Smart Hospital หรือโรงพยาบาลอัจฉริยะ ที่นำเทคโนโลยีอัจฉริยะมาใช้งาน เพิ่มขีดความสามารถในการดูแลสุขภาพ ช่วยลดภาระบุคลากรทางการแพทย์ เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการระบบสาธารณสุข และเชื่อมโยงโซลูชันต่างๆ เพื่อลดต้นทุน เป็นแนวคิดที่ได้รับความสนใจจากทั่วโลก ซึ่งในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลภาครัฐ ภาคเอกชน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็เดินหน้าขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สู่การเป็น Smart Hospital ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ โดยเริ่มจากการพัฒนาแอปของโรงพยาบาลเป็นตัวกลางเชื่อมต่อระหว่างโรงพยาบาลกับผู้ป่วย
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยิ่งเร่งให้บริการด้านสุขภาพในรูปแบบดิจิทัลได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น เช่น Smart Tools ที่นำเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการและการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล เช่น การค้นหาข้อมูล หรือส่งผลตรวจคนไข้ไปยังแผนกต่างๆ และ Smart Services บริหารจัดการกระบวนงานที่มีประสิทธิภาพ เช่น การจัดเก็บข้อมูลเวชระเบียนผู้ป่วยด้วยรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Medical Records: EMR) การใช้ใบสั่งยาในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ การลดระยะเวลารอรับบริการของผู้ป่วย มีบริการนัดหมายและแจ้งเตือนเมื่อใกล้ถึงคิว เพื่อแจ้งให้ผู้รับบริการได้รับบริการตรงเวลา
การนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาทั้งระบบการให้บริการ ฐานข้อมูล และการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ จึงเป็นสิ่งที่หลายหน่วยงานให้ความสำคัญ โดยเฉพาะหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
โดยในวันนี้ได้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้านบริการสุขภาพของรัฐคือ โรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่ 5 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, โรงพยาบาลชลบุรี, โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ, โรงพยาบาลราชวิถี และสถาบันประสาทวิทยา ร่วมกับ KBank ซึ่งเป็นองค์กรธุรกิจเอกชนที่เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลเทคโนโลยี ได้ลงมือช่วยกันต่อจิ๊กซอว์ในการร่วมสนับสนุนเพื่อพัฒนาโครงสร้าง Digital Healthcare Platform และนำร่องด้วยการพัฒนาแอปพลิเคชันโรงพยาบาลที่เปิดให้ใช้บริการเต็มรูปแบบแล้ว และผู้ใช้บริการบางส่วนเริ่มคุ้นเคยกับการมาโรงพยาบาลและใช้แอปช่วยอำนวยความสะดวกแล้ว เป็นการ Connect the Dot เพื่อไปสู่เป้าหมายของการเป็น Smart Hospital ด้วยความตั้งใจที่จะทำให้ทุกคนได้เข้าถึงบริการด้านสุขภาพด้วยความสะดวกมากที่สุด
ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า “ธนาคารกสิกรไทยมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาและขับเคลื่อนทุกภาคส่วนของสังคมไทย ด้วยการนำดิจิทัลเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญในการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มมาต่อยอดพัฒนานวัตกรรมที่อำนวยประโยชน์สูงสุดให้กับสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันโรงพยาบาลเป็นหน่วยงานสำคัญที่มีบทบาทต่อการส่งเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย ความร่วมมือกับโรงพยาบาลที่ธนาคารกสิกรไทยมาช่วยสนับสนุนในการพัฒนา Digital Healthcare Platform จึงมุ่งเน้นการช่วยลดภาระของโรงพยาบาล และเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการกับคนไข้และผู้ที่มาใช้บริการต่างๆ เพราะโรงพยาบาลแต่ละแห่งล้วนมีผู้ใช้บริการในแต่ละวันเป็นจำนวนมาก โดยธนาคารได้ร่วมสนับสนุนการพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับคนไข้ด้วยระบบบริการสุขภาพดิจิทัลที่เชื่อมโยงระบบนิเวศการใช้บริการและการบริหารจัดการของโรงพยาบาลให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังสอดคล้องกับวิถี New Normal ที่เป็นผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19”
5 แอปพลิเคชันของโรงพยาบาลรัฐทั้ง 5 แห่ง ที่ KBank ร่วมพัฒนาและเปิดใช้บริการแล้ว ได้แก่
- แอป Chula Care โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
- แอป CBH PLUS โรงพยาบาลชลบุรี
- แอป TUH for All โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
- แอป RJ Connect โรงพยาบาลราชวิถี
- แอป NIT PLUS สถาบันประสาทวิทยา
แพลตฟอร์มดิจิทัลที่นำมาใช้สำหรับการพัฒนาแอปพลิเคชันให้กับแต่ละโรงพยาบาล ทาง KBank มุ่งเน้นการช่วยสนับสนุนใน 3 แกนหลักที่ตอบโจทย์ทั้งผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการ ได้แก่
- การวางโครงสร้างการเชื่อมต่อข้อมูลจากฐานข้อมูลกลางของโรงพยาบาล (Hospital Information System: HIS) มาแสดงที่แอปพลิเคชันและแพลตฟอร์ม เพื่อให้แสดงผลได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว ช่วยลดขั้นตอนและเวลาทำงาน
- การสร้างประสบการณ์ใช้งานที่ง่าย รวดเร็ว และปลอดภัย
- การเชื่อมโยงระบบชำระเงินและบริการทางการเงินต่างๆ
เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น ขอยกตัวอย่างฟีเจอร์สำคัญในแอป CBH PLUS ของโรงพยาบาลชลบุรี และแอป TUH for All โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ที่ธนาคารกสิกรร่วมสนับสนุนในการพัฒนาแอปเพื่อสร้าง Smart Hospital ที่มีประสิทธิภาพ
CBH PLUS: สามารถตรวจสอบสิทธิ์รักษาพยาบาล 3 กองทุน ทั้งบัตรทอง ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ ลดขั้นตอนการติดต่อแผนกเวชระเบียนของโรงพยาบาล กดรับบัตรคิวผ่านมือถือและแจ้งสถานะคิว ทำให้ผู้รับบริการบริหารจัดการเวลาของตัวเองได้ ซึ่งทางโรงพยาบาลชลบุรียังใช้ระบบตัวเลขคิวเดียวตั้งแต่ห้องตรวจ ห้องปฏิบัติการต่างๆ การรอรับยา ไปจนถึงขั้นชำระเงินเลย ไม่ต้องกดคิวใหม่ หลังเข้ารับบริการสามารถดูประวัติการรักษาของตัวเองได้ผ่าน Personal Health Record (PHR) ซึ่งผู้รับบริการสามารถเปิดข้อมูลนี้จากแอปเพื่อดูประวัติการรักษาในครั้งที่ผ่านมาและประวัติการรับยาได้ด้วย หมดกังวลว่าจะลืมวันนัดหมอ เพราะแอปมีระบบแจ้งเตือนล่วงหน้าก่อนถึงวันนัดหมาย และสุดท้ายสามารถจ่ายค่ารักษาผ่านแอปได้ทันที
TUH for All: ก็มีฟีเจอร์สำคัญ เช่น การตรวจสอบสิทธิ์ แจ้งเตือนนัดหมายล่วงหน้า รับคิวตรวจผ่านแอป ระบบแจ้งเตือนเมื่อใกล้ถึงคิวพบแพทย์ ดูผลการวินิจฉัยโรค ดูประวัติการแพ้ยาหรือประวัติการผ่าตัด โดยเริ่มใช้งานแอป TUH for All ได้ทั้งหมดเพียงไปยืนยันตัวตนการใช้แอปที่เคาน์เตอร์ของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติก็สามารถใช้งานแอปพลิเคชันได้เลย
ในเฟสต่อไป KBank เตรียมร่วมสนับสนุนการพัฒนาฟีเจอร์ต่างๆ เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ผู้ใช้งานมากยิ่งขึ้น มุ่งเน้นประสบการณ์การใช้งานที่สะดวกและเข้าใจง่าย เช่น การพัฒนาฟีเจอร์ลงทะเบียนเพื่อขอหมายเลข HN สำหรับลูกค้าใหม่ เพื่อนัดหมายผ่านแอป เป็นต้น
และเร็วๆ นี้ KBank เตรียมแผนร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร เพื่อมีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการ Smart OPD ให้กับ 11 โรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร (สนพ.) โดยจะเป็นรูปแบบแอปเดียวใช้ได้ทั้ง 11 โรงพยาบาล
การสานต่อความร่วมมืออย่างต่อเนื่องของ KBank เพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมกับหน่วยงานด้านบริการสุขภาพต่างๆ ในการพัฒนาศักยภาพการให้บริการดิจิทัลทางการแพทย์แบบครบวงจรจึงเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญสู่เป้าหมายการเป็น Smart Hospital ที่จะทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น