เรื่องของ ‘กรรม’ มักถูกใช้เป็นแกนกลางในการดำเนินเรื่องของละครไทย ซึ่งส่วนใหญ่จะว่าด้วยบาป บุญ คุณ โทษ ตามวิถีพุทธแบบไทย แล้วถ้ากรรมถูกนำไปเล่าผ่านซีรีส์เกาหลีใต้ล่ะจะเป็นอย่างไร? ผลลัพธ์ที่ได้คือเนื้อหาโหดๆ สลับซับซ้อน เต็มไปด้วยเรื่องเซอร์ไพรส์ที่เชื่อมโยงกันไว้ด้วยกงเกวียนกำเกวียน
Karma ดัดแปลงมาจากเว็บตูนยอดนิยมของ Kakao กำกับและเขียนบทโดย อีอิลฮยอง เจ้าของผลงานภาพยนตร์ Remember และ A Violent Prosecutor และได้นักแสดงนำระดับซูเปอร์สตาร์มาร่วมงานคับคั่งทั้ง พัคแฮซู, ชินมินอา, อีฮีจุน, คิมซองกยุน, อีกวางซู และ กงซึงยอน
เรื่องราวชะตากรรมของ 6 ตัวละครที่ไม่น่าจะเชื่อมโยงกันได้ แต่เพราะเหตุการณ์ไฟไหม้ในตึกร้างแห่งหนึ่ง ทำให้หมอจูยอน (ชินมินอา) ต้องเข้าไปรักษาผู้รอดชีวิตหนึ่งเดียวจากเหตุการณ์นั้น พร้อมปลุกฝันร้ายในอดีตให้กลับมาหลอกหลอนเธออีกครั้ง
เรื่องราวเล่าย้อนไปถึงเหตุการณ์ก่อนหน้าว่าด้วยชีวิตตัวละครอีก 5 คนทั้งชายหนุ่มที่ติดอยู่ในวังวนหนี้นอกระบบ (อีฮีจุน) ทำให้เขาจนตรอกถึงขั้นวางแผนฆ่าพ่อตัวเอง โดยขอความช่วยเหลือจากกิลรยง (คิมซองกยุน) ชาวเกาหลีในประเทศจีนที่เข้ามาหางานทำในแผ่นดินแม่ แต่ก็ต้องออกจากงานแบบไม่ยุติธรรม ทั้งคู่ตั้งใจจัดฉากสร้างอุบัติเหตุเพื่อหวังเอาเงินประกัน แต่แล้วเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อมีพยานรู้เห็นเหตุการณ์ทั้งหมด (พัคแฮซู)
ขณะที่คู่รัก อันกงนัม (อีกวางซู) แพทย์แผนโบราณที่ดูจ๋องๆ กับยูจอง (กงซึงยอน) สาวสวยเสน่ห์แรงก็จับพลัดจับผลูเข้ามาร่วมวิบากกรรมนี้แบบไม่ได้ตั้งใจ จนกระทั่งเรื่องราวเปิดเผยจุดมุ่งหมายบางอย่างของตัวละครแต่ละตัวที่จะพาคนดูดำดิ่งไปสู่ความชั่วร้ายแบบฝนตกขี้หมูไหลคนจัญไรมาพบกัน ผ่านชะตา ‘กรรม’
Karma เล่าเรื่องด้วยการเปิดเผยที่มาที่ไปตัวละครแต่ละตัว เชื่อมโยงกันผ่านสถานการณ์บางอย่างที่กำลังจะลุกลามกลายเป็นความบรรลัยไม่รู้จบ โดยมีผลกรรมที่ทำในอดีตครอบไว้อีกชั้นหนึ่ง การเปิดเผยข้อมูลทีละนิดทำให้น่าติดตาม คล้ายการเปิดหน้าหนังสือการ์ตูนไปทีละหน้า และด้วยความที่ชื่อว่า ‘กรรม’ เลยทำให้คนดูเชื่อมโยงคนเหล่านี้เข้าด้วยกันแบบไม่รู้ตัว และลุ้นว่าสิ่งที่คิดจะถูกหรือเปล่า
และเมื่อสถานการณ์เลวร้ายลง ทุกๆ ตัวละครก็ค่อยๆ เผยด้านมืดของตัวเองผ่านการตัดสินใจน่าหวาดเสียวตลอดทั้งเรื่อง พอค้นลึกลงไปก็พบอะไรที่มากว่า และมากกว่าอยู่เรื่อยๆ โดยเฉพาะประเด็นการล้างแค้นที่แม้จะได้เห็นกันบ่อยในซีรีส์เกาหลี แต่เรื่องนี้ก็เน้นไปที่ผลกรรมที่แต่ละตัวละครก่อไว้มากกว่า โดยนำเสนอมุมมองใหม่ๆ ผ่านเหตุการณ์เดียวกัน ทำให้โครงเรื่องพลิกไปพลิกมา สร้างเรื่องเซอร์ไพรส์ได้ตลอดเวลา ที่สำคัญคือมันทำให้เห็นปฏิกิริยาโดมิโน่ที่พากันล้มไม่เป็นท่าแบบไม่สิ้นสุด
อย่างไรก็ตาม ก็มีสถานการณ์ที่เหมือนถูกนำมายัดใส่รวมกันเพื่อไปสู่ประเด็นหลักคือเรื่อง ‘กรรม’ ตามชื่อเรื่อง และด้วยเนื้อหาว่าด้วยประเด็นสองอย่าง ทำให้ลงรายละเอียดของบางประเด็นไม่เต็มที่โดยเฉพาะเรื่องที่ใช้เชื่อมเหตุการณ์สองเหตุการณ์เข้าด้วยกัน แต่กลับถูกลืมไปและให้ความสำคัญกับตัวละครในเหตุการณ์นั้นน้อยเกินไปจนดูไม่สำคัญ
อย่างเช่น การจัดการกับตัวละครหญิงสองคนที่มีบทบาทแตกต่างกันโดยยูจองที่มองเผินๆ เหมือนเป็นนักขุดทองธรรมดาๆ แต่พอรู้เบื้องหลังของเธอก็กลับน่าสนใจขึ้นมาทันที แล้วอยู่ดีๆ ก็ถูกตัดให้สั้นลงไปเฉยๆ ขณะที่จูยอนซึ่งมีส่วนสำคัญในวิบากกรรมครั้งนี้ ก็เหมือนให้น้ำหนักน้อยเกินไป แต่ก็ยังดีที่ชินมินอาใช้ทักษะการแสดงจนตัวละครไม่จมไม่หายไปกับความซับซ้อนของโครงเรื่อง
ส่วน MVP ของเรื่องต้องยกให้ฝีมือการแสดงของพัคแฮซู ด้วยพัฒนาการจากชายไร้บ้านใสซื่อที่เหมือนถูกความโลภเข้าครอบงำ สู่การเป็นตัวร้ายหมายเลขหนึ่งแบบตบตาคนดูได้อยู่หมัด
โดยภาพรวม Karma ประสบความสำเร็จในการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวละครทั้งหกจนเกิดสถานการณ์ต่างๆ นำไปสู่การกระทำอันโหดร้ายของกรรมแต่ละอย่าง โดยห้าคนต้องชดใช้ และหนึ่งคนได้รับการปลดปล่อย
จริงๆ Karma สามารถมองผ่านเลนส์ศาสนาก็ได้ และมีบางฉากที่ตั้งใจให้เป็นแบบนั้น อย่างฉากสารภาพบาปในโบสถ์ของหนึ่งในตัวละคร แต่หลักใหญ่ใจความคือการเน้นย้ำว่าการกระทำของใครบางคนส่งผลต่ออีกคนไม่ว่าจะต้องการให้เป็นแบบนั้นหรือไม่ก็ตาม ที่สำคัญมันสามารถย้อนกลับมาสู่จุดเริ่มต้นได้เหมือนกงเกวียนที่หมุนไปไม่สิ้นสุด