ซีรีส์เกาหลีในปี 2023 เรียกได้ว่าเป็นปีที่เติบโตอย่างยิ่งใหญ่ ทั้งยังผลักดัน Soft Power ในแบบที่คนดูยินยอมพร้อมใจจะรับรู้ ประกอบกับคุณภาพและความเข้มข้นของคอนเทนต์ที่ยิ่งแข่งยิ่งแกร่ง
ในปีนี้ ซีรีส์เกาหลียังคงเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นเม็ดเงินให้กับอุตสาหกรรมบันเทิง รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจระดับประเทศ ขณะเดียวกัน วัฒนธรรมเกาหลี ทั้งเรื่องของความสวยความงาม คอสเมติก ดนตรี รายการวาไรตี้ ซีรีส์ อาหารการกิน ฯลฯ ก็ได้กลายเป็นความสากลที่คนดูทั่วโลกเข้าใจได้ในแบบเดียวกัน
ภาพรวมซีรีส์เกาหลีในปี 2023
นับจากความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง และความนิยมในหมู่คนดูทั่วโลก ซีรีส์เกาหลีได้รับการสนับสนุนทั้งจากภาครัฐเอง รวมถึงสตรีมมิงแทบทุกค่ายที่ต่างมาลงทุนในการผลิตคอนเทนต์ออริจินัล
ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลเกิดการผสมผสานวัฒนธรรมเกาหลีเข้าไว้ในคอนเทนต์อย่างกลมกลืน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของศิลปิน K-Pop อาหารการกิน สถานที่ การใช้ชีวิตของเหล่าคนดัง ขนบทางสังคมบางอย่างที่ถ่ายทอดอยู่ในเรื่องราว
ที่เห็นตัวเลขชัดๆ ก็คือการที่ เท็ด ซาแรนดอส Co-CEO ผู้อำนวยการฝ่ายคอนเทนต์ของ Netflix ได้ให้สัมภาษณ์ช่วงกลางปีนี้ที่กรุงโซล เกาหลีใต้ “สมาชิกของเรา 60 เปอร์เซ็นต์รับชมคอนเทนต์เกาหลี ตัวเลขมากขึ้นถึง 6 เท่า หากนับจากตัวเลขเมื่อ 4 ปีก่อน สำหรับคอนเทนต์โรแมนติกก็ต้องบอกว่าผู้ชมถึง 90 เปอร์เซ็นต์เป็นสมาชิก Netflix ที่อยู่นอกประเทศเกาหลีด้วยนะครับ”
นอกจากนี้ เขายังเปิดเผยว่า Netflix จะทุ่มงบลงทุน 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับคอนเทนต์เกาหลีใน 4 ปีต่อจากนี้ ทั้งรายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์ และซีรีส์ รวมถึงการลงทุนในการผลิตบุคลากรรุ่นใหม่เข้ามาร่วมสร้างสรรค์เรื่องราวเพื่อผู้ชมทั่วโลก
- Netflix ประสบความสำเร็จเอามากๆ ไล่ตั้งแต่ The Glory ซีรีส์สุดฮิตจากปลายปี 2022 จนถึงต้นปี 2023, รายการ Physical: 100 ก็เป็นหนึ่งในรายการที่มีผู้ชมทั่วโลกมากกว่า 235,000,000 ชั่วโมง กระทั่งซีรีส์โรแมนติก Crash Course in Romance ก็ยังได้รับความนิยมระดับชั่วโมงผู้ชม 235,000,000 ชั่วโมง และถ้านับจากลิสต์ท็อป 50 ของ Netflix คอนเทนต์เกาหลีติดโผไปถึง 8 คอนเทนต์ทีเดียว สำหรับไฮไลต์ประจำปี 2023 เรายกให้ซีรีส์ The Good Bad Mother, Sweet Home 2, D.P. 2, Gyeongseong Creature, Doona!, รายการเรียลิตี้ The Devil’s Plan และรายการเรียลิตี้ Squid Game: The Challenge
- Disney+ Hotstar ประสบความสำเร็จมหาศาลจากแนวทางของสตรีมมิงที่ผนวกซูเปอร์ฮีโร่เข้ากับซีรีส์เกาหลี น่าสนใจว่าตั้งแต่ Moving งานซีรีส์ต่อๆ มาก็ล้วนน่าสนใจ เช่น The Worst of Evil และ Vigilante รวมไปถึงรายการวาไรตี้เหล่าไอดอลที่กลายเป็นเอกลักษณ์ของสตรีมมิงสังกัดนี้ เช่น Unexpected Business, SUGA: Road to D-DAY, NCT127: The Lost Boys และ Super Junior: The Last Man Standing
- Prime Video ในปี 2023 มีซีรีส์ Island ที่แยกพาร์ตออกฉายช่วงต้นปี และอีกเรื่องที่น่าจับตามอง ซีรีส์ Death’s Game คอนเทนต์ฟอร์มยักษ์ในเดือนธันวาคมนี้ รวมนักแสดงเทพๆ ไว้ในเรื่องแบบเข้มข้น
- Viu ที่ยืนหนึ่งมาตลอดเรื่องรายการวาไรตี้ช่องโทรทัศน์ ยังคงเข้มแข็งในแนวทาง และได้สิทธิ์ซีรีส์ดีๆ ดังๆ อยู่ไม่น้อย อย่างเช่น The Story of Park’s Marriage Contract, Taxi Driver 2 และ Twinkling Watermelon
ความเปลี่ยนแปลงอีกอย่างที่ชัดเจนในปีนี้คือการที่ซีรีส์เกาหลีถึง 4 เรื่อง (จากทั้งหมด 7 เรื่อง) นั่นก็คือ Bargain, The Glory, Mask Girl และ Moving ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลในเวทีระดับโลก Critics Choice Awards ครั้งที่ 29 ซึ่งจะจัดในเดือนมกราคม 2024 ที่ลอสแอนเจลิส โดยซีรีส์เข้าชิงในสาขา Best Foreign Language Series การได้รับเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลเหล่านี้คือสิ่งที่ทำให้เห็นว่า นี่แหละคือ Soft Power ที่ไม่อาจปฏิเสธ
ซีรีส์เกาหลี และโอกาสใหม่ๆ ในปี 2023
หลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลายเมื่อต้นปี 2023 ซีรีส์เกาหลีก็มีงานดีๆ ทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งซีรีส์ ภาพยนตร์ รายการวาไรตี้ และเรียลิตี้ ที่ได้รับความนิยมจากผู้ชมนอกประเทศ จนเหมือนว่าเราเองได้กลายเป็นประชาชนคนเกาหลีไปแล้ว
นอกจากนี้ ด้วยปัญหาการประท้วงที่ยืดเยื้อยาวนานของสมาคมนักเขียนบทแห่งอเมริกา หรือ Writers Guild of America: WGA ลากยาวตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-พฤศจิกายน ก็ทำให้อุตสาหกรรมบันเทิงฝั่งฮอลลีวูดหยุดชะงัก เปิดประตูบานใหญ่ให้คอนเทนต์ฝั่งเอเชียขึ้นเป็นคอนเทนต์แนะนำในฝั่งตะวันตก ซีรีส์เกาหลีหลายเรื่องขึ้นเป็นซีรีส์ที่มีจำนวนผู้ชมลำดับต้นๆ ของโลก
อย่างหนึ่งที่สำคัญคือแรงบวกจากในประเทศที่สะท้อนผ่านผู้คนในวงการบันเทิง ผู้เขียนต้องขอยกคำพูดของ เท็ด ซาแรนดอส Co-CEO ของ Netflix อีกครั้ง “วันแรกที่ผมได้พบกับผู้กำกับ บงจุนโฮ ในปี 2017 ตอนนั้นเราคุยกันเรื่องโปรเจกต์ Okja ที่เป็นคอนเทนต์สากลเรื่องแรกๆ บงจุนโฮสอนผมเกี่ยวกับวงการภาพยนตร์เกาหลีเยอะมาก จากนั้นผมได้แนะนำเขาให้รู้จักกับ มาร์ติน สกอร์เซซี ซึ่งเป็นหนึ่งในฮีโร่ของบงจุนโฮ ครับ…ไม่กี่ปีต่อมา ผู้กำกับบงจุนโฮได้กลายเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์ จากภาพยนตร์ Parasite ปีเดียวกับที่หนังของ มาร์ติน สกอร์เซซี เข้าชิงด้วยเหมือนกัน เหลือเชื่อจริงๆ ครับที่ผมได้เฝ้าดูเส้นทางการเติบโตของเขา”
สำหรับบุคลากรในวงการบันเทิงเกาหลีบนเวทีโลก น่าจะเป็นเพชรที่รอวันที่มีคนหยิบไปอยู่ในเวลาและสถานที่ที่เหมาะสมเพื่อเปล่งประกาย
ความโดดเด่นของบุคลากรผู้ผลิตคอนเทนต์เกาหลี ยกตัวอย่างเช่น
-
ความทะเยอทะยานที่มาพร้อมกับความบ้าคลั่งในการทำงาน
วงการการทำงานในเกาหลีใต้กดดันสูง แข่งขันสูง เครียดกันหัวแทบหลุด และไม่ใช่เฉพาะงานอุตสาหกรรมบันเทิง แต่หมายรวมถึงลักษณะนิสัยที่สั่งสมกันมารุ่นสู่รุ่น จนหลายๆ คนน่าจะคุ้นกับวลีที่ว่า ‘นรกโชซอน’ เจนใหม่ของเกาหลีใต้ส่วนหนึ่งที่อยากจะหนีความกดดันไปใช้ชีวิตในต่างประเทศ แต่ด้วยแรงดึงดูดของ Soft Power วัฒนธรรม K-Pop ได้กลายเป็นแม่เหล็กดึงหนุ่มสาวกลับไปโซลได้อีกครั้ง
-
เชื่อว่าเกาหลีคือที่หนึ่งของโลกนี้ได้
ผู้เขียนมีโอกาสได้สัมภาษณ์และพูดคุยกับทีมงาน นักแสดง ทีมสร้างคอนเทนต์จากเกาหลีอยู่หลายครั้ง พบว่าอย่างหนึ่งที่พวกเขามีเหมือนกันก็คือ ‘ความเชื่อ’ ที่เชื่อว่าเกาหลีเป็นที่หนึ่งของโลกนี้ได้ ถ้าฮอลลีวูดมีงาน CG ระดับไหน เขาก็จะพยายามยกระดับ พัฒนาตัวเองไปให้ถึงในมาตรฐานเดียวกัน
-
นักเขียนบท ผู้กำกับ นักแสดง เสาหลักอันแข็งแกร่ง
อุตสาหกรรมซีรีส์เกาหลียืนหยัดอยู่บนเสาหลักสำคัญ นักเขียน ผู้กำกับ และนักแสดง ซึ่งเป็นการทำงานที่ส่วนใหญ่ให้น้ำหนักกับฝั่งนักเขียนและผู้กำกับมากกว่านักแสดงที่จะมารับบทเสียอีก มีข่าวหลายครั้งที่นักแสดงดังๆ ยังต้องขอไปพบนักเขียนเพื่อแคสต์บทที่ต้องการ หรือการทำงานของนักเขียนบทที่ทำงานเป็นทีม และในมือเขียนระดับท็อปๆ ค่าเขียนบทอาจจะสูงกว่าค่าตัวนักแสดงนำของเรื่องด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นการที่ค่ายทีวีเลือกนักแสดงมาให้ หรือเจาะจงนักแสดงในสังกัดมาให้ จึงไม่ค่อยเกิดขึ้นให้กลายเป็นปัญหาลูกโซ่ตามมา
-
นักแสดงที่ฝีมือต้องมี
ฝ่ายนักแสดงเองก็อยู่ในนิยามคำว่า ‘นักแสดง’ ไม่ใช่ดาราหน้ากล้อง ผู้เขียนที่ได้สัมภาษณ์นักแสดงเกาหลีมาไม่น้อยเช่นเดียวกัน พบว่าชื่อเสียงที่พวกเขาได้รับแลกมากับความพยายามและความตั้งใจในการทำงานขั้นสุด เราได้เห็นนักแสดงที่ทรานส์ฟอร์มตัวเอง เพิ่มน้ำหนัก ลดน้ำหนัก ปรับวิธีการเดิน การพูด ให้ตรงกับคาแรกเตอร์ รวมถึงการท่องบทและฝึกซ้อมแอ็กชันต่างๆ ชนิดที่เหลือเชื่อ เช่น ฮันโซฮี ที่ฟิตร่างกายจนแกร่ง หรือ ฮันฮโยจู ที่เตรียมร่างกายสำหรับฉากแอ็กชัน จนในชีวิตจริงลงแข่งไตรกีฬาสำเร็จด้วยเช่นกัน
-
วัตถุประสงค์ของซีรีส์ที่ไม่ได้แค่มอบความบันเทิง
คอนเทนต์เกาหลีเป็นเจ้าแรกในการมีชื่อเรียกแนวทางซีรีส์ของตัวเอง เช่น ซีรีส์แนวฮีลใจ โดยเฉพาะในปีนี้ มีซีรีส์หมั่นคอยดูแลและรักษาดวงใจที่ดีมากๆ อย่าง Daily Dose of Sunshine
นอกเหนือจากความบันเทิง ซีรีส์เกาหลียังมีวัตถุประสงค์ที่สองในการเป็นข้อมูลความรู้สำหรับคนดูหัวข้อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ซีรีส์ที่ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์เกาะเชจูทางการท่องเที่ยว Welcome to Samdalri, ซีรีส์สอนวิชากฎหมายชาวบ้าน โดยเฉพาะเรื่องหย่าร้าง Divorce Attorney Shin, ซีรีส์ทวงคืนความยุติธรรมให้เหยื่อ Taxi Driver 2, ซีรีส์ตีแผ่วงการเลือกตั้ง Queenmaker และซีรีส์สอนวิธีเอาตัวรอดในสถานการณ์คับขัน The First Responders 2
ยุคสมัยใหม่มีที่ว่างเสมอสำหรับคอนเทนต์ที่ทำถึง
อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ความแรงของซีรีส์เกาหลีที่ไม่หยุดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จึงเป็นเรื่องที่มีการวางแผนและใช้เวลาบ่มเพาะไม่ใช่น้อย อย่างหนึ่งที่ต้องยอมรับคือคอนเทนต์เกาหลีได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เป็นการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ทั้งรัฐและเอกชน ใช้เม็ดเงินจำนวนมหาศาล เคี่ยวกรำบุคลากรของตนอย่างเข้มข้น ทั้งเรื่องความละเอียด ฝีมือ เทคโนโลยี โปรดักชัน และเงินลงทุน
ฐานการผลิตคอนเทนต์ที่เกาหลีเติบโตขึ้นทุกที และมีแนวโน้มไปไกลในทำนองความหวังของชาติสุดๆ เกิดจากการเดินทาง ฝ่าฟัน เรียนรู้ และปรับตัวตลอดมา การที่พวกเขาขึ้นไปยืนเป็นหนึ่งในผู้ผลิตคอนเทนต์ระดับโลก จึงเป็นสิ่งที่เราควรคิด วิเคราะห์ แยกแยะ เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาส่วนงานของตัวเอง
การนำ Soft Power ไปสู่ความเป็นสากล เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่ได้ในชั่วข้ามคืน แต่เป็นการวางแผนระยะยาว เพื่อให้เมื่อไปยืนบนเวทีโลกแล้ว จะได้รับดอกไม้มากกว่าก้อนอิฐ