โจทย์ใหญ่ในโลกยุคปัจจุบันที่โควิด-19 ได้กลายมาเป็นตัวแปรสำคัญที่เร่งปฏิกิริยาการดิสรัปต์ให้เกิดขึ้นรวดเร็ว ย่นหดจาก 2 ปี เหลือแค่ ‘2 เดือน’ คือการที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันแล้วว่า การปรับตัว ทรานส์ฟอร์มธุรกิจที่ทำ คือ ‘ไฟต์บังคับ’ ที่ไม่สามารถผัดวันประกันพรุ่งได้อีกแล้ว
ยิ่งถ้าดูจากสถานการณ์ของประเทศไทยในปัจจุบันก็จะพบว่า น่ากังวลมากขึ้นทุกขณะ เข้าสำนวนที่ใครหลายคนมักจะติดปากพูดกันว่า “ปีที่แล้ว ‘เผาหลอก’ ปีนี้ ‘เผาจริง’ ” ไปโดยปริยาย
กระนั้นก็ดี หากจะต้องยกเคสหนึ่งในองค์กรธุรกิจที่สามารถพลิกแพลงปรับกลยุทธ์การดำเนินงานของตัวเองในช่วงปีที่ผ่านมาจนโดดเด่น เป็นที่ประจักษ์ จากการเปิดตัวนวัตกรรมต่างๆ ออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก รวมถึงการเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของธนาคารกสิกรไทยกับรางวัลธนาคารยอดเยี่ยมแห่งปี 2021 ของไทยโดย IDC ได้นั้น ก็ต้องยอมรับว่า KBTG หรือกสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป เป็นปรากฏการณ์ที่ชัดเจนมากๆ
คำถามสำคัญก็คือ สเตปถัดไปต่อจากนี้ของ KBTG กำลังมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับเรื่องใดกันแน่ อะไรคือโจทย์ใหญ่และเป้าหมายในใจของพวกเขา
Chapter 1 (ปี 2019-2020): รื้อบ้าน สร้างฐานรากให้มั่นคง
กระทิง-เรืองโรจน์ พูนผล ประธานกสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป เริ่มต้นเล่าเท้าความหลังว่า นับตั้งแต่ที่เขาเข้ามาอยู่กับ KBTG เมื่อปี 2019 สิ่งที่เขาได้ลงมือทำในการทรานส์ฟอร์มองค์กรของ KBTG ในเฟสที่ 1 ก็คือการ ‘ปรับโครงสร้างองค์กร’ ใหม่หมดยกชุดในระดับพื้นฐาน ด้วยวิธีการ ‘ลงไปทำความเข้าใจกับพนักงานทุกระดับ ทุกคน แบบเชิงลึก (Empathy Listening)’
ซึ่งวิธีการดังกล่าว เรืองโรจน์ได้ใช้ ‘คน’ หรือพนักงาน เป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งทุกอย่าง ลงไปรับฟังฟีดแบ็กเสียงสะท้อนของพนักงานกว่า 600-700 ชีวิตด้วยตัวเอง ถึงขั้นที่พนักงานกลุ่มที่ลาออกจากบริษัทไป เขาก็ทำ Exit Interview เพื่อรับฟังมุมมองความเห็น ปัญหา หรือเพนพอยต์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นด้วยตัวเองแบบเก็บทุกรายละเอียด
จากนั้นจึงรวบรวมเอาทุกความเห็น ทุกคำแนะนำ และทุกปัญหาที่เกิดขึ้น มา Restructure องค์กรใหม่ โดยทำทั้งหมดถึง 3 ครั้ง เพื่อลดปัญหา Silo (ความซับซ้อน) ในเชิงการทำงาน พังทลายโครงสร้างแบบเดิมๆ ที่ทำให้คนทำงานติดหล่มไม่สามารถดำเนินงานหรือรันกระบวนการต่างๆ เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมได้เร็ว และช่วยให้เกิดการทำงานแบบ End-to-End
ขณะเดียวกันก็ยังนำเทคโนโลยีเข้ามาทำให้ทุกๆ อย่างทันสมัยและล้ำหน้ามากขึ้นด้วย ไม่ว่าจะฝั่งการทำงานเชิงโครงสร้างขั้นพื้นฐานภายในองค์กร ฐานข้อมูล Data ต่างๆ, แอปพลิเคชันบริการต่างๆ กว่า 400 และยังอัปเกรดศักยภาพในการทำงานของคน KBTG ให้เพิ่มมากขึ้น
จนผลลัพธ์ที่ได้คือการที่ในปี 2020 ที่ผ่านมา KBTG สามารถรัน ‘Innovation Runway’ แพลตฟอร์มที่ช่วยให้องค์กรสามารถสร้างนวัตรรมบริการด้วยการทำงานแบบ Agile และยังสร้างความพร้อมของทีมงานที่จะทำงานได้จากทุกที่ หรือที่เรียกรวมๆ กันว่า Agile from Anywhere
จับต้องได้ด้วยนวัตกรรมต่างๆ ที่ทาง KBTG ได้เปิดตัวออกมาคับคั่ง ทั้งนวัตกรรมชำระเงิน ทำธุรกรรมลดสัมผัส Contactless Technology, แพลตฟอร์มโซลูชันด้านอาหาร Eatable, ขุนทอง แชตบอตเหรัญญิกประจำกลุ่มไลน์, ReKeep นวัตกรรม Paperless เก็บใบเสร็จ ใบกำกับภาษีออนไลน์, MAKE by KBank แอปฯ ธนาคารเวอร์ชันเอาใจคนรุ่นใหม่
นอกจากนี้ยังมีการทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์เจ้าต่างๆ อีกด้วย เช่น Black Canyon (Contactless Technology) และ Major Cineplex (Contactless Technology & Rekeep) เป็นต้น
โดย ณ สิ้นปี 2020 ได้เกิดแนวคิดแบบ ‘ONE KBTG’ ภายใต้ดำริของแม่ทัพอย่าง ขัตติยา อินทรวิชัย ซีอีโอธนาคารกิสกรไทย ที่หวังผนึกรวมคน KBTG ทุกคนให้เป็นหนึ่งเดียวกัน และหากนับจนถึงปัจจุบัน KBTG ได้เติบโตและเปิดรับบุคลากรที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยี ไอที ตบเท้าเข้าองค์กรอย่างต่อเนื่อง จนมีจำนวนพนักงานในบริษัท ณ ปัจจุบันที่ 1,500 คนแล้ว
Chapter 2 (ปี 2021-2023): กรุยทางสู่การเป็น ‘ธนาคารดิจิทัลระดับภูมิภาคที่ดีที่สุด’ (Top Regional Digital Banking)
ว่ากันว่า ‘หัวใจสำคัญ’ ของการเป็นผู้นำที่สามารถวิ่งนำหน้าทิ้งห่างคู่แข่ง รักษาระดับความแกร่ง ความยืดหยุ่น (Resilience) ในการรันองค์กรจนพัฒนานวัตกรรมได้คร้ังแล้วครั้งเล่าไม่รู้จบ ซึ่งฟังดูง่าย แต่ทำจริงกลับ ‘ไม่ง่ายเลย’ ก็คือการทรานส์ฟอร์มองค์กรอย่างต่อเนื่อง และไม่หยุดที่จะพัฒนานั่นเอง
เรืองโรจน์เล่าต่อว่า ในเฟสที่ 2 นี้ (ปี 2021-2023) สิ่งที่ KBTG ได้ลงมือทำไปแล้วก็คือการนำ Automation มาปรับใช้ในองค์กรเพิ่มมากขึ้น (จริงๆ เริ่มมาตั้งแต่ช่วงรอยต่อในเฟสที่ 1 เมื่อราวๆ ปีที่แล้วนี่เอง) เพื่อให้ KBTG สามารถพัฒนาขั้นตอนในการทำงานได้ในระบบอัตโนมัติมากขึ้น ตัวอย่างเช่น กระบวนการของการเทสต์ซอฟต์แวร์ที่ไม่ใช้คน แต่ใช้ซอฟต์แวร์อีกตัวเข้ามาเทสต์แอปฯ หรือซอฟต์แวร์ที่คนเขียนขึ้นแทน
มีกระบวนการแบบ DevSecOps ที่ใช้ในขั้นตอนของการรีวิวงานว่าโค้ดที่คน KBTG เขียนขึ้นมามีช่องโหว่ที่ต้องปรับปรุง พัฒนา แก้ไข ในส่วนใดหรือไม่อย่างไร ซึ่งทั้งหมดเป็นกระบวนการแบบอัตโนมัติ
ตั้งแผนก DevX ขึ้นมาโดยเฉพาะ ซึ่งแผนกใหม่ของ KBTG นี้จะมีหน้าที่ในการ ‘สร้าง Journey’ หรือแนวทางปฏิบัติ ประสบการณ์การทำงานที่ดีที่สุดให้เป็นแบบแผนกับนักพัฒนา KBTG เพื่อช่วยลดแรงเสียดทาน ผลักดันให้การทำงานในขั้นตอนต่างๆ ของคน KBTG มุ่งไปข้างหน้าได้เร็วขึ้น ลดตัวแปรที่อาจจะเป็นอุปสรรคในอนาคต เรียกง่ายๆ ว่าเป็นการหาวิธีที่จะ ‘สปอยล์’ การทำงานของนักพัฒนาแบบขั้นสุดนั่นเอง
ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีการทำ AI Factory หรือโรงงานปัญญาประดิษฐ์ ที่จะช่วยให้ KBTG สามารถพัฒนาโมเดลต่างๆ ได้เร็วขึ้นจากปกติถึง 12 เท่า ซึ่งเป็นสิ่งที่เรืองโรจน์ยอมรับว่าได้แรงบันดาลใจมากจากฟินเทคระดับโลกอย่าง Ant Group ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาสามารถรักษาอัตราเร่ง (Pace) ในการทำงานและพัฒนานวัตกรรม บริการทางการเงินบนโลกดิจิทัลรูปแบบต่างๆ ออกมาได้รวดเร็วทันใจโลกและผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลา
ส่วนในเชิงการทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์ ก็จะเน้นไปที่ความร่วมมือเชิงลึกมากขึ้น (Deep-Collaboration) เพื่อให้ได้มาซึ่งนวัตกรรมเชิงลึก (Deep Tech Innovation) ในเวลาเดียวกัน
โดยเมื่อเร็วๆ นี้ก็เพิ่งเปิดตัว ‘Tech Kampus’ โครงการที่ทาง KBTG ได้ร่วมมือกับ 7 สถาบันศึกษาและองค์กรภาครัฐและหน่วยงานวิจัยต่างๆ เพื่อผลักดันงานวิจัยของไทยให้ต่อยอดไปสู่นวัตกรรมเชิงพาณิชย์ที่ใช้งานได้จริง และช่วย ‘กรูม’ หลักสูตรการศึกษาของสถาบันต่างๆ เพื่อพัฒนาบุคลากร เด็กจบใหม่ ออกมาเข้าสู่อุตสาหกรรมเทคโนโลยี เพื่อต่อยอดศักยภาพในการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีโลก
ส่วนในเป้าหมายขององค์กรนั้น เรืองโรจน์ยังคงยืนยันและย้ำชัดเจนว่า ‘การทะยานขึ้นเป็น ‘ธนาคารดิจิทัลที่ดีที่สุดในระดับภูมิภาค’ ยังคงเป็นเป้าหมายเดิมของพวกเขาไม่เปลี่ยนแปลง
ซึ่งการจะไปถึงเป้าหมายดังกล่าว สิ่งที่ KBTG ทำในสเกลระดับภูมิภาค ณ วันนี้มีอยู่ 2 เรื่องด้วยกัน ได้แก่
- ตั้งบริษัทเทคโนโลยี ‘K Tech’ ในจีน ซึ่งปีนี้จะมีการรับพนักงานด้านเทคโนโลยีเพิ่มอีก 80 คน โดยความได้เปรียบของการทำตลาดในจีนก็เพื่อ Acquire เอานวัตกรรมและเทคโนโลยีการเงินรูปแบบใหม่ๆ จากประเทศที่ได้ชื่อว่าล้ำสมัยในด้านฟินเทคเป็นเบอร์ต้นๆ ของโลกมาครอบครอง โดยที่ปีที่แล้ว K Tech ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์และบริการไปมากกว่า 6 รายการ หนึ่งในนั้นคือบริการให้ยืมรถผ่าน WeChat
- ตั้ง KBTG ในเวียดนาม โดยที่ปีนี้พวกเขาเพิ่งได้รับใบอนุญาตให้ดำเนินธุรกิจในเวียดนามได้ ซึ่งต่อจากนี้จะเร่งรับพนักงานด้านเทคโนโลยีที่มีความสามารถมากกว่า 100 คนเข้ามาร่วมงาน โดยจะต้องจัดตั้งทีมที่เวียดนามให้ได้ภายในไตรมาส 3 ของปีนี้ และจะยกเทคโนโลยีทั้งหมดของ KBTG ไปยังประเทศเวียดนามภายในเดือนสิงหาคม เพื่อสร้าง ‘Core Bank’ ให้ได้
ทั้งสองส่วนนี้จะเป็นการตอบคำถามว่า KBTG จะทะยานสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยีระดับภูมิภาคได้อย่างไร โดยที่ภายในปี 2022 นี้ พวกเขาเตรียมจะมุ่งหน้าสู่การเป็นบริษัทระดับภูมิภาค (Full Regional Company) อย่างเต็มตัว ซึ่งในปีนี้ KBTG ตั้งเป้ารับพนักงานเพิ่มเป็น 1,800-1,900 คน
Next Chapter: เปิดโลก DeFi พา KBank โต้ทุกคลื่นความท้าทาย
นอกเหนือจากขาของการปรับโครงสร้างองค์กรหรือนำกลวิธีต่างๆ มาปรับใช้เพื่อให้คน KBTG ทำงานได้ง่ายขึ้น พัฒนานวัตกรรมต่างๆ ออกมาในทุกสภาวะแวดล้อมนั้น อีกหนึ่งสิ่งที่ KBTG กำลังจะมุ่งหน้าไปอย่างเต็มตัวคือการ ‘DeFi (Decentralized Finance)’ เพื่อเปิดโลกการเงินแบบกระจายศูนย์กลาง
โดย KBTG ได้ตั้งบริษัทย่อย KASIKORN X (KX) ออกมา โดยทำงานร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) อย่างใกล้ชิดตั้งแต่ Day One เพื่อลดขั้นตอนความยุ่งยากและปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาในอนาคต ซึ่งในสเตปแรกนี้จะเริ่มต้นด้วยการตั้งบริษัทลูกอย่าง Kubix เพื่อเตรียมให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลแบบ Asset Tokenization (เอาหลักทรัพย์ในโลกความเป็นจริงมาค้ำกับมูลค่าสินทรัพย์บนโลกดิจิทัล บล็อกเชน)
จากนั้นจึงเปิดระดมทุนผ่านการทำ ICO โดยมี ICO Portal เป็นที่ปรึกษาและผู้จัดการเสนอขายโทเคนดิจิทัลให้แก่นักลงทุนในตลาดแรก ซึ่งจุดขายอยู่ที่การเป็นเหรียญโทเคนดิจิทัลที่มีสินทรัพย์ในโลกความเป็นจริงค้ำมูลค่าของมันไว้อีกทีหนึ่ง และถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้กับนักลงทุนที่สนใจในสินทรัพย์ดิจิทัลนั่นเอง
โดยสาเหตุที่ KBTG พาตัวเองไปสู่ DeFi ก็เพราะว่าเรืองโรจน์เชื่อว่า เมื่อไรก็ตามที่กระแสของ DeFi เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง หรือ Mass Adoption ขึ้นมา หากผู้ให้บริการหรือสถาบันการเงิน ‘ไม่รู้เรื่อง’ ไม่มีบริการตอบโจทย์ลูกค้าก็จะเท่ากับ ‘จบ’ ทันที
กล่าวก็คือ นี่คือการปูพรมสร้างความพร้อมในอนาคตให้กับธนาคารกสิกรไทย เพื่อที่จะไม่ตกขบวนสำคัญๆ ในการเป็นที่หนึ่งในใจลูกค้าในทุกห้วงเวลานั่นเอง
“เราต้องแหย่ตัวเข้าไปเพื่อให้เข้าใจโลก Decentralized Finance เพราะเรารู้ว่าเมื่อไรที่เกิดการหักศอกของเทคโนโลยี (ปี 2024-2025) คนที่ปรับตัวไม่ทัน ไม่ได้ทำอะไรล่วงหน้าก็จะเจ็บตัวทันที ซึ่งนั่นไม่ใช่เรา และที่สุดแล้วพบเชื่อว่า DeFi ไม่ได้จะเข้ามาแทน CenFi แต่ทั้งสองสิ่งจะอยู่ด้วยกันต่อไปในอนาคต
“สำคัญที่สุดคือเมื่อถึงตอนนั้น ‘คนที่แข็งแกร่งที่สุด’ ปรับตัวได้ ก็จะอยู่รอด และเติบโตมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ไปอีก” เรืองโรจน์กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแผนการบางส่วนที่ทาง KBTG เปิดเผยออกมาเท่านั้น ซึ่งเราเชื่อว่าพวกเขายังมีไม้เด็ดอีกเพียบที่เตรียมจะทยอยส่งออกมาอย่างต่อเนื่อง (แค่เปิดศักราช 2021 นี้มา KBTG ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งในองค์กรที่ฟิตมากๆ เปิดตัวนวัตกรรมและโครงการใหม่ๆ ออกมาแทบจะรายสัปดาห์แล้ว)
นี่เป็นเพียงแค่ Chapter ที่ 2 หรือเฟสที่ 2 เท่านั้น ในเส้นทางการเดินทางอีกยาวไกลของ KBTG และดูเหมือนว่าโลกการเงินของไทย โดยเฉพาะ ‘ธนาคารกสิกรไทย’ กำลังจะพลิกโฉมไปตลอดกาลในเร็ววันนี้ ชนิดที่ใครก็ห้ามกะพริบตาเลยทีเดียว!