×

เมืองเก่ากาญจนบุรี มรดกทางประวัติศาสตร์ การรื้อฟื้น อนุรักษ์ และพัฒนา

โดย Heritage Matters
22.09.2023
  • LOADING...
เมืองเก่ากาญจนบุรี

HIGHLIGHTS

5 MIN READ
  • สถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ในกาญจนบุรีเป็นตัวอย่างของการสวนทางระหว่างการพัฒนาโครงการใหม่และการอนุรักษ์ทรัพยากรทางวัฒนธรรมและธรรมชาติที่มีอยู่ เมื่อปีที่แล้วได้มีการเปิดสกายวอล์กสองแคว-แม่กลองอย่างเป็นทางการ บริเวณริมน้ำภายในเขตเมืองเก่า
  • สกายวอล์กอาจเป็นความตั้งใจดี เพื่อ ‘พัฒนา’ เมือง โดยอาศัยการท่องเที่ยว แต่ผู้ได้พบเห็นบางคนตั้งคำถามว่าโครงสร้างทันสมัยนี้เหมาะกับวัตถุประสงค์หรือไม่ โครงสร้างสูงตระหง่านทำด้วยเหล็ก คอนกรีต และกระจก มีความกลมกลืนกับทิวทัศน์ริมแม่น้ำและเมืองเก่าแนวราบแค่ไหน
  • เมืองเก่ากาญจนบุรีมีบ้านโบราณสร้างด้วยไม้และอิฐ ตึกแถวรุ่นเก่า และสถานที่น่าสนใจอื่นๆ ซึ่งอุดมไปด้วยเรื่องราวและความทรงจำของชาวบ้านชาวเมืองในคริสต์ศตวรรษที่ 19 และ 20 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคเข็ญระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 กาญจนบุรีมีประวัติศาสตร์ โบราณคดี สถาปัตยกรรม วัฒนธรรม วิถีชีวิต และสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติให้เรียนรู้ได้มากมาย

“ถ้าคุณสร้างมัน เดี๋ยวก็มีคนมาเองแหละ” นี่คือความคิดเบื้องหลังของผู้บริหารโครงการขนาดใหญ่อย่างเช่น สวนสนุก ห้างสรรพสินค้า สถานที่ท่องเที่ยว และสนามกีฬา 

 

บางครั้งสิ่งก่อสร้างใหม่ๆ เหล่านี้จะสามารถดึงดูดผู้ชมจำนวนมาก ทำให้นักลงทุนได้กำไร หรือช่วยให้หน่วยราชการทำประโยชน์แก่ประชาชนได้มากก็จริงอยู่ แต่ก็ไม่เป็นอย่างนั้นทุกครั้งไป โดยเฉพาะเมื่อเกี่ยวกับพื้นที่ ‘ชุมชนดั้งเดิม หมู่บ้าน และเมืองเก่าของเรา’ แนวคิดประเภทสร้างอะไรใหม่ๆ เข้าไปเถอะ ไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องเพียงอย่างเดียว บางครั้งการร่วมกันรักษาสิ่งที่มีอยู่แล้วต่างหากที่หมายถึงความสำเร็จ

 

คุณจะต้องสร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนาและการอนุรักษ์ เพื่อให้การพัฒนาเหล่านั้นมีเรื่องราวที่กลมกลืนกับสถานที่ชุมชนหรือเมืองเก่า ไม่ขัดต่อทัศนียภาพแวดล้อมโดยรวมของสถานที่ที่มีความเป็นมาในประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตท้องถิ่น น่าเสียดายที่เราขาดอยู่หลายอย่าง ทั้งนโยบายแม่บทระดับชาติ ทุนสนับสนุน และกระบวนการที่จะทำให้หลักการของการอนุรักษ์และพัฒนาเหล่านี้ได้เกิดขึ้นในประเทศไทย

 

สถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ในกาญจนบุรีเป็นตัวอย่างของการสวนทางระหว่างการพัฒนาโครงการใหม่และการอนุรักษ์ทรัพยากรทางวัฒนธรรมและธรรมชาติที่มีอยู่ เมื่อปีที่แล้วได้มีการเปิดสกายวอล์กสองแคว-แม่กลองอย่างเป็นทางการ ซึ่งก็คือทางเดินยกระดับ สูง 12 เมตร ยาว 150 เมตร ทำด้วยเหล็กและกระจก ที่สร้างขึ้นริมน้ำภายในเขตเมืองเก่า

 

เมืองเก่ากาญจนบุรีมีบ้านโบราณสร้างด้วยไม้และอิฐ ตึกแถวรุ่นเก่า และสถานที่น่าสนใจอื่นๆ ซึ่งอุดมไปด้วยเรื่องราวและความทรงจำของชาวบ้านชาวเมืองในคริสต์ศตวรรษที่ 19 และ 20 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคเข็ญระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 กาญจนบุรีมีประวัติศาสตร์ โบราณคดี สถาปัตยกรรม วัฒนธรรม วิถีชีวิต และสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติให้เรียนรู้ได้มากมาย

 

เมืองเก่ากาญจนบุรี

สะพานพื้นกระจกบนสกายวอล์กสองแคว-แม่กลอง
ภาพ: ปริญญา ชูแก้ว

 

สกายวอล์กอาจเป็นความตั้งใจดี เพื่อ ‘พัฒนา’ เมือง โดยอาศัยการท่องเที่ยว แต่ผู้ได้พบเห็นบางคนตั้งคำถามว่าโครงสร้างทันสมัยนี้เหมาะกับวัตถุประสงค์หรือไม่ โครงสร้างสูงตระหง่านทำด้วยเหล็ก คอนกรีต และกระจก มีความกลมกลืนกับทิวทัศน์ริมแม่น้ำและเมืองเก่าแนวราบแค่ไหน เกิดการบดบังไม่ให้ชาวเมืองเห็นภูเขาหรือเปล่า ในวันแดดจ้าและร้อนอบอ้าวจะมีคนอยากขึ้นไปเที่ยวสกายวอล์กที่ปราศจากที่ร่มเงาไหม พอฝนตกพื้นกระจกจะลื่นหรือไม่ ชาวเมืองเองจะใช้สกายวอล์กบ้างไหม

 

แทนที่จะเอาเงินงบประมาณราชการไปสร้างและดูแลสิ่งปลูกสร้างราคาแพงเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวแต่เพียงอย่างเดียว การนำงบประมาณจำนวนนี้ไปใช้กับชาวบ้านเพื่อให้การศึกษาและอนุรักษ์เรื่องราวในท้องถิ่น รวมถึงอาคารเก่าที่อยู่ในสภาพทรุดโทรมไม่กี่แห่งที่ยังเหลืออยู่ เพื่อให้กลับมามีชีวิตและใช้งานได้ต่อ จะมีประโยชน์ต่อคนรุ่นหลัง จะดีกว่าไหม นี่ไม่ใช่คำถามชวนทะเลาะ แต่ชวนให้ฉุกคิด เพราะสกายวอล์กก็สร้างเสร็จไปแล้ว บางคนอาจจะชอบมัน และบางคนก็อาจมาเที่ยวชม

 

ตอนนี้สิ่งที่ดีที่สุดคือการใช้สกายวอล์กให้เป็นประโยชน์ได้มากที่สุดต่อความเป็นเมืองเก่ากาญจนบุรีได้หรือไม่ แล้วเราควรต้องทำอย่างไร เพื่อให้เมืองเก่ากาญจนบุรีอนุรักษ์มรดกอย่างอื่นของเมืองไว้ได้นอกจากแนวกำแพงเมืองสมัย ร.1 ที่ยังคงเห็นได้ในปัจจุบัน คนที่มาเที่ยวสกายวอล์กก็จะมีสิ่งอื่นๆ ให้ชมและใช้เวลาอยู่ในเมืองเก่าได้นานมากขึ้น ซึ่งเป็นการช่วยธำรงคุณภาพชีวิตของชาวเมืองซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักและช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจของเมืองได้ด้วย จะดีกว่าหรือไม่

 

เมืองเก่ากาญจนบุรี

ทางเดินริมแม่น้ำในเขตสกายวอล์กสองแคว-แม่กลอง
ภาพ: ปริญญา ชูแก้ว

 

ถึงอย่างไรตอนนี้ก็ยังไม่มีแผนแม่บท ไม่มีแผนปฏิบัติการหรืองบประมาณในการอนุรักษ์และพัฒนาย่านเมืองเก่ากาญจนบุรีเลย งานที่เป็นกุญแจสำคัญคือการเก็บข้อมูลบันทึกประวัติศาสตร์และเรื่องราวของชาวเมือง อาคาร และสถานที่ในเมืองที่มีคุณค่าควรแก่การอนุรักษ์ที่ยังคงเหลืออยู่ในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 นอกเหนือไปจากสมัยรัชกาลที่ 1-3 ช่วงตั้งเมืองรับศึกพม่า ที่เหลือแค่ความทรงจำกับซากกำแพงเมืองซึ่งเป็นโบราณสถานที่ยังคงเหลืออยู่เท่านั้น โดยคำแนะนำจากนักอนุรักษ์และพัฒนามืออาชีพ และการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยเฉพาะคนในท้องถิ่น จากนั้นจึงนำมาวางแผนกำหนดเป็นแผนอนุรักษ์และพัฒนาทั้งตัวเมืองและชาวเมือง ซึ่งต้องครอบคลุมถึงเรื่องงบประมาณสนับสนุน สิทธิประโยชน์ทางภาษี กฎระเบียบ งบประมาณควรมีให้ ไม่เพียงสำหรับสถานที่ในความดูแลของราชการ แต่รวมทรัพย์สินของเอกชนที่นับเป็นมรดกเมือง อันที่จริงงานแบบนี้ควรเกิดขึ้นกับทุกเมืองเก่า 

 

ที่ผ่านมานโยบายการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าในประเทศไทยยังขาดแผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าอีก 12 เมือง รวมถึงเมืองเก่ากาญจนบุรีด้วย ซึ่งแนวทางการอนุรักษ์สำหรับเมืองเก่ากาญจนบุรียังมิได้รวมถึงย่านสถานที่ใกล้เมืองที่เกี่ยวพันกับเรื่องราวประวัติศาสตร์สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้สถานที่เหล่านั้นจะมีเรื่องราวเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ของเมืองเก่าก็ตาม แล้วอย่างนี้นักอนุรักษ์และนักวางแผนควรปกป้องมรดกหรือสิ่งที่มีคุณค่าอะไรในกาญจนบุรี? เมืองนี้มีประวัติศาสตร์อย่างไรและน่าสนใจแค่ไหนกัน?

 

ในประวัติศาสตร์ เมืองกาญจนบุรีมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับที่ตั้งของเมืองอันเป็นจุดสำคัญทางยุทธศาสตร์ ด้วยความเป็นจุดบรรจบของแม่น้ำสายใหญ่ 2 สายที่แบ่งเขตแดนระหว่างไร่นาและป่าเขา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงก่อตั้งเมืองกาญจนบุรีเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ให้เป็นเมืองหน้าด่านรับศึกพม่า เมื่อปี 2378 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงโปรดให้ขุดคูเมือง ก่อกำแพงอิฐ สร้างประตู และป้อมปราการ ในยุคนั้นชาวเวียดนามจำนวนมากถูกกวาดต้อนมาตั้งรกรากที่นั่นในรัชกาลที่ 4 และ 5 และต่อมาเมืองกาญจนบุรีกลายเป็นเมืองชายแดนที่ส่งผ่านและค้าขายพืชผล ไม้ไผ่ และท่อนซุงทางแม่น้ำ โดยมีแม่น้ำแควใหญ่ แม่น้ำแควน้อย และแม่น้ำแม่กลอง รวมถึงพื้นที่ริมฝั่งตะวันตกเป็นภูมิประเทศธรรมชาติของเมืองเก่ากาญจนบุรีที่มีความสำคัญต่อความเป็นมาของเมืองและทำให้เมืองสวยงาม

 

นอกจากนี้ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่นี่เคยเป็นสถานีบนเส้นทางรถไฟ 415 กิโลเมตรที่กองทัพญี่ปุ่นสร้างขึ้นเพื่อขนส่งทหารและยุทโธปกรณ์เข้าไปในดินแดนพม่า เมื่อปี 2488 กองกำลังสัมพันธมิตรได้ทิ้งระเบิดสะพานข้ามแม่น้ำแคว สะพานรถไฟใกล้ตัวเมือง ซึ่งกลายเป็นสถานที่ที่มีชื่อเสียงจากหนังสือและภาพยนตร์ฮอลลีวูดชื่อเดียวกัน

 

นักท่องเที่ยวหลายหมื่นคนจากทุกมุมโลกมาเยี่ยมชมสะพานข้ามแม่น้ำแควทุกปี และมักจะแวะเมืองกาญจนบุรีเพื่อดูสุสานเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตร ยังมีพิพิธภัณฑ์เล็กๆ แห่งหนึ่งที่บันทึกความโหดร้ายในครั้งที่เชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตรหลายพันคนเสียชีวิตลงขณะถูกบังคับให้สร้างทางรถไฟ เช่นเดียวกับชาวบ้านหลายหมื่นคนที่ถูกเกณฑ์มาจากพม่า มาเลเซีย และอินโดนีเซีย และนักท่องเที่ยวยังนิยมไปพิพิธภัณฑ์แห่งความทรงจำช่องเขาขาด (Hellfire Pass Memorial Museum) และทางเดินตามทางรถไฟที่อยู่ไกลออกไป 80 กิโลเมตร ช่องเขาขาดเป็นจุดที่เชลยศึกต้องทำงานหนักในการตัดทางรถไฟทะลุภูเขาหินหลายจุด สถานที่เหล่านี้เป็นอนุสรณ์ของช่วงเวลาที่มืดมนและยากแค้น

 

แต่ในเขตเมืองเก่ายังมีสถานที่และเรื่องราวที่น่าสนใจอยู่อีก กำแพงเมืองบางส่วนได้รับการบูรณะโดยกรมศิลปากร และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน และซ้อนทับอยู่ในพื้นที่ซึ่งเป็นที่ตั้งของอาคารโรงงานกระดาษจากยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มันเคยเป็นโรงงานผลิตกระดาษ แต่ตอนนี้ว่างเปล่าและอาจสามารถอนุรักษ์และดัดแปลงเป็นศูนย์วัฒนธรรมได้ในอนาคต 

 

ที่ถนนปากแพรกและตลาดชุกโดนมีชุมชนที่เก่าแก่กว่าย่านอื่น ตัวเมืองมีเครือข่ายลำคลองและแม่น้ำที่ใช้ในการขนส่งพืชผล ล่องซุงไปโรงเลื่อย และขนส่งไม้ไผ่ไปโรงงานกระดาษดังกล่าว และมีเรื่องราวของสายลับญี่ปุ่นคนหนึ่งชื่อ อิโนมะ ปลอมตัวเข้ามาเปิดร้านขายผ้าและถ้วยชามในเมือง รวมถึงเรื่องราวของนายบุญผ่องกับน้องๆ ของเขา ผู้เป็นเจ้าของกิจการต่างๆ ในเมืองกาญจนบุรี กลายเป็นวีรบุรุษจากการลักลอบขนสินค้าไปให้นักโทษฝ่ายสัมพันธมิตรในค่ายเชลยศึก เป็นการกระทำที่ช่วยชีวิตผู้คนได้มากมาย  

 

เมืองเก่ากาญจนบุรี

ทัศนียภาพเมืองกาญจนบุรี
ภาพ: ปริญญา ชูแก้ว

 

ดังนั้นจากเรื่องราวและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ยังคงอยู่ในความทรงจำของผู้คนปัจจุบัน ที่สัมพันธ์กับช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 มากกว่าช่วงสมัยรัชกาลที่ 1-3 อาจเป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญและจับต้องได้ของคนเมืองเก่ากาญจนบุรี ที่ควรนำมารื้อฟื้น อนุรักษ์ และพัฒนาได้

 

สิ่งสำคัญคือต้องนำเสนอให้ขอบเขตเมืองเก่ากาญจนบุรีตามแผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่ากาญจนบุรี ควรจะต้องรวมพื้นที่อาณาเขตบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำแคว และบริเวณค่ายเชลยศึกซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 เอาไว้ด้วย น่าเสียดายว่าสถานที่ประวัติศาสตร์เหล่านี้ไม่อยู่ในขอบเขตเมืองเก่ากาญจนบุรี ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ประกาศไว้เมื่อปี 2560

 

ดังนั้นควรมีการพัฒนาแผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนา โดยทบทวนขยายขอบเขตเมืองเก่ากาญจนบุรีเสียใหม่ตามแนวคิดข้างต้นที่ครอบคลุมและรอบด้าน เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์และพัฒนาที่ใช้ได้จริงในทางปฏิบัติ และยังจะเป็นการสนับสนุนให้สกายวอล์กที่เพิ่งสร้างขึ้นใหม่มีความหมายผูกพันกับเรื่องราวเมืองเก่ามากขึ้น เพราะได้รับทราบมาว่าทางเดินนี้ออกแบบโดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากสะพานข้ามแม่น้ำแคว เท่ากับเป็นอนุสรณ์สถานใหม่ในเมืองเก่า ชวนให้คิดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งความทรงจำเกี่ยวกับยุคนั้นมีความสำคัญต่อคนกาญจนบุรีและคนทั่วโลก 

 

ดังนั้นเราต้องมั่นใจว่าประวัติศาสตร์ส่วนนี้รวมอยู่ในแผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาด้วย การมีแผนที่ดีสามารถนำไปสู่การเสนอให้องค์การยูเนสโกขึ้นทะเบียนสะพานข้ามแม่น้ำแควและเมืองเก่ากาญจนบุรีเป็นมรดกโลก

 

หากเรายกความสำคัญอันดับแรกให้แก่การอนุรักษ์ทั้งเมืองเก่ากาญจนบุรีและเมืองเก่าเมืองอื่น ประโยชน์ย่อมจะตกแก่เราและลูกหลานของเราในที่สุด

 

คำอธิบายภาพเปิด: ภาพมุมสูงสกายวอล์กสองแคว-แม่กลอง (ภาพ: สำนักโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดกาญจนบุรี) 

 

วีระพันธุ์ ชินวัตร จบปริญญาเอกการจัดการมรดกสถาปัตยกรรมและการท่องเที่ยว ม.ศิลปากร และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการการอนุรักษ์

 

บทความนี้ได้รับดัดแปลงเล็กน้อยจากที่ปรากฏเป็นภาษาอังกฤษในคอลัมน์ ‘Heritage Matters’ ของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2566

 

บรรณาธิการ Heritage Matters : ไบรอัน เมอร์เทนส์

แปลเป็นภาษาไทย: วิษณุ เอื้อชูเกียรติ, วีระพันธุ์ ชินวัตร

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X