×

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ เชื่อคนไม่ตระหนก ‘ลดคุ้มครองเงินฝาก’ เหลือ 1 ล้าน แต่กลุ่มสูงวัยอาจย้ายไปฝากกับแบงก์รัฐมากขึ้น

07.08.2021
  • LOADING...
Reduce deposit protection

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากลงมาอยู่ที่ 1 ล้านบาทต่อบัญชีต่อรายสถาบันการเงิน ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตามกฎหมายในวันที่ 11 สิงหาคม 2564 จะไม่ก่อให้เกิดการโยกย้ายเงินฝากในวงกว้าง โดยเชื่อว่าผลกระทบต่อการย้ายเงินฝากน่าจะอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ไทยยังมีสถานะสภาพคล่องและเงินทุนที่แข็งแกร่ง ทำให้ยังเป็นตัวเลือกที่ดีในการฝากเงินและสร้างความมั่นใจให้ผู้ฝากว่าจะได้รับเงินคืนเต็มจำนวน พร้อมผลตอบแทนในอัตราที่กำหนด 

 

นอกจากนี้การฝากเงินที่ธนาคารพาณิชย์ยังตอบโจทย์มากกว่าเรื่องของความมั่นคง นั่นคือความสะดวกสบายในการใช้บริการทางการเงินอื่นๆ ทั้งโอนเงิน ชำระเงิน รวมถึงเป็นรากฐานข้อมูลการทำธุรกรรมเพื่อใช้บริการสินเชื่อในอนาคต หรือเป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อ

 

ทั้งนี้เมื่อย้อนกลับมาดูสถานะทางการเงินของระบบธนาคารพาณิชย์ (รวมธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในไทยและสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ) พบว่า 

 

สถานะระบบแบงก์ไทยยังเข้มแข็งเทียบกับต่างชาติได้ แม้จะมีความไม่แน่นอนจากสถานการณ์โควิด โดยมีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงรวมสูงถึง 20.12% สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่ประมาณ 11-12% รวมถึงมีการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง (% LCR) ที่ 195.14% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ปัจจุบันของทางการที่ 100%

 

ดังนั้นแม้จะอยู่ภายใต้สถานการณ์โควิดที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง แต่ด้วยสถานะทางการเงินที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับช่วงวิกฤตปี 2540 อย่างมีนัยสำคัญ ประกอบกับมีเกณฑ์การผ่อนปรนจากทางการ อาทิ ความยืดหยุ่นในการจัดชั้นหนี้ และการกันสำรองหนี้ด้อยคุณภาพในระดับสูงถึง 1.49 เท่าของ NPL ระบบธนาคารไทยจะยังสามารถรับมือกับสถานการณ์ที่ยังมีความไม่แน่นอนได้ โดยที่ยังทำหน้าที่เกื้อกูลช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบและทำหน้าที่ปล่อยสินเชื่อให้กับลูกหนี้ที่ยังมีธุรกิจอยู่ ประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและสามารถส่งมอบเงินฝากพร้อมผลตอบแทนคืนให้ผู้ฝากได้ทุกบาททุกสตางค์  

 

นอกจากนี้แม้จะลดวงเงินฝากคุ้มครองมาที่ 1 ล้านบาทต่อรายต่อสถาบันการเงิน แต่ความครอบคลุมจำนวนบัญชีเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ยังสูงถึงกว่า 98.0% โดยครอบคลุมผู้ฝากเงิน 82.1 ล้านราย สอดคล้องกับหลักการของการคุ้มครองเงินฝากที่ให้สวัสดิการดูแลพื้นฐานกับคนส่วนใหญ่ของประเทศ

 

ขณะที่หากมองในมิติเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ ความคุ้มครองจะครอบคลุมประมาณ 3.2 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 1 ใน 5 ของเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์รวมทั้งหมด เนื่องจากประกอบด้วยบัญชีบุคคลรายย่อยที่มีฐานะ บัญชีเงินฝากกลุ่มสถาบันหรือธุรกิจที่มีมูลค่าเงินฝากต่อบัญชีจำนวนมากกว่า 1 ล้านบาทในสัดส่วนอีก 4 ใน 5 ที่เหลือ ซึ่งมองว่ากลุ่มผู้ฝากเหล่านี้มีความรู้เพียงพอที่จะดูแลความมั่งคั่งของตนให้ปลอดภัยได้ รับความเสี่ยงจากการออม/ลงทุนได้มากกว่า รวมถึงใช้บัญชีเงินฝากเพื่อเป็นทางผ่านของธุรกรรมการเงินเพื่อธุรกิจมากกว่าการออมเพื่อได้รับความคุ้มครองเงินต้นและดอกเบี้ย

 

สำหรับแนวโน้มเงินฝากในระยะที่เหลือของปี 2564 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์มีแนวโน้มเติบโตในกรอบ 3.5-4.5% เทียบกับอัตราการเติบโตที่ประมาณ 3.6%YoY ณ เดือนมิถุนายน 2564 โดยสาเหตุที่ทำให้เงินฝากเติบโตในกรอบจำกัด มาจาก 1. ผลกระทบจากโควิดหลายระลอก ซึ่งคาดว่าจะกระทบอัตราการขยายตัวของเงินฝากในกลุ่มเงินฝากที่มียอดคงค้างต่อบัญชีไม่สูงมากนัก เนื่องจากรายได้ที่ลดลง/หายไป ทำให้ภาระหนี้เพิ่มและอาจต้องพึ่งเงินออมในการประคองการใช้จ่ายจำเป็น และ 2. การกระจายการลงทุนไปสู่ช่องทางอื่นๆ ท่ามกลางอัตราผลตอบแทนที่อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งน่าจะอธิบายอัตราการเติบโตของเงินฝากในกลุ่มที่มียอดคงค้างต่อบัญชีในระดับสูง ที่เห็นการเติบโตชะลอลงค่อนข้างชัดเจน นอกเหนือไปจากการที่ผู้ฝากกลุ่มนี้ ซึ่งคงปะปนด้วยผู้ที่มีธุรกิจส่วนตัว จะนำเงินออมไปประคองธุรกิจบางส่วนเช่นกัน

 

อย่างไรก็ตาม ในระยะถัดไป หากเทียบกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐนั้น การที่มีรัฐช่วยสร้างความมั่นใจในการคุ้มครองเงินฝาก อาจช่วยเพิ่มโอกาสและขีดความสามารถของสถาบันการเงินเฉพาะกิจในการดึงเงินฝากมูลค่าสูงและจากกลุ่มผู้ฝากที่พึ่งเงินออมเพื่อเกษียณอายุ อันอาจมีผลต่อการกำหนดอัตราผลตอบแทนเงินฝากของธนาคารพาณิชย์สำหรับกลุ่มลูกค้าดังกล่าวให้แข่งขันได้มากขึ้น 

 

นอกเหนือจากนั้น คาดว่าธนาคารพาณิชย์คงเน้นการนำเสนอบริการที่ปรึกษาทางการเงินและการลงทุน ทั้งที่ผ่านผู้ดูแลความสัมพันธ์ลูกค้าและระบบอัตโนมัติในลักษณะ Application หรือ Robo Advisors เพื่อเปิดทางเลือกของการลงทุนที่หลากหลาย ซึ่งรวมถึงทางเลือกที่ดูแลเงินต้นและสร้างผลตอบแทนที่แข่งขันได้กับเงินฝากที่ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐมากขึ้น เพื่อรักษาฐานลูกค้าเงินฝากส่วนที่เกินจากความคุ้มครองขั้นต่ำด้วย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X