×

จับตาอนาคตตุรกี หลังแอร์โดอันคว้าชัยเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกสมัย เตรียมครองอำนาจต่อในทศวรรษที่ 3

29.05.2023
  • LOADING...
Recep Tayyip Erdoğan

หลังจากที่ตุรกีต้องเปิดคูหาเลือกตั้งถึง 2 รอบ กว่าจะได้ผลชี้ขาดว่าใครจะก้าวขึ้นเป็นผู้นำประเทศในช่วง 5 ปีข้างหน้า ในที่สุดเมื่อคืนนี้ (28 พฤษภาคม) ผลการนับคะแนนอย่างเป็นทางการก็ออกมาแล้วว่า ชาวตุรกีส่วนใหญ่ไว้วางใจให้ เรเจป ไตยิป แอร์โดอัน ประธานาธิบดีวัย 69 ปี ขึ้นครองอำนาจอีกสมัย ต่ออายุให้เขามีโอกาสกุมบังเหียนของประเทศทะลุ 20 ปี หรือนับตั้งแต่ที่ได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีในปี 2003-2014 จนมาถึงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2014-2023 และต่อไปอีก 5 ปีนับจากนี้

 

ก่อนหน้านี้มีกระแสคาดการณ์ว่า การเลือกตั้งครั้งล่าสุดอาจเป็นสนามที่ทั้งยากและท้าทายสำหรับแอร์โดอัน เพราะเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สภาพเศรษฐกิจของตุรกีกำลังย่ำแย่ ประกอบกับเงินเฟ้อที่ทะยานสูงลิ่ว อีกทั้งแอร์โดอันยังเจอกับ ‘ชื่อเสีย’ หลังประชาชนไม่ปลื้มการบริหารจัดการเหตุแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงในประเทศ ทำให้หลายฝ่ายจับตาว่า เคมัล คิลิกดาโรกลู ผู้ท้าชิงตัวเต็ง ซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่มพันธมิตรพรรคการเมือง Nation Alliance ที่ประกอบด้วย 6 พรรคฝ่ายค้าน อาจสามารถคว้าชัยชนะและพลิกโฉมหน้าการเมืองตุรกีใหม่ ให้มีภาพลักษณ์ของความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นกว่าเดิม

 

แต่ในที่สุดผลการเลือกตั้งก็แสดงให้เห็นแล้วว่า แอร์โดอันอ่านเกมการเมืองได้เหนือกว่าบรรดาผู้สังเกตการณ์หรือเหล่านักวิเคราะห์ทั้งหลายที่เคยทำนายไว้ว่า พรรคฝ่ายค้านอาจแซะแอร์โดอันให้หลุดจากเก้าอี้ได้สำเร็จในการเลือกตั้งครั้งนี้

 

ผลการนับคะแนนอย่างเป็นทางการซึ่งดำเนินไปกว่า 99% ชี้ขาดแล้วว่า แอร์โดอันสามารถกวาดคะแนนเสียงข้างมากไปที่ 52.1% ขณะที่คิลิกดาโรกลูได้คะแนนไปที่ 47.9% แม้ตัวเลขจะห่างกันแค่ประมาณ 4% แต่ก็ต้องยอมรับว่า ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งส่วนใหญ่ยังคงเทคะแนนให้กับผู้นำที่มีวิสัยทัศน์เชิงเผด็จการตามมุมมองของโลกตะวันตก มากกว่าผู้สมัครที่เรียกตนเองว่าเป็น ‘นักประชาธิปไตย’

 

ระยะเวลาที่ผ่านมานั้น คิลิกดาโรกลูได้หาเสียงเลือกตั้งในฐานะนักประชาธิปไตยที่จะไม่อ่อนข้อให้กับการทุจริตคอร์รัปชัน และพร้อมเข้ามาเป็นพระเอกขี่ม้าขาวที่จะพาตุรกีเข้าสู่ฤดูกาลใหม่ แต่คำมั่นสัญญาที่สำคัญที่สุดของเขาคือ การส่งผู้ลี้ภัยทั้งหมดกลับบ้าน ซึ่งเรียกคะแนนสนับสนุนจากกลุ่มชาตินิยมไปได้ไม่น้อยเลยทีเดียว ทว่ามันก็ยังไม่มากพอที่จะล้มคู่แข่งสุดหินอย่างแอร์โดอันได้ 

 

นั่นเป็นเพราะแอร์โดอันมีสายสัมพันธ์อันเหนียวแน่นกับฐานผู้สนับสนุนของเขาที่ติดตามกันมานานถึง 20 ปี โดยผู้ที่สนับสนุนแอร์โดอันส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอนุรักษนิยมและเคร่งศาสนาอิสลามเช่นเดียวกับเขา แม้แอร์โดอันจะเผชิญกับอุปสรรคหลายประการที่บั่นทอนชื่อเสียงบนถนนการเมือง รวมถึงเงินเฟ้อที่พุ่งสูงเกือบ 44% ในปัจจุบัน แต่บรรดาผู้สนับสนุนก็ยังไม่ถอดใจ และให้โอกาสแอร์โดอันได้นั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีต่อไปอีกอย่างน้อย 5 ปี

 

หลังจากที่ผลการเลือกตั้งรอบ 2 ประกาศออกมาชัดเจน ภาพถนนในกรุงอังการาก็คลาคล่ำไปด้วยบรรดาผู้สนับสนุนของแอร์โดอัน ที่ออกมาโบกธงชาติตุรกีกันอย่างละลานตา ระคนกับเสียงเชียร์และเสียงแตรรถดังสนั่นในเขตเมืองหลวง เพื่อร่วมอวยชัยให้กับผู้นำคนใหม่แต่หน้าเก่าผู้นี้

 

“เรารู้สึกดีใจกับความจริงที่ว่า ประธานาธิบดีของเราได้กลับมาเป็นผู้นำอีกครั้ง” ฮาติซ ดูแรน หญิงชาวตุรกีวัย 50 ปี กล่าว ใบหน้าของเธอถูกฉาบด้วยรอยยิ้มกว้างภายใต้ผ้าคลุมศีรษะตามหลักศาสนา 

 

“ไม่มีความรู้สึกอื่นใดที่ยิ่งใหญ่ไปกว่านี้แล้ว ให้โลกได้ยินเสียงนี้ เขาคือผู้นำที่ท้าทายโลกทั้งใบและสอนบทเรียนให้กับโลกทั้งโลก”

 

คำพูดของดูแรนสะท้อนให้เห็นว่า ในสายตาของผู้สนับสนุน แอร์โดอันคือผู้นำที่แข็งแกร่งประดุจสุลต่านผู้ไม่ยอมก้มหัวให้กับผู้ใด

 

ในวันนี้ชัดเจนแล้วว่า อำนาจของแอร์โดอันได้ผงาดขึ้นอีกครั้ง ขณะที่พรรคฝ่ายค้านเป็นฝ่ายแพ้ย่อยยับ ส่วนประเทศที่อาจจะแอบดีใจอยู่เงียบๆ ตอนนี้คือ ‘รัสเซีย’

 

นักวิเคราะห์มองว่า ผลลัพธ์ของการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ (28 พฤษภาคม) คือสิ่งที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ปรารถนา โดยในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจของตุรกีเผชิญกับวิกฤต รัสเซียได้เลื่อนการชำระเงินค่านำเข้าพลังงานมูลค่า 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับตุรกีเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งสื่อตะวันตกมองว่า เป็นการเปิดทางให้แอร์โดอันสามารถเดินหน้าแคมเปญหาเสียงของเขาต่อไปได้ ฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ปูตินจะเป็นผู้นำโลกคนแรกๆ ที่ส่งสารแสดงความยินดีมายังแอร์โดอัน 

 

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาความสัมพันธ์ระหว่างตุรกีและรัสเซียค่อนข้างเป็นไปในทิศทางบวก หลังตุรกีพยายามรักษาสมดุลในการแสดงจุดยืนต่างๆ ต่อความสัมพันธ์ที่มีทั้งต่อรัสเซียและยูเครน โดยถึงแม้ว่าตุรกีจะเป็นสมาชิก NATO รวมถึงส่งอาวุธและความช่วยเหลือให้แก่ยูเครน แต่ในขณะเดียวกันตุรกีก็ปฏิเสธที่จะดำเนินมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย 

 

สำนักข่าว BBC ตั้งข้อสังเกตว่า มูลค่าการค้าระหว่างตุรกีและรัสเซียปรับตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นับตั้งแต่ที่สงครามยูเครน-รัสเซียได้เปิดฉากขึ้นเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022

 

ด้านโลกตะวันตก ที่ถึงแม้จะไม่พอใจกับท่าทีของตุรกีที่เอนเอียงไปหารัสเซีย รวมถึงสภาพของประชาชนที่ถูกจำกัดเสรีภาพทางการพูด และขาดภาพลักษณ์ของความเป็นชาติประชาธิปไตยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา แต่ถึงเช่นนั้นตุรกีก็ถือเป็นชาติสำคัญที่โลกตะวันตกจะละทิ้งไม่ได้ เนื่องจากอย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ตุรกีเป็นชาติสมาชิก NATO ที่มีส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจดำเนินนโยบายต่างๆ และถึงแอร์โดอันจะรักษาสัมพันธ์อันดีกับรัสเซีย แต่เขาก็ยังตัดสินใจส่งอาวุธช่วยยูเครน

 

ขณะเดียวกันตุรกียังเป็นชาติที่มีบทบาทสำคัญในการไกล่เกลี่ยให้รัสเซียและยูเครนร่วมลงนามในข้อตกลง ที่ปลดล็อกให้ยูเครนสามารถส่งออกธัญพืชผ่านเส้นทางทะเลดำได้ตามปกติ ในช่วงเวลาที่โลกเคยหวาดหวั่นว่าสงครามที่เกิดขึ้นจะทำให้ราคาธัญญาหารถีบตัวสูงขึ้นไปกว่าเดิม นอกจากนี้แอร์โดอันยังไฟเขียวเปิดทางให้ฟินแลนด์เข้าร่วมเป็นสมาชิก NATO ด้วย ซึ่งทางฝั่งของทำเนียบขาวเองก็พยายามโน้มน้าวให้แอร์โดอันอนุมัติให้สวีเดนเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ NATO ด้วยเช่นกัน

 

นักวิเคราะห์กล่าวว่า การได้รับชัยชนะของแอร์โดอันไม่ใช่เหตุบังเอิญ เนื่องจากเขาลงสนามสู้ศึกด้วยข้อได้เปรียบมากมาย ทั้งการลงถนนหาเสียงที่ชาญฉลาด ท่าทางที่เป็นมิตรเข้าถึงง่าย อีกทั้งยังมีอำนาจควบคุมสื่อมากถึง 90% ของประเทศ

 

ในคำปราศรัยแห่งชัยชนะของเขา เขายืนยันว่า “ชาวตุรกีทั้ง 85 ล้านคนคือผู้ชนะที่แท้จริง” แต่ถึงเช่นนั้นเขาก็ได้ใช้เวทีดังกล่าวในการโจมตีฝ่ายต่อต้านและชุมชน LGBTQIA+ โดยประณามว่า นโยบายสนับสนุนความหลากหลายทางเพศของฝ่ายค้านเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับแนวคิดของพรรคเขาในเรื่องสถาบันครอบครัว

 

สื่อตะวันตกมองว่า นับจากนี้ไปจะเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับทั้งพรรคฝ่ายค้านและชุมชนผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ รวมถึงสิทธิด้านมนุษยชนและเสรีภาพทางการพูดที่อาจถูกกัดกร่อนต่อไปในช่วงหลายปีข้างหน้า เพราะดูจากระบบการเมืองแล้ว การตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจผู้นำตุรกีมีค่อนข้างต่ำ และจากท่าทีที่ผ่านมานั้น แอร์โดอันก็แสดงออกอยู่บ่อยครั้งว่าเขาไม่ใช่คนที่มีความอดทนสูงมากนัก 

 

นั่นทำให้ในช่วงเวลานี้ผู้ที่กาบัตรลงคะแนนเสียงให้คิลิกดาโรกลูทั้ง 48% อาจกำลังรู้สึกเสียใจหรือไม่ก็อาจรู้สึกหวาดกลัวอยู่ก็เป็นได้ โดยนักวิเคราะห์หลายคนประเมินว่า อนาคตของตุรกีหลังจากนี้จะมีความเคร่งศาสนามากขึ้น สวนทางกับเสรีภาพทางการแสดงออกในชีวิตประจำวันที่ลดน้อยลงไปกว่าเดิม

 

กลับมาดูกันที่ปัญหาในประเทศจะเห็นว่าตอนนี้ตุรกีอยู่ในภาวะที่มีความแตกแยกสูง ประกอบกับปัญหาเศรษฐกิจที่ยังแก้ไม่ตก ทั้งเงินเฟ้อที่ดีดตัวขึ้นจนทำให้ราคาอาหารและสินค้าต่างๆ พุ่งสูงขึ้น จนประชาชนแบกรับค่าครองชีพไม่ไหว ขณะที่ค่าเงินลีรายังลดต่ำลงเป็นประวัติการณ์ ซึ่งต้องจับตากันต่อไปว่าแอร์โดอันจะงัดมาตรการใดมาใช้บ้าง เพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์ดังกล่าวและพาตุรกีเดินหน้าไปสู่อนาคตที่สดใสกว่าเดิม

 

ภาพ: Chris McGrath / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X