จริงอยู่ที่ว่าประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย จนทำให้หลายธุรกิจเริ่มเบนเข็มมาสร้างสินค้าและบริการรองรับตลาดกลุ่มนี้ หรือโรคอุบัติใหม่ของคนยุคดิจิทัลก็เช่นกัน น่าจะสร้างเม็ดเงินให้กับคนที่มองเห็นโอกาสไม่น้อย
แต่เมื่อ THE STANDARD มีโอกาสเยี่ยมชมโรงพยาบาลกระดูกและข้อ ‘ข้อดีมีสุข’ หรือ ‘kdms’ ที่เพิ่งเปิดบริการเมื่อเดือนมกราคม 2565 ที่ผ่านมา แม้ตอนแรกจะตีความไปว่า นี่คงเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางที่สร้างขึ้นมาเพื่อรองรับตลาดผู้ป่วยที่กำลังจะเติบโต แต่หลังจากพูดคุยกับ นพ.ณพล สินธุวนิช ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดข้อเข่าและข้อสะโพกเทียม และ นพ.กรกช ธรรมผ่องศรี ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเท้าและข้อเท้า จึงทราบว่าจุดประสงค์ที่แท้จริงของการก่อตั้งโรงพยาบาลนั้นไม่ได้เกิดจากจำนวนผู้ป่วยโรคข้อ กระดูก และกล้ามเนื้อในกลุ่มคนสูงวัยและกลุ่มคนวัยทำงานสูงขึ้นจนมองเห็นโอกาสทางธุรกิจ แต่พวกเขาบอกว่า “ในฐานะที่เราเป็นแพทย์ หัวใจสำคัญคือเราอยากให้ผลการรักษาที่ดีที่สุดกับคนไข้ทุกคนที่เรารักษา เราต้องการสร้างโรงพยาบาลกระดูกและข้อที่มีเครื่องมือเฉพาะทางจริงๆ เพื่อส่งมอบผลการรักษาที่ดีที่สุด”
นพ.กรกช ธรรมผ่องศรี รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ และศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเท้าและข้อเท้า
นพ.กรกช “ผมเองอยากทำโรงพยาบาลที่ตอบโจทย์กับคนไข้ เนื่องจากปัจจุบันโรงพยาบาลที่มีอยู่แม้จะมีแผนกที่ดูแลเรื่องกระดูกและข้อ แต่ก็ยังไม่เฉพาะเจาะจงลงไปในทุกโรค และมีหลายอย่างไม่ตอบโจทย์บริการที่ดีที่สุดสำหรับคนไข้ เราเห็น Pain Point หลายอย่าง เช่น ห้องผ่าตัดที่ยังต้องใช้ร่วมกัน ดังนั้นพยาบาลผู้ช่วยในห้องผ่าตัดแม้จะมีความเชี่ยวชาญแต่จะไม่เฉพาะทางกับโรคกระดูกและข้อ รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในห้องผ่าตัด ทางโรงพยาบาลย่อมต้องเลือกเครื่องมือที่สามารถใช้ได้กับหลายๆ เคส เราจึงอยากทำโรงพยาบาลเฉพาะทางเพื่อให้ได้เซอร์วิสที่ไปได้ไกลที่สุดและที่ดีที่สุดให้กับคนไข้ ซึ่งในระบบที่เราทำงานกันอยู่พบว่าบางอย่างไม่ได้ก่อให้เกิดสิ่งเหล่านั้น จึงเป็นความต้องการของกลุ่มแพทย์ที่เห็นตรงกันว่าเราต้องการสร้างโรงพยาบาลกระดูกและข้อ ที่มีเครื่องมือและบุคลากรเฉพาะทางจริงๆ เพื่อส่งมอบผลการรักษาที่ดีที่สุด”
และเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ว่านั้น จึงเริ่มต้นกันตั้งแต่การคัดเลือกบุคลากรและทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง รวมไปถึงนวัตกรรมและเครื่องมือที่จะช่วยให้สร้างผลการรักษาที่ดีที่สุด
“เราใช้เวลาคัดเลือกและคุยกับอาจารย์แพทย์กันเป็นปี เพราะนอกจากเราจะคัดเลือกผู้เชี่ยวชาญและมีฝีมืออันดับต้นๆ ต้องมองหาคนที่มีเป้าหมายเดียว จนกระทั่งเราได้ทีมที่แข็งแรง” นพ.ณพลกล่าว
ส่วนหนึ่งของบุคลากรทางการแพทย์ที่ kdms
นพ.กรกชอธิบายเสริมว่า ปัจจุบัน kdms มีบริการเฉพาะทางถึง 7 ด้าน ได้แก่ ข้อเข่าและข้อสะโพก กระดูกสันหลัง หัวไหล่ เวชศาสตร์การกีฬา มือและข้อมือ เท้าและข้อเท้า และเวชศาสตร์ฟื้นฟู ทีมแพทย์ของที่นี่จะมีความเชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ โดยเฉพาะ
“จุดที่แตกต่างและเป็นข้อได้เปรียบซึ่งจะนำไปสู่ผลการรักษาที่ดีให้กับคนไข้คือ ทีมแพทย์ทุกฝ่ายจะมีการพูดคุยกันเรื่องเคสทุกวัน ทุกคนจะทราบทุกกระบวนการของเคสนั้นๆ เช่น เคสนี้มีการผ่าแบบนี้ หลังผ่ากี่วันให้เดิน ทำให้การส่งต่อเคสมันราบรื่น” นพ.กรกชกล่าว
เมื่อถามว่าการเข้าสู่สังคมสูงวัยและการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมกว่า 6 ล้านคน ในปี 2561 ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ทำให้ความจำเป็นของแพทย์เฉพาะทางด้านนี้เพิ่มสูงขึ้น เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ตัดสินใจก่อตั้งโรงพยาบาลกระดูกและข้อหรือไม่ นพ.ณพลบอกว่า เป็นหนึ่งองค์ประกอบที่ทำให้เห็นถึงความจำเป็นของการมีโรงพยาบาลเฉพาะทาง อีกทั้งยังพบคนไข้อีกกลุ่มคือ กลุ่มคนวัยทำงาน
“สังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ซึ่งคนไข้ก็เพิ่มขึ้นจริงๆ กลุ่มอาการข้อเข่าเสื่อม กระดูกสันหลังเสื่อม กระดูกคอเสื่อม ไหล่เสื่อม ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และอีกกลุ่มที่เริ่มมีมากขึ้นคือ กลุ่มคนวัยทำงานและอาการออฟฟิศซินโดรม ด้วยไลฟ์สไตล์คนยุคปัจจุบันที่ทำงานใช้คอมพิวเตอร์มากขึ้นและ WFH ด้วย สองเทรนด์นี้มันเป็นองค์ประกอบที่เรานำมาพิจารณาและศึกษาตลาด”
นพ.กรกชเสริมว่า “อีกสิ่งที่เราเห็นในตอนนี้คือ คนมีความรู้เพิ่มขึ้น เข้าถึงข่าวสารง่าย หาข้อมูลว่าหมอคนไหนเก่งด้านไหน ดังนั้นการรักษาจะลงลึกไปสู่การรักษาเฉพาะทางมากขึ้น และในอนาคตเทรนด์ของโรงพยาบาลเฉพาะก็น่าจะเติบโตขึ้นเช่นกัน”
นพ.ณพล สินธุวนิช ผู้อำนวยการด้านการแพทย์ และศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อเข่าและข้อสะโพก
สำคัญไม่แพ้การคัดเลือกทีมแพทย์คือการออกแบบโรงพยาบาลให้สอดคล้องไปกับการรักษาและดูแลคนไข้ที่เข้ามาใช้บริการ ซึ่ง นพ.กรกช และ นพ.ณพล ดูแลทุกขั้นตอนการออกแบบตั้งแต่วางแปลนโรงพยาบาล ออกแบบพื้นที่ภายใน ไปจนถึงเลือกเก้าอี้และสุขภัณฑ์ในห้องน้ำที่ตอบโจทย์คนไข้ที่สุด
นพ.กรกช “เราให้ความสำคัญกับทุกส่วนของโรงพยาบาลตั้งแต่ทางเข้าไปจนถึงการออกแบบพื้นที่ภายในโรงพยาบาล อย่างห้องตรวจ OPD จะออกแบบให้เชื่อมต่อไปกับห้อง Co-Treatment Space เราเรียกว่าพื้นที่ร่วมรักษา พร้อมอุปกรณ์ นักกายภาพบำบัด และนักเวชศาสตร์การกีฬาคอยดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะบางครั้งการวินิจฉัยหรือการดูผลการรักษาโรคกระดูกและข้อบางอาการ จำเป็นต้องให้เขาทดสอบร่างกาย เช่น กระโดด หรือเดินในระยะที่ไกลพอสำหรับการประเมิน”
นพ.ณพล “สำหรับพื้นที่ส่วนกลางก็จะเป็นมาตรฐานของโรงพยาบาลอยู่แล้ว เช่น การออกแบบต้องรองรับผู้พิการหรือพื้นต้องกันลื่นกันล้ม และสิ่งที่เราโฟกัสไปมากกว่านั้นคือ เก้าอี้บริเวณพื้นที่รับรอง โจทย์คือทำอย่างไรให้คนที่มาใช้บริการนั่งสบาย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เก้าอี้เตี้ยไป สูงไป หรือแคบไปก็ไม่ดี หรือเก้าอี้ในห้องตรวจก็จะเลือกด้วยการคำนึงถึงองค์ประกอบเหล่านี้ การดีไซน์ทั้งหมดมาจากสิ่งที่เราเห็นตลอดการทำงานและก็มาจาก Pain Point ของคนไข้ รวมถึงแพทย์และบุคลากรในส่วนอื่นๆ”
Co-Treatment Space หรือพื้นที่ร่วมรักษา
ห้องพักผู้ป่วยที่ออกแบบโดยคำนึงถึงการใช้งานจริงของผู้ป่วยโรคกระดูก ข้อ และกล้ามเนื้อ
นพ.กรกช “ห้องพักผู้ป่วยเราดีไซน์การวางเตียงให้องศาตรงกับประตูห้องน้ำ ทำให้ระยะการเดินเข้าห้องน้ำใกล้ที่สุดและไม่ต้องหมุนตัวเลี้ยวเลย ซึ่งสำคัญมากสำหรับการดูแลหลังผ่าตัดผู้ป่วยกระดูกและข้อ ห้องน้ำก็เป็นพื้นราบทั้งหมด ประตูแบบบานเลื่อน ง่ายต่อการเปิด ถ้าสังเกตโรงพยาบาลทั่วไปห้องน้ำจะอยู่ด้านหน้า แต่เราเลือกออกแบบห้องน้ำให้อยู่ด้านในเพื่อป้องกันสิ่งสกปรกของคนที่เดินผ่านห้องน้ำไปสู่คนไข้ เราคำนึงไปถึงโซนพักของญาติที่มาเฝ้าไข้ ให้มีพื้นที่เว้าเข้าไปหน่อย เพิ่มความเป็นส่วนตัว”
หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด (Robotic Assisted Joint Replacement Surgery) นวัตกรรมที่ให้มากกว่าการรักษาที่ดี
สิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับโรงพยาบาลในยุคใหม่คือ การมีนวัตกรรมที่ช่วยให้ผลการรักษาที่ดีที่สุด ลดความผิดพลาด และลดการบาดเจ็บขณะผ่าตัด
นพ.ณพลเล่าว่า ในต่างประเทศมีการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์มาช่วยผ่าตัดนานแล้ว แต่เมืองไทยเพิ่งเริ่มนำเข้ามา ด้วยค่าใช้จ่ายที่สูง และเพื่อให้การรักษาได้ผลลัพธ์ที่ดี kdms จึงตัดสินใจนำหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด (Robotic Assisted Joint Replacement Surgery) ยกระดับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมผสานระหว่างความเชี่ยวชาญเฉพาะทางของแพทย์และเทคโนโลยีทันสมัย ทำให้ผลการรักษามีประสิทธิภาพสูงสุด มีความแม่นยำ เพื่อลดโอกาสภาวะแทรกซ้อนหรืออาการบาดเจ็บอื่นๆ เนื่องจากการผ่าตัด
“หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดไม่ได้ทำการผ่าตัดแทนแพทย์ แต่จะช่วยวางแผนการผ่าตัดให้เหมาะสมกับข้อเข่าเฉพาะแต่ละบุคคล ตั้งแต่ก่อนผ่าตัด ไม่ว่าจะผ่าเข่าหรือสะโพก เราจะเริ่มต้นด้วยการสร้างภาพกระดูกเป็น 3 มิติ เพื่อเลือกไซส์ เลือกขนาด เลือกมุม เพราะทุกๆ การเปลี่ยนแปลง 1 มิลลิเมตร ย่อมส่งผลต่อสมดุลของข้อต่อต่างๆ ผมกับทีมผ่าตัดจะเห็นว่าหากเปลี่ยนแปลงแบบนี้จะเกิดอะไรขึ้น และควรจะผ่าตัดอย่างไรถึงให้ผลดีที่สุด เมื่อวางแผนเสร็จจึงผ่าตัดจริง ข้อดีคือแพทย์สามารถแมตช์ตัวกระดูกของคนไข้จริงกับโมเดล 3 มิติได้”
หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด (Robotic Assisted Joint Replacement Surgery)
“หัวใจของหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดนอกจากวางแผนการผ่าตัดแล้ว มันจะทำหน้าที่ควบคุมให้แพทย์ผ่าตัดตามแผนที่วางไว้ ลดความผิดพลาด เพราะต่อให้หมอที่เก่งที่สุดก็มีโอกาสเกิดการผิดพลาดได้ ดังนั้นเมื่อเรามีแพทย์ผ่าตัดเฉพาะทางที่เชี่ยวชาญและได้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดมาเสริมการทำงาน ย่อมได้ผลลัพธ์การรักษาที่ดีที่สุดให้กับคนไข้ของเราอย่างแน่นอน”
นพ.กรกชเล่าถึงนวัตกรรมอื่นๆ ที่มีใน kdms ไม่ว่าจะเป็น Minimally Invasive Surgery (MIS) คือการผ่าตัดผ่านกล้องที่ช่วยให้คนไข้ฟื้นตัวเร็ว แผลผ่าตัดเล็ก บาดเจ็บน้อยลง ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ใช้มาสักระยะแล้ว “แต่ที่เป็นไฮไลต์ของที่นี่คงเป็นการนำนวัตกรรมนี้มาใช้กับการผ่าตัดกระดูกสันหลัง เรามีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดกระดูกสันหลังอันดับต้นๆ ของเมืองไทย เป็นผู้ผ่าตัด MIS มีทั้งการผ่าตัดแผลเล็กที่ใช้กล้องจุลทรรศน์และแบบส่องกล้อง นอกจากนั้นที่นี่ยังมีการผ่าตัดส่องกล้องหัวไหล่ ส่องกล้องหัวเข่า ส่องกล้องข้อเท้า หรือการส่องกล้องเลาะพังผืดที่มือ ในอนาคตจะมีส่องกล้องเลาะนิ้วล็อก เรียกว่าทุกการผ่าตัดแผลจะเล็กลงเรื่องๆ นี่คือเทคโนโลยีที่จะได้พบที่ kdms”
การผ่าตัดด้วยวิธีการส่องกล้อง Minimally Invasive Surgery (MIS)
‘Omotenashi’ จิตวิญญาณการบริการแบบญี่ปุ่น ใส่ใจในทุกการบริการ
หัวใจสำคัญที่จะทำให้การมาใช้บริการที่โรงพยาบาลกระดูกและข้อ ‘ข้อดีมีสุข’ ต่างไปจากการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทั่วไปคือ การใส่ใจในทุกการบริการ
นพ.กรกช “เนื่องจากเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทาง การบริการต่างๆ ก็จะลงรายละเอียดไปที่คนไข้กระดูกและข้อ ทำให้เราเทรนพนักงานทุกแผนกให้ไปในทิศทางเดียวกัน ตั้งแต่พนักงานต้อนรับในจุดต่างๆ พยาบาล หรือพนักงานเปล เขาจะรู้ว่าคนไข้กระดูกและข้อมีจุดไหนที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ
“พันธกิจของเราคือ ‘สร้างความเป็นไปได้ให้กับทุกการเคลื่อนไหว’ นำไปสู่การค้นหาคำตอบที่แท้จริงของการรักษา อะไรคือสิ่งที่อยู่ในใจ เป้าหมายหลังการรักษาคืออะไร เช่น อาม่ามาด้วยอาการปวดเข่า ในใจเขาอยากหาย อยากเดินได้เพราะจะได้ไปงานรับปริญญาหลาน อยากไปเดินเที่ยวได้เหมือนเดิม มันจึงไม่ใช่แค่รักษาให้หายแล้วจบ เมื่อรักษาเสร็จเรายังให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูเพื่อให้พวกเขากลับไปใช้ชีวิตในแบบที่เขาต้องการ”
นพ.ณพล “คำว่า Omotenashi เป็นจิตวิญญาณการบริการแบบญี่ปุ่น คือคุณต้องใส่ใจในการบริการ เราเทรนทุกคนตั้งแต่วันแรกๆ ให้เขาค้นหาความต้องการที่ซ่อนอยู่ของคนไข้ แม้แต่ผู้บริหารเองก็ต้องสร้างจิตวิญญาณนี้ในแผนกของเขา โดยมีคำถามสำคัญคือ จะสร้างการรักษาที่ดีกว่าเดิมได้อย่างไร และจะสร้างประสบการณ์การบริการที่ดีกว่านี้ได้อย่างไร นี่คือสิ่งที่บุคลากรทุกคนต้องถามตัวเองตลอด”
เจ็บป่วยอาการไหนถึงมาใช้บริการและรับการรักษาที่ kdms ได้
นพ.ณพล “จุดประสงค์ของการสร้างโรงพยาบาลนี้ก็เพื่อให้เป็นคำตอบสำหรับทุกเรื่องที่เกี่ยวกับกระดูก ข้อต่อ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น เส้นประสาท ไม่จำเป็นว่าต้องมีปัญหาถึงจะเข้ามา แค่คุณสงสัยว่าอาจเกิดปัญหาก็สามารถเข้ามารับคำปรึกษาได้ เพราะนี่คือโรงพยาบาลเฉพาะทางที่รวมแพทย์กระดูกและข้อที่ครบครันที่สุด พร้อมแนวทางการรักษาที่ครบถ้วน ตั้งแต่กายภาพไปจนถึงผ่าตัด แต่ละอาการจะเลือกรักษาด้วยวิธีไหนแพทย์จะแนะนำพร้อมให้ทางเลือก แล้วคนไข้ค่อยมาเลือกวิธีการรักษาไปพร้อมกัน ไม่อยากให้คิดว่าการมาโรงพยาบาลกระดูกและข้อจะต้องมาเพื่อผ่าตัดเท่านั้น”
นพ.กรกช “นอกจากโรคเกี่ยวกับกระดูก ข้อ และกล้ามเนื้อ ออฟฟิศซินโดรม เรายังมีแผนกที่ดูแลเรื่องท่าทางการยืน การนั่ง ที่ถูกต้อง ในอนาคตวางแผนจะเปิดแผนก Sport Specific Clinic เช่น ดูแลสมรรถนะหรือวิธีการวิ่งอย่างไรให้เร็วขึ้นและเลี่ยงการบาดเจ็บจากการวิ่ง หรือเพิ่มสมรรถนะให้กับนักกีฬา”
โปรแกรมการรักษาที่ออกแบบมาเพื่อให้คนไข้มีผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุด
นอกจากทีมแพทย์ นวัตกรรม การบริการ ที่โรงพยาบาลเฉพาะทางกระดูกและข้อ ยังยกระดับมาตรฐานการรักษากระดูกและข้อด้วย ‘kdms protocol’ หรือระบบการรักษาแบบองค์รวม เพื่อวางแผนรักษาที่เหมาะสมสำหรับแต่ละบุคคล มีการรักษาตั้งแต่การฟื้นฟู บำบัด การใช้ยา ไปจนถึงการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด
นพ.กรกช “โดยทั่วไป การทำการรักษาโรคใดๆ ก็ตาม จะมีขั้นตอนการดูแลในช่วงต่างๆ อยู่ เช่น ผ่าตัดเส้นเอ็นไขว้หน้า หลังผ่าตัดภายใน 2 สัปดาห์ให้เริ่มเดิน และ 6 สัปดาห์ – 3 เดือน เมื่อเส้นเอ็นเริ่มเชื่อมกัน ถึงจะกลับไปทำเวตเทรนนิ่งได้ หลังจาก 6 เดือน กล้ามเนื้อเริ่มแข็งแรงขึ้นก็สามารถออกกำลังกายด้วยการวิ่งได้ และถ้าเทรนกล้ามเนื้อได้ดีก็สามารถกลับไปเล่นกีฬาได้ มันจะมีระยะเวลาของมันอยู่ สิ่งที่พบคือหลังจากหมอรักษาเป็นที่เรียบร้อยแล้วไม่มีทีมรับเคสต่อ หรือแม้จะส่งไปแผนกกายภาพก็รับสิ่งที่ต้องการไปไม่ถึง ทำให้ประสิทธิภาพของคนไข้หลังผ่าตัดกลับมาไม่เต็มที่”
นพ.ณพล “เป็นจุดเริ่มต้นให้เราออกแบบขั้นตอนในการดูแลรักษาของแต่ละโรคไว้อย่างชัดเจนเพื่อดูแลหลังผ่าตัดได้อย่างครบถ้วน เนื่องจากเรามีทีมแพทย์เฉพาะทาง นักกายภาพบำบัด นักเวชศาสตร์การกีฬา ซึ่งระยะเวลาหรือวิธีการดูแลก็แตกต่างกัน โปรแกรมดังกล่าวจะถูกออกแบบไว้ทั้งหมด เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดี คอนเซปต์คือทุกทีมวางแผนร่วมกัน เพื่อให้การรักษาและดูแลหลังผ่าตัดต่อเนื่อง เราใส่ขั้นตอนการฟื้นฟูสภาพหลังผ่าตัดลงไปในโปรแกรม เพื่อให้คนไข้มาทำกายภาพที่โรงพยาบาล ส่วนจำนวนครั้งขึ้นอยู่กับแต่ละโรคและความซับซ้อนของการผ่าตัด”
มุ่งสู่การเป็นที่พึ่งพาของทุกคนที่มีปัญหาด้านกระดูกและข้อ
มากไปกว่าพันธกิจมอบการรักษาที่ดีที่สุดเพื่อสร้างความเป็นไปได้ให้ทุกการเคลื่อนไหวแล้ว ทีมแพทย์ทุกคนของ kdms ยังมุ่งหวังที่จะให้ที่นี่เป็นที่พึ่งพาของทุกคนที่มีปัญหาด้านกระดูกและข้อ
นพ.กรกช เราเชื่อว่าทุกอย่างที่เรามี ไม่ว่าจะเป็นทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน นวัตกรรมต่างๆ และอุปกรณ์ที่พร้อมสำหรับการรักษาครอบคลุมโรคข้อและกระดูก เราจะเป็นที่ปรึกษาที่ดีและที่พึ่งสำหรับทุกคนที่มีปัญหากระดูกและข้อ ก็อยากให้เข้ามาคุยมาปรึกษา เราพร้อมจะแนะนำสิ่งที่ดีและเหมาะสมกับทุกคน
นพ.ณพล “ถ้ามองไกลหน่อยผมอยากให้ kdms เป็นต้นแบบของการให้บริการทางการแพทย์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ ราคาไม่สูงและไม่ต้องเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ก็ได้ แต่มอบผลการรักษาที่ดีที่สุด เพราะผมเชื่อว่าหัวใจการทำงานของหมอทุกคนย่อมอยากเห็นผลการรักษาที่ดี ดังนั้นในอนาคต หากคอนเซปต์โรงพยาบาลเฉพาะทางไปต่อได้ ก็อยากจะให้ kdms เป็นต้นแบบให้กับโรงพยาบาลเฉพาะทางต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมาในเมืองไทย