×

ถกปฏิรูปสีกากีกับ คำนูณ สิทธิสมาน: แก้ทุกข์ตำรวจคือแก้ทุกข์ประชาชน หวังสำเร็จยุค คสช.

05.06.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

20 MINS READ
  • เหลือเวลาอีกไม่นานตามโรดแมปของรัฐบาล คสช. หากการเลือกตั้งเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 คำนูณ สิทธิสมาน หนึ่งในกรรมการอีกชุดที่เข้าปฏิรูปตำรวจเชื่อมั่นว่าในห้วงเวลาไม่กี่เดือนจะได้เห็นรูปธรรมที่เกิดขึ้นแน่นอน
  • การปฏิรูปตำรวจของกรรมการชุดนี้มีอำนาจครบครันกว่าทุกชุด มีกูรูกฎหมายเข้ามาเดินเครื่อง ประกาศเดินหน้าผ่าตัดโครงสร้างต่างๆ แก้ปัญหาการโยกย้ายภายใต้คอนเซปต์ว่า หากแก้ทุกข์ตำรวจได้ ทุกข์ของประชาชนก็จะได้รับการแก้ปัญหาไปพร้อมๆ กัน

หากให้นึกถึงการปฏิรูปแบบไวๆ ในยุครัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา คงหนีไม่พ้น ‘การปฏิรูปตำรวจ’ ที่มีความเคลื่อนไหวอย่างมีนัยสำคัญอยู่ตลอดเวลา นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ

 

ก่อนหน้านี้เคยมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งที่มี พลเอก บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธาน เพื่อศึกษาและผลักดันข้อเสนอในการปฏิรูปไปสู่รูปธรรม จนกระทั่งมาถึงกรรมการชุดปัจจุบันที่เข้ามาจับเรื่องนี้ภายใต้ชื่อ ‘คณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ’ โดยปรากฏชื่อของ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการชุดนี้ด้วยตนเอง

 

THE STANDARD ชวน คำนูณ สิทธิสมาน หนึ่งในกรรมการชุดนี้สนทนาถึงความคืบหน้าและอนาคตของรูปธรรมว่าจะสามารถฝ่าอุปสรรคด่านหินไปสู่จุดที่ตั้งเป้าหมายในการปฏิรูปวงการสีกากีได้หรือไม่ เพราะครั้งแล้วครั้งเล่ามักถูกปรามาสว่าล้มเหลว เป็นไปไม่ได้

 

 

อยากให้ฉายภาพรวมถึงความคืบหน้าในการปฏิรูปตำรวจว่าไปถึงไหนแล้ว

ในระยะปัจจุบัน ท่านนายกฯ ได้มีดำริผ่านมาทางท่านรองนายกฯ วิษณุ เครืองาม ซึ่งเป็นกรรมการในชุดนี้ด้วย ระบุไว้ชัดเจนว่าท่านเข้าใจดีว่าประชาชนอยากเห็นการปฏิรูปประเทศเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด และในบรรดาการปฏิรูปประเทศทั้ง 11+2 ด้าน ก็เชื่อว่าประชาชนอยากเห็นการปฏิรูปตำรวจเป็นรูปธรรมมากที่สุด ดังนั้นจึงขอให้คณะกรรมการทำให้เสร็จโดยเร็ว

 

รัฐบาลชุดนี้จึงอยากที่จะฝากผลงานชิ้นสำคัญให้เป็นที่จดจำของพี่น้องประชาชนให้ได้ และเรื่องการปฏิรูปตำรวจเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวประชาชนมากที่สุด

 

คณะกรรมการชุดที่ตั้งขึ้นมานี้แตกต่างจากชุดอื่นอย่างไร

คณะกรรมการชุดนี้จะมีอำนาจพิจารณาครอบคลุมในทุกปริมณฑลของการปฏิรูปตำรวจ ไม่ได้มีอำนาจพิจารณาร่างกฎหมายที่ผ่านมาจากชุดของพลเอก บุญสร้าง เท่านั้น แต่ให้รวมประเด็นที่ควรปฏิรูปที่ตำรวจชุดต่างๆ เคยศึกษากันมาให้ชุดนี้พิจารณาทั้งหมด และให้มีอำนาจค่อนข้างกว้างขวาง คือจะแก้ไข พ.ร.บ. ตำรวจเฉพาะบางประเด็น หรือจะยกร่างขึ้นใหม่ทั้งฉบับก็สามารถทำได้ หรือว่าจะแก้ไขกฎหมายฉบับอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือจะยกร่างกฎหมายใดขึ้นมาใหม่ก็ทำได้

 

แล้วโดยรูปแบบของคณะกรรมการชุดนี้ จริงอยู่ที่เป็นคณะกรรมการที่ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน มาตรา 11 ตั้งขึ้นมา แต่ด้วยองค์ประกอบแล้วจะมีลักษณะเป็นสัดส่วนจากคณะกรรมการกฤษฎีกาครึ่งหนึ่งคือ 8 คน แล้วอีกครึ่งหนึ่งก็ประกอบจากคณะกรรมการที่ไม่ได้เป็นกฤษฎีกา

 

รูปแบบของคณะกรรมการชุดนี้ ด้านหนึ่งจึงทำหน้าที่เสมือนเป็นคณะกรรมการกฤษฎีกาไปด้วย

 

กรรมการชุดนี้จะทำงานเสร็จก่อนโรดแมปมาถึงหรือไม่

โดยองค์ประกอบ หากดูที่ตัวบุคคลของคณะกรรมการโดยดำริของท่านนายกรัฐมนตรีผ่านท่านรองนายกฯ วิษณุ เครืองาม ประกอบกับระยะเวลาที่เหลืออยู่ตามโรดแมป ถ้าตั้งไว้ที่เดือนกุมภาพันธ์ 2562 ก็เหลืออีกไม่ถึงปี น่าจะเห็นผลที่ชัดเจน

 

ก่อนหน้านี้จะเป็นอย่างไรก็สุดแท้แต่ แต่เราพูดกันถึงในปัจจุบัน ทางคณะกรรมการเชื่อว่าน่าจะสำเร็จ เพราะตั้งแต่ประชุมนัดแรกเมื่อวันที่ 20 เมษายน ก็กำหนดให้เป็นการประชุมเร่งด่วนแบบต่อเนื่อง ประชุมสัปดาห์ละ 3 วันนะครับ ประชุมไปแล้วทั้งหมด 9 ครั้ง เพิ่งจะหยุดไปเพียงสัปดาห์ก่อนนี้เพื่อที่จะเปิดโอกาสให้คณะทำงานกับฝ่ายเลขาฯ ไปจัดเตรียมร่างกฎหมายมา

 

ความตั้งใจของประธานกรรมการคือท่านอาจารย์มีชัย ซึ่งเป็นประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญอยู่ด้วย ก็เป็นผู้ที่ระบุว่าเรื่องการปฏิรูปตำรวจต้องให้เสร็จภายใน 1 ปี

 

ในช่วงวันหยุดยาววันพืชมงคลที่ผ่านมา ท่านก็ได้ลงพื้นที่สำรวจข้อเท็จจริงด้วยตัวท่านเองโดยที่ไม่บอกใครล่วงหน้า ท่านคงจะพอได้ข้อมูลอะไรพอสมควร เพราะฉะนั้นทั้งหมดนี้เมื่อประมวลแล้วน่าจะมีหลักประกันมากพอสมควรว่าการปฏิรูปตำรวจจะต้องเกิดขึ้นแน่นอน

 

จากทิศทางเหมือนรวมหลายๆ ชุดที่ผ่านมาหรือเปล่า

เอาข้อเสนอของทุกชุดมาพิจารณาหมดครับ ทางฝ่ายเลขาฯ ก็จัดทำตารางมาให้ว่าประเด็นนี้ชุดไหนเสนออย่างไรบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่แต่ละท่านก็จะมีความรู้และประสบการณ์ในเรื่องตำรวจมากพอสมควร

 

เพราะฉะนั้นทั้งหมดนี้เมื่อประมวลแล้วน่าจะมีหลักประกันมากพอสมควรว่าการปฏิรูปตำรวจจะต้องเกิดขึ้นแน่นอน

 

การปฏิรูปที่จะเกิดขึ้นนี้จะตอบโจทย์ให้ประชาชนอย่างไร

คือเราถือว่าตำรวจเป็นหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด เรียกได้ว่าเป็นต้นสายธารของกระบวนการยุติธรรม ถ้าต้นสายธารของกระบวนการยุติธรรมถูกต้อง ตรงไปตรงมา มีประสิทธิภาพ สถานีต่อไปของกระบวนการยุติธรรมคืออัยการ ศาล มันก็จะเป็นไปตามครรลองที่ถูกต้อง ไม่บิดเบือนไปด้วย เปรียบเสมือนเป็นการกลัดกระดุมเม็ดแรกน่ะครับ ถ้าตำรวจกลัดกระดุมเม็ดแรกถูกต้อง ในชั้นต่อไป ชั้นอัยการ ชั้นศาล กระดุมมันก็จะไล่ไปในทิศทางที่ถูกต้อง แต่ถ้าหากเม็ดแรกเป็นกระดุมฉิ่งหรือกลัดผิดเสียแล้ว เม็ดต่อไปต่อให้ถูกยังไง เสื้อทั้งตัวก็เป็นกระดุมฉิ่งอยู่ดี

 

แล้วประเทศไทยของเราต้องยอมรับว่าระบบรวมศูนย์อำนาจมันทำให้ข้าราชการตำรวจที่มีอยู่ทั่วประเทศ 2-3 แสนนายมีความใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด เกี่ยวพันกับพี่น้องประชาชนตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอน แล้วตำรวจเองก็ไปรับภาระที่สังคมคาดหวังไว้เยอะ บางเรื่องก็ไม่ใช่งานตำรวจโดยแท้ แต่ก็มีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ที่ตำรวจไปรับเข้ามา

 

ในช่วงหลังๆ เป็นสิบๆ ปีที่ผ่านมามันก็เกิดการกระทำที่ไม่ถูกต้องเหมาะสมที่เกิดขึ้นมาจากตำรวจไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาขึ้นมาในสังคมค่อนข้างมาก

 

ก็ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการปฏิรูป และความต้องการของประชาชนตั้งแต่ก่อนปี 2557 หรือก่อนการยึดอำนาจก็เรียกร้องให้มีการปฏิรูป ซึ่งหนึ่งในประเด็นที่ประชาชนเรียกร้องก็คือการปฏิรูปตำรวจ เพราะว่าเหตุการณ์ทางการเมืองในยุคสมัยหนึ่งทำให้ตำรวจถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองค่อนข้างสูง เชื่อว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นการปฏิรูปที่ต้องทำให้ได้ก่อนจะเข้าสู่ความเป็นปกติต่อไป

 

ก็ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการปฏิรูป และความต้องการของประชาชนตั้งแต่ก่อนปี 2557 หรือก่อนการยึดอำนาจก็เรียกร้องให้มีการปฏิรูป ซึ่งหนึ่งในประเด็นที่ประชาชนเรียกร้องก็คือการปฏิรูปตำรวจ

 

แล้วคุณรู้ไหมว่าตำรวจเขาคิดอย่างไร จึงจะมาปฏิรูปเขา

ตำรวจเองก็เรียกร้องเช่นกัน เพราะว่าที่จริงสิ่งที่คณะกรรมการตั้งโจทย์เอาไว้ตั้งแต่วันแรกคือการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้ต้องตอบโจทย์ให้ได้ 2 ข้อ

 

ข้อแรกคือความทุกข์ของประชาชนที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ไม่ถูกต้อง ที่บิดเบี้ยวไป ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือความไม่พร้อมประการใดก็ตาม แต่มันทำให้กระบวนการยุติธรรมขั้นต้นเป็นการกลัดผิดเม็ดเสียแล้ว

 

โจทย์ข้อสองคือการแก้ทุกข์ของตำรวจ ในที่นี้คือทุกข์ของตำรวจที่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่อย่างซื่อสัตย์สุจริตเต็มความสามารถ แต่ต้องประสบปัญหานานัปการ เป็นต้นว่าเรื่องงบประมาณของอุปกรณ์ต่างๆ หรือว่าไม่สามารถที่จะเติบโตไปตามสายงานโดยปกติด้วยความรู้ความสามารถอย่างเดียว แต่มีปัจจัยอย่างอื่นที่เข้ามาเกี่ยวข้อง

 

อย่างที่ทราบกันดีว่าทุกครั้งที่มีการแต่งตั้งโยกย้ายก็จะมีข่าวความไม่ชอบมาพากลของการแต่งตั้งโยกย้ายนั้นตลอด ไม่ว่าจะเป็นการวิ่งเต้น ระบบพรรคพวก การพูดถึงการที่ไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน ซึ่งระยะหลังก็จะมีข่าวเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งทุกข์ของตำรวจ ถ้าไม่สามารถแก้ได้ก็ไม่สามารถทำให้เขาปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างซื่อสัตย์สุจริต รับใช้ประชาชนได้อย่างเต็มความสามารถ ถ้าเราคลายทุกข์ให้ตำรวจได้ เราก็เชื่อว่าตำรวจที่เข้ามารับใช้ประชาชนก็จะมีสมาธิอยู่กับการปฏิบัติงาน ไม่ต้องกังวลถึงความอยุติธรรมที่เขาจะได้รับ

 

เมื่อคลายทุกข์ของตำรวจได้ก็จะเป็นการคลายทุกข์ให้ประชาชนโดยตรงได้อีกทางหนึ่ง เพราะฉะนั้นการตอบทั้งสองคำถามนี้จึงเป็นการแก้ปัญหาที่เอื้อและสอดคล้องซึ่งกันและกัน ไม่สามารถแยกจากกันได้ อันนี้คือประเด็นแรกที่เราตั้งกันให้เป็นโจทย์ใหญ่นะครับ

 

 

แล้วตำรวจปฏิรูปกันเองไม่ได้หรือ

ไม่ใช่เฉพาะตำรวจหรอกครับ บางครั้งอะไรที่เราชินกับการปฏิบัติเหมือนเดิมซ้ำๆ มายาวนานเป็นสิบเป็นร้อยปี การเปลี่ยนแปลงจากภายในค่อนข้างยาก เหมือนกับเราไปถามหน่วยงานใดๆ ว่าเขาปฏิบัติงานได้ดีหรือไม่ ก็มักจะได้คำตอบว่าดี ปัญหาที่เกิดขึ้นก็มักจะเป็นการขาดแคลนงบประมาณ ขาดแคลนอุปกรณ์ของหน่วยงานนั้น

 

แต่บางครั้งการปฏิรูปใหญ่ไม่ได้แปลว่าคนในหน่วยงานนั้นทำไม่ดี ทำไม่ถูก หรือคนในหน่วยงานนั้นไม่มีเจตนาที่จะทำให้ถูกต้อง แต่เป็นเพราะระบบหรือโครงสร้างที่อาจจะเหมาะกับยุคสมัยหนึ่งในอดีต แต่ไม่สอดคล้องกับเหตุการณ์ในยุคสมัยปัจจุบัน ทำให้ไม่ว่าใครจะเข้ามาในโครงสร้างนี้ก็ไม่สามารถจะเป็นอื่นไปนอกจากนี้

 

เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงหรือคำว่าปฏิรูปก็คือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างความเคยชิน ซึ่งจำเป็นจะต้องอาศัยความกล้าหาญและวิสัยทัศน์ของคนที่มองภาพรวมปัญหาของประเทศให้เหมาะกับยุคสมัยออก

 

เหมือนกับการที่เราพูดกันถึงการเมืองนั่นแหละ หลายคนอาจจะอยู่ข้างนอก ตั้งใจอยากจะเข้ามาทำงานการเมืองในระบบ แต่เมื่อเข้ามาทำงานการเมืองในระบบแล้วมันก็จะมีกลไก มีกระบวนการต่างๆ ที่คนเข้ามาแล้ว อย่างไรเสียก็ต้องปฏิบัติไปตามกลไกนั้น เพราะระบบมันเป็นตัวสร้างที่จะทำให้บุคคลต้องถูกหล่อหลอมไป

 

ฉะนั้นคำว่าการปฏิรูปคือการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่ปฏิบัติกันมายาวนาน

 

ไม่ใช่ว่าเรามีอคติกับตำรวจ แต่เราเห็นว่าตำรวจเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดในการรับใช้ประชาชน และเชื่อว่าคนที่เข้าไปเป็นตำรวจแต่แรกเริ่มต้นด้วยเจตนาดีที่อยากอุทิศชีวิตให้กับพี่น้องประชาชน แต่เมื่อเข้าไปแล้วเนี่ย จะด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่ ระบบมันทำให้เขาไม่สามารถทำตามที่ตั้งใจได้ เพราะการที่จะทำอย่างที่ตั้งใจก็จะไม่โตในระบบ เพราะฉะนั้นในอดีตเราจึงได้เห็นข่าวนายตำรวจที่ทำความดีหลายคนได้รับความกดดัน บางคนอยู่โรงพักตัวอย่าง แต่ปีต่อมาถูกย้าย หรือกระทั่งบางคนอยากขอรับราชการในพื้นที่เดิมซึ่งเป็นพื้นที่อันตราย แต่ก็กลับถูกย้ายไปอีกที่ หลายกรณีเกิดเหตุตำรวจฆ่าตัวตาย หรือเหตุที่ตำรวจกดดันแล้วใช้ความรุนแรง เรามองว่าเรื่องแบบนี้มันไม่ใช่ความดีหรือความไม่ดีส่วนบุคคลเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของระบบโครงสร้างด้วย

 

เมื่อคลายทุกข์ของตำรวจได้ก็จะเป็นการคลายทุกข์ให้ประชาชนโดยตรงได้อีกทางหนึ่ง เพราะฉะนั้นการตอบทั้งสองคำถามนี้จึงเป็นการแก้ปัญหาที่เอื้อและสอดคล้องซึ่งกันและกัน ไม่สามารถแยกจากกันได้

 

 

เป็นเพราะ ‘การเมือง’ เข้ามาครอบงำการทำงานของตำรวจด้วยหรือเปล่า

อาจไม่ใช่การเมืองทั้งหมด เพราะอย่างไรก็ตามแต่ ต้องยอมรับว่าการเมืองในความหมายของผู้บริหารประเทศ ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เขาก็จะมีความรับผิดชอบต่อประชาชนผ่านการแถลงนโยบาย ต้องรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎรนะครับ

 

แล้วนโยบายของทุกรัฐบาลอย่างหนึ่งที่ต้องเหมือนกันคือการรักษาความสงบเรียบร้อย เพราะฉะนั้นถ้าจะกันไม่ให้การเมืองมาเกี่ยวข้องกับตำรวจทั้งหมดเนี่ย มันจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะว่าตำรวจไม่ใช่องค์กรอิสระ ถึงแม้ว่าจะอยู่ในกระบวนการยุติธรรมขั้นต้น แต่ตำรวจไม่ใช่ศาล ไม่ใช่องค์กรอิสระอื่นๆ ตามรัฐธรรมนูญ

 

อย่างไรเสียตำรวจก็เป็นหน่วยงานที่เป็นแขนเป็นขาให้กับการปฏิบัติงานของฝ่ายบริหาร เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วจะไม่ให้ฝ่ายบริหารเข้ามามีส่วนในการแต่งตั้งโยกย้ายเลยก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ ก็เหมือนกับกระทรวงทบวงกรมอื่นๆ ตำแหน่งปลัดกระทรวง ตำแหน่งอธิบดีฝ่ายบริหาร ต้องมีส่วนเกี่ยวข้องทั้งสิ้น เพียงแต่ว่าเราจะออกแบบอย่างไรให้มีความพอเหมาะพอดี

 

จากโจทย์ใหญ่ที่ตั้งไว้ 2 ข้อ มีกรอบหรือเงื่อนไขอะไรที่วางไว้เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายบ้าง

เราพิจารณาผ่าน 6 กรอบสำคัญ หนึ่งก็คือโครงสร้างของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โครงสร้างพนักงานต่างๆ รวมทั้ง ก.ต.ช. หรือ ก.ตร. ด้วย สองคือเรื่องเกณฑ์การแต่งตั้งโยกย้ายซึ่งสร้างทุกข์ให้แก่ตำรวจและไปสร้างทุกข์ให้ประชาชน สามคือเรื่องอำนาจสอบสวน ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมายาวนานว่าควรจะอยู่กับตำรวจหรือควรจะแยกออกมา ถ้าอยู่กับตำรวจจะต้องอยู่อย่างไร

 

สี่คือความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในกรณีนี้ก็หมายถึงงบประมาณ หมายถึงอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ห้าคือระบบนิติวิทยาศาสตร์ และหกคือระบบสวัสดิการ ซึ่งหมายรวมถึงการร้องทุกข์ การอุทธรณ์ การให้ความเป็นธรรมภายในองค์กรตำรวจด้วยกันเอง

 

สรุปคือเราตั้งโจทย์ว่าเราต้องตอบโจทย์ 2 ข้อและพิจารณาผ่าน 6 กรอบ ซึ่งหลายๆ ครั้งเป็นการพิจารณาหลายๆ กรอบพร้อมกันไปในแต่ละครั้ง ซึ่งครอบคลุมเกือบทั้งหมด เช่น

 

กรอบแรกคือโครงสร้างของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งพิจารณาควบคู่กันไปกับกรอบการแต่งตั้งโยกย้าย กรอบอำนาจสอบสวน และกรอบสุดท้ายคือสวัสดิการหรือการร้องทุกข์ของตำรวจ

 

ใน 4 กรอบที่ปนกันไป เราเห็นพ้องต้องกันและแบ่งโครงสร้างออกเป็น 4 สายงาน หรือแบ่งออกเป็น 4 แท่ง ในแต่ละแท่งก็จะมีคุณสมบัติเฉพาะของเจ้าหน้าที่ตำรวจในแต่ละตำแหน่ง แล้วก็ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถเติบโตไปตามแท่งของตัวเองตามระบบได้จนถึงขั้นสูงสุดก็คือพลตำรวจเอก ก็คือเราจะมีพลตำรวจเอกจากรอง ผบ.ตร. 4 คน จาก 4 แท่ง 4 แท่งนี้ประกอบไปด้วย แท่งที่ 1 สืบสวนสอบสวน แท่งที่ 2 คือป้องกันปราบปรามอาชญากรรม แท่งที่ 3 เป็นด้านงานเทคนิคและวิชาการ เช่น แพทย์ วิทยาศาสตร์ต่างๆ และแท่งที่ 4 ก็คือเป็นงานบริหารและอำนวยการ

 

ในทั้ง 4 แท่งกำหนดว่าต้องมีคุณสมบัติเฉพาะของแต่ละแท่งที่จะเข้าไปอยู่ได้แล้วจึงเติบโตไปตามแท่งใครแท่งมัน แต่ว่าการโยกย้ายสับเปลี่ยนระหว่างแท่ง ถามว่าทำได้ไหม ก็ตอบว่าทำได้ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไข 2-3 ประการด้วยกัน ข้อหนึ่งก็คือการจะย้ายไปแท่งใด คุณสมบัติต้องตรงกับคุณสมบัติประจำตำแหน่งของแท่งนั้น สองคือย้ายได้ในระนาบเดียวกัน ไม่มีการข้ามระนาบ เช่น ถ้าเป็นรองผู้การก็ย้ายไปเป็นผู้การไม่ได้ ก็จะต้องย้ายไปเป็นรองผู้การในอีกแท่งหนึ่งที่คุณสมบัติผ่านได้ คือย้ายไปอยู่ในคิวหรืออยู่ในเกณฑ์การเติบโตของตำแหน่งนั้น ที่เป็นทุกข์ในทุกวันนี้ก็เกิดจากการย้ายข้ามระนาบ ซึ่งก็ทำให้คนซึ่งเป็นรองอยู่และไม่ได้มีความผิดอะไรถูกข้าม

 

 

การแต่งตั้งโยกย้ายจะแก้ไขแบบไหน นอกจากการเติบโตตามแท่งที่กำหนด

การแต่งตั้งโยกย้าย เราจะกำหนดไว้ในกฎหมายหลัก ซึ่งก็คือ พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ ว่าต้องมีเกณฑ์ที่ชัดเจนแน่นอนตายตัว ยกเว้นได้แต่กรณีที่มีเหตุผลอธิบายได้จริงๆ หรือจำเป็นจริงๆ แล้วก็จะเขียนเหตุผลไว้ในกฎหมายหลักเลยว่าเกณฑ์การแต่งตั้งโยกย้าย ถ้าหากไม่เป็นไปตามนี้แล้วเกิดมีคดีความขึ้นมา แล้วศาลปกครองวินิจฉัยว่าเป็นการกระทำที่มิชอบ ให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดทางอาญาด้วย ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

 

นอกจากนั้นก็จะกำหนดให้ทุกการแต่งตั้งโยกย้าย ทุกการเลื่อนขั้นเงินเดือน เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกคนจะมีคะแนนประจำตัวอยู่ เป็นคะแนนซึ่งจะได้รับโดยคณะกรรมการประเมิน ซึ่งจะต้องประกอบด้วยบุคคลภายนอกที่น่าเชื่อถือเข้ามาทำหน้าที่ เสมือนนักเรียนมีคะแนนความประพฤติ ซึ่งคะแนนนี้สมมติว่ามีเต็มร้อย เราจะถ่วงน้ำหนักด้วย 3 กฎเกณฑ์ เกณฑ์แรกคือเกณฑ์อาวุโส 50% ซึ่งก็จะต้องไปเขียนในรายละเอียดอีกทีหนึ่งในกฎหมายหลักว่าอาวุโสคืออะไร ไม่ได้แปลว่าอายุมากหรือได้รับตำแหน่งมาก่อนอย่างเดียว มันจะมีอย่างอื่นประกอบด้วย

 

เกณฑ์ที่สองก็คือผลงานดีเด่น เห็นเป็นประจักษ์ มีหลักฐานชัดเจน ซึ่งก็ต้องไปเขียนหลักการต่อไปว่าอะไรคือการมีหลักฐานชัดเจน มันก็อาจจะเป็นเกณฑ์การปฏิบัติงาน เช่น คุณเป็นพนักงานสอบสวนปีนี้ คุณทำสำนวนสอบสวนกี่สำนวน สำนวนนั้นเมื่อขึ้นไปสู่ระดับต่างๆ แล้วผลเป็นอย่างไร หรือว่าคุณประจำอยู่สถานีไหน ปีนี้สถิติอาชญากรรมเป็นอย่างไรอีก 30% ส่วน 20% ที่เหลือเป็นการประเมินความพึงพอใจจากประชาชนในเขตพื้นที่ของคุณว่ามีความพึงพอใจแค่ไหนอย่างไร และเขียนในรายละเอียดว่าจะใช้ระบบประเมินแบบใด แต่เราตกลงกันไว้อย่างนี้ ซึ่งทำให้เกิดความชัดเจนขึ้นมาว่าทุกคนมีลำดับ ทุกคนถูกจัดวางเอาไว้ตามคะแนน แล้วในการโยกย้ายก็ต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์นั้น

 

เรื่องเหล่านี้จะทำให้แม้จะยังมีระบบอุปถัมภ์อยู่ แต่ว่ามันก็จะลดน้อยลงไป การวิ่งเต้นมันไม่ได้อยู่แล้ว เพราะขัดต่อกฎหมาย สิ่งเหล่านี้ก็จะลดลงไป นอกจากนั้นก็จะไปเชื่อมโยงกับกรอบสุดท้ายก็คือระบบสวัสดิการ การร้องทุกข์

 

ไม่ใช่ว่าเรามีอคติกับตำรวจ แต่เราเห็นว่าตำรวจเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดในการรับใช้ประชาชน และเชื่อว่าคนที่เข้าไปเป็นตำรวจแต่แรกเริ่มต้นด้วยเจตนาดีที่อยากอุทิศชีวิตให้กับพี่น้องประชาชน

 

จะทำอย่างไรให้ระบบสวัสดิการและการร้องทุกข์เป็นไปอย่างมีคุณธรรม

เราก็ไปดูตัวอย่างจากสำนักงาน ก.พ. ที่มีระบบคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม เราก็จะกำหนดให้มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมตำรวจ อาจย่อว่า กพค.ตร. ทำหน้าที่เป็นผู้พิจารณาอุทธรณ์และการร้องทุกข์ต่างๆ โดยคณะกรรมการที่มีความอิสระและเป็นกลาง ได้รับการสรรหามาโดยผู้แทนองค์กรที่มีความเป็นอิสระและเป็นกลาง อยู่ในระยะเวลาที่แน่นอนในวาระเดียว ทำงานประจำ ทำหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์ คำร้องทุกข์ต่างๆ รวมทั้งคำร้องทุกข์ที่เกิดจากการโยกย้ายที่ผิดหลักเกณฑ์หรือไม่เป็นธรรมด้วย โดยคำวินิจฉัยของ กพค.ตร. นี้ หากผู้ร้องทุกข์ไม่พอใจก็สามารถร้องไปยังศาลปกครองสูงสุดได้อีก เสมือนว่า กพค.ตร. ทำหน้าที่คล้ายๆ ศาลปกครองชั้นต้น อันนี้ก็ได้ออกแบบตรงนี้ไว้

 

 

แล้วโครงสร้างการบริหารของตำรวจจะมีการปรับหรือผ่าตัดอย่างไร

จะมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างให้ยุบเลิก ก.ต.ช. ซึ่งเพิ่งมีให้เหลือแต่ ก.ตร. โดยที่ให้โอนภารกิจของ ก.ต.ช. ทั้งหมด ทั้งในเรื่องเกี่ยวกับนโยบาย รวมทั้งการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมาเป็นของ ก.ตร. โดยให้ ก.ตร. ทำหน้าที่แต่งตั้งเฉพาะตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือตำแหน่งระดับสูงบางตำแหน่งเท่านั้น ส่วนตำแหน่งอื่นๆ ให้ ก.ตร. ทำหน้าที่ในการแต่งตั้งให้เป็นไปตามกฎหมายและกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อลดความซ้ำซ้อน

 

มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของ ก.ตร. บ้างตามสมควร ในที่นี้คือกำหนดให้นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าคณะรัฐบาลเป็นประธาน ก.ตร. โดยตำแหน่ง หมายถึงว่านายกรัฐมนตรีนั้นไม่น่าที่จะสามารถมอบตำแหน่งให้รองนายกฯ หรือรัฐมนตรีคนอื่นมาเป็นประธาน ก.ตร. ได้ แล้วก็จะให้มีกรรมการโดยตำแหน่งแล้วเป็นรอง ผบ.ตร. และจเรตำรวจแห่งชาติรวมทั้งหมด 4 คนด้วยกัน โดยเป็นรองฝ่ายสอบสวน 1 คน รองฝ่ายป้องกันปราบปราม 1 คน รองฝ่ายบริหาร 1 คน รองที่เหลือกับจเรตำรวจแห่งชาติเลือกกันเองให้เหลือ 1 คน หรือจะให้ผู้บังคับบัญชาเลือก และ ผบ.ตร. เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ฉะนั้นจะมีนายกฯ ผบ.ตร. และอีก 4 ท่านเป็น 6 แล้ว ก็จะมีกรรมการโดยตำแหน่งอีกก็คือเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม อัยการสูงสุด ปลัดกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็น 10 คน และที่เหลือคือผู้ทรงคุณวุฒิที่เลือกมาจากตำรวจทั่วประเทศ ถ้าเห็นว่าระดับผู้กำกับการขึ้นไปอาจจะน้อยเกินไปก็อาจจะเป็นนายตำรวจระดับสัญญาบัตรทั้งหมด ขณะนี้ยังไม่ได้สรุปอีก 6 ที่ โดยใน 6 ที่นี้จะแบ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่เคยเป็นข้าราชการตำรวจ 3 คน อีก 3 คนมาจากผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่เคยรับราชการตำรวจ แต่ 3 คนหลังนี้จะเลือกจากบัญชีรายชื่อที่เสนอมาจากนายกรัฐมนตรี 3 คน ประธานรัฐสภา 3 คน ซึ่งก็จะแบ่งเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร 2 คน ประธานวุฒิสภา 1 คน และประธานศาลฎีกาอีก 3 คน รวมทั้งสิ้นก็จะมี ก.ตร. รวมทั้งหมด 16 คน

คณะกรรมการก็ได้มีความเห็นว่าน่าจะมีการร่างกฎหมายกลางเกี่ยวกับการสอบสวนขึ้นมาสักหนึ่งฉบับ เพื่อให้เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการสอบสวนทั้งหมด

 

 

การสอบสวนจะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างไร เพราะเรื่องนี้ถูกหยิบยกเป็นประเด็นตลอด

การสอบสวนนี่ก็จะถือเป็นการเปลี่ยนแปลงใหญ่ครั้งหนึ่ง เราออกแบบให้เป็นแท่งแรก เราต้องการให้ตำรวจที่เป็นเจ้าพนักงานสอบสวนเป็นหนึ่งในวิชาชีพเฉพาะในกระบวนการยุติธรรมคล้ายๆ อัยการ คล้ายๆ ผู้พิพากษา แต่ไม่เหมือนเสียทีเดียว ถือว่าเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาขั้นต้น เพราะฉะนั้นคนที่อยู่ในวิชาชีพนี้จึงต้องมีคุณสมบัติเฉพาะ คงต้องจบนิติศาสตร์บัณฑิต หรืออาจต้องจบเนติบัณฑิต สุดแท้แต่ที่จะตั้งเกณฑ์ขึ้นมา

 

ก็จะสามารถเติบโตในแท่งของสอบสวนขึ้นไปได้โดยไม่จำเป็นต้องออกไปนอกแท่ง ใครจะย้ายเข้าออกก็ต้องมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่ว่าไว้ สิ่งสำคัญคือการกำหนดให้เป็นวิชาชีพเฉพาะในกระบวนการยุติธรรม คือจะต้องมีความเป็นอิสระในการสั่งคดี จะต้องมีความเป็นอิสระในการทำสำนวนคดี ไม่ถูกผู้บังคับบัญชาตามสายงานมาสั่งการได้

 

เรื่องนี้ก็ได้กำหนดให้ในแต่ละสถานีอำนาจสั่งคดีเป็นของพนักงานสอบสวนอาวุโสสูงสุดในที่นั้น ซึ่งอาจจะต้องมีตำแหน่งเป็นการเฉพาะ เป็นผู้กำกับการสอบสวนทำหน้าที่สั่งคดีโดยเฉพาะ จากแต่เดิมที่อำนาจในการสั่งคดีสูงสุดจะอยู่ที่ผู้กำกับการโดยอัตโนมัติ เพราะว่ากฎหมายไปกำหนดให้ผู้กำกับการมีตำแหน่งเป็นพนักงานสอบสวนที่อยู่ในระดับอาวุโสสูงสุดด้วย เพราะฉะนั้นในแต่ละโรงพัก ผู้กำกับการก็เปรียบเสมือนหัวหน้าพนักงานสอบสวนโดยอัตโนมัติ

 

แต่ว่าตามระบบใหม่ ผู้กำกับการควรจะบังคับบัญชาในเรื่องอื่นทั่วไป แต่ในเรื่องสั่งคดีให้เป็นอำนาจหน้าที่ของหัวหน้าพนักงานสอบสวนประจำสถานีนั้น จะเรียกว่าผู้กำกับการสอบสวนก็ได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้กำกับการสอบสวนจะมีอำนาจเด็ดขาด ก็จะต้องมีระบบการตรวจสอบถ่วงดุลจากกลไกภายในและกลไกภายนอก

 

กลไกภายในคือผู้บังคับบัญชาที่อยู่ในแท่งสอบสวนนอกสถานี อาจจะเป็นระดับรองผู้บังคับการที่ดูลงมา อาจจะไม่เห็นด้วยกับสำนวนนี้ มันก็จะต้องมีระบบที่ถูกออกแบบมาให้ตรวจสอบและถ่วงดุลภายในที่อาจจะทำความเห็นค้านต่างๆ หรือตรวจสอบได้

 

ขณะเดียวกันก็ต้องมีกลไกภายนอก ซึ่งในที่นี้ก็คือเจ้าพนักงานอัยการ ปกติเจ้าพนักงานอัยการจะมีสถานะในการถ่วงดุลตรวจสอบสำนวนการสอบสวนจากตำรวจอยู่แล้ว เราก็จะมาดูว่าเท่าที่มีอยู่นั้นเพียงพอหรือไม่ หรือว่าควรจะให้เจ้าพนักงานอัยการมีบทบาทเพิ่มขึ้น อาจจะมาเข้าร่วมการสืบสวนตั้งแต่เริ่มแรกสำหรับคดีบางประเภท หรือถ้าพนักงานอัยการไม่เห็นด้วยกับสำนวนสอบสวนนั้น พนักงานอัยการอาจทำการสอบสวนเพิ่มเติมเองได้หรือไม่

 

จะเห็นว่าการสืบสวนต้องกระทำการอย่างเป็นระบบ อย่างเป็นวิชาชีพโดยเฉพาะ ในการสอบสวนนั้นอาจต้องการความรู้ความเชี่ยวชาญเป็นกรณีพิเศษ เพราะสังคมก็มีการพัฒนาไปอย่างหลากหลาย ก็อาจจะออกแบบให้มีผู้ช่วยพนักงานสอบสวนที่มาจากผู้เชี่ยวชาญจากสาขาต่างๆ หรือเป็นที่ปรึกษาพนักงานสอบสวนที่มาจากหน่วยงานต่างๆ เช่น คดีภาษี คดีที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ คดีที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี เป็นต้น

 

เพราะฉะนั้นถ้าจะกันไม่ให้การเมืองมาเกี่ยวข้องกับตำรวจทั้งหมดเนี่ย มันจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

 

ถ้าแก้เรื่องนี้แล้วจำเป็นจะต้องตรากฎหมายใหม่ขึ้นมาด้วยหรือเปล่า

คณะกรรมการก็ได้มีความเห็นว่าน่าจะมีการร่างกฎหมายกลางเกี่ยวกับการสอบสวนขึ้นมาสักหนึ่งฉบับ เพื่อให้เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการสอบสวนทั้งหมด แทนที่จะระบุไว้ในประมวลกฎหมายพิจารณาความอาญาเท่านั้น

 

ซึ่งกฎหมายกลางเกี่ยวกับการสอบสวนจะระบุเกี่ยวกับเรื่องนี้ เฉพาะที่เราตกลงกันไปแล้วก็คือว่าจะกำหนดให้ประชาชนสามารถแจ้งความที่สถานีท้องที่ใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นสถานีที่เกิดเหตุเท่านั้น

 

สองก็คือต้องกำหนดให้พนักงานสอบสวนสามารถมีอำนาจสอบสวนนอกเขตพื้นที่สถานีที่ตัวเองรับผิดชอบอยู่ด้วยในบางกรณี เพราะว่าในเมื่อให้ประชาชนมาแจ้งนอกท้องที่เกิดเหตุได้แล้ว พนักงานสอบสวนในพื้นที่ที่ประชาชนแจ้งก็น่าจะต้องมีอำนาจสอบสวนในเบื้องต้นได้ในบางกรณี

 

สามคือเรื่องที่ประชาชนมีภาระที่ต้องไปยังสองที่เวลาทำเอกสารหาย จากนี้จะให้ไปแค่ที่เดียว ไม่จำเป็นต้องไปแจ้งความที่สถานีตำรวจอีกต่อไป โดยไปแจ้งที่หน่วยงานที่ทำหน้าที่ออกเอกสารนั้นให้

 

นอกจากนี้ก็จะมีการกำหนดเอาไว้ชัดเจนว่า ในการทำสำนวนสอบสวนต้องรับฟังหลักฐานจากทุกฝ่าย ไม่ใช่เฉพาะหลักฐานที่เป็นการปรักปรำผู้ถูกกล่าวหาเท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติ เนื่องจากบ้านเราอยู่ในระบบกล่าวหา หลายครั้งเจ้าพนักงานจึงมักรวบรวมหรือให้น้ำหนักเฉพาะหลักฐานที่เป็นการปรักปรำผู้ถูกกล่าวหา ส่วนหลักฐานที่เป็นตัวสนับสนุนผู้ถูกกล่าวหาว่าไม่ได้กระทำความผิดนั้นไม่ค่อยเห็น หรือให้ไปสู้ในชั้นศาลเอาเอง อันนี้ก็จะเขียนไว้ชัดเจนในกฎหมายกลางนี้

 

จะมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างให้ยุบเลิก ก.ต.ช. ซึ่งเพิ่งมีให้เหลือแต่ ก.ตร. โดยที่ให้โอนภารกิจของ ก.ต.ช. ทั้งหมด

 

 

สวัสดิการตำรวจชั้นผู้น้อยจะแก้ไขอย่างไร

เราพยายามจะดู และสิ่งหนึ่งที่เรากำลังทำอยู่คือในเมื่อตำรวจยังต้องไปช่วยงานที่มีลักษณะเป็นงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่ แล้วท้องถิ่นก็มีรายได้มากน้อยต่างกันไปจากภาษีท้องถิ่นต่างๆ และจากส่วนแบ่งของค่าปรับต่างๆ เช่น ในกรณีของการจราจร เราก็กำลังดูว่าสมควรจะให้ท้องถิ่นมีส่วนช่วยในการสนับสนุนงบประมาณบางส่วนของตำรวจที่ขาดแคลนอยู่หรือไม่ โดยที่ให้ท้องถิ่นนั้นๆ จัดสรรเงินค่าปรับก็ดี หรือเงินส่วนแบ่งก็ดีมาให้ตำรวจ แต่ไม่ใช่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่ให้ตรงไปที่สถานีตำรวจในท้องที่เลย สิ่งเหล่านี้มันสามารถใช้งบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาช่วยซัพพอร์ตได้

 

ในภาพรวมทั้งหมดก็คือภายใต้งบประมาณแห่งชาติและกำลังพลของตำรวจที่มีจำกัด เราพยายามให้ตำรวจมีสมาธิและมุ่งไปเฉพาะที่งานหลักของตำรวจเพียงอย่างเดียวคืองานป้องกันอาชญากรรมและรักษาความสงบของบ้านเมือง งานอะไรที่เป็นงานรองหรือไม่ใช่ภารกิจของตำรวจแท้ แม้ในอดีตจะมีความจำเป็นหรือมีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ แต่ในยุคสมัยปัจจุบัน หากมีหน่วยงานอื่นที่มีความพร้อม สามารถรับช่วงไปได้ ทำได้ดี และประชาชนไม่เดือดร้อน เราก็พยายามจะถ่ายโอนให้กับหน่วยงานนั้นๆ หรือโดยเฉพาะอันใดที่ท้องถิ่นสามารถรับภาระได้ก็รับไป

 

ความร่วมมือของตำรวจในการเดินหน้าปฏิรูปเป็นอย่างไร

ผมเชื่อว่าเมื่อพูดถึงตำรวจก็ต้องแยกเป็น 2 ส่วน คือส่วนผู้บังคับบัญชากับส่วนตำรวจทั่วไป ประเด็นนี้ค่อนข้างจะยากสักนิดหนึ่ง เพราะตำรวจก็เป็นข้าราชการที่ทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ถืออาวุธ ต้องมีระเบียบวินัย จะให้เจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้น้อยระดับปฏิบัติการมาให้ข้อมูลเปิดเผยคงเป็นไปได้ยาก

 

ขณะเดียวกัน ผู้บังคับบัญชาไม่ว่าหน่วยงานใด ถ้าเราไปถามว่าหน่วยงานของท่านมีประสิทธิภาพเป็นอย่างไรก็ต้องยืนยันในประสิทธิภาพของตนเองทั้งสิ้น ครั้นจะถามว่าควรจะต้องเปลี่ยนแปลงอย่างไร ก็น้อยที่จะมีคำตอบถึงการเปลี่ยนแปลงมากนัก

 

ฉะนั้นเรื่องนี้มีความละเอียดอ่อนที่ต้องฟังปัญหาอย่างรอบด้าน แต่เท่าที่ดำเนินการมาในชุดนี้ เท่าที่แถลงข่าวออกไป เสียงสะท้อนออกมาในเชิงบวก โดยเฉพาะเรื่องอำนาจสอบสวนที่ให้เป็นแท่งอิสระและสั่งคดีเป็นการเฉพาะ และเชื่อว่าเรื่องแต่งตั้งโยกย้าย ทุกคนต้องการเหมือนกันคือมีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน โปร่งใส และเปลี่ยนแปลงไม่ได้

 

มั่นใจแค่ไหนว่าจะไม่เกิดข้อขัดแย้งกับตำรวจเพราะเรื่องนี้

ผมว่าทุกวันนี้ไม่มีใครคิดว่าตำรวจเป็นจำเลย เราเห็นว่าตำรวจเป็นที่พึ่งของประชาชน แต่เราจะทำอย่างไรให้ตำรวจได้เป็นที่พึ่งที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และการปัดกวาดทุกข์ เราไม่ได้มองว่าประชาชนทุกข์เพราะการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจโดยรวมทั้งหมด แต่เป็นแค่บางส่วน ซึ่งในหลายกรณีเป็นปัญหาโครงสร้างและทุกข์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจเอง ทั้งในเรื่องที่ต้องจ่ายเงินในการทำงานเอง ทุกข์ที่เป็นอาชีพที่ทำงานโดยไม่มีวันหยุด และค่าล่วงเวลา สุดแท้แต่สถานภาพของตำแหน่ง อาจไม่เหมือนกันทั้งหมด

 

การแต่งตั้งโยกย้าย เราจะกำหนดไว้ในกฎหมายหลัก ซึ่งก็คือ พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ ว่าต้องมีเกณฑ์ที่ชัดเจนแน่นอนตายตัว ยกเว้นได้แต่กรณีที่มีเหตุผลอธิบายได้จริงๆ หรือจำเป็นจริงๆ

 

 

ความหวังและความสำเร็จของการปฏิรูปทั้งหมดในอนาคตเป็นอย่างไร ไม่ใช่เฉพาะเรื่องตำรวจ

คิดว่าตอนนี้อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของประเทศ หากถามว่าจะคาดหวังอะไรได้บ้างก็อยากจะบอกว่าช่วงนี้เป็นระยะเวลาสุดท้ายของ คสช. รัฐบาลชุดนี้จึงอยากที่จะฝากผลงานชิ้นสำคัญให้เป็นที่จดจำของพี่น้องประชาชนให้ได้ และเรื่องการปฏิรูปตำรวจเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวประชาชนมากที่สุด หากสามารถทำได้สำเร็จในช่วงระยะเวลาที่เหลือก็จะทำให้การจากไปของสถานภาพ คสช. และรัฐบาลในช่วงเวลานี้เป็นไปอย่างสง่างาม

 

ส่วนที่จะไปอยู่ในสภาพอื่นอย่างไรก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะฉะนั้นผมเชื่อว่าท่านนายกรัฐมนตรีและทีมงานทั้งหมดที่อยู่ในส่วนที่ดูแลบ้านเมืองในระยะเวลาพิเศษ 4 ปีเศษนี้ ผมเชื่อว่าในระยะเวลาที่เหลือ 8-9 เดือนที่เหลืออยู่จะเป็นช่วงเวลาเหมาะสมที่สุดที่รูปธรรมจะออกมาตามที่ประชาชนคาดหวัง

 

เชื่อว่าคนที่เป็นผู้นำประเทศต้องยืนอยู่ในใจของพี่น้องประชาชนและคำยืนยันของนายกรัฐมนตรีที่ผ่านมาทางท่านอาจารย์วิษณุ เครืองาม

 

บรรยากาศการทำงานในวงปฏิรูปเป็นอย่างไร

ผู้ใหญ่เหล่านี้ท่านมีความสามารถสูงและเรียกได้ว่ามีลิ้นชักในสมองของท่าน หลายสิ่งหลายอย่างอยู่ในความรับรู้ของท่านแล้ว ท่านก็เคยชินกับการทำงานแบบนี้มา ประกอบกับในการทำงาน ต้องยอมรับว่าเมื่อใช้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นฝ่ายเลขาฯ ทำให้ฝ่ายเลขาฯ มีประสิทธิภาพ คณะทำงานมีประสิทธิภาพ

 

ส่วนตัวผมเองที่อาจมีความรู้น้อยกว่าเขาที่สุด ถือว่านี่เป็นโรงเรียนสำคัญ เพราะเราไม่ได้เติบโตมาในระบบราชการ บางทีเราไม่เข้าใจหรอกว่าความยากของการเปลี่ยนแปลงในระบบราชการ ความยากมันติดขัดในเรื่องอะไรบ้าง ถ้ามองจากมุมเอกชนคงคิดว่ามันง่าย แต่เอาเข้าจริงแล้วมันพัวพันกันไปหมด ถือว่าถ้าเทียบกับการประชุมที่มีเพียง 9 ครั้งและเนื้องานที่ออกมาขนาดนี้ ผมถือว่ามาก

 

จากนี้ไปจะเป็นการลงเป็นลายลักษณ์อักษร เป็นมาตรา เป็นฉบับต่อไป

 

ผมคิดว่าคงไม่มีคณะกรรมการชุดไหนแล้วที่มีกูรูทางด้านกฎหมายของประเทศ 3 คน ทั้งอาจารย์วิษณุ อาจารย์มีชัย อาจารย์บวรศักดิ์ เข้ามารวมอยู่ด้วย แล้วถ้าพูดถึงความเป็นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศก็มีถึง 2 ด้าน ทั้งด้านกฎหมาย ด้านกระบวนการยุติธรรม และรวมผู้มีความรู้ประสบการณ์มาก รัฐบาลก็รับรู้อยู่ตลอดว่ามีท่านรองนายกฯ วิษณุ เครืองาม ร่วมด้วย

 

เพราะฉะนั้นเชื่อว่าน่าจะตั้งความหวังไว้ได้ และในระยะเวลาที่ไม่นานก็ให้ตัวเนื้องานออกมาให้มากที่สุด เพราะเราก็ไม่ใช่สุดทาง เราอาจจะทำได้แค่ร่างกฎหมาย ไม่ว่าจะกี่ฉบับเราก็ต้องส่งให้ท่านนายกฯ ให้คณะรัฐมนตรี สมมติว่าคณะรัฐมนตรีเห็นด้วยกับเราทั้งหมด มันก็ยังมีกระบวนการเรื่องสภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งต้องมีชั้นรับหลักการในวาระที่หนึ่ง ชั้นกรรมาธิการ ก็เชื่อว่าหลักการทั้งหมดเมื่อผ่านจากชุดเราไป แม้จะมีการปรับปรุงแก้ไขในชั้นกรรมาธิการบ้าง แต่ก็น่าจะเป็นส่วนน้อยครับ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising