ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ปี 2564 นี้ มองว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวค่อนข้างสูง 5% แต่เศรษฐกิจไทยยังจะเติบโตราว 2.6% ซึ่งเศรษฐกิจไทยจะโตช้าที่สุด ทว่ายังมีโอกาสน้อยที่เศรษฐกิจไทยที่จะหดตัวเป็นปีที่ 2 โดยมีปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่
- โครงสร้างทางเศรษฐกิจที่พึ่งพาการท่องเที่ยวสูง
- การควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 การกระจายและประสิทธิผลของวัคซีน
- มาตรการการเงินการคลังที่โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะออกแพ็กเกจที่มีเม็ดเงินกว่า 1.9 ล้านล้านดอลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ สาเหตุที่ไทยจะโตช้ากว่าประเทศอื่นๆ เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจพึ่งพิงรายได้ท่องเที่ยวที่คิดเป็น 10% ของ GDP และไทยไม่มีตัวช่วยอื่นๆ เหมือนเวียดนาม (การลงทุน) แต่มองว่าการท่องเที่ยวไทยจะฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดการคาดการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยใน
ปี 2564 มาอยู่ที่กรอบประมาณ 2.0-4.5 ล้านคน (จากเดิมที่คาดไว้ 4.5-7.0 ล้านคน) ซึ่งหากช่วงปลายปีนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ถึงยอดที่คาดไว้อาจส่งผลลบต่อเศรษฐกิจไทย จึงต้องติดตามตัวแปรหลักของเศรษฐกิจอย่าง ‘วัคซีน’ ที่จะส่งผลว่าไทยจะเปิดรับการท่องเที่ยวอย่างไร
“จากข้อมูลตอนนี้จะเห็นว่าประเทศอย่างสหรัฐฯ อังกฤษที่มีฐานการผลิตวัคซีน มีการผลิตค่อนข้างรวดเร็ว โดยจำนวนประชากรที่ได้รับวัคซีนก็สอดคล้องกับผู้ติดเชื้อรายวันที่ลดลง แต่ปัจจุบันยังไม่ถึง 50% ที่จะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ และยังต้องติดตามว่าวัคซีนจะมีประสิทธิผลอย่างไร (เช่น รับกับการกลายพันธุ์ ฯลฯ)”
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยน่าจะได้รับผลดีจากเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐตาม พ.ร.บ. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เช่น เราชนะ เรารักกัน ฯลฯ ซึ่งหากไม่เกิดการแพร่ระบาดรอบใหม่ น่าจะเห็นการนำเม็ดเงินส่วนที่เหลือใช้ฟื้นฟูภาคครัวเรือน และช่วยให้การท่องเที่ยวประคองตัวต่อไปได้
เกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า แม้เศรษฐกิจไทยจะครบปีจากการล็อกดาวน์รอบแรก แต่ยังไม่เห็นจังหวะการฟื้นตัวชัดเจน โดยเฉพาะภาคธุรกิจต่างๆ ที่พึ่งพารายได้จากต่างประเทศ เช่น ท่องเที่ยว ยังคงลำบากต่อเนื่อง
โดยเฉพาะใน 6 จังหวัด (ภูเก็ต, กระบี่, พังงา, สุราษฎร์ธานี, ชลบุรี, กรุงเทพฯ) ที่ต้องติดตามเป็นพิเศษ ที่คาดว่าจะราว 30-40% ของธุรกิจโรงแรมที่ต้องออกจากธุรกิจไป เพราะกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไป
อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะมีแรงส่งจากตลาดคนไทยเที่ยวในประเทศปี 2564 ที่ราว 90-120 ล้านคนต่อครั้ง แต่ยังไม่สามารถทดแทนการหายไปของรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่สร้างรายได้ธุรกิจโรงแรมและที่พักกว่า 5 แสนล้านบาท (สัดส่วน 70% ของรายได้ท่องเที่ยวในส่วนของโรงแรมและที่พักทั้งหมด)
ล่าสุดทางภาครัฐมีการผลักดันมาตรการ Asset Warehousing สำหรับธุรกิจโรงแรม แต่ยังต้องรอความชัดเจนในหลายประเด็น เช่น เงื่อนไข และการเปรียบเทียบสถานการณ์ของตนระหว่างการเข้าโครงการและอยู่กับสถาบันการเงินเดิม
นอกจากนี้ มองว่าเซกเตอร์ที่จะได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องคือ ค้าปลีก และกลุ่มผู้ประกอบการที่เช่าพื้นที่ในห้างสรรพสินค้า ที่แม้การล็อกดาวน์บางส่วนครั้งนี้จะไม่มีการปิดห้าง แต่คนระมัดระวังมากขึ้น ประกอบกับกำลังซื้อที่อ่อนแอและการจ้างงานที่ลดลง
สุดท้ายด้าน ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ปีนี้ภาคการเงินต้องติดตามสภาพคล่องภาคธุรกิจ SMEs มีปัญหาไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ ซึ่งไม่ได้แสดงออกใน NPL แต่สามารถดูได้จากจำนวนลูกค้าที่รับความช่วยเหลือทางการเงิน SMEs 27-28% ของสินเชื่อธนาคารทั้งหมด ซึ่งพอมีโควิด-19 รอบใหม่อาจมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น (ช่วงโควิด-19 ระลอกแรก ขึ้นสูงถึง 50%)
ขณะที่ผลกระทบนี้ยังเห็นชัดในกลุ่มรายย่อยที่เข้าขอรับความช่วยเหลือราว 15-20% ของสินเชื่อแบงก์ จึงต้องติดตามมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐที่จะออกมาเพิ่มเติมทั้งรายย่อยและผู้ประกอบการ SMEs
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล