วันที่ 2 กรกฎาคมของทุกปี เป็นวันครบรอบการประกาศลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อปี 2540 และเปลี่ยนมาใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบมีการจัดการ (Managed Float Exchange Rate Regime) โดยการตัดสินใจในครั้งนั้นนับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของไทย จากเดิมที่ใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบผูกติดกับตะกร้าเงิน (ทำให้ค่าเงินไม่สอดคล้องกับพื้นฐานเศรษฐกิจที่แท้จริง จนทำให้เกิดการโจมตีค่าเงินบาท) มาเป็นการลอยตัวแบบมีการจัดการ ซึ่งทำให้การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทมีความยืดหยุ่น สอดคล้องไปกับปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยมากขึ้น
ในช่วงเวลานี้ของทุกปี จึงนับเป็นโอกาสดีที่จะย้อนกลับไปทบทวนสิ่งที่ถือว่าเป็นจุดอ่อนของโครงสร้างเศรษฐกิจการเงินไทยในเวลานั้น เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการเดินซ้ำรอยอดีต และเปรียบเทียบเพื่อประเมินจุดเหมือนหรือแตกต่างกับบริบทปัจจุบัน เพื่อให้รู้เท่าทันสถานการณ์และสามารถปรับแนวทาง ช่วยประคองเศรษฐกิจไทยกลับเข้าสู่เส้นทางการฟื้นตัวที่มีความต่อเนื่องและมั่นคงขึ้นในระยะข้างหน้า
ล่าสุด ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้เผยแพร่บทความวิเคราะห์บริบทเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันเปรียบเทียบกับในช่วงปี 2540 โดยระบุว่า เงินบาทในปีนี้มีทิศทางอ่อนค่าสอดคล้องกับหลายสกุลเงินในเอเชีย ซึ่งล้วนได้รับผลกระทบจากปัจจัยของเงินดอลลาร์ โดยเฉพาะการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในขณะที่เศรษฐกิจเอเชียยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ทำให้แม้ว่าธนาคารกลางของประเทศแถบเอเชียจะเริ่มวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น แต่จังหวะการปรับขึ้นดอกเบี้ยก็จะยังคงตามหลังดอกเบี้ยของสหรัฐฯ อยู่พอสมควร ทำให้เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วจะพบว่า สถานการณ์ในปัจจุบันมีความแตกต่างจากปี 2540 เพราะในปี 2540 เงินบาทที่อ่อนค่าเป็นผลมาจากการปรับอ่อนค่าหลังมีการลอยตัวค่าเงิน เพื่อสะท้อนปัจจัยพื้นฐานที่อ่อนแอของไทยในเวลานั้น
นอกจากนี้หากดูในเรื่องความผันผวนของค่าเงินจะพบว่า แม้เริ่มมีภาพการไหลออกของกระแสเงินลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรไทยหลังสหรัฐฯ เร่งขึ้นดอกเบี้ย แต่ค่าความผันผวนของเงินบาทในปี 2565 ก็ยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับภาพรวมของสกุลเงินเอเชียอื่นๆ ซึ่งมีค่าความผันผวนอยู่ที่ประมาณ 4-6% ซึ่งสะท้อนว่า ธปท. ยังคงช่วยดูแลความเคลื่อนไหวและลดความผันผวนของค่าเงินบาทท่ามกลางปัจจัยไม่แน่นอนรอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวะการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลก ความกังวลเรื่องเงินเฟ้อและราคาน้ำมัน ตลอดจนสถานการณ์ดุลบัญชีเดินสะพัด ทิศทางเงินทุนเคลื่อนย้ายในตลาดการเงิน และแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปเมื่อปี 2540 เศรษฐกิจไทยมีปัญหาความไม่สมดุลหลายด้าน ภาคเอกชนและสถาบันการเงินขาดการตระหนักถึงความเสี่ยง มีการใช้จ่ายและกู้ยืมเกินตัว เปิดความเสี่ยงด้าน Maturity and Currency Mismatch มีการก่อหนี้ต่างประเทศสูง และมีการเก็งกำไรอย่างกว้างขวางในตลาดอสังหาริมทรัพย์ เศรษฐกิจภาพรวมมีปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเรื้อรัง ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนตรึงไว้กับตะกร้าเงิน ซึ่งทำให้ถูกโจมตีค่าเงิน และทางการไทยจำเป็นต้องนำทุนสำรองระหว่างประเทศไปใช้ดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาท โดยในเวลานั้นเงินสำรองระหว่างประเทศสุทธิลดลงเหลือเพียง 2.8 พันล้านบาท ณ เดือนมิถุนายน 2540
เมื่อกลับมามองที่สถานการณ์ในปัจจุบัน จุดที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัดเจนก็คือ ทุนสำรองระหว่างประเทศที่สูงและแข็งแกร่งกว่าในอดีตมาก โดยระดับเงินสำรองระหว่างประเทศสุทธิ (เงินสำรองฯ และ Net Forward Position) ของไทยในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 2.51 แสนล้านบาท ณ วันที่ 24 มิถุนายน 2565 ซึ่งสามารถรองรับภาระหนี้ต่างประเทศระยะสั้น การนำเข้า 3 เดือน และหนุนหลังการพิมพ์ธนบัตรได้เต็มจำนวน ขณะที่สัดส่วนหนี้ต่างประเทศลดลงมาอยู่ที่ระดับ 38.2% ต่อ GDP ณ สิ้นปี 2564 นอกจากนี้ทางการได้เข้ามาดูแลการเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์เป็นระยะผ่านมาตรการ อาทิ การกำหนดเกณฑ์ LTV ทำให้คลายกังวลต่อปัญหาดังกล่าวลงบางส่วน ซึ่งภาพเหล่านี้สะท้อนการเรียนรู้บทเรียนจากอดีตและการวางแนวทาง เพื่อไม่ให้ไทยซ้ำรอยเดิม
อย่างไรก็ดีคงต้องยอมรับว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันมีโจทย์จากปัจจัยภายนอก ซึ่งไม่เหมือนกับในอดีต โดยปัจจุบันมีต้นตอของปัญหามาจากโควิด, สงครามยูเครน-รัสเซีย ซึ่งกระทบราคาน้ำมัน รวมถึงการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ทำให้มีทั้งประเด็นเฉพาะหน้าและโจทย์เชิงโครงสร้างที่ยังต้องติดตาม ได้แก่
- หนี้ต่างประเทศ จากบทเรียนในอดีตสะท้อนว่า ประเด็นที่ต้องระมัดระวังคือ ความผันผวนด้านอ่อนค่าของเงินบาทที่จะทำให้ภาระหนี้เพิ่มขึ้น และเมื่อดูเฉพาะในส่วนของหนี้ต่างประเทศระยะสั้นที่มียอดคงค้างที่ 7.42 หมื่นล้านดอลลาร์ พบว่า ราว 58.8% หรือ 4.37 หมื่นล้านดอลลาร์ เป็นหนี้ของภาคธุรกิจ ซึ่งคงต้องมีการบริหารจัดการความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนในวิธีที่เหมาะสมกับกระแสรายรับ-รายจ่ายในรูปเงินตราต่างประเทศของแต่ละราย
- หนี้ของภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ และภาครัฐ ขยับสูงขึ้น เมื่อรวมกันแล้วคิดเป็นสัดส่วน 228.4% ต่อ GDP (หนี้ครัวเรือน 90% หนี้ธุรกิจ 78.8% และหนี้สาธารณะ 59.6% ต่อ GDP) ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่า 149.8% ต่อ GDP ในช่วงปี 2540 อย่างไรก็ดี สถานการณ์ในปัจจุบันมีความแตกต่างและมีสาเหตุที่ไม่เหมือนกับช่วงวิกฤตปี 2540 โดยในปี 2540 ต้นตอปัญหามาจากการก่อหนี้ต่างประเทศและมาปล่อยกู้ผ่าน BIBF ขณะที่สถานการณ์ในปัจจุบัน หนี้ของภาคเอกชนและภาครัฐส่วนใหญ่เป็นหนี้สกุลเงินบาทจากสภาพคล่องในประเทศเป็นหลัก
นอกจากนี้คงต้องยอมรับว่า สาเหตุส่วนหนึ่งของหนี้ที่เพิ่มขึ้นทั้งภาครัฐและภาคเอกชน มาจากการที่ต้องเผชิญกับวิกฤตซ้อนวิกฤตหลายระลอกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ดังนั้นแม้ปัญหาหนี้สินที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในภาคครัวเรือน จะเป็นโจทย์ระยะยาวที่ต้องมีการเข้าไปดูแล แต่ก็ไม่น่าจะสร้างปัญหาในระยะสั้นเหมือนกับหนี้ BIBF ในช่วงวิกฤตปี 2540
- เมื่อมองลึกลงไปในมิติของเศรษฐกิจก็จะพบว่า เศรษฐกิจไทยปัจจุบันมีข้อจำกัดการเติบโตด้านรายได้ในระยะข้างหน้า โดยเศรษฐกิจที่พึ่งพิงการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่องเป็นสัดส่วนสูง ดังนั้นแม้ไทยเริ่มเปิดประเทศ แต่การฟื้นตัวยังไม่ทั่วถึงและขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการควบคุมสถานการณ์ของโรค ทำให้ความสามารถในการหารายได้ โดยเฉพาะของธุรกิจ SMEs และประชาชนรายย่อยยังไม่กลับมาเป็นปกติ
ขณะที่การเติบโตของรายได้ในระยะข้างหน้ายังมีข้อจำกัดจากปัญหาด้านทักษะแรงงาน, ขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจขนาดกลางและเล็ก, การปรับโครงสร้างสู่ธุรกิจแห่งอนาคต ซึ่งยังคงอยู่ระหว่างดำเนินการ แต่ไทยต้องเผชิญกับสนามการค้าโลกที่ปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว และการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาการขาดแคลนแรงงานและภาระด้านสาธารณสุขในระยะยาว
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุอีกว่า จุดอ่อนในภาคธนาคารที่เคยเป็นชนวนของวิกฤตสถาบันการเงินในช่วงปี 2540 ได้รับการแก้ไขอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการบริหารความเสี่ยงแบบบูรณาการและครอบคลุมความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า รวมถึงการกำกับดูแลสถาบันการเงินที่สอดคล้องตามมาตรฐานสากล (Basel III) ทำให้ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในปัจจุบันมีความเข้มแข็งมากขึ้นกว่าในปี 2540 มาก สะท้อนจากความมั่นคงของระดับเงินกองทุนและสภาพคล่องที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงมีการจัดการปัญหาหนี้เสียในเชิงรุก โดยสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 19.79% (ณ เดือนเมษายน 2565) ซึ่งสูงกว่าในช่วงปี 2540 สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ในระดับต่ำกว่า 100% และสัดส่วน NPL ณ ไตรมาส 1/65 อยู่ที่ 2.93% ต่อสินเชื่อรวมของระบบธนาคารพาณิชย์
อย่างไรก็ดี การประคองรายได้จากธุรกิจหลักของธนาคารพาณิชย์ภายใต้สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า ยังคงเป็นสถานการณ์ที่มีความท้าทาย ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง ธนาคารพาณิชย์ก็มีภารกิจในการดูแลช่วยเหลือลูกหนี้ (ณ เดือนเมษายน 2565 ยังมีลูกหนี้ที่อยู่ภายใต้มาตรการช่วยเหลืออีกประมาณ 12.1% ของสินเชื่อรวม) และเร่งปรับโครงสร้างหนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความเปราะบาง เพื่อให้ภาระในการชำระคืนหนี้เหมาะสมกับศักยภาพและความสามารถในการหารายได้ของลูกหนี้ในระยะยาว
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP