×

‘กสิกรไทย’ กำไรปี 65 วูบเหลือ 3.57 หมื่นล้าน จากการตั้งสำรองเพิ่ม ด้าน ‘กรุงศรี’ ฟันกำไรทะลุ 3 หมื่นล้าน โต 20% ตามสินเชื่อและ NIM ที่ปรับดีขึ้น

20.01.2023
  • LOADING...

กสิกรไทยเผยกำไรปี 2565 วูบเหลือ 3.57 หมื่นล้านบาท ลดลง 6% จากการตั้งสำรองเพิ่ม ขณะที่กรุงศรีทำกำไรทะลุ 3 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.9% จากการเติบโตของสินเชื่อและ NIM

 

ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ในปี 2565 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 35,770 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนจำนวน 2,283 ล้านบาท หรือ 6.00% โดยกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและภาษีเงินได้มีจำนวน 98,504 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.72% เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นผลจากการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ของธนาคารและทิศทางอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเติบโตอย่างแข็งแกร่ง 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


โดยธนาคารมีอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net Interest Margin: NIM) ที่สูงขึ้นอยู่ในระดับ 3.33% ประกอบกับการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่นๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to Income Ratio) ดีขึ้นอยู่ที่ระดับ 43.15% 

 

อย่างไรก็ตาม ธนาคารและบริษัทย่อยพิจารณาตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss: ECL) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนในระดับสูงเพื่อให้สอดคล้องกับหลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง และเหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ

 

ขัตติยาระบุว่า ในปีที่ผ่านมาธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 13,608 ล้านบาท หรือ 11.40% ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อตามการเติบโตของเงินให้สินเชื่อใหม่ในกลุ่มลูกค้าบุคคล และกลุ่มลูกค้าธุรกิจ SMEs โดยเน้นการนำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัลเพิ่มขึ้น ควบคู่กับการนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์ในการปล่อยสินเชื่อซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์ของธนาคาร 

 

ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจำนวน 3,700 ล้านบาท หรือ 8.42% ส่วนใหญ่เกิดจากค่าธรรมเนียมรับจากการจัดการกองทุน ค่านายหน้าจากการซื้อขายหลักทรัพย์ และรายได้สุทธิจากการรับประกันภัยที่ลดลงซึ่งเป็นไปตามสภาวะตลาด

 

ด้านค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่นๆ เพิ่มขึ้นจำนวน 3,709 ล้านบาท หรือ 5.22% หลักๆ จากค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับรายได้ที่เพิ่มขึ้นตามปริมาณธุรกิจ และค่าใช้จ่ายทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อให้สามารถรองรับความต้องการของลูกค้า 

 

สำหรับผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss: ECL) ในปี 2565 มีจำนวน 51,919 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 28.73% เพื่อรองรับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอนาคต รวมทั้งการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจในประเทศไทยที่ยังคงเปราะบาง โดยอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 อยู่ที่ระดับ 154.26% ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น     

 

ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 ธนาคารและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 4,246,369 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2564 จำนวน 142,970 ล้านบาท หรือ 3.48% หลักๆ เป็นการเติบโตของเงินให้สินเชื่อสุทธิตามยุทธศาสตร์ของธนาคารและสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ และการเพิ่มขึ้นของรายการระหว่างธนาคารและตลาดเงินสุทธิ 

 

นอกจากนี้ ธนาคารเพิ่มความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งมีส่วนช่วยให้ลูกค้ามีสถานะทางการเงินที่ดีขึ้น สามารถประกอบธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง และจะเป็นกำลังขับเคลื่อนการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโดยรวม 

 

เงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (%NPL Gross) อยู่ที่ระดับ 3.19% สำหรับอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงินธนาคารกสิกรไทยตามหลักเกณฑ์ Basel III ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 ยังคงมีความแข็งแกร่งอยู่ที่ 18.81% โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 16.84% 

 

ทั้งนี้ งบการเงินรวมของธนาคารและบริษัทย่อยสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ได้รวมฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของธนาคารแมสเปี้ยนจากการเข้าไปลงทุนเพิ่มในช่วงปลายปี ทำให้มีสัดส่วนการถือหุ้นรวม 67.50% ของหุ้นที่ออกและชำระแล้ว ซึ่งไม่มีผลกระทบต่องบการเงินรวมอย่างมีสาระสำคัญ 

 

ในวันเดียวกันธนาคารกรุงศรีอยุธยาและบริษัทในเครือรายงานผลประกอบการของปี 2565 มีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานปกติจำนวน 30,713 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.9% หรือ 5,104 ล้านบาท จากปี 2564 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการปรับตัวดีขึ้นของภาระการตั้งสำรองและการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของเงินให้สินเชื่อและส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิที่ปรับตัวดีขึ้นในระหว่างปี

 

หากรวมรายการพิเศษจากการบันทึกกำไรจากเงินลงทุนจากการขายหุ้นของ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) ในปี 2564 กำไรสุทธิลดลง 9.1% หรือจำนวน 3,081 ล้านบาท

 

โดยธนาคารมีเงินให้สินเชื่อรวมเพิ่มขึ้น 3.1% หรือจำนวน 59,033 ล้านบาท จากสิ้นเดือนธันวาคมปี 2564 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างทั่วถึงและครอบคลุมทุกกลุ่มลูกค้า ทั้งนี้ สินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมขยายตัว 3.8% และ 5.3% ตามลำดับ

 

ขณะที่เงินรับฝากเพิ่มขึ้น 1.4% หรือจำนวน 25,553 ล้านบาท จากสิ้นเดือนธันวาคมปี 2564 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของเงินรับฝากประเภทออมทรัพย์

 

ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ 3.45% จาก 3.24% ในปี 2564 โดยเป็นผลมาจากการปรับตัวดีขึ้นของอัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์ ขณะที่ต้นทุนทางการเงินคงที่

 

ด้านรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยจากการดำเนินงานตามปกติ ลดลง 4.6% หรือ 1,561 ล้านบาท จากปี 2564 หากรวมรายการพิเศษจากการบันทึกกำไรจากเงินลงทุนจากการขายหุ้นของเงินติดล้อในปี 2564 รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจำนวน 12,288 ล้านบาท หรือ 27.4%

 

อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้อยู่ที่ 43.8% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานตามปกติ (หากไม่รวมกำไรพิเศษจากการขายหุ้นเงินติดล้อ) ที่ 43.2% ในปี 2564

 

สำหรับอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio) อยู่ที่ 2.32% เมื่อเทียบกับ 2.20% ณ สิ้นปี 2564 โดยมีสัดส่วนการตั้งสำรองต่อสินเชื่อรวมในระดับ 136 bps ในปี 2565  ขณะที่อัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 167.4% ส่วนอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (ของธนาคาร) อยู่ที่ 17.97% ลดลงจาก 18.53% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564

 

เซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ในปี 2566 แม้ว่าหลายตัวแปรทางความเสี่ยงอย่างภาวะเศรษฐกิจถดถอยและปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งอาจกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย 

 

อย่างไรก็ดี การท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนจะยังคงเป็นแรงสนับสนุนหลักที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยต่อเนื่องจากปี 2565 และบรรเทาผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ กรุงศรีคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ในอัตรา 3.6% ในปี 2566

 

ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 กรุงศรี ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจการเงินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ในระบบเศรษฐกิจไทยจากมูลค่าสินทรัพย์ สินเชื่อและเงินรับฝาก และเป็นหนึ่งในสถาบันการเงินที่มีความสำคัญเชิงระบบ (D-SIB) มีสินเชื่อรวม 1.95 ล้านล้านบาท เงินรับฝาก 1.80 ล้านล้านบาท และสินทรัพย์รวม 2.64 ล้านล้านบาท 

 

ขณะที่เงินกองทุนของธนาคารอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 300.70 พันล้านบาท หรือเทียบเท่า 17.97% ของสินทรัพย์เสี่ยง โดยเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นของเจ้าของคิดเป็น 13.23%

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising