×

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดโควิดฉุดกำไรแบงก์พาณิชย์ไตรมาส 3 ลดเหลือ 3.3 หมื่นล้าน ดัน NPL ในระบบพุ่งเป็น 3.1-3.7% แม้ ธปท. ยังผ่อนเกณฑ์จัดชั้นลูกหนี้

19.10.2021
  • LOADING...
ธนาคารพาณิชย์

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า กำไรสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในไตรมาส 3/64 จะอยู่ที่กรอบ 3.25-3.35 หมื่นล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2/64 ที่มีกำไรสุทธิสูงถึง 5.72 หมื่นล้านบาท เนื่องจากโควิดที่ปะทุขึ้นในช่วงต้นไตรมาส 3 กดดันรายได้จากธุรกิจหลัก โดยเฉพาะรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ และทำให้ธนาคารพาณิชย์มีค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองฯ ในระดับที่สูงกว่าช่วงปกติ และสูงกว่าช่วงครึ่งแรกของปี 

 

ขณะเดียวกันยังคาดว่าสัดส่วน NPL ของระบบธนาคารพาณิชย์อาจขยับขึ้นมาที่ 3.10-3.17% ต่อสินเชื่อรวมในไตรมาส 3/64 แม้ว่าจะได้รับอานิสงส์จากความยืดหยุ่นของเกณฑ์การจัดชั้นลูกหนี้ สำหรับในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้คาดว่าธนาคารพาณิชย์น่าจะสามารถปรับตัวเพื่อประคองผลการดำเนินงานให้อยู่ในระดับที่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนได้ แต่โจทย์ต่อเนื่องในปีหน้าจะยังคงเป็นเรื่องการดูแลปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพ และการเตรียมรับมือกับการแข่งขันในตลาดผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ซึ่งจะมีผู้เล่นที่หลากหลายมากขึ้น 

 

ในภาพรวม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์กำไรสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยที่ 3.30 หมื่นล้านบาทในไตรมาส 3/64 ลดลงประมาณ 42.2%QoQ เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/64 ที่มีกำไรสุทธิสูงถึง 5.72 หมื่นล้านบาท จากผลของการบันทึกกำไรพิเศษจากเงินลงทุนจากการขายหุ้นในบริษัทในเครือของสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง ทั้งนี้ หากไม่นับรวมรายการนี้ กำไรสุทธิยังคงปรับตัวลง QoQ ประมาณ 32.5% เนื่องจากรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย โดยเฉพาะรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ หดตัวลงต่อเนื่องตามสัญญาณอ่อนแอของเศรษฐกิจ ซึ่งในระหว่างไตรมาสมีแรงกดดันเพิ่มขึ้นจากการแพร่ระบาดและการใช้มาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวด 

 

ขณะที่รายจ่ายในการตั้งสำรองค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองฯ) อาจขยับสูงขึ้นมากกว่าช่วงครึ่งแรกของปี เพื่อรองรับความเสี่ยงจากโควิดที่ยืดเยื้อ อย่างไรก็ดี กำไรสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในไตรมาส 3/64 ดังกล่าว ยังขยับสูงขึ้น หากเทียบกับฐานที่ต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อน

 

ทั้งนี้ รายได้จากธุรกิจหลักของธนาคารพาณิชย์ชะลอลงในไตรมาส 3/64 นำโดยรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย โดยเฉพาะรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ ซึ่งน่าจะหดตัวลงประมาณ 6.5-9.0%YoY เช่น รายได้จากค่าธรรมเนียมบัตรเครดิต บริการโอนเงินและเรียกเก็บเงิน รวมถึงค่าธรรมเนียมจัดการและค่านายหน้า นอกจากนี้ คาดว่าการตีมูลค่าเงินลงทุนในตราสารทางการเงินผ่านงบกำไรขาดทุนของธนาคารพาณิชย์น่าจะได้รับแรงกดดันจากการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล และในไตรมาสที่ 3 ไม่น่าจะมีการบันทึกรายได้พิเศษก้อนใหญ่จากส่วนอื่นๆ   

 

สำหรับรายได้ดอกเบี้ยในภาพรวมในไตรมาส 3/64 น่าจะชะลอลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากการปล่อยสินเชื่อใหม่เป็นไปอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อยที่ชะลอตัวลงตามความเปราะบางทางการเงินของภาคครัวเรือน อย่างไรก็ดี ภาพรวมสินเชื่อยังน่าจะขยับขึ้นทั้งเมื่อเทียบแบบ QoQ และ YoY ตามการเติบโตต่อเนื่องของสินเชื่อธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจรายใหญ่ ประกอบกับสถาบันการเงินมีการปล่อยสินเชื่อผู้ประกอบการผ่านโครงการสินเชื่อฟื้นฟูมากขึ้น 

 

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยจะเติบโตในกรอบ 4.7-5.2%YoY ในไตรมาส 3/64 ขยับขึ้นจากที่เติบโต 4.4%YoY ในไตรมาส 2/64 ที่ผ่านมา แต่ NIM ในไตรมาส 3/64 อาจจะชะลอลงมาอยู่ในกรอบประมาณ 2.50-2.55% เทียบกับ 2.56% ในไตรมาส 2/64 เนื่องจากสินเชื่อธุรกิจที่ปล่อยใหม่ในช่วงหลายไตรมาสที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อช่วยเหลือด้านสภาพคล่อง ซึ่งมีดอกเบี้ยไม่สูง

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า การระบาดของโควิดที่ปะทุขึ้นในช่วงระหว่างไตรมาสที่ 3 มีความรุนแรงและขยายเป็นวงกว้าง ย่อมมีผลกดดันสถานะทางการเงินของลูกหนี้หลายกลุ่ม ขณะที่ข้อมูลจาก ธปท. สะท้อนสัญญาณว่าลูกหนี้มีแนวโน้มทยอยเข้ารับความช่วยเหลือจากสถาบันการเงินเพิ่มขึ้น โดยยอดภาระหนี้เข้ามาตรการช่วยเหลือฯ ขยับขึ้นจากจุดต่ำสุดของปีนี้ที่ 3.18 ล้านล้านบาท (จากจำนวนบัญชีลูกหนี้เข้ามาตรการฯ 4.77 ล้านบัญชี) ในเดือนเมษายน 2564 มาที่ 3.35 ล้านล้านบาท (จำนวนบัญชีลูกหนี้เข้ามาตรการฯ 5.12 ล้านบัญชี) ในเดือนกรกฎาคม 2564 โดยในจำนวนนี้สัดส่วนกว่า 60% เป็นลูกหนี้ที่รับความช่วยเหลือจากธนาคารพาณิชย์ 

 

ดังนั้น ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งจะทยอยตั้งสำรองฯ ในระดับที่สูงกว่าช่วงปกติ เพื่อเตรียมการรองรับความไม่แน่นอนของประเด็นคุณภาพของสินเชื่อที่ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด แม้ว่า ธปท. ได้ขยายเวลาผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นลูกหนี้และการกันเงินสำรองให้กับสถาบันการเงินไปจนถึงสิ้นปี 2565 แล้วก็ตาม 

 

สำหรับสถานการณ์สินเชื่อด้อยคุณภาพในช่วงไตรมาส 3/64 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า สัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL Ratio ของระบบธนาคารพาณิชย์ (ภาพรวมของธนาคารพาณิชย์ไทย+สาขาในต่างประเทศ) อาจขยับขึ้นมาที่ 3.10-3.17% ต่อสินเชื่อรวมในไตรมาส 3/64 จากระดับ 3.09% ต่อสินเชื่อรวมในไตรมาส 2/64 ตามสัญญาณความเปราะบางทางการเงิน และปัญหาในการประคองรายได้ของลูกหนี้ในกลุ่ม SMEs และรายย่อย ขณะที่สัดส่วนการตั้งสำรองฯ ต่อสินเชื่อ หรือ Credit Cost ยังคงทรงตัวอยู่ในกรอบ 1.46-1.49% ในไตรมาส 3/64 ขยับขึ้นจากระดับ 1.45% ไตรมาส 2/64 

 

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังมองว่าแนวโน้มในระยะข้างหน้า ธนาคารพาณิชย์จะสามารถปรับตัวเพื่อประคองทิศทางกำไรสุทธิในไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 ให้อยู่ในระดับที่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเฉพาะหากการคลายมาตรการควบคุมสถานการณ์โควิดที่ทางการไทยทยอยดำเนินการ มีส่วนช่วยบรรเทาแรงกดดันต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจลงบางส่วน แม้ว่าการฟื้นตัวในภาพรวมจะมีความไม่แน่นอนและต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งก็ตาม

 

แม้ว่าเศรษฐกิจไทยอาจเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้นในไตรมาส 4/64 แต่คงต้องยอมรับว่าระดับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ/ธุรกิจในแต่ละภาคส่วนจะยังมีความแตกต่างกัน ซึ่งทำให้ภารกิจสำคัญของธนาคารพาณิชย์ในช่วงหลายไตรมาสข้างหน้าจะอยู่ที่การเตรียมสภาพคล่อง เพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจในการพลิกฟื้นกิจการในจังหวะที่อัตราดอกเบี้ยยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งจะต้องเดินหน้าควบคู่ไปกับการเร่งปรับโครงสร้างหนี้และให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ในกลุ่มที่ยังฟื้นตัวได้ช้า เพื่อเป็นอีกแนวทางในการดูแลปัญหาคุณภาพสินทรัพย์ ที่จะยังคงเป็นโจทย์ต่อเนื่องไปในปีข้างหน้า 

 

นอกจากนี้ ในปีหน้าความท้าทายที่รออยู่ของธนาคารพาณิชย์จะเป็นเรื่องสถานการณ์การแข่งขันของตลาดผลิตภัณฑ์บริการทางการเงิน (ไม่ใช่เฉพาะในส่วนของตลาดสินเชื่อเท่านั้น) ที่จะทวีความเข้มข้นมากขึ้นท่ามกลางผู้เล่นที่หลากหลาย ทั้งธนาคารพาณิชย์ นอนแบงก์ และกลุ่ม FinTech และ TechFin โดยภายใต้สนามการแข่งขันดังกล่าว ทำให้ธนาคารพาณิชย์มีแนวโน้มที่จะเตรียมวางแนวทางสำหรับการแก้โจทย์-ปรับโมเดล เพื่อสร้างรายได้ในระยะยาวหลังโควิดสิ้นสุดลง โดยเฉพาะการใช้ฐานข้อมูลเพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจในตลาดที่ให้ผลตอบแทนสูง (High Yield) ชิงส่วนแบ่งในตลาดลูกค้าในช่องทางออนไลน์และดิจิทัลแพลตฟอร์ม

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising