×

ชวนมองภาพอนาคตของ KBTG หลังจบงาน ‘MIT Media Lab Southeast Asia Forum’ งานสัมมนาระดับภูมิภาค ฉายภาพทิศทางอนาคตเทคโนโลยีเพื่อชาวเอเชียและมนุษยชาติ [ADVERTORIAL]

โดย THE STANDARD TEAM
26.12.2022
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 MIN READ
  • ประเทศไทยเป็นประเทศแรกของภูมิภาค Southeast Asia ที่ MIT Media Lab เลือกจัดงานสัมมนาระดับนานาชาติ ‘MIT Media Lab Southeast Asia Forum’ 
  • นอกจากเจ้าบ้านอย่าง KBTG ยังมีธนาคารกรุงเทพ, ทรู คอร์ปอเรชั่น, MIT Alumni Association, MQDC, SCG และ ไทยคม ที่มาพร้อมกับพลังและความหวังที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศ
  • เรืองโรจน์บอกว่า ความตั้งใจของ KBTG ของการจัดงานในครั้งนี้ เราอยากให้เกิดแรงบันดาลใจกับคนไทย กระตุ้นความสนใจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับคนรุ่นใหม่ในประเทศไทย
  • พัทน์ ในฐานะคนไทยคนแรกที่ได้เข้าไปใช้ชีวิตในห้องแล็บของ MIT บอกว่า คงจะดีไม่น้อยถ้าเด็กไทยไม่ต้องบินข้ามโลกเพื่อไปที่ MIT Media Lab แต่นำ MIT Media Lab มาประเทศไทย งานครั้งนี้พิสูจน์ได้ว่า KBTG ทำได้

เหมือนว่า THE STANDARD เพิ่งพูดถึงการเข้าร่วม MIT Media Lab Research Consortium ของ KBTG และพันธกิจลมใต้ปีกผลักดัน ‘KBTG Fellow’ พัทน์ ภัทรนุธาพร นักศึกษาปริญญาเอกชาวไทยคนแรกในสาขา Fluid Interfaces ไปไม่ทันไร KBTG ก็สร้างปรากฏการณ์พาผู้เชี่ยวชาญระดับท็อปของ MIT มาเปิดเวทีงานเสวนาระดับนานาชาติ ‘MIT Media Lab Southeast Asia Forum’ ครั้งแรกในภูมิภาค Southeast Asia โดยเลือกให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในการฉายภาพทิศทางอนาคตเทคโนโลยีเพื่อชาวเอเชียและมนุษยชาติ เมื่อวันที่ 19-21 ธันวาคมที่ผ่านมา

 

 

แค่บอกว่าเป็นงานที่ MIT Media Lab สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ ที่มีหน่วยงานด้านวิจัยชั้นนำของโลก เบื้องหลังนวัตกรรมเปลี่ยนโลกมากมายเป็นตัวตั้งก็น่าสนใจแล้ว แต่มันบียอนด์ไปอีกเพราะพันธมิตรที่มาร่วมผลักดันให้เกิดงานครั้งนี้ล้วนแล้วแต่เป็นองค์กรชั้นนำระดับบิ๊กของไทย นอกจากเจ้าบ้านอย่าง KBTG ยังมีธนาคารกรุงเทพ, ทรู คอร์ปอเรชั่น, MIT Alumni Association, MQDC, SCG และ ไทยคม ที่มาพร้อมกับพลังและความหวังที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศ 

 

‘MIT Media Lab Southeast Asia Forum’ จัดขึ้นภายใต้ธีม ‘Beyond the Elephant in the Room’ กระทิง-เรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่มบริษัท KBTG บอกว่า ‘the Elephant in the Room’ เป็นการพูดเชิงเปรียบเทียบถึงสถานการณ์หรือความท้าทายที่ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง

 

 

แน่นอนว่าคงไม่ใช่ช้างธรรมดาทั่วไป แต่เป็นช้างแห่งยุคสมัยที่จะฉายภาพวิสัยทัศน์และอนาคตของเทคโนโลยีแห่งยุคนี้และอนาคต ไม่ว่าจะเป็น Extended Intelligence การขยายขีดความสามารถของมนุษย์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI), Hybrid Realities (X-verse) การผสมผสานของโลกจริงและโลกเสมือน, Augmented Creativity การเสริมความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ผ่านเทคโนโลยี, Cyborg Health การแพทย์แห่งอนาคต, Smart Materials, Digital Currency, Space Exploration และ Sustainability ซึ่งล้วนเป็นหัวข้อสำคัญในการสัมมนาครั้งนี้

 

 

ตลอด 3 วันเต็ม ผู้เข้าร่วมงานได้รับฟังวิสัยทัศน์แห่งอนาคตโดย 8 สปีกเกอร์ชั้นนำจาก MIT Media Lab ที่ล้วนแล้วแต่เป็นผู้เชี่ยวชาญระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น

 

  • Dava Newman, Director, MIT Media Lab อดีตรองผู้บริหารของ NASA (2015-2017) และหัวหน้าคณะวิศวกรรมการบินและอวกาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มากว่า 28 ปี ผู้มีบทบาทสำคัญในภารกิจของ NASA โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาและเชื่อมต่อแผนการเดินทางของมนุษย์สู่ดาวอังคาร
  • Pattie Maes, Professor, MIT Media Lab ศาสตราจารย์ด้าน Media Arts & Sciences ผู้นำด้านการวิจัยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และคอมพิวเตอร์ (Human Computer Interaction) และปัญญาประดิษฐ์ 
  • Hiroshi Ishii, Professor, MIT Media Lab ผู้ก่อตั้ง ‘Tangible Media Group’ และเป็นผู้บุกเบิกการผสมผสานระหว่างโลก Digital และโลก Physical ทำให้เกิดแนวคิดเรื่อง Tangible Interfaces 
  • Joe Paradiso, Professor, MIT Media Lab ผู้นำกลุ่ม Responsive Environments ของ MIT และเป็นผู้บุกเบิกวงการ Sensor และ Ubiquitous Computing 
  • Mitch Resnick, Professor, MIT Media Lab ศาสตราจารย์ด้านการวิจัยการเรียนรู้ของ LEGO Papert ที่พัฒนาเทคโนโลยีและกิจกรรมใหม่ๆ เพื่อประสบการณ์การเรียนรู้ที่สร้างสรรค์ ผู้อยู่เบื้องหลัง Scratch ภาษาคอมพิวเตอร์สำหรับเด็กที่มีผู้ใช้กว่า 90 ล้านคนทั่วโลก และ LEGO Mindstorms 
  • Deblina Sarkar, Assistant Professor, MIT Media Lab ผู้ช่วยศาสตราจารย์ของ MIT หัวหน้ากลุ่มวิจัย Nano-Cybernetic Biotrek เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับอุปกรณ์นาโนอิเล็กทรอนิกส์ในร่างกายมนุษย์ และสร้างกระบวนทัศน์ใหม่สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักร 
  • Danielle Wood, Assistant Professor, MIT Media Lab ผู้ช่วยศาสตราจารย์ในคณะ Media Arts & Sciences ของ MIT Media Lab และผู้เชี่ยวชาญด้านระบบวิศวกรรมการบินและอวกาศ 
  • David Kong, Director, Community Biotech Initiative นักชีววิทยาสังเคราะห์และผู้อำนวยการ The Community Biotechnology Initiative (CBI) ที่มีภารกิจยกระดับสังคมด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ

 

 

เรืองโรจน์บอกว่า “ความตั้งใจของ KBTG ของการจัดงานในครั้งนี้ เราอยากให้เกิดแรงบันดาลใจกับคนไทย กระตุ้นความสนใจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับคนรุ่นใหม่ในประเทศไทย เพราะนอกจากจะได้เห็นภาพอนาคตของโลกจากผู้เชี่ยวชาญแล้ว MIT Media Lab ยังเก่งเรื่อง Moonshot Thinking และ Moonshot Research หรือการคิดที่เริ่มต้นจากการสร้างเป้าหมายก้าวกระโดด ที่มองถึงอนาคตไกลเกิน 30 ปี ทำให้เราคิดระยะยาวมากขึ้น” 

 

กระทิง-เรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่มบริษัท KBTG

 

การได้องค์กรชั้นนำมาร่วมผลักดันงานครั้งนี้ให้เกิดขึ้น เรืองโรจน์บอกว่า มันคือจุดเริ่มต้นของการผนึกกำลังสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศอย่างแท้จริง เพราะการเห็นภาพอนาคตร่วมกันจะนำไปสู่ไอเดียมากมาย ในฐานะที่ KBTG เป็นตัวเอ้ในการจับมือกับพันธมิตรต่างธุรกิจอยู่แล้ว ยิ่งทำให้เห็นโอกาสในการพัฒนาเทคโนโลยีให้เข้าไปอยู่ในภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ มากขึ้น 

 

ดร.ทัดพงศ์ พงศ์ถาวรกมล, Managing Director, KBTG Labs

 

ดร.ทัดพงศ์ พงศ์ถาวรกมล Managing Director, KBTG Labs เล่าเสริมว่า การรวมตัวครั้งยิ่งใหญ่นี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากขาดก้าวแรกที่ชัดเจน

 

“เริ่มต้นจากวิสัยทัศน์ที่ตรงกันของ MIT Media Lab และ KBTG เราโฟกัสไปที่ 3 สิ่งคือ People ต้องทำเพื่ออนาคตของผู้คน สิ่งต่อมาคือ Technology หรือการผลักดันเทคโนโลยีให้กับผู้คน และสุดท้ายคือ Impact ทุกสิ่งที่ทำต้องเกิดผลกระทบที่ดีให้กับผู้คน

 

“ความร่วมมือที่ผ่านมาทั้งหมดระหว่าง KBTG และ MIT Media Lab คือการทำ Research Collaboration โดยการเป็น Research Consortium Member ของ MIT มีการทำวิจัยร่วมกันมากมาย สิ่งต่อมาคือการสนับสนุน พีพี-พัทน์ ภัทรนุธาพร นักศึกษาปริญญาเอกชาวไทยคนแรกในสาขา Fluid Interfaces ให้เข้าไปสร้างผลงานใน MIT ด้วยการมอบทุนวิจัย KBTG Fellowship สนับสนุนจนจบการศึกษาปริญญาเอก ซึ่งเป็นทุนให้เปล่าไม่มีข้อผูกมัด เพื่อให้เขาสามารถพัฒนางานวิจัยต่อไป ความร่วมมือสุดท้ายคือการดึง MIT Media Lab ให้เข้ามาที่เมืองไทยเป็นแห่งแรกในภูมิภาค โดยมีพันธมิตรที่มองเห็นตรงกันว่า MIT Media Lab จะสร้างประโยชน์มากมายให้กับประเทศไทย จนทำให้เกิดงาน ‘MIT Media Lab Southeast Asia Forum’” 

 

ดร.มนต์ชัย เลิศสุทธิวงค์, Principal Research Engineer, KBTG Labs

 

ดร.มนต์ชัย เลิศสุทธิวงค์ Principal Research Engineer, KBTG Labs ขยายประเด็นความร่วมมือด้านงานวิจัยระหว่าง KBTG และ MIT Media Lab นั้นจะเริ่มต้นด้วยการค้นหาประเด็น และต้องเป็นสิ่งที่ทำแล้วเกิดประโยชน์ในอนาคตที่ไกลเกิน 30 ปีขึ้นไป ซึ่งหนึ่งในโปรเจกต์ที่ KBTG เริ่มทำวิจัยกับทีม MIT Media Lab คือ ‘Future You’

 

“ตอนนี้ AI อยู่ในจุด Prime Time ซึ่ง KBTG เราทำงานวิจัยเรื่อง AI มาโดยตลอด ทั้งเรื่องการทำ Natural Language Processing (NLP) หรือ Facial Recognition จึงนำสิ่งที่ KBTG ทำไปทำวิจัยร่วมกับ MIT ก็คือโปรเจกต์ Future You เป็นการนำ AI จำลองเป็นตัวเราเองในอนาคตหรือในอดีตด้วยข้อมูลส่วนตัวที่เราป้อนให้ เพื่อให้เราได้พูดคุยโต้ตอบ รับคำแนะนำจากตัวเราเองเวอร์ชันอดีตหรืออนาคต เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงหรือสร้างแรงจูงใจให้เราในปัจจุบันย้ำเตือนถึงเป้าหมายในชีวิต Future You จะบอกได้ว่าคุณต้องทำอะไร” 

 

พีพี-พัทน์ ภัทรนุธาพร นักศึกษาปริญญาเอกชาวไทยคนแรกในสาขา Fluid Interfaces และ KBTG Fellow คนแรกของ KBTG

 

คงไม่มีใครอธิบายให้รายละเอียดเพิ่มเติมของโปรเจกต์ Future You ได้ดีเท่ากับหนึ่งในผู้ร่วมทำวิจัยอย่าง พีพี-พัทน์ ภัทรนุธาพร KBTG Fellow คนแรกของ KBTG เจ้าของงานวิจัยเกี่ยวกับด้านปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับ AI (Human-AI Interaction), Bio-Digital (การผสมผสานระหว่างชีววิทยาและดิจิทัล) และการศึกษาเฉพาะบุคคล (Personalized Education) 

 

“หลายคนมองว่า AI คือเทคโนโลยีที่ให้ข้อมูลกับเรา แต่สิ่งที่ MIT คิดมันไปไกลกว่านั้น เพราะเราอยู่ในยุคข้อมูลล้น เขาจึงเลือกพูดถึง AI ที่ไม่ใช่เรื่องของข้อมูล แต่เป็นการเพิ่มศักยภาพ ทำอย่างไรให้เทคโนโลยีเหล่านี้มันเพิ่มศักยภาพของมนุษย์ โปรเจกต์ Future You ก็เหมือนภาพของโนบิตะนั่งไทม์แมชชีนไปเจอตัวเองในอนาคต สิ่งที่เราสนใจก็คือ ปัจจุบันเรามี AI ที่สามารถเลียนแบบพฤติกรรมมนุษย์ได้ระดับหนึ่ง เราสามารถใช้ AI สร้างตัวตนของเราในโลกเสมือนของอนาคตมาคุยกับเราได้ ด้วยข้อมูลที่เรามี เราสร้างแพลตฟอร์มที่ให้คนสามารถเอาข้อมูลมาใส่ เพื่อนำไปสร้าง AI เสมือนตัวเขาในอนาคตและมาคุยกับตัวเขาเอง”

 

 

Future You ยังอยู่ในขั้นตอน Pilot System โดยให้ผู้ร่วมงานวิจัยจำนวน 200 คนเข้าร่วมทดลอง พบว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีความรู้สึกดีขึ้น และมีมุมมองบวกมากขึ้นกับอนาคตของตัวเอง เครียดน้อยลง และรู้สึกว่าตัวเองจะสามารถทำให้อนาคตของตัวเองเป็นจริง พัทน์บอกว่า หากสำเร็จและใช้งานได้จริงมันจะไม่ใช่แค่ความตื่นเต้นของการพัฒนาเทคโนโลยี แต่จะช่วยเรื่องจิตวิทยาด้วย “นักจิตวิทยาบอกว่า ยิ่งเราเห็นตัวเองในอนาคตได้ชัดเท่าไร ก็มีแนวโน้มที่จะมีสุขภาพจิตดีขึ้น มีแนวโน้มที่จะเลือกลงทุนดีขึ้น เพราะเราเห็นภาพอนาคตตัวเองในอนาคต ถ้าเด็กๆ สามารถเห็นตัวเอง AI เป็นหมอ นักวิทยาศาสตร์ ศิลปิน ทำให้เขาเห็นความเป็นไปได้ของตัวเองมากขึ้น ผมอยากให้เด็กไทยเข้าถึงได้ในอนาคต”

 

เรืองโรจน์เสริมว่า การทำให้เห็นว่า AI เพิ่มศักยภาพของคนไทย ทำให้มุมมองที่คนมักพูดกันว่า AI จะเข้ามาทำงานแทนที่คนเปลี่ยนไป “จริงๆ แล้ว AI สามารถขยายความเป็นไปได้ของการเพิ่มศักยภาพของมนุษย์ งานหลายอย่างเราให้ AI มาช่วยมนุษย์ได้ เช่น บริการทางการเงินแบบ Private Wealth เพราะพนักงานที่มีความเชี่ยวชาญมีจริยธรรมที่แนะนำการลงทุนให้เหมาะกับเรายังมีน้อย แต่ AI จะช่วยปิดช่องโหว่เหล่านี้ได้ 

 

“คำหนึ่งที่ MIT พูดเสมอคือ ‘Human AI Symbiosis’ หรือการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์และเทคโนโลยี เป็นเป้าหมายที่ดีนะ แทนที่จะเอาเทคโนโลยีมาแทนคน แต่เอามาเพิ่มขีดความสามารถของมนุษย์ ให้เป็นมนุษย์ที่ดีขึ้น และทำให้สังคมก้าวหน้า ตรงกับธีมของ KBTG ที่ต้องการสร้างเทคโนโลยีที่ Empower ชีวิตผู้คน”

 

พัทน์ ในฐานะคนไทยคนแรกที่ได้เข้าไปใช้ชีวิตในห้องแล็บของ MIT จริงๆ บอกว่า การเข้าไปอยู่ใน MIT Media Lab เหมือนอยู่ในห้องแล็บที่เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจ และคงจะดีไม่น้อยถ้าเด็กไทยไม่ต้องบินข้ามโลกเพื่อไปที่ MIT Media Lab แต่นำ MIT Media Lab มาประเทศไทย งานครั้งนี้พิสูจน์ได้ว่า KBTG ทำได้

 

“ผมเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในนี้มันสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คน ผมเซอร์ไพรส์มากๆ ที่ผลตอบรับดีเกินคาด เพราะบางหัวข้อที่พูดเป็นเรื่องซับซ้อนมากๆ แต่ทำให้เห็นว่าคนไทยมีความสนใจและตื่นเต้นที่จะค้นหาสิ่งใหม่ๆ ผมเห็นตั้งแต่เด็กๆ จนถึงผู้บริหารหลากหลายหน่วยงาน ก่อนจบงาน Prof. Dr. Dava Newman ผู้อำนวยการของ MIT Media Lab บอกว่าอยากให้ทุกคนจดจำคำว่า ‘Nothing is Impossible’ ถ้าคุณคิดได้แบบนี้ คุณก็จะไปทำโจทย์ท้าทายของคุณให้เป็นไปได้เหมือนกัน” 

 

 

ทัดพงศ์เองก็เชื่อว่า ภาพที่เกิดขึ้นในงานครั้งนี้มันตอกย้ำว่าคนไทยเก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก “ประเทศไทยไม่เคยขาดคนเก่ง แต่สิ่งที่ประเทศไทยขาดคือคนเก่งที่เชื่อมโยงคนเก่งด้วยกัน และช่วยกันสร้างอะไรบางอย่างให้กับประเทศ การที่ KBTG จัดอีเวนต์ครั้งนี้ขึ้นมา จะเห็นว่าเรามี KBTG เรามี MIT Media Lab และเรายังมีบริษัทอื่นๆ ที่มีคนเก่งอีกเยอะ ดังนั้นจะทำอย่างไรถึงจะร่วมมือกันเพื่อสร้างภาพใหญ่ที่มันเปลี่ยนประเทศไทยได้” 

 

ดร.มนต์ชัยมองว่า สิ่งที่ควรต่อยอดคือการสร้าง Ecosystem ของการทำงานร่วมกันในเมืองไทย “มีหลายบริษัทหรือคนที่เขามาร่วมงานเดินมาบอกว่า ถ้าเขามีไอเดียใหม่ๆ อยากจะต่อยอดสิ่งที่ฟังมา KBTG เองก็เป็นศูนย์กลางที่สามารถไปเชื่อมต่อกับ MIT ได้อยู่แล้ว ดังนั้นมีความเป็นไปได้ที่เราจะสร้าง Ecosystem ขึ้นมาแล้วนำบริษัทที่สนใจมาสร้างนวัตกรรมร่วมกัน”

 

ทัดพงศ์ฉายภาพก้าวต่อไปของ KBTG ว่า “สามเรื่องที่ทำร่วมกันกับ MIT ไม่ว่าจะเป็นการ Research Collaboration ก็ยังคงทำต่อไปในปีหน้า แน่นอนว่าเรายังคงสนับสนุนพัทน์ (KBTG Fellow) ต่อไป และน่าจะมีการจัดอีเวนต์อยู่เรื่องๆ รวมถึงงานวิจัยที่ได้ทำร่วมกันกับ MIT Media Lab จะมีการนำไปปรับใช้เป็นสิ่งที่จับต้องได้และใช้กับคนไทยได้ อย่างเรื่อง Future You ก็คงจะทำออกมาเป็นโปรดักต์ แต่จะเปิดตัวเมื่อไรและในรูปแบบไหนต้องติดตาม”

 

“ฝันเล็กๆ ของ KBTG คือการเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันประเทศไทยไปสู่อนาคตและเป็นส่วนหนึ่งของกระแสสังคม งานนี้คือหมุดหมายแรกที่จะทำให้ฝันนั้นเข้าใกล้ความจริง” เรืองโรจน์กล่าวทิ้งท้าย 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


 

 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising