แม้จะยังไม่ข้ามผ่านพ้นปี 2563 ทว่าภายในระยะแค่ช่วงครึ่งปีแรกกับครึ่งปีหลังมานี้ เราก็ได้เห็นความแตกต่างของโลกแบบที่เรียกได้ว่าเหมือนอยู่คนละยุคกันอย่างสิ้นเชิง หลังจากที่เราต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตโควิด-19 ซึ่งไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบให้เกิดความตื่นตระหนกเรื่องสุขภาพ หากแต่การดำรงชีวิตก็เปลี่ยนแปลงไป และได้นำเราทุกคนเข้าสู่โลกในปัจจุบันที่ถูกเรียกว่าเป็นชีวิตวิถีใหม่ หรือ New Normal อย่างเต็มใบ
โลกยุค New Normal ปฏิวัติการใช้ชีวิตให้เราอยู่บนโลกออนไลน์มากขึ้น นอกเหนือจากแค่คอนเน็กต์สู่โซเชียลเน็ตเวิร์ก ทั้งสั่งอาหาร ช้อปปิ้ง เติมน้ำมันรถ การใช้บริการต่างๆ หรือแม้แต่เรื่องง่ายๆ ที่เราทำกันจนเคยชิน อย่างเดินไปซื้อกาแฟหรือชาไข่มุกของโปรด ก็กลายเป็นว่าเราเลือกดีลผ่านทางออนไลน์แทนที่การไปยืนแออัดเบียดเสียดอยู่หน้าร้าน ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนั้นนำไปสู่พฤติกรรมหลักทางออนไลน์ที่ทุกคนต้องทำเป็นขั้นตอนสุดท้ายคือการชำระเงิน
ปัจจุบันการชำระเงินผ่านช่องทางดิจิทัลได้รับการยอมรับมากขึ้นจากเทรนด์ Cashless Society หรือสังคมไร้เงินสด ไม่ว่าจะเป็นบัตรเครดิต บัตรเดบิต อินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง หรือโมบายล์แบงกิ้ง เพียงแต่สถานการณ์โควิด-19 ได้เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้การใช้จ่ายในรูปแบบใหม่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว โดยในช่วงเริ่มต้นของวิกฤตโควิด-19 แพร่ระบาด KBank ได้เห็นถึงการเติบโตในหมวดช้อปปิ้งออนไลน์ถึง 100% และจากผลสำรวจของวีซ่า ผู้นำการให้บริการการชำระเงินดิจิทัลระดับโลก เปิดเผยให้เห็นว่าผู้บริโภคชาวไทยจำนวนมากตอบรับการซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์เป็นครั้งแรกหลังวิกฤตโควิด-19 โดยผู้ทำแบบสำรวจจำนวน 2 ใน 3 ระบุว่าพวกเขาจะซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้นในอนาคต และในจำนวนเดียวกันยังระบุชัดเจนว่าพวกเขาตั้งใจจะใช้วิธีการชำระเงินดังกล่าวเป็นหลัก แม้ว่าสถานการณ์จะกลับไปเป็นปกติแล้วก็ตาม (อ้างอิงผลสำรวจจาก Kantar COVID-19 Barometer, fieldwork 27-31 มีนาคม 2020 ผลสำรวจนี้รวบรวมข้อมูลผู้บริโภคในตลาด 40 แห่งทั่วโลก และ 11 ตลาดในเอเชียแปซิฟิก รวมถึงประเทศไทย ผนวกกับการตรวจสอบเว็บโดยอิงจากสิ่งที่ผู้คนพูดถึงและค้นหาบนอินเทอร์เน็ต)
เพราะวิถี New Normal ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของพวกเขาไปแล้ว อีกทั้งเมื่อเปรียบเทียบความเสี่ยงเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน อย่างกระเป๋าสตางค์สูญหาย แถมในกระเป๋าสตางค์ยังมีเงินสดอยู่เต็มกระเป๋า เปอร์เซ็นต์ในการได้เงินสดคืนกลับมานั้นดูจะริบหรี่ แต่ในกรณีของบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตยังมีวิธีช่วยยับยั้งความเสียหายด้วยการติดต่อให้ธนาคารเจ้าของบัตรระงับการใช้งานบัตรได้อย่างทันท่วงที
เมื่อผู้บริโภคชาวไทยให้ความไว้วางใจในการชำระเงินผ่านระบบดิจิทัลมากขึ้น KBank จึงผนึกกำลังกับวีซ่าเพื่อนำแนวทางและโซลูชันมาเสริมมาตรการการรักษาความปลอดภัยในการชำระเงินเพื่อสร้างมาตรฐานความปลอดภัยอย่างเข้มข้น และมอบความมั่นใจพร้อมกับประสบการณ์ที่ดีในการจับจ่ายใช้สอยแก่ลูกค้าบัตรเครดิตธนาคารกสิกรไทย และนี่คือ 4 ด่านมาตรการความปลอดภัยทางการเงินที่คุณจะได้รับเมื่อทำธุรกรรมรูปแบบดิจิทัลผ่านบัตรเครดิตธนาคารกสิกรไทย
1. One Time Password หรือ OTP
ชาวช้อปปิ้งออนไลน์คุ้นเคยกันดี เพราะเป็นการยืนยันพาสเวิร์ดแบบใช้ครั้งเดียว ซึ่งเราจะได้รับผ่านทางข้อความในโทรศัพท์มือถือเพื่อยืนยันถึงการทำธุรกรรมนั้นๆ
2. EMV Chip (อีเอ็มวี ชิป)
หากนำหน้าบัตรเครดิตมาพลิกดูจะสังเกตเห็นชิปขนาดเล็กติดอยู่ ชิปตัวนั้นคือ EMV Chip มีหน้าที่ออกโค้ดสำหรับทำธุรกรรมในแต่ละครั้ง ในแวดวงการเงินจะรู้จักกันว่าเป็นการพิสูจน์รายการแบบไดนามิกที่ตัวโค้ดจะถูกเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งเป็นตัวเสริมให้กับระบบการตรวจสอบรายการทุจริตแบบเรียลไทม์ที่ธนาคารผู้ออกบัตรใช้ในการตัดสินใจอนุมัติรายการ นั่นหมายความว่าหากคุณใช้บัตรแบบชิปการ์ดก็สามารถมั่นใจได้ถึงความปลอดภัยอีกระดับนั่นเอง
3. Visa Advanced Authorization (วีซ่า แอดวานซ์ ออโทไรเซชัน)
การยืนยันความปลอดภัยด้วยเทคโนโลยี Machine Learning ผสานกับ Artificial Intelligence (AI) ในการตรวจหาข้อมูลความเสี่ยงต่างๆ มากกว่า 500 จุด เพื่อประเมินว่าธุรกรรมนั้นๆ มีค่าคะแนนความเสี่ยงเท่าไร ซึ่งคะแนนดังกล่าวจะถูกส่งไปที่ธนาคารกสิกรไทยเพื่อใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงในการอนุมัติหรือปฏิเสธธุรกรรม และเมื่อใช้ข้อมูลนี้ประกอบกับข้อมูลพิสูจน์ตัวตนอื่นๆ เช่น ไบโอเมทริกซ์ (Biometrics) ก็จะยิ่งเพิ่มความเชื่อมั่นทางความปลอดภัยไปอีกระดับ
4. Visa Tokenization (วีซ่า โทเค็นไนเซชัน)
กระบวนการที่จะช่วยยืนยันว่าข้อมูลของผู้ถือบัตรจะไม่ถูกเปิดเผยระหว่างการทำธุรกรรมออนไลน์ โดยจะเปลี่ยนรายละเอียดบัญชี เช่น เลขหน้าบัตร 16 หลัก, เลข CVV หลังบัตร หรือวันหมดอายุของบัตร ไปเป็นรหัสเฉพาะ (Token) เช่น 1001 1100 0111 0001 โซลูชันนี้จะทำให้ธนาคารผู้ออกบัตรสามารถประมวลผลการชำระเงินโดยไม่ต้องเปิดเผยรายละเอียดบัญชีจริงได้
นอกเหนือจาก 4 มาตรการหลักข้างต้น ยังมีนโยบายส่งเสริมความปลอดภัยในกรณีที่มีรายการเรียกเก็บที่น่าสงสัย อย่างนโยบาย Chargeback ซึ่งช่วยให้ผู้ถือบัตรสามารถทักท้วงรายการใช้บัตรเครดิตและบัตรเดบิตหากเกิดการโจรกรรมหรือถูกเรียกเก็บเงินในจำนวนที่ไม่เป็นธรรม นโยบายนี้เกิดขึ้นเพื่อเพิ่มความอุ่นใจอีกสเตปให้กับผู้ถือบัตร
รางวัล “สุดยอดองค์กรด้านความปลอดภัยประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากวีซ่า ประจำปี 2563
(Visa Champion Security Award Southeast Asia 2020)”
ด้วยความไม่หยุดยั้งที่จะหาโซลูชันมาเสริมแกร่งด้านความปลอดภัยในระบบการชำระเงินในประเทศไทยของธนาคารกสิกรไทย ทำให้ธนาคารได้รับการยอมรับในอุตสาหกรรมการชำระเงินระดับภูมิภาค โดยสามารถคว้ารางวัล ‘สุดยอดองค์กรด้านความปลอดภัยประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากวีซ่า ประจำปี 2563’ (Visa Champion Security Award Southeast Asia 2020) เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้กับธนาคารที่มีนโยบาย กระบวนการ และแนวปฏิบัติยอดเยี่ยมในการพัฒนาความปลอดภัยของเครือข่ายการชำระเงิน และทำให้การค้าของประเทศไทยเติบโตได้ในระยะยาว ซึ่งทางธนาคารกสิกรไทยยังคงยึดมั่นให้คำสัญญาที่จะพัฒนาศักยภาพด้านความปลอดภัยทางการเงินอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้โลกออนไลน์เป็นโลกที่ปลอดภัยและอุ่นใจในการใช้ชีวิตสำหรับทุกคนอย่างแท้จริง
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์