×

ปีของธนาคารอัจฉริยะเริ่มต้นขึ้นแล้ว ไม่ใช่แค่แบงก์ แต่เป็นทุกองค์ประกอบของชีวิตดิจิทัลเพื่อคุณ [Advertorial]

โดย THE STANDARD TEAM
14.02.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 MINS READ
  • ธนาคารกสิกรไทย จัดงาน ‘A Year of i’ เปิดพื้นที่ให้ 5 ผู้บริหารแสดงวิสัยทัศน์ในการเปลี่ยนผ่านธุรกิจไปสู่การเป็นธนาคารอัจฉริยะ (Cognitive Bank) ที่จะขับเคลื่อนด้วยพลังของข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเข้าใจและรู้ใจลูกค้าทุกคน
  • ไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้น จากนี้กสิกรไทยจะขยายพื้นที่ธุรกิจไปในต่างประเทศ เพื่อปักหมุดสถาบันการเงินระดับแถวหน้าของอาเซียน พร้อมตั้งเป้ารายได้จากต่างประเทศโต 8 เท่าใน 3 ปี

ธนาคารกสิกรไทย สถาบันการเงินระดับแถวหน้าของประเทศไทยคิดใหญ่อยู่เสมอ ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีการแข่งขันรุนแรงและเปลี่ยนโฉมหน้าอุตสาหรรมการเงินภายในไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ กสิกรไทยยังสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันอยู่เสมอ โดยเฉพาะการใช้เทคโลยีใหม่เข้ามาต่อยอดโอกาสทางธุรกิจ

 

และกสิกรไทยมองธุรกิจไกลถึงระดับภูมิภาค

 

ที่งาน A Year of i: KBank Vision 2019 งานแถลงใหญ่ประจำปีของธนาคาร ผู้บริหารระดับสูง 5 คน ได้แสดงวิสัยทัศน์ที่จะยกระดับแบรนด์กสิกรไทยไปสู่สถาบันการเงินแนวหน้าของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน ธนาคารอัจฉริยะ (Cognitive Bank) ในความหมายของกสิกรไทยคืออะไร ติดตามได้จากบทความพิเศษนี้

 

 

คิดใหญ่ มองไกลระดับภูมิภาค ตั้งเป้าธนาคารแนวหน้าของอาเซียน

 

ภายในงานใช้รูปแบบของ ‘5i’ เพื่อสะท้อนแนวคิดรวบยอดของก้าวแต่ละก้าวที่ธนาคารกสิกรไทยจะเดินจากนี้ต่อไปได้แก่ Incorporate ปรากฏการณ์ความร่วมมือ , Ignite จุดประกายโอกาส ก้าวข้ามพรมแดน, Integrate รวมพลังเพื่อเติบโต, Insight รู้จัก เพื่อรู้ใจ และ Innovate เทคโนโลยีเพื่อธุรกิจและชีวิตที่ดีกว่า  

 

 

เริ่มจาก i แรกคือ Incorporate ปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทยให้ความเห็นว่าเศรษฐกิจและสภาพแวดล้อมของธุรกิจปรับเปลี่ยนรวดเร็ว โดยเฉพาะพฤติกรรมผู้บริโภคและเทคโนโลยี ปริมาณธุรกรรมออนไลน์ขยายตัวต่อเนื่อง และประชากรที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่สูงถึง 82% ในจำนวนนี้ทำธุรกรรมบนมือถือหรือโมบายแบงกิ้ง 74% และคนไทย 48.5 % ซื้อสินค้าออนไลน์

 

 

โครงการพร้อมเพย์ที่มีผู้ลงทะเบียนแล้ว 46.5 ล้านบัญชี เกิดธุรกรรม 4.5 ล้านรายการต่อวัน มีร้านค้าใช้งานคิวอาร์โค้ดจำนวน 3 ล้านราย ขณะนี้ระบบกลางที่จัดการโดย ITMX สามารถรองรับธุรกรรมข้ามธนาคารได้ 1,000 รายการต่อวินาทีและกลุ่มธนาคารพาณิชย์อยู่ระหว่างเพิ่มความสามารถของระบบในการรองรับธุรกรรมเป็น 2 เท่าภายในปี 2562 นี้ ขณะที่จำนวนบัตรเดบิตที่ออกในระบบมีถึง 59 ล้านใบ จากนี้จะพบกับบริการทางเงินรูปแบบใหม่เพิ่มเติม ไฮไลต์ที่น่าสนใจคือ

 

1. การให้บริการคิวอาร์โค้ดมาตรฐานไทยในประเทศ CLMV+3 ซึ่งช่วยให้ผู้ชำระเงินสามารถใช้โมบายแอปพลิเคชันชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดในต่างประเทศได้ และยังมีบริการที่ร้านค้าสแกนคิวอาร์โค้ดของลูกค้าผู้ชำระเงิน (B Scan C) ที่จะช่วยให้การชำระเงินสะดวกมากยิ่งขึ้น คาดว่าจะเริ่มต้นที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นแห่งแรก ภายในไตรมาส 3 ของปีนี้ นอกจากนั้นต้องดูความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานของแต่ละประเทศ ซึ่งต้องเป็นการเชื่อมต่อของทั้งประเทศต้นทางและปลายทาง เนื่องจากธุรกรรมลักษณะดังกล่าวเปรียบเสมือนการใช้บัตรเดบิต จึงน่าจะแตกต่างจากการใช้บัตรเครดิต ซึ่งค่าธรรมเนียมและรายละเอียดจะแตกต่างกันออกไปขึ้นกับการตกลงระหว่างกัน

2. โครงการ Thailand Blockchain Community Initiative ที่จะเริ่มให้บริการหนังสือค้ำประกัน (Letter of Guarantee) โดยมีสถาบันการเงินทั้งไทยและต่างประเทศ 22 ธนาคาร กลุ่มภาคธุรกิจและรัฐวิสาหกิจ 7 กลุ่มเข้าร่วม คาดว่าจะมียอดธุรกรรมดังกล่าวประมาณ 40,000 รายการในปีนี้ และเชื่อว่าจะมีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาร่วมโครงการเพิ่มขึ้น นอกจากนี้จะนำเทคโนโลยีบล็อกเชนต่อยอดสู่บริการรับรองเอกสารทางการศึกษา (E-Transcript) ที่จะช่วยสร้างความมั่นใจ เพิ่มความสะดวกให้กับนิสิต นักศึกษาที่จบการศึกษารวมทั้งบุคคลที่ต้องการหาตำแหน่งงานและองค์กรที่กำลังเปิดรับบุคลากรด้วย

3. โครงการ National Digital ID (NDID) โดยลูกค้าสามารถยืนยันตัวตนผ่านระบบออนไลน์ ช่วยให้เปิดบัญชีผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่ต้องไปแสดงตนที่สาขาอีกต่อไป นอกจากนี้ยังมีการขอสินเชื่อและการเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ทางออนไลน์ รวมทั้งโครงการเอทีเอ็มสีขาว (White-Label ATMs) ที่จะช่วยให้ธนาคารบริหารจัดการต้นทุนได้ดีขึ้น และยกระดับธนาคารไทยสู่ระดับแนวหน้าของอาเซียน ซึ่งผู้ที่จะได้รับประโยชน์สูงสุดก็คือลูกค้าของธนาคารทุกคน การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้จะช่วยเร่งการปรับตัวเข้าสู่บริการในยุคดิจิทัลได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง สนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างมั่นคงและยั่งยืน

 

สอดคล้องกับแนวทางสำคัญของ i ตัวที่สองคือ Ignite ซึ่ง พิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ชูประเด็นการปรับมุมมอง ความคิดของภาคธุรกิจและกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงเพื่อความอยู่รอดในยุคที่เรียกว่า ‘เศรษฐกิจผสานมิติ (Augmented Economy)’ หรือเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลเทคโนโลยีที่เชื่อมต่อทั้งโลกออนไลน์และออฟไลน์อย่างกลมกลืน ทุกธุรกิจต้องใช้ทักษะความชำนาญที่มีบวกกับการนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเข้าถึงลูกค้าให้ได้มากที่สุด

 

 

ธนาคารจึงผลักดันแนวคิดสำคัญ 3 ด้านได้แก่ 1. Beyond Frontier ซึ่งเป็นการขยายธุรกิจโดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CCLMVI (จีน กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และอินโดนีเซีย) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพสูง เศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง คาดว่าภายในปี 2573 กลุ่ม CCLMVI นี้จะมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) รวมกันถึง 28.64 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งใหญ่กว่าเศรษฐกิจไทยถึง 41 เท่า และจะมีประชากรรวมมากกว่าไทยถึง 28 เท่า 2. Beyond Banking มองโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น และวางเป้าหมายที่จะอยู่ในทุกๆ ช่องทางที่ลูกค้าใช้ชีวิต และ 3. Beyond Competition คือมองหาโอกาสร่วมมือกับพันธมิตรใหม่ๆ ทั้งฟินเทค สตาร์ทอัพ ทั้งในต่างกลุ่มอุตสาหกรรมหรือในต่างประเทศ เพื่อยกระดับการให้บริการของธนาคาร

 

สิ่งที่น่าจับตาในตอนนี้คือ ‘KVision’ บริษัทที่ตั้งขึ้นมาเพื่อแสวงหาเทคโนโลยีและลงทุนในฟินเทคหรือสตาร์ทอัพ ด้วยเงินลงทุนกว่า 8 พันล้านบาท ขณะนี้ได้จัดตั้ง Innovation Lab ขึ้นใน 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย อิสราเอล จีน อินโดนีเซีย และเวียดนาม เพื่อเฟ้นหานวัตกรรม พันธมิตรทางธุรกิจและผู้เชี่ยวชาญกลุ่มใหม่ๆ เพื่อนำมาสนับสนุนการพัฒนาบริการของธนาคารในกลุ่ม CCLMVI เพื่อช่วยต่อยอดธุรกิจให้ลูกค้าไทยเข้าสู่ตลาดใหม่ที่ไร้พรมแดน

 

จากนี้ธนาคารจะให้บริการทางการเงินเพื่อเชื่อมโยงการค้าระหว่างลูกค้ากับคู่ค้า (Cross-Border Value Chain Solution) โดยจะเริ่มให้บริการในสปป.ลาวและกัมพูชาก่อน โดยการนำระบบดิจิทัลเข้ามาช่วยให้การชำระค่าสินค้าระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายเกิดความคล่องตัวยิ่งขึ้น สิ่งที่เป็นเป้าหมายสำคัญคือการสร้างแพลตฟอร์มการชำระเงินแห่งภูมิภาค (Single Regional Payment Platform) เพื่อสร้างความสะดวกสบายและเข้าถึงผู้บริโภครายย่อยในภูมิภาคผ่านแพลตฟอร์มของธนาคาร ปัจจุบันธนาคารได้เริ่มแผนการดังกล่าวจากโครงการ ‘QR KBank’ แอปฯ กระเป๋าเงินออนไลน์สำหรับชาวเวียงจันทน์ในสปป.ลาว ช่วยให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้โดยไม่ใช้เงินสด ซึ่งนำร่องให้บริการที่ตลาดหนองจันเป็นพื้นที่แรก

 

 

พิพิธตั้งเป้าว่าจะมีธุรกรรมผ่าน ‘QR KBank’ ประมาณ 2 ล้านรายการ มูลค่ากว่า 3.6 หมื่นล้านกีบหรือประมาณ 115 ล้านบาทภายในปี 2562 นี้ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างแพลตฟอร์มการชำระเงินแห่งภูมิภาค ช่วยให้ธนาคารเข้าใจถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ใช้จ่ายด้วยระบบดิจิทัล (Digital Spender) ในสปป.ลาว พร้อมตั้งเป้าหมายขยายการให้บริการและเชื่อมต่อแพลตฟอร์มเข้าด้วยกันทั่ว CCLMVI ในอนาคต โดยธนาคารตั้งเป้าหมายการเติบโตรายได้จากธุรกิจในต่างประเทศกว่า 8 เท่าภายใน 3 ปีข้างหน้า  

 

ไม่เพียงแต่ภาพใหญ่ในเวทีภูมิภาคของกสิกรไทยเท่านั้น กลยุทธ์ธุรกิจและการปรับทุกองค์ประกอบขององค์กรก็คือหัวใจที่สำคัญไม่แพ้กันด้วย

 

จับมือพันธมิตร ปรับองค์กรให้รู้ใจ ด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัย

 

พัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ผู้นำเสนอ i ตัวที่สามนั่นคือ Integrate โดยให้ข้อมูลว่าธนาคารได้จับมือกับพันธมิตรแพลตฟอร์มเพื่อขยายฐานลูกค้าเพื่อเข้าถึงทุกความต้องการของลูกค้าในทุกมิติ พร้อมรองรับลูกค้าทั้งบนแพลตฟอร์มของธนาคารเองผ่าน K PLUS และเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มอื่นทั้งโซเชียลมีเดีย แอปพลิเคชันแชต การช้อปปิ้ง ตลอดจนการเดินทาง โดยตั้งเป้าเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดการสร้างรายได้จากการให้สินเชื่อลูกค้าบุคคลจากปัจจุบัน 7% เป็น 16%  ซึ่งจำนวนผู้กู้ยืมในตลาดนี้มีถึง 31.3 ล้านราย เชื่อว่าการผนึกพันธมิตรแพลตฟอร์มชั้นนำจะช่วยให้สามารถเรียนรู้และทำความเข้าใจลูกค้าเพื่อสร้างรายได้ใหม่ชดเชยการลดลงของรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยได้

 

 

พัชรเชื่อว่าธนาคารกสิกรไทยจะสามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงินปี 2562 ที่วางไว้ ด้วยอัตราการเติบโตของเงินให้สินเชื่อรวม 5-7% แบ่งเป็นสินเชื่อธุรกิจบริษัทเติบโต 3-5% สินเชื่อเอสเอ็มอีเติบโต 2-4% และสินเชื่อลูกค้ารายย่อยเติบโต 9-12% ขณะที่อัตราส่วนผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ 3.3-3.5% อัตราการเติบโตของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย -5% ถึง -7% และอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อรวม 3.3-3.7%  

 

จะเห็นได้ว่าช่วงที่ผ่านมากสิกรไทยอยู่ในพื้นที่ข่าวเสมอ โดยเฉพาะการเกิดดีลธุรกิจใหม่ๆ กับผู้เล่นทั้งในและนอกอุตสาหกรรม เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจและต่อยอดไปสู่การเข้าถึงลูกค้าในทุกมิติ

 

 

อีกส่วนงานสำคัญที่เป็นความหวังในการเปลี่ยนกสิกรไทยเป็นธนาคารอัจฉริยะก็คือ i ตัวที่ 4 Innovate ซึ่ง เรืองโรจน์ พูนผล ประธาน กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) ประกาศพา KBTG สู่องค์กรเทคโนโลยีที่ดีที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายในปี 2565 โดยเริ่มจากงบลงทุนด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี และบุคลากร ในปีนี้กว่า 5 พันล้านบาท เพื่อให้ KBTG เป็นศูนย์กลางสำคัญของผู้ที่มีความรู้และเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีของภูมิภาคดังเช่นแบรนด์ไอทียักษ์ใหญ่ระดับยูนิคอร์นของอาเซียนเป็นในขณะนี้

 

 

KBTG จะยังเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันธนาคารกสิกรไทยสู่เป้าหมายการเป็นผู้ให้บริการที่รู้ใจลูกค้าด้วยช่องทางดิจิทัลที่ล้ำสมัย โดยการนำเสนอแนวคิดแห่งนวัตกรรมใหม่ที่เรียกว่า Augmented Intelligence (AI) เพื่อขับเคลื่อนองค์กร ซึ่งเป็นการผสานพลังของปัญญาประดิษฐ์กับความสามารถของบุคลากรที่สั่งสมประสบการณ์ ความรู้ ความเข้าใจในธุรกิจและความต้องการของลูกค้าอย่างลึกซึ้งเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ในอนาคต สำหรับแนวคิดธนาคารอัจฉริยะ (Cognitive Banking) นั้นจะส่งมอบคุณค่าสำคัญ 3 ด้านให้แก่ลูกค้านั่นคือ บริการที่ฉลาด รู้ใจ (Highly Intelligence) บริการที่ปรับรูปแบบตามไลฟ์สไตล์ของลูกค้า (Highly Adaptive) และเข้าใจ รู้ใจ ลูกค้าแต่ละคนอย่างลึกซึ้ง (Highly Personalized)

 

นอกจากนี้เรืองโรจน์ยังเน้นย้ำวิสัยทัศน์ ‘นวัตกรรมที่ดีต้องสร้างคุณค่าให้แก่ทุกคน’ (Inclusive Innovation) ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ลดต้นทุนเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการของธนาคารได้ และประยุกต์ใช้ข้อมูลเพื่อเพิ่มความสามารถในการให้บริการแก่กลุ่มลูกค้าที่กว้างขวางขึ้น  ที่สำคัญคือธนาคารจะทำงานร่วมกับพันธมิตรต่างๆ มากขึ้น ผ่านนวัตกรรมแห่งความร่วมมือ 3 รูปแบบ ได้แก่ 1. Open Banking API ที่ช่วยต่อเชื่อมบริการของธนาคารให้แก่พันธมิตรโดยสะดวกและปลอดภัย 2. K PLUS Business Platform จากการเป็นธนาคารบนโทรศัพท์มือถือไปสู่การเป็นแพลตฟอร์มสำหรับธุรกิจที่พันธมิตรสามารถนำไปต่อยอดสร้างบริการแบบดิจิทัล  และ 3. Innovation Sandbox คือพื้นที่รองรับการทดสอบทางนวัตกรรมใหม่ๆ ของพันธมิตรโดยเฉพาะกลุ่มสตาร์ทอัพ

 

 

มากกว่าเทคโลยี คือเรื่องของคนที่ใช้เทคโนโลยี เมื่อมีสิ่งใหม่เข้ามาในธุรกิจ การเข้าใจและวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงลึกถือเป็นโจทย์สำคัญ จำเป็นอย่างยิ่งที่บุคลากรในองค์กรจะต้องปรับตัวและกลายเป็นผู้ที่ทำงานในโลกดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุข เรื่องนี้ ขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย อธิบาย i ตัวที่ 5 คือ Insight ได้ดีทีเดียว เธอมองว่าเทคโนโลยีและไลฟ์สไตล์ของลูกค้าสอดผสานกันมากยิ่งขึ้น การใช้ชีวิตของลูกค้ามีหลากหลายมิติและมีความต้องการที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น ธนาคารจึงให้ความสำคัญกับเครื่องมือในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ความต้องการเชิงลึกหรือ Insight เพื่อให้เข้าใจและรู้ใจลูกค้ามากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างประสบการณ์ที่สะดวกไร้รอยต่อ ทุกที่ ทุกเวลา (Frictionless, Anywhere, Anytime) จากนี้จะมีบริการที่ช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงบริการได้ง่ายขึ้นเช่น เทคโนโลยีการจดจำใบหน้า (Face Recognition) สำหรับการเปิดบัญชีธนาคารหรือการใช้เสียงเพื่อยืนยันตัวตนสำหรับการจ่ายเงินหรือการถอนเงิน โดยไม่ต้องใช้บัตรหรือแม้แต่โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น

 

 

จากนี้ธนาคารกสิกรไทยจะสามารถขยายการบริการสู่ฐานลูกค้าที่กว้างขึ้น ช่วยสร้างโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อให้กับลูกค้ากลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบของธนาคารและกลุ่มลูกค้าที่มีการเดินบัญชีผ่านธนาคารน้อยหรือไม่มีหลักฐานแสดงรายได้ที่สม่ำเสมอ เนื่องจากรูปแบบอาชีพของผู้คนในปัจจุบันค่อนข้างหลากหลาย ไม่ได้เป็นเพียงมนุษย์เงินเดือนอย่างเดียว ยังมีผู้ประกอบธุรกิจขนาดเล็กและผู้ที่ทำอาชีพอิสระที่มีศักยภาพอีกมากที่ควรจะได้รับการสนับสนุนจากธนาคาร

       

จากนี้กสิกรไทยจะเป็นธนาคารที่ขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้าด้วยฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ (Data-Driven Bank) อย่างเต็มตัว เชื่อว่าจะทำให้ธนาคารลดต้นทุนการดำเนินงาน ขยายบริการเพื่อรองรับลูกค้าได้รวดเร็วและกว้างมากยิ่งขึ้น สิ่งที่ธนาคารให้ความสำคัญสูงสุดคือข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์จะไม่สามารถระบุตัวตนของลูกค้าได้ และธนาคารจะไม่แชร์ข้อมูลลูกค้าของโดยเด็ดขาดหากปราศจากการให้ความยินยอมของลูกค้า

 

ธนาคารกสิกรไทยตั้งเป้าหมายที่ท้าทายของปี 2562 เรื่องการปล่อยสินเชื่อแบบ Data-Driven Lending เป็นวงเงิน 3 หมื่นล้านบาท พร้อมตั้งเป้าหมายการนำข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจเพื่อนำไปสู่การสร้างรายได้มีสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 50% ของรายได้ทั้งหมดของธนาคาร

 

 

ขณะนี้ธนาคารกสิกรไทยได้สร้างความพร้อมสำคัญใน 4 ด้าน ได้แก่

1. ด้านข้อมูล ธนาคารมีข้อมูลพร้อมให้ทุกฝ่ายงานในองค์กรสามารถนำไปวิเคราะห์ประกอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น

2. ด้านเทคโนโลยี เพื่อเตรียมพร้อมในการรองรับการเติบโตของธุรกิจอย่างก้าวกระโดดในอนาคต

3. ด้านบุคลากร ธนาคารได้พัฒนาศักยภาพด้านการวิเคราะห์ข้อมูลให้กับพนักงาน โดยปัจจุบันได้พัฒนาบุคลากรด้านการวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจหรือ Business Analytics ไปแล้วกว่า 500 คน และ Machine Learning Analytics จำนวน 284 คน

4. ด้านวัฒนธรรมองค์กรแห่งการขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ผสานความฉลาดของคนเข้ากับเทคโนโลยี (Augmented Intelligence) เพื่อไปสู่การเป็นธนาคารอัจฉริยะ (Cognitive Banking) ธนาคารได้ปรับโครงสร้างเพื่อมุ่งเน้นใน 3 ด้าน ได้แก่ กลุ่มงานด้านการขายและบริการ ที่มุ่งตอบโจทย์ลูกค้าแบบรายบุคคล (Segment of One) กลุ่มงานยุทธศาสตร์ที่มุ่งเน้นด้านการนำข้อมูลมาสร้างประโยชน์ให้แก่ธนาคาร และกลุ่มงานด้านผลิตภัณฑ์ที่มุ่งนำเสนอนวัตกรรมบริการที่ตอบโจทย์ตรงใจ

 

 

ถือเป็นการเขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ขึ้นอีกครั้งของธนาคารกสิกรไทยที่ไม่เพียงรุกตลาดต่างประเทศอย่างมั่นใจ แต่ยังเป็นการรุกเข้าไปในหัวใจของผู้บริโภคทุกคนที่จะได้รับการตอบสนองความต้องการอย่างรู้ใจ แบบที่ไม่มีใครทำได้มาก่อนด้วยเทคโนโลยีและเครือข่ายของพันธมิตรที่พร้อมสร้างโลกใหม่ของอุตสาหกรรมการเงินไปด้วยกัน

 

เมื่อเข้าใจก็รู้ใจ เมื่อรู้ใจก็ชนะใจในที่สุด

 

สามารถรับชม vision ของผู้บริหารแต่ละท่านได้จากคลิปนี้

 

 

สามารถชมบรรยากาศภายในงานได้จากคลิปวีดีโอนี้

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • ธนาคารกสิกรไทย
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising