รัฐเคนทักกีซึ่งเป็นรัฐที่ได้รับความเสียหายหนักที่สุดจากเหตุการณ์พายุทอร์นาโดหลายสิบลูกพัดถล่ม 8 รัฐของสหรัฐฯ เมื่อคืนวันศุกร์และช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เริ่มต้นภารกิจฟื้นฟูแล้ว โดยหน่วยงานต่างๆ ของรัฐและรัฐบาลกลางเร่งให้ความช่วยเหลือประชาชนตามเมืองต่างๆ ที่ต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน
ศูนย์พยากรณ์พายุของสำนักพยากรณ์อากาศแห่งชาติของสหรัฐฯ รายงานว่า แนวสภาพอากาศรุนแรงที่เคลื่อนผ่านตอนกลางและตอนใต้ของสหรัฐฯ เมื่อคืนวันศุกร์จนถึงวันเสาร์ ส่งผลให้เกิดพายุทอร์นาโดอย่างน้อย 50 ลูกในรัฐเคนทักกี อาร์คันซอ อิลลินอยส์ อินดีแอนา มิสซิสซิปปี มิสซูรี โอไฮโอ และเทนเนสซี ซึ่งได้คร่าชีวิตประชาชนไปอย่างน้อย 100 ราย
ในดอว์สันสปริงส์ เมืองขนาดเล็กทางตะวันตกของรัฐเคนทักกี มีการประมาณการว่า ประมาณ 75% ของชุมชนถูกพายุทำลายล้าง
“มันเป็นสิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่ผมเคยเห็นมา” นายกเทศมนตรี คริส สไมลีย์ ซึ่งอาศัยอยู่ในเมืองนี้มา 63 ปี กล่าว “มันคือการทำลายล้าง”
ไมเคิล ดอสเซตต์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐเคนทักกี เปิดเผยว่า สำนักงานบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินกลาง (FEMA) ได้ส่งทีมลงพื้นที่ในรัฐเคนทักกี ขณะที่ แอนดี บีเชียร์ ผู้ว่าการรัฐเคนทักกี เปิดเผยว่า กองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิ (National Guard) ได้ส่งทหารมากกว่า 300 นาย มาให้ความช่วยเหลือใน 9 เขตการปกครองของเคนทักกี
เจ้าหน้าที่รายหนึ่งของเขตปกครองฮอปกินส์เคาน์ตีเปิดเผยเมื่อวันอาทิตย์ว่า รายชื่อผู้สูญหายในเมืองดอว์สันสปริงส์มีมากกว่า 100 ราย แต่หวังว่าคนเหล่านั้นจะไม่ได้อยู่ในเมือง
ด้าน นิค เบลีย์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินในฮอปกินส์เคาน์ตี กล่าวว่า ภารกิจกู้ภัยและช่วยชีวิตยังคงดำเนินต่อไป แม้ว่ายังไม่พบผู้รอดชีวิตท่ามกลางเศษซากปรักหักพัง
ขณะที่ เดนนิส เมย์ฟิลด์ เจ้าหน้าที่ชันสูตรศพ เปิดเผยว่า จำนวนผู้เสียชีวิตในฮอปกินส์เคาน์ตีเพิ่มขึ้นเป็น 13 รายในวันอาทิตย์ จาก 10 รายในวันเสาร์ โดยผู้เสียชีวิตมีช่วงอายุระหว่าง 34-86 ปี
ในขณะเดียวกันชาวบ้านหลายร้อยคนในเมืองที่มีผู้อยู่อาศัยเกือบ 3,000 ราย ไม่มีที่อยู่อาศัยอีกต่อไป “ตอนนี้เกือบทั้งเมืองกลายเป็นคนไร้ที่อยู่” เบลีย์กล่าว ส่วนคนที่ยังมีบ้านเหลืออยู่นั้นอาจไม่มีไฟฟ้าใช้และอาจอยู่ในความมืดต่อไปนานถึงหนึ่งเดือน
“คุณสามารถสร้างหรือหาบ้านใหม่ได้ คุณสามารถเปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์ คุณสามารถเปลี่ยนเสื้อผ้าได้ แต่คุณไม่สามารถแทนที่ความทรงจำและภาพถ่ายได้” เอริกา สไตป์ บอกกับสถานีโทรทัศน์ WZTV ในเครือ CNN ขณะที่กำลังเลือกเก็บของท่ามกลางเศษซากปรักหักพังในบ้านของน้องสาวของเธอในดอว์สันสปริงส์ “เธอยังมีชีวิตอยู่ และฉันรู้สึกขอบคุณมาก”
สตีเวน คูนาแนน ผู้อำนวยการสภากาชาด รัฐเคนทักกี เปิดเผยว่า สภากาชาดอเมริกันมีที่พักพิง 8 แห่งในรัฐเคนทักกี และขณะนี้กำลังให้ความช่วยเหลือประชาชนเกือบ 200 ราย
ขณะที่บีเชียร์กล่าวในระหว่างการแถลงข่าวเมื่อช่วงบ่ายวันอาทิตย์ ตามเวลาท้องถิ่น ว่า รัฐเคนทักกีได้เปิดสวนสาธารณะหลายแห่ง เพื่อให้หลายครอบครัวที่สูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างจากภัยพิบัติได้เข้าไปพักอาศัย
“เราพยายามที่จะทำให้ทุกคนอยู่ได้ 2 สัปดาห์ เพื่อที่พวกเขาจะได้ไม่ต้องกังวลว่าพรุ่งนี้จะไปอยู่ที่ไหน และจะได้ไปตามหาญาติและหาอาหารให้ลูกๆ”
คูนาแนนกล่าวว่า เป้าหมายหลักของสภากาชาดคือการจัดหาอาหารและดูแลผู้ประสบภัย “เราต้องช่วยให้พวกเขากลับมามีชีวิต และช่วยให้พวกเขากลับมารู้สึกปกติอีกครั้ง”
เขากล่าวด้วยว่า สภาวะอารมณ์ของผู้ประสบภัยถือเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญเช่นกัน “ผมเห็นมาทุกครั้งในทุกภัยพิบัติ พวกเขาอยู่ในอาการตกใจสุดขีด พวกเขาไม่รู้ว่าจะหันไปทางไหน”
ภาพ: Tayfun Coskun / Anadolu Agency via Getty Images
อ้างอิง: