×

ศูนย์วิจัยกสิกรคาด ห้ามนั่งรับประทานในร้านฉุดมูลค่าธุรกิจร้านอาหารปีนี้ลง 5.5-7 หมื่นล้าน แนะรัฐเร่งออกมาตรการช่วยเหลือครอบคลุมมากขึ้น

05.07.2021
  • LOADING...
ธุรกิจร้านอาหาร

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า การระบาดของโควิดที่รุนแรงมากขึ้น และการประกาศยกระดับของมาตรการควบคุมได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อธุรกิจร้านอาหาร ทำให้มูลค่ารวมของธุรกิจร้านอาหารในกรณีพื้นฐานทั้งปี 2564 อาจหดตัวลงเหลือเพียง 3.5 แสนล้านบาท ขณะที่ในกรณีเลวร้ายอาจลดลงเหลือเพียง 3.35 แสนล้านบาท นอกจากนี้สถานภาพของผู้ประกอบการที่บอบช้ำอย่างรุนแรงทำให้การช่วยเหลือเพิ่มเติมที่ครอบคลุมและเข้าถึงได้มากยิ่งขึ้นเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากต่อความอยู่รอดของผู้ประกอบการในระยะข้างหน้า

 

บทวิเคราะห์ล่าสุดของศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า การต้องยกระดับมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้ธุรกิจร้านอาหารต้องกลับมางดให้บริการการนั่งรับประทานในร้านให้เหลือเพียงช่องทางการนำกลับไปบริโภคเป็นระยะเวลา 30 วัน จะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อธุรกิจร้านอาหารในปีนี้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหารที่รายได้หลักมาจากการให้บริการนั่งรับประทานในร้าน (Full Service) เช่น สวนอาหาร ร้านอาหารบุฟเฟต์ ร้านอาหารไฟน์ไดนิ่ง ซึ่งมีรายได้มากกว่า 70% จากช่องทางดังกล่าวรวมถึงมีข้อจำกัดในการปรับตัว ทำให้จะได้รับผลกระทบค่อนข้างสูง ขณะที่ร้านอาหารกลุ่มอื่น อาทิ ร้านอาหารที่ให้บริการจำกัด (Limited Service) และร้านอาหารข้างทาง (Street Food) ซึ่งมีความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการสูงกว่าน่าจะได้รับผลกระทบลดหลั่นกันลงไปตามกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

 

โดยเชื่อว่าแม้ว่าภายหลังจากครบกำหนด 30 วัน สถานการณ์โควิดในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล อาจจะดีขึ้น จนทางการกลับมาผ่อนคลายมาตรการให้เปิดบริการนั่งรับประทานในร้านได้ แต่ผลกระทบที่ตามมาคือธุรกิจร้านอาหารยังคงต้องเผชิญกับปัจจัยลบรอบด้านทั้งกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง ขณะเดียวกันผู้บริโภคมีความกังวลจากโควิด ทำให้หลีกเลี่ยงการออกไปนั่งรับประทานที่ร้าน ซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้ของธุรกิจร้านอาหารที่จะยังไม่กลับมาฟื้นตัว

 

จากปัจจัยข้างต้นทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดประมาณการมูลค่าธุรกิจร้านอาหารในปี 2564 นี้ โดยประเมินทิศทางธุรกิจร้านอาหารไว้ 2 กรณี ดังนี้​

 

กรณีพื้นฐานคือภาครัฐสามารถควบคุมการระบาดของโควิดได้เร็ว ธุรกิจร้านอาหารในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล สามารถกลับมาเปิดให้บริการนั่งในร้านได้ตามปกติ การใช้ชีวิตประจำวันและการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศน่าจะทยอยกลับมา ส่งผลให้เกิดการฟื้นตัวของธุรกิจร้านอาหาร ในกรณีนี้คาดว่ามูลค่าของธุรกิจร้านอาหารในปี 2564 จะหายไป 5.5 หมื่นล้านบาทเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หรือเหลือเพียง 3.50 แสนล้านบาท (-13.5%)

 

กรณีเลวร้ายคือความเสี่ยงการระบาดของโควิดที่อาจจะมีการกระจายตัวเพิ่มขึ้นเป็นวงกว้างและยาวนานกว่า 30 วัน ซึ่งอาจจะมีความเป็นไปได้ที่ทางการอาจจะคงมาตรการควบคุมการระบาดของโรคและการผ่อนปรนมาตรการจำกัดการให้บริการนั่งในร้านจะยังเป็นไปอย่างระมัดระวัง ทำให้การฟื้นตัวของธุรกิจร้านอาหารน่าจะมีความล่าช้าและสร้างผลกระทบในระยะกลางกับผู้ประกอบการร้านอาหาร ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่ามูลค่าของธุรกิจร้านอาหารในปี 2564 จะหายไป 7 หมื่นล้านบาทเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หรือเหลือเพียง 3.35 แสนล้านบาท (-17.3%)

 

ทั้งนี้ มองว่าการสื่อสารที่ชัดเจนและความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากภาครัฐเพื่อให้ครอบคลุมมากขึ้น จะเป็นส่วนสำคัญต่อการอยู่รอดของผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหาร เนื่องจากในช่วงเวลา 1-2 ปีที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าผู้ประกอบการร้านอาหารจะพยายามปรับตัวอย่างสุดความสามารถ และภาครัฐได้มีการออกนโยบายช่วยเหลือเบื้องต้น แต่ผลกระทบต่อเนื่องที่สะสมได้สร้างความบอบช้ำอย่างมากต่อธุรกิจร้านอาหาร และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง ทำให้ภาครัฐอาจมีความจำเป็นในการที่จะควบคุมการระบาดของโรคโควิดเพิ่มเติมในระยะข้างหน้า ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจอย่างเลี่ยงไม่ได้  

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเสนอแนะว่า เนื่องจากธุรกิจร้านอาหารมีความแตกต่างในโครงสร้างของธุรกิจ โดยเฉพาะในด้านต้นทุน ซึ่งวัตถุดิบที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นของสดและมีวันหมดอายุ (ต้นทุนอาหารคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 25-40% ของรายได้) ทำให้การประกาศมาตรการควบคุมในระยะข้างหน้า ทางการอาจจะพิจารณามาตรการอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากเบาไปที่เข้มงวด (หรือใช้การหน่วงเวลา) เพื่อให้ภาคธุรกิจร้านอาหารสามารถเตรียมพร้อมรองรับกับการเปลี่ยนแปลงมาตรการ ผ่านการลดสต๊อกวัตถุดิบ ปรับช่องทางการขาย รวมถึงการสื่อสารกับกลุ่มผู้บริโภค

 

นอกจากนี้ในระยะต่อไปภาครัฐควรมีการพิจารณาการช่วยเหลือเพิ่มเติมเพื่อให้ครอบคลุมปัญหาในมิติอื่นๆ ของผู้ประกอบการร้านอาหาร เช่น ค่าเช่าพื้นที่และค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภค การเข้าถึงสภาพคล่องของผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหาร รวมถึงหลักเกณฑ์การชดเชยที่มีต่อผู้ประกอบการและกลุ่มลูกจ้างที่ชัดเจนและครอบคลุมทุกกลุ่มมากยิ่งขึ้น

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising