แคชเมียร์กลายเป็นปมขัดแย้งสำคัญระหว่างอินเดียและปากีสถานมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่เจ้าอาณานิคมอังกฤษแบ่งประเทศออกเป็นอินเดีย (ส่วนใหญ่เป็นฮินดู) กับ ปากีสถาน (ส่วนใหญ่เป็นมุสลิม) ในปี 1947 โดยแคชเมียร์เป็นดินแดนที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม แต่มหาราชาแห่งแคชเมียร์ในขณะนั้นเป็นฮินดู และตัดสินใจเข้าร่วมกับอินเดีย เพื่อขอความช่วยเหลือทางทหารจากการรุกรานของกลุ่มติดอาวุธจากปากีสถาน จึงกลายเป็นชนวนเหตุเริ่มต้นความขัดแย้งระหว่างทั้งสองประเทศ
ปัจจุบันมี 3 ประเทศที่อ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่ของแคชเมียร์ ได้แก่ อินเดีย โดยอินเดียถือว่า แคว้นแคชเมียร์ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของประเทศตามกฎหมาย, ปากีสถาน โดยอ้างว่า แคชเมียร์ทั้งหมดควรเป็นส่วนหนึ่งของตน เพราะประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม อีกทั้งยังมองว่า การตัดสินใจของมหาราชาแห่งแคชเมียร์ในอดีตขัดกับเจตนารมณ์ของประชาชน ขณะที่จีนเป็นอีกหนึ่งประเทศที่อ้างกรรมสิทธิ์และครอบครองพื้นที่บางส่วนของดินแดนในแคชเมียร์ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ติดกับเขตชายแดนของตนเอง แต่จีนไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งหลักเหมือนอินเดียกับปากีสถาน
เหตุกราดยิงนักท่องเที่ยวที่เมืองพาฮัลแกมในแคชเมียร์ของอินเดีย เมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา จนเป็นเหตุให้มีนักท่องเที่ยวเสียชีวิต 26 คน กลายเป็นชนวนขัดแย้งอินเดีย-ปากีสถานระลอกใหม่ โดยอินเดียเชื่อว่า กลุ่มก่อการร้ายในปากีสถานเป็นผู้ก่อเหตุ และอาจมีความเป็นไปได้ที่เหตุความไม่สงบในแคชเมียร์มีปากีสถานสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ขณะที่ปากีสถานยืนยัน ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด
ล่าสุด อินเดียได้เริ่มปฏิบัติการซินดูร์ (Operation Sindoor) เปิดฉากยิงมิสไซล์โจมตีเป้าหมาย 9 จุดในปากีสถาน โดยมุ่งเป้าไปยังโครงสร้างพื้นฐานของกลุ่มก่อการร้าย และในพื้นที่แคว้นแคชเมียร์ส่วนที่ปากีสถานบริหารจัดการ เพื่อตอบโต้เหตุกราดยิงดังกล่าว ก่อนที่ปากีสถานจะโต้กลับด้วยการยิงปืนใหญ่ใส่แคชเมียร์ที่อินเดียครอบครอง พร้อมระบุว่า ปากีสถานมีสิทธิที่จะตอบโต้ปฏิบัติการของอินเดีย ทำให้หลายฝ่ายกังวลใจว่า ความขัดแย้งจะบานปลายกลายเป็นสงครามใหญ่หรือไม่ เนื่องจากทั้งสองประเทศต่างมีอาวุธนิวเคลียร์ไว้ในครอบครอง
ภาพประกอบ: พรวลี จ้วงพุฒซา
อ้างอิง: