เศรษฐกิจไทยยังมีสัญญาณฟื้นตัวช้า กดดันสินเชื่อแบงก์โตต่ำ คาด สินเชื่อ เช่าซื้อปี 2567 จะหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน หลังเผชิญปัญหาความต้องการซื้อรถใหม่ที่ลดลงมากกว่าคาด
กาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ล่าสุดศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดประมาณการของระบบ สินเชื่อ ธนาคารพาณิชย์สำหรับปี 2567 จากประมาณการเดิม ณ เดือนมกราคม 2567 ที่จะขยายตัว 3% ลดลงมาเหลือขยายตัว 1.5% สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจไทยที่ยังมีสัญญาณฟื้นตัวช้า ส่งผลให้สินเชื่อรายย่อยปี 2567 อาจเติบโตในระดับต่ำค่อนข้างมาก โดยเฉพาะสินเชื่อบ้านและสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์
ขณะที่สินเชื่อธุรกิจอาจมีแรงหนุนกลับมาบางส่วน หากกิจกรรมทางเศรษฐกิจประคองตัวกลับมาได้ในช่วงที่เหลือของปี
ภาพรวมสินเชื่อของระบบแบงก์ไทยไตรมาส 2/67
โดยนับจากต้นปี 2567 ที่ผ่านมา สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในไทยมีภาพค่อนข้างอ่อนแอ โดย ณ สิ้นไตรมาส 2/67 สินเชื่อหดตัว 0.2%YoY เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการหดตัวรายไตรมาสเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 4/52 โดยสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อรายย่อยหดตัวลง 1.3%YoY และหดตัวลง 0.03%YoY ในไตรมาส 2/67 ตามลำดับ
สำหรับสถานการณ์สินเชื่อดังกล่าวสอดคล้องกับทิศทางการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ หลังเผชิญปัจจัยถ่วงจากทั้งในและนอกประเทศ ประกอบกับหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ซึ่งมีผลต่อการเบิกใช้สินเชื่อใหม่ อีกทั้งในช่วงไตรมาส 2/67 ยังคงมีแรงกดดันจากการทยอยชำระคืนสินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อภาครัฐและภาคธุรกิจ ขณะที่สินเชื่อรายย่อยมีสัญญาณชะลอตัวในภาพรวม โดยสินเชื่อบ้านชะลอการเติบโต 0.8%YoY สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์หดตัว 6.2%YoY สินเชื่อบัตรเครดิตหดตัว 2.4%YoY และสินเชื่อบุคคลชะลอการเติบโต 4.4%YoY
มุมมองต่อภาพรวมสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในปี 2567
ในช่วงที่เหลือของปี 2567 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าแม้สินเชื่อยังมีโอกาสเติบโตเร่งขึ้นจากช่วงครึ่งปีแรก ตามปัจจัยด้านฤดูกาล แต่อัตราการเติบโต ณ สิ้นปี 2567 คาดว่าจะอยู่ที่ 1.5% ต่ำกว่าเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 3% และถือเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจที่วัดจาก GDP ณ ราคาประจำปี (Nominal GDP Growth) เป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน
ภาพสินเชื่อรายย่อยมีแนวโน้มชะลอตัวลงแรง
การปรับลดประมาณการสินเชื่อปี 2567 ของระบบแบงก์ไทยในรอบนี้โดยหลักๆ แล้วเป็นผลมาจากสถานการณ์สินเชื่อรายย่อย ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 36.8% ของสินเชื่อรวม โดยตัวฉุดรั้งหลักมาจากสินเชื่อเช่าซื้อที่คาดว่าในปี 2567 จะหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน หลังเผชิญปัญหาความต้องการซื้อรถใหม่ที่ลดลงมากกว่าคาด แม้ว่ายอดขายรถไฟฟ้า (BEV) จะมาแรงในปีนี้
แต่ในช่วงครึ่งปีหลังแรงส่งน่าจะอ่อนแรงลง เนื่องจากผู้ซื้อส่วนหนึ่งคงเลือกรอราคารถที่มีแนวโน้มจะลดลงอีก จากการแข่งขันของรถ BEV จากจีน ขณะเดียวกันความสามารถในการกู้ยืมของผู้บริโภคที่ลดลงยังกระทบการอนุมัติสินเชื่อเช่าซื้อรถด้วย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ซื้อรถ ICE ที่ยังเป็นตลาดหลัก
นอกจากนี้สินเชื่อบ้านที่ยังน่าจะอยู่ในภาวะอ่อนแอ โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อบ้านวงเงินต่ำกว่า 3-5 ล้านบาท ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยกดดันการเติบโตสินเชื่อรายย่อยในช่วงที่เหลือของปีด้วยเช่นกัน
สำหรับสินเชื่อธุรกิจนั้นคาดว่าสินเชื่อ SMEs ยังหดตัวต่อเนื่อง ขณะที่สินเชื่อธุรกิจรายใหญ่คงต้องรอปัจจัยฤดูกาลของการส่งออก และผลบวกจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐมาช่วยหนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาพรวม บรรเทาปัจจัยลบจากการทยอยชำระคืนหนี้ที่เกิดขึ้นระหว่างปี
ภาพ: แนวโน้มสินเชื่อช่วงที่เหลือของปี 2567 โตต่ำ)
สรุปปัจจัยกดดันสินเชื่อในช่วงข้างหน้ายังมาจากหลายส่วน ได้แก่
- ความต้องการสินเชื่อชะลอลง ทั้งจากภาคธุรกิจและครัวเรือน ดังจะเห็นได้จากรายงานภาวะและแนวโน้มสินเชื่อของสถาบันการเงินโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในไตรมาส 2/67 ที่มองออกไปในระยะ 3 เดือนข้างหน้า ซึ่งยังส่งสัญญาณเพิ่มกรอบระมัดระวังหรือยังคงชะลอตัว ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคประเภทอื่นๆ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์รายได้ในระยะข้างหน้า
- หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง กดดันความสามารถในการกู้ยืมก้อนใหม่ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อยที่มีวงเงินสูง (Big-Ticket Items) อย่างเช่นสินเชื่อบ้านและสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ซึ่งเป็นภาพที่ปรากฏชัดเจนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
- เกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อที่ยังต้องคำนึงถึงความเหมาะสมในการก่อหนี้ของลูกค้า เพื่อให้เป็นการก่อหนี้ที่เสริมความมั่นคงของกิจการหรือครัวเรือนอย่างยั่งยืนตามมาตรฐานสากลและทางการไทย โดยในอดีตและปัจจุบัน กรณีผู้กู้ที่เป็นกิจการ สถาบันการเงินจะพิจารณาความสามารถในการกู้ยืม (จากแผนธุรกิจ ประมาณการกระแสเงินสด และหลักประกัน/การค้ำประกันสินเชื่อ) และความต้องการในการชำระคืนหนี้ (จากประวัติการชำระคืนหนี้และข้อมูลของผู้บริหารกิจการ) ซึ่งความเสี่ยงเครดิตที่เพิ่มขึ้นจากปัจจัยแวดล้อมที่กระทบประเภทธุรกิจต่างๆ ในวงกว้างขึ้นจึงกระทบยอดอนุมัติสินเชื่อ
เช่นเดียวกับภาพในกรณีของลูกค้ารายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ขณะที่รายได้กลับมีความไม่แน่นอนมากขึ้น ทำให้เหลือรายได้หลังหักภาระการชำระหนี้รายเดือนที่ลดลง ความสามารถในการกู้ส่วนเพิ่มจึงลดลงตาม ทั้งนี้ การกู้ยืมรายย่อยดังกล่าวยังไม่ได้พิจารณารายได้จากกรณีการกู้ร่วม อาทิ ในกรณีของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ซึ่งทำให้ลูกหนี้ไม่ได้รับประโยชน์จากเงื่อนไขดังกล่าว
ทั้งนี้ ปัญหาความสามารถในการกู้ยืมหนี้ของลูกหนี้ที่ถดถอยลงดังกล่าว สะท้อนผ่านหนี้ด้อยคุณภาพของสินเชื่อระบบแบงก์ไทยที่มีทิศทางขาขึ้น และยังเป็นประเด็นที่รอการแก้ไข ซึ่งไม่สามารถพึ่งพาแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้เฉพาะหน้าจากฝั่งสถาบันการเงินผู้ปล่อยสินเชื่อที่คงช่วยประคองสถานการณ์การเติบโตของสินเชื่อและคุณภาพหนี้ได้ในระยะสั้น หากแต่จะต้องอาศัยการปฏิรูปเพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยและรายได้ของทั้งภาคธุรกิจและครัวเรือนในภาพรวมด้วย
อย่างไรก็ดี ตราบใดที่โจทย์ใหญ่ดังกล่าวยังไม่ได้รับการแก้ไข โอกาสที่จะเห็นสินเชื่อกลับมาเติบโตเร่งสูงกว่าอัตราการเติบโตของ GDP ณ ราคาประจำปี คงเป็นไปได้ยากขึ้น