ไม่ใช่แค่โลกการทำงาน ภาคอุตสาหกรรม หรือกลุ่มธุรกิจเท่านั้น ที่ถูก Disrupt จากเทคโนโลยี โลกาภิวัตน์ และโควิด-19 เพราะ ‘ภาคการศึกษา’ ก็กลายเป็นอีกหนึ่งเซกเตอร์ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงแบบเต็มๆ จากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในทุกๆ วินาที
บ่อยครั้งเราจึงได้ยินประเด็นปัญหาหลักสูตรการศึกษา ‘Outdated’ ตกยุค ล้าหลัง ส่งผลกระทบต่อเนื่องแบบโดมิโน ที่ทำให้เอกชน บริษัทต่างๆ ต้องทุ่มงบไปกับการรีสกิล อัปสกิล กรูมบุคลากร เด็กจบใหม่ให้มีทักษะ พร้อมต่อการทำงานที่ทันยุค ทันสมัย ตอบโจทย์ความต้องการของบริษัทได้เข้าเป้า
เอาเข้าจริงแล้วปัญหานี้ใช่ว่าสถาบันการศึกษาจะเพิกเฉยหรือนิ่งนอนใจ เพราะถึงจะอยากปรับหลักสูตรการเรียนการสอนมากแค่ไหน แต่ Disruption ที่เกิดขึ้นก็มีอัตราความเร็วรายวินาที ดั้งนั้นพอจะลงมือทำ ตัดสินใจอะไรทั้งที สุดท้ายแล้วก็เหมือนว่าการขยับเขยื้อนของพวกเขาก็ยังคง ‘ช้าไป’ อยู่ดี
เมื่อมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น บวกกับตัวเองเป็นบริษัทผู้พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอยู่แล้ว (อยู่ในเซกเตอร์ที่มีสถานะเป็น Disruptor โดยตรง) ‘KBTG’ หรือกสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป จึงไม่นิ่งนอนใจ ผุดไอเดีย รันโปรเจกต์ ‘Tech Kampus’ ขึ้นมาเพื่อแก้เพนพอยต์ดังกล่าวโดยเฉพาะ
เรืองโรจน์ พูนผล ประธานกสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG)
Tech Kampus โจทย์ใหญ่คือ ‘ปั้นบุคลากรไอที’ ลุยสังเวียนจริง ต่อยอดเวทีโลก
อธิบายอย่างง่าย Tech Kampus คือโครงการที่ KBTG ได้ร่วมกับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานองค์กรภาครัฐ เพื่อพัฒนาบุคลากรไอทีที่มีศักยภาพ ความสามารถ ตบเท้าเข้าสู่วงการเทคโนโลยีไทยและส่งออกไปตลาดต่างประเทศ รวมถึงต่อยอดพัฒนางานวิจัย R&D ต่างๆ ให้สามารถทำเงิน กลายเป็นนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ได้จริง เพื่อที่งานวิจัยนั้นๆ จะไม่สูญเปล่า
ดังนั้นเมื่อสรุปฟังก์ชันของตัว Tech Kampus ตามความร่วมมือ ก็จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
1. สถาบันการศึกษาในโครงการ
เพื่อให้คำปรึกษาในการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนให้ตอบโจทย์การทำงานในโลกความเป็นจริง และเพื่อที่บุคลากรที่จบการศึกษามาจะมีความพร้อมในการทำงานในโลกยุคปัจจุบัน
สถาบันการศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล และวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล
2. องค์กรภาครัฐและหน่วยงานวิจัยต่างๆ
เพื่อช่วยปรับโจทย์งานวิจัยที่เกิดขึ้นให้ทันยุคทันสมัย ตอบสนองการต่อยอดเชิงพาณิชย์ เพิ่มมูลค่าให้กับงานวิจัยนั้นๆ ให้กลายเป็นนวัตกรรมที่ถูกใช้งานโดยผู้คนมากกว่าหลายร้อยล้านคน
หน่วยงานที่เข้าร่วม ได้แก่ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ และสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย
สร้าง ‘Deep Collaboration’ วางรากฐานการสร้างศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีโลก
เรืองโรจน์ พูนผล ประธาน KBTG ให้ข้อมูลกับ THE STANDARD ว่า โดยปกติแล้วทาง KBTG จะมีโครงการความร่วมมือกับหน่วยงานหรือสถาบันการศึกษาในประเทศอยู่แล้ว เพียงแต่ความต่างและความตั้งใจเบื้องหลังการเริ่มโครงการ Tech Kampus ในครั้งนี้จะเปรียบเสมือนการเปิดประตู ‘ความร่วมมือที่ลงลึก’ มากขึ้น เพื่อวางรากฐานบุคลากรด้านไอที และเพิ่มศักยภาพ ความสามารถด้านเทคโนโลยี ‘Tech Capabilities’ ให้กับประเทศไทยในการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ
“สิ่งที่เราอยากทำในวันนี้คือ การสร้าง Deep Collaboration และ Co-Innovation ร่วมกับสถาบันการศึกษา หน่วยงานวิจัย เนื่องจากโลกกำลังถูก Deep Tech ดิสรัปต์อย่างต่อเนื่อง เราไม่สามารถไปด้วยตัวคนเดียวได้ แม้จะเป็นบริษัทที่มีรายได้กว่า 120,000 ล้านบาท แต่ก็ต้องมองหาการทำ Deep Collaboration กับหน่วยงานชั้นนำของประเทศ เพื่อให้เกิดการทำงานเชิงลึกระหว่างกันและกัน
“ต่อไปงานวิจัยของไทยจะต้องต่อยอดไปสู่ระดับภูมิภาค (Regional) ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย เปลี่ยนจากการถูกใช้งานโดยคนกว่า 15 ล้านคนไปสู่คนอีกหลายร้อยล้านคน ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงชีวิตและช่วยสร้างขีดศักยภาพความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ”
โดย KBTG จะส่งบุคลากรผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางของพวกเขาเข้าไปทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษา เพื่อถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับนิสิตนักศึกษาของมหาวิทยาลัย พัฒนาหลักสูตรและยกระดับคุณภาพการศึกษาในสาขา Data Science และ Artificial Intelligence (AI) รวมทั้งต่อยอดและผลิตงานวิจัยใหม่ๆ ด้านเทคโนโลยี (ในอนาคตจะมีสาขาวิชาอื่นๆ เพิ่มขึ้นมาอีกมาก ทั้ง Cryptocurrency และ Security)
รวมถึงจะเปิดรับนิสิตนักศึกษาเข้ามาเรียนรู้และเข้ามาฝึกงานกับทาง KBTG แบบ Internship BootCamp เพื่อวิจัยเทคโนโลยีใหม่ๆ และเตรียมความพร้อมสู่โลกทำงานจริง นำความรู้และทักษะที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานด้านไอทีมาใช้งานจริง (หากมีศักยภาพและความสามารถมากพอ ทาง KBTG ก็พร้อมรับเข้าทำงานทันที)
และยังสามารถนำไปต่อยอดเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น การนำ Biometrics และ Facial Recognition เพื่อระบุและยืนยันตัวตนด้วยความรวดเร็ว ไปพัฒนาทำ Online Service หรือ Smart Branch ให้กับลูกค้าธนาคารกสิกรไทยและคนไทยได้ใช้งานจริงในอนาคต
“จริงๆ แล้วมหาวิทยาลัยก็มีการปรับเปลี่ยนและพัฒนาหลักสูตรของเขาอยู่แล้ว เราแค่เข้าไปแนะนำว่าหลักสูตรการสอนนั้นๆ จะเอาไปต่อยอดใช้งานจริงอย่างไร ต้องปรับอย่างไร เหมือนเอาโจทย์และประสบการณ์ในโลกการทำงานจริงๆ เข้าไปวางให้กับพวกเขา เราเป็นแค่ Enable ในการเข้าไปช่วย” เรืองโรจน์กล่าว
เรืองโรจน์ยังเปิดเผยอีกด้วยว่า ในสเตปแรกของการ Synergy ร่วมกับสถาบันการศึกษา KBTG จะเน้นไปที่กลุ่มมหาวิทยาลัยเป็นหลัก ก่อนที่ในอนาคตพวกเขาจะเริ่มมองถึงความเป็นไปได้ในการร่วมมือกับสถาบันการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
ผศ.ดร.รัชฎา คงคะจันทร์ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
สาขาวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมข้อมูล วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผลิตบุคลากร ‘ตรงกับความต้องการของตลาด’ ด้วยโจทย์และประสบการณ์จากโลกการทำงานจริง
ในมุมมองของสถาบันการศึกษา ความร่วมมือที่เกิดขึ้นกับ KBTG ในครั้งนี้จะช่วยให้พวกเขาสามารถผลิตบุคลากร นักศึกษา เข้าสู่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีได้ตรงกับความต้องการของตลาดมากขึ้น ด้วยคำแนะนำและไกด์ไลน์จากโจทย์หรือประสบการณ์ที่เกิดขึ้นโดยคนทำงานที่อยู่ในสังเวียนนี้
ผศ.ดร.รัชฎา คงคะจันทร์ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมข้อมูล วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยกับ THE STANDARD ว่า ที่ผ่านมาฝ่ายการศึกษาไม่ได้มีหน้าที่แค่สอนอย่างเดียว แต่ต้องทำหลายอย่าง และบางครั้งในมุมมองเชิงการเรียนการสอน พวกเขาจึงต้องทึกทักตั้งโจทย์หลายอย่างขึ้นมาเอง ไม่สามารถอัปเดตนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา
แต่เมื่อได้คุยและผนึกการทำงานร่วมกับ KBTG จุดนี้เองที่ทำให้หลักสูตรการศึกษาและนักศึกษาในระบบของธรรมศาสตร์สามารถเรียนรู้จากโจทย์การทำงานในโลกความเป็นจริงได้
ฟากผู้พัฒนาหลักสูตรก็ไม่ต้องคลำหาทางเองเหมือนในอดีต เพราะมีประสบการณ์จากบุคลากร KBTG มาเป็น ‘สารตั้งต้น’ ให้ (ดร.ดร.ทัดพงษ์ พงศ์ถาวรกมล Senior Principal Visionary Architect KBTG เป็นหนึ่งในอาจารย์พิเศษที่ร่วมสอนและให้คำแนะนำในการปรับหลักสูตรให้กับธรรมศาสตร์ด้วย)
ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ หนูไพโรจน์
ผู้อำนวยการร่วมศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม (UTC) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ด้าน ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ หนูไพโรจน์ ผู้อำนวยการร่วมศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม (UTC) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เชื่อว่า การที่ KBTG เข้ามาทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษานั้นจะช่วยแก้ปัญหาการผลิตบุคลากรออกมาจากสถานศึกษาแล้วใช้งานจริงได้ไม่ถึง 10% ของจำนวนทั้งหมดได้ตรงจุดที่สุด
ฝั่ง ดร.ทัดพงษ์ พงศ์ถาวรกมล กล่าวว่า การผนึกกำลังร่วมกับสถาบันการศึกษาในครั้งนี้ของ KBTG จะทำให้เด็กๆ รู้ว่าต้องโฟกัสการเรียนในหลักสูตรวิชาใด เพื่อให้สามารถจบการศึกษาออกมาแล้วนำสกิลนั้นๆ ไปต่อยอดในการทำงานจริงได้แบบไม่ต้องเสียเวลาและเสียโอกาส
(กลาง) ดร.ทัดพงษ์ พงศ์ถาวรกมล Senior Principal Visionary Architect KBTG
“ถ้ามองเป็นภาพเก่า โอกาสแรกในการที่น้องๆ ทุกคนจะเข้ามาเข้าใจบรรยากาศการทำงานจริงได้คงต้องเป็นปี 3 ของภาคการศึกษาไปแล้ว (ฝึกงาน) ซึ่งกว่าจะถึงตอนนั้นมันก็คงสายเกินไปที่พวกเขาจะรู้ว่าตัวเองชอบอะไร ไม่ชอบอะไร วิชาไหนที่เรียนแล้วสามารถนำมาใช้งานต่อยอดได้จริง อะไรไม่ได้ใช้ ซึ่งถือเป็นการสูญเสียโอกาสของเด็กๆ
“ดังนั้นถ้าเราสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการออกแบบ Life Journey ของเด็กๆ เอาหลักสูตรการเรียนมากางดู จัดวิชาที่จำเป็นได้ตั้งแต่แรก ก็จะช่วยชี้เป้าโฟกัสการเรียนให้กับพวกเขาได้ตรงจุดแบบเป๊ะๆ ขณะเดียวกันฝั่งสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัย ก็รู้ว่าจะต้องเน้นหรือโฟกัสในด้านใดให้กับผู้เรียน”
ดร.เจริญชัย บวรธรรมรัตน์ Senior Principal Visionary Architect KBTG
ขณะที่ ดร.เจริญชัย บวรธรรมรัตน์ Senior Principal Visionary Architect KBTG ทิ้งท้ายให้ข้อมูลเสริมว่า ปัจจุบันมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ที่เปิดสอนนั้นยังไม่สามารถพัฒนาบุคลากรให้เป็น Speacialist หรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ ดังนั้นสิ่งที่เขาและ KBTG จะทำก็คือ การ ‘ต่อจิ๊กซอว์’ จุดดังกล่าวให้ภาคการศึกษาและผู้เรียนได้เห็นว่า ความรู้ที่พวกเขาเรียนไปนั้น เมื่อจบออกมาแล้วจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างไร และสร้างความเข้าใจโลกของเทคโนโลยีจริงๆ ให้กับบุคลากรทุกๆ คนนั่นเอง
นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการทำงานเชื่อมจุดกับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานรัฐเท่านั้น โดยที่ในอีก 3-5 ปีต่อจากนี้ เราน่าจะได้เริ่มเห็น ‘ผลผลิต’ จากการที่ KBTG ได้เข้าไปร่วมหว่านเมล็ด พัฒนาหลักสูตร ให้คำแนะนำการพัฒนาบุคลากร รวมถึงต่อยอดงานวิจัยให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ที่อยู่บนมือถือของเราแน่นอน และหากสถาบันไหนสนใจโครงการนี้ติดต่อได้ที่ [email protected]