หมดยุคแล้วที่เราจะต้องมานั่งตั้งคำถามถึงการถูกดิสรัปต์ (ในสเกลและมุมมองระดับคนทำงาน) เพราะสิ่งที่เราควรจะทำมากกว่านั้นคือ ‘รู้ให้ได้ว่าอะไรคือส่ิงที่ตลาดแรงงานในอนาคตต้องการ’ ทักษะใดคือเรื่องที่จำเป็น แล้วมุ่งพัฒนาตัวเองโดยไม่มีเงื่อนไข เพื่อเปลี่ยนตัวเราให้กลายเป็นคนที่เนื้อหอม ถูกจับจ้องโดยองค์กรใหญ่ๆ
ไม่นานมานี้ กระทิง-เรืองโรจน์ พูนผล ประธานกสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) ได้เข้าร่วมเวทีสัมมนาออนไลน์ในหัวข้อ ‘อนาคตประเทศไทย – การพัฒนานวัตกรรม การศึกษาและแรงงาน (Future Thailand — Innovation in Education and Workforce Development)’ ที่จัดขึ้นโดย The Stanford Thailand Research Consortium โดยได้แสดงความเห็นและมุมมองที่เป็นประโยชน์ต่อคนทำงานในปัจจุบัน เพื่อปรับตัวเองให้ทันต่ออัตราเร่งและความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในโลกอนาคตข้างหน้า
THE STANDARD WEALTH สรุปประเด็นที่น่าสนใจ พร้อมคำแนะนำจากแม่ทัพใหญ่ KBTG ผู้พัฒนานวัตกรรมน้อยใหญ่ของธนาคารกสิกรไทย มาให้คุณได้เก็บกลับไปต่อยอดกัน
พร้อมที่จะทำงานกับแมชชีนและ AI ‘สร้างกระบวนการเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ’ ในตัวเอง สองทักษะที่คนทำงานโลกอนาคตควรมี
เรืองโรจน์อธิบายไว้ว่า ทักษะที่จำเป็นสำหรับคนทำงานในโลกอนาคตประกอบไปด้วย 2 ส่วนสำคัญ ได้แก่
1. ความสามารถในการมีปฏิสัมพันธ์กับเทคโนโลยี (AI และแมชชีน)
2. การมี Soft Skill ในแง่มุมความเป็นมนุษย์
เรืองโรจน์บอกว่า การมีปฏิสัมพันธ์กับเทคโนโลยีจะกลายเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ เพราะถ้าคนไม่ปรับตัวในวันนี้ อนาคตข้างหน้า แทนที่พวกเขาจะเป็นคนควบคุมเครื่องจักร คอมพิวเตอร์ ก็จะถูกคอมพิวเตอร์หรือแมชชีนควบคุมหรือสั่งการแทน ซึ่ง ณ วันนี้ที่ KBTG ก็เริ่มนำปัญญาประดิษฐ์เข้ามาสอดแทรกอยู่ในทุกๆ มิติของการดำเนินงานในทุกแผนกขององค์กร เพื่อให้มีความเป็นระบบอัตโนมัติ หรือ Automation มากขึ้น แม้แต่พาร์ตของทีมงานที่ต้องทำหน้าที่พัฒนาซอฟต์แวร์เองก็ดี ซึ่งก็มีการนำ AI มาใช้งานควบคู่ไปด้วยกัน
“ในมุมมองของผม เราจำเป็นจะต้องเรียนรู้วิธีการทำงานกับแมชชีนหรือระบบคอมพิวเตอร์เป็นอันดับแรก ไม่ว่าจะเป็นการสร้าง การฝึกมัน หรือทำงานร่วมกับมัน เพราะกลับกัน คุณคงจะไม่อยากเป็นคนที่ถูกสั่งการโดยพวกมัน
“แล้วการจะทำเช่นนั้นได้ คุณก็จำเป็นจะต้องพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาด้วยตัวเองเพื่อให้เข้าใจมัน รู้วิธีการที่จะประยุกต์การใช้งานมัน เพราะทุกๆ บริษัทและทุกๆ มิติ แง่มุมการใช้ชีวิตประจำวันของเราในวันนี้ ล้วนแล้วแต่พึ่งพาการใช้งานและได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีชนิดที่ไม่สามารถแยกขาดออกจากกันได้อีกต่อไปแล้ว” เรืองโรจน์กล่าว
ในอีกมิติหนึ่ง เรืองโรจน์ย้ำว่า สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันและควบคู่ไปกับการทำงานร่วมกับเทคโนโลยีก็คือการพัฒนา Soft Skill ของมนุษย์ เช่น การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (Empathy), ความคล่องตัว (Agility), ความพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในทุกขั้นตอน (Learn, Unlearn และ Relearn) และความยืดหยุ่น (Resilience)
“ทุกวันนี้เราอยู่ในยุคของการดิสรัปต์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง (Continuos Disruption) โดยเฉพาะการที่เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ที่พัฒนาอย่างรวดเร็วและเร่งกระบวนการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ไปแบบพลิกโฉมในทุกๆ ปี ดังนั้นเราจึงต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้มีความยืดหยุ่นตลอดเวลา พร้อมทำงานร่วมกับเทคโนโลยีและแมชชีนต่างๆ
“เราต้องปรับเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็นคนที่สดใหม่ ก้าวทันความเปลี่ยนแปลงเสมอ (Continuosly Renew Ourself) ส่ิงเหล่านี้ถือว่ามีความสำคัญมากๆ ไม่แพ้ความรู้เฉพาะทางเลย”
เรืองโรจน์อธิบายต่อว่า ที่ KBTG ก็มีโปรแกรมและโครงการต่างๆ เป็นจำนวนมากที่เกิดขึ้นมาเพื่อรีสกิลทักษะของบุคลากรทุกคนโดยเฉพาะ ซึ่งการที่คนทำงานมีทัศนคิตและความพร้อมที่จะขวนขวาย เรียนรู้ และพัฒนาตัวเอง ก็จะช่วยให้เขาประสบความสำเร็จได้
ตัวอย่างเช่น หนึ่งใน Data Scientist ที่ดีที่สุดและเก่งที่สุดคนหนึ่งของบริษัทในตอนนี้เป็นนักศึกษาวิศวกรปิโตรเคมีมาก่อน แม้จะไม่เคยมีความรู้ด้านเทคโนโลยีเป็นปูมหลังมาก่อนเลย แต่เมื่อมีทัศนคติและความพร้อมที่จะเรียนรู้ กล้าเผชิญหน้ากับความท้าทายทุกรูปแบบ สุดท้ายแล้วเขาก็จะสามารถก้าวข้ามทุกข้อจำกัด อุปสรรคได้ในที่สุด
‘Tech Kampus’ หนึ่งในคำตอบของคำถาม ‘การศึกษาไทยควรปรับตัวสู่ความเปลี่ยนแปลงอย่างไร’
เมื่อถูกถามว่าอะไรคือปัญหาหรือข้อจำกัดของระบบการศึกษาประเทศไทยที่ทำให้การผลิตบุคลากรเข้าสู่ระบบยังไม่สมูท ลื่นไหล และไม่สอดรับทันโลกาภิวัตน์ ความเปลี่ยนแปลงและดิสรัปชันที่เกิดขึ้นเท่าที่ควร ผู้เข้าร่วมเวทีเสวนาส่วนใหญ่ต่างก็แสดงทรรศนะไปในทิศทางเดียวกัน นั่นก็คือ ‘ข้อจำกัดเรื่องหลักสูตรการศึกษา’ ที่ไม่สามารถออกแบบหรือปรับเปลี่ยนได้ทันการณ์
ในประเด็นนี้ เรืองโรจน์แชร์เพนพอยต์ที่เขาต้องพบเจอใน KBTG ว่า ปัญหาส่วนใหญ่มาจากการที่องค์กรต้องใช้ระยะเวลาโดยเฉลี่ยในการกรูมมิงเด็กจบใหม่ให้พร้อมทำงานนานถึง 6 เดือน เนื่องจากความรู้ที่ได้มาจากสถาบันก็อาจจะไม่ได้ตอบโจทย์การทำงานในโลกแห่งความเป็นจริง
ไม่น้อยไปกว่ากัน การปรับคนให้เข้ากับสภาพแวดล้อม วัฒนธรรมการทำงานของค์กร รวมถึงการรีสกิล อัปสกิลต่างๆ ก็เป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยระยะเวลาในการพัฒนา
ถึงขนาดที่เรืองโรจน์ยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า แม้แต่เด็กจบใหม่เกียรตินิยม เกรดเฉลี่ยสะสม (GPA) 4.0 บางคนในวันนี้แม้จะเป็นคนที่มีความสามารถมากแค่ไหน แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่พลาดท่าดันมาตกม้าตาย ไม่ผ่านการทดสอบความรู้ ความสามารถเฉพาะทางตามเกณฑ์ที่ KBTG ต้องการ
เพื่อแก้ปัญหานี้โดยเฉพาะ หากยังจำกันได้ ย้อนกลับไปเมื่อ 2 เดือนที่แล้วในช่วงเดือนเมษายน KBTG เคยเปิดตัวโครงการ Tech Kampus ภายใต้การทำงานร่วมกับ 10 มหาวิทยาลัยชั้นนำ หน่วยงานองค์กรภาครัฐ เพื่อพัฒนาบุคลากรไอทีที่มีศักยภาพและความสามารถ ให้พร้อมตบเท้าเข้าสู่วงการเทคโนโลยีไทยและส่งออกไปตลาดต่างประเทศได้ตามความต้องการของตลาด
ภายใต้ร่มของ Tech Kampus ส่ิงที่ KBTG จะทำร่วมกับสถาบันการศึกษาก็คือการเข้าไปช่วยไกด์หลักสูตรการสอน ให้คำแนะนำกับบุคลากรทั้งในฝั่งผู้สอนหรือผู้เรียน หรือให้โจทย์ใดๆ ก็ตามที่เข้ากับบริบทความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลกการทำงานจริงให้ได้มากที่สุด เพื่อที่จะช่วยสร้างความพร้อมให้กับนักเรียน นักศึกษา ตั้งแต่ก่อนจะออกมาทำงานในโลกแห่งความเป็นจริง
และทั้งหมดนี้ก็คือคำแนะนำบางส่วนจากหัวเรือใหญ่ของ KBTG และสิ่งที่องค์กรของเขาได้ทำไปแล้วในวันนี้ เพื่อให้คนทำงานและบุคลากรพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ไม่ตกขบวนรถไฟที่มีปลายทางเป็นชานชาลาแห่งอนาคตและความสำเร็จ