร้ายที่สุดของเคนยาเมื่อปี 2007 ที่เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึง 1,100 คน กลับกลายเป็นความจริงอีกครั้ง

 

Photo: AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X