เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าวัฒนธรรมเกาหลีกำลังแพร่หลายอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะซีรีส์เกาหลีที่นับวันยิ่งขยายอาณาเขตจากในประเทศไปสู่ต่างประเทศได้อย่างน่าจับตามอง ยิ่งในปีนี้มีซีรีส์หลายเรื่องประสบความสำเร็จอย่างสูง ไม่ว่าจะเป็น Kingdom, Vagabond, Sky Castle, When the Camellia Blooms, Hotel Del Luna นั่นทำให้เกิดคำถามตามมาว่า ซีรีส์เกาหลีดีงามอย่างไรจึงกลายเป็นอุตสาหกรรมที่น่าจับตามอง และมีแนวโน้มว่าจะกวาดความนิยมจากแฟนซีรีส์ทั่วโลกได้ในอนาคต
THE STANDARD POP พูดคุยกับ ซอฟแวร์-กรกมล ลีลาวัชรกุล ผู้ก่อตั้ง Korseries (คอซีรีส์) เว็บไซต์และโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับวงการบันเทิงเกาหลีที่มีผู้ติดตามลำดับต้นๆ ของไทย เพื่อทำความเข้าใจจักรวาลซีรีส์เกาหลี รวมถึงการทำงานและมุมมองของ Korseries เองที่เข้มข้นอยู่ในแวดวงนี้มานานเกือบ 10 ปี
ก่อนจะเปิดจักรวาลซีรีส์เกาหลี เรามาทำความรู้จัก Korseries กันก่อนว่าอะไรที่ทำให้เด็กมัธยมปลายคนหนึ่งเติบโตมาเป็นผู้ก่อตั้งเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียที่มีผู้ติดตามนับล้านคนในวัย 23 ปี “ซอฟดูซีรีส์เกาหลีแล้วติดมาก จากดูที่ช่อง 7 เอามาฉายแล้วไปเสิร์ชหาดูต่อในอินเทอร์เน็ต จนพบว่ามีคลังซีรีส์เกาหลีให้เราดูเยอะมาก จุดเริ่มต้นมีแค่นี้เลยคือดูแล้วติดมาก
“พอดูเยอะขึ้นเรื่อยๆ ขึ้นมัธยมปลายก็เริ่มอิน เริ่มแปลซับไตเติล จำได้เลยเรื่องแรก Incarnation of Money (2013) ชอบมากที่มีคนเข้ามาดูแล้วได้เห็นชื่อเราอยู่ข้างหลัง มันเป็นความรู้สึกของการได้แบ่งปัน ตอนนั้นเป็นช่วงที่ยังไม่มีซับถูกลิขสิทธิ์เข้ามา พอมีแบบถูกลิขสิทธิ์เข้ามาเราก็หันมาสนับสนุนเจ้าถูกลิขสิทธิ์แทน เวลาไปโรงเรียนซอฟก็ไปแอบเขียนกระดานหน้าห้อง แนะนำซีรีส์ประจำสัปดาห์ให้เพื่อนๆ ไปตามดู มันถึงขนาดว่ามีเพื่อนห้องอื่นตามมาอ่านด้วย จนเปิดทวิตเตอร์ เฟซบุ๊กแฟนเพจ และเปิดเว็บไซต์ ซึ่งระหว่างทางมันยาก และเราทำเองทั้งหมด ทุกวันนี้ยังมีเพื่อนมาแซวขำๆ กันอยู่เลย เพราะไม่น่าเชื่อว่าเพื่อนที่เขียนบนกระดานหน้าห้องจะมาอยู่ตรงจุดนี้ได้”
ปี 2556 Korseries เปิดแอ็กเคานต์ทวิตเตอร์ครั้งแรก ใช้เวลาเพียง 7 ปี ในปัจจุบัน Korseries มีผู้ติดตามทาง ทวิตเตอร์ Korseries 1.55 ล้านฟอลโลเวอร์, เฟซบุ๊ก Korseries 681,000 ฟอลโลเวอร์, ส่วนเว็บไซต์ https://www.korseries.com/ มีผู้ติดตามอ่านเดือนละกว่า 4 ล้านครั้ง ด้วยสถิติเหล่านี้ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่าแฟนๆ ซีรีส์รวมถึงกลุ่มผู้สนใจวงการบันเทิงเกาหลีมีจำนวนเพิ่มขึ้น คู่ขนานไปกับการเติบโตของตลาดวงการบันเทิงเกาหลี
ในฐานะที่ทำงานติดตามวงการนี้มาอย่างใกล้ชิด ซอฟ กรกมล ผู้ก่อตั้ง Korseries ได้ตอบคำถามสำคัญว่า ทำไมซีรีส์เกาหลีถึงครองใจคนดูไปทั่วโลก อะไรคือเคล็ดลับและกระบวนการเบื้องหลังความสำเร็จ
ซีรีส์เกาหลีน่าสนใจอย่างไร ส่วนตัวซอฟดูซีรีส์เกาหลีแล้วได้อะไรกลับมาบ้าง
ซอฟรู้สึกว่าซีรีส์เกาหลีเขาพยายามแสดงตัวตนความเป็นเกาหลีออกมา โดยที่ไม่ได้ยัดเยียด แต่ทำให้คนดูอยากจะรู้ ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรม เรื่องการใช้ชีวิต เรื่องเคารพอาวุโสที่เวลาดื่มน้ำต่อหน้าผู้ใหญ่จะต้องหันข้างเพื่อให้ดูสุภาพ, เวลาออกจากคุกต้องกินเต้าหู้ ซึ่งเต้าหู้สีขาวเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ แล้วมีคุณค่าทางอาหารเปรียบเหมือนการได้กินของดีๆ เหมือนการเริ่มต้นใหม่ หรือเวลาขึ้นบ้านใหม่ เราจะเห็นเขาเอาเค้กข้าวไปให้เป็นการผูกมิตร เรารู้สึกว่ารายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ มันเจ๋งมาก ซึ่งมันใหม่สำหรับเราและทำให้เราสนใจวัฒนธรรมของเขามากขึ้น
ซีรีส์หลายๆ เรื่องจะเห็นว่าพระเอกหรือนางเอกจะมีความยากลำบากในการใช้ชีวิต ความคิดเห็นส่วนตัว ซอฟมองว่าซีรีส์เกาหลีเป็นเหมือนการเยียวยาจิตใจคนด้วย เขาต้องการให้พระเอกนางเอกเป็นตัวแทนว่าพวกเขายากลำบากไม่ต่างจากเราเลย ขณะเดียวกันตัวพระเอกส่วนใหญ่จะวางตัวให้เป็นผู้ชายแสนดี เพื่อเป็นตัวอย่างกับคนรุ่นใหม่ เพราะอย่างที่คนส่วนใหญ่จะรู้อยู่แล้วว่าผู้ชายเกาหลีจะอยู่ในกรอบของชายเป็นใหญ่ ซึ่งซีรีส์จะพยายามปลูกฝังเรื่องนี้
Jang Ok Jung, Live For Love (2013)
หรืออย่างซีรีส์ประวัติศาสตร์ที่ซอฟชอบ คือบางเรื่องเขาไม่ได้เอาประวัติศาสตร์มาเพียวๆ แต่มีการใส่ตัวละครสมมติในยุคนั้นเข้าไป มีการผูกโยงผสมแฟนตาซีให้เราตื่นเต้น ทั้งการย้อนเวลาหรือข้ามเวลาไปสู่ยุคที่เกิดเหตุการณ์จริง ทำให้เรารู้พื้นฐานประวัติศาสตร์เกาหลีที่นำมาเชื่อมโยงกับคนดูได้อย่าง จางอ๊กจอง ถ้าเราดูในซีรีส์เรื่องอื่นๆ จะรู้สึกว่าเขาร้ายมาก แต่พอดูซีรีส์เรื่อง Jang Ok Jung, Live For Love (2013) จะรู้ว่าเขาตีความใหม่ให้จางอ๊กจองเป็นนางเอก แล้วทำให้คนดูรู้ว่าที่จางอ๊กจองต้องร้ายเป็นเพราะอะไร มันมีเหตุผลที่ทำให้เราชอบในการครีเอตเรื่องราวของเขา
ถ้าเป็นซีรีส์การแพทย์หรือสืบสวนสอบสวน ซีรีส์เกาหลีจะลงลึกในการทำงาน มันไม่ใช่แค่เล่าแบบผิวเผิน เขาจะทำให้เรารู้สึกเหมือนไปอยู่ตรงนั้นด้วย เห็นเหตุการณ์ด้วย ซอฟรู้มาว่านักแสดงหลายๆ คนถึงกับไปเรียนอนาโตมี ไปฝึกซ้อมอยู่ในโรงพยาบาลเป็นเดือนๆ ถ้าเป็นซีรีส์สืบสวนหลายคนก็จะไปฝึกกับตำรวจจริงๆ ซึ่งมันเป็นการทำงานที่จริงจังมาก แล้วเราชอบที่นักแสดงเขาอินกับบทมากๆ ซึ่งมันเป็นการให้เกียรติคนดูด้วย
ซีรีส์เกาหลีมีชั้นเชิงมากๆ เป็นสิ่งที่ซอฟเอ็นจอยกับมันมากๆ เพราะมันจะมีจุดพีกที่ทำให้เราอยากดูไปตลอด แล้วพอยิ่งดูเยอะ การดูซีรีส์เกาหลีของซอฟก็ไม่ได้ดูแค่เป็นเรื่องๆ ไป แต่จะดูไปถึงผู้กำกับด้วย ตามไปจนถึงคนเขียนบท เราจะเริ่มจับทางเขาได้ ถ้าคนไหนที่น่าสนใจมีผลงาน เราจะรู้แล้วว่าถ้าเขาทำแนวนี้มันจะปังมากๆ และทำให้เราตามผลงานเขาไปเรื่อยๆ
ซอฟมองว่าซีรีส์เกาหลีเป็นเหมือนการเยียวยาจิตใจคนด้วย เขาต้องการให้พระเอกนางเอกเป็นตัวแทนว่าพวกเขายากลำบากไม่ต่างจากเราเลย
ประเด็นนี้น่าสนใจ ซีรีส์เกาหลีดูจะให้ความสำคัญกับผู้กำกับและคนเขียนบทมากๆ ขณะที่บ้านเราบางครั้งแทบไม่รู้ว่าใครเขียนบทหรือกำกับ
ที่นั่นเขาจะให้ความสำคัญกับผู้กำกับและคนเขียนบทมากกว่า ถึงแม้ว่านักแสดงเขาจะมีคู่ขวัญอยู่เหมือนกัน แต่ยากมากที่จะกลับมาเจอกันอีก สายซีรีส์เกาหลีเป็นอะไรที่ต้องไหว้พระ (หัวเราะ) ขณะที่ผู้กำกับกับนักเขียนบท ถ้าเขาทำงานเข้าขากัน ก็จะกลับมาทำงานด้วยกันเยอะมาก อย่างนักเขียนบท คิมอึนซุก กับผู้กำกับ อีอึงบก ที่ร่วมงานกันมาหลายเรื่อง (Descendants of the Sun (2016), Goblin (2016), Mr. Sunshine (2018)) หรืออย่างนักเขียนบท คิมอึนฮี ที่เขียนบท Signal (2016) ซอฟชอบเขามาตั้งแต่เรื่องนั้น แล้วพอเขามาเขียนบท Kingdom (2019) ก็รู้ว่าต้องออกมาดีแน่ เราเลยกลายเป็นแฟนนักเขียนบทไปด้วยเลย
อยากให้อธิบายว่าทำไมวงการซีรีส์เกาหลีถึงไม่มีคู่ขวัญ
ต้องอธิบายว่าวงการบันเทิงเกาหลี นักแสดงเขาจะไม่ได้สังกัดช่อง เขาจะสังกัดค่ายหรือเอเจนซี ส่วนผู้กำกับส่วนใหญ่แล้วจะสังกัดช่อง ไม่ว่าจะเป็น KBS SBS แต่คนเขียนบทจะมีทั้งทำงานอิสระและสังกัดค่าย
ซีรีส์เรื่องหนึ่งเมื่อเริ่มการผลิต จะเริ่มเป็นก้อนๆ ขึ้นมาก่อน โดยบริษัทโปรดักชันจะเป็นคนลงทุนในช่วงแรก และยังไม่ได้กำหนดว่าจะฉายช่องไหน ก็จะมีการไปเสนอ พูดคุยดูความเหมาะสม ทั้งสำหรับช่อง การคัดเลือกนักแสดง ซึ่งส่วนนี้ก็ค่อนข้างยาก เพราะดาราส่วนใหญ่จะรับงานซีรีส์กันไม่เยอะ บางคนอาจจะรับเล่นแค่ปีละเรื่อง การที่นักแสดงคู่ขวัญจะกลับมาเจอกันก็จะยากมากๆ ในหลายๆ องค์ประกอบ รวมถึงนักแสดงหน้าใหม่ๆ ที่เข้ามาก็เยอะมาก แล้วคนดูคงไม่ค่อยชอบถ้ามีนักแสดงหน้าเดิมมาร่วมงานกันอีกครั้งอย่างรวดเร็ว อย่างล่าสุด ซูจีกับอีซึงกิ ในซีรีส์ Vagabond ก็เป็นการกลับมาร่วมงานกันในรอบ 6 ปี แล้วก็เปลี่ยนบทบาทไปเลย ทำให้เรารู้สึกใหม่อยู่ตลอด
ซีรีส์เกาหลีเขาคัดเลือกนักแสดงจากที่ว่าใครเหมาะกับคาแรกเตอร์ตัวละครนั้นๆ มากกว่าใครเป็นคู่ขวัญใคร บางตัวละครไม่จำเป็นต้องใช้ดาราดังเลย อย่างซีรีส์ Reply ที่เป็นการแจ้งเกิดนักแสดงหลายๆ คนขึ้นมา ทั้งๆ ที่อยู่ในวงการแสดงมาตั้งนานอย่าง จองอู หรือพี่ขยะในซีรีส์ Reply 1994 (2013)
Vagabond (2019)
จากกระบวนการสร้างซีรีส์มาถึงระบบโทรทัศน์ของเกาหลี ซีรีส์จะออกฉายช่องไหน แต่ละช่องมีเอกลักษณ์ต่างกันอย่างไรบ้าง
ตอนนี้เกาหลีมีช่องโทรทัศน์เยอะมากๆ แบ่งหลักๆ ออกเป็นช่องฟรีทีวีกับช่องเคเบิล ช่องฟรีทีวีหลักๆ จะมี KBS, MBC, SBS, EBS คือช่องหลักที่คนทั่วไปรู้จัก EBS จะเป็นช่องเหมือนกับ Thai PBS ของบ้านเรา จะมีรายการสารคดี รายการเด็ก รายการเพื่อการศึกษา แล้วก็มีดาราหลายคนที่แจ้งเกิดจากการเป็นพิธีกรช่องนี้
และถ้าแยกเป็นรายช่องของฟรีทีวี KBS จะเป็นช่องที่เก่าแก่ที่สุด อยู่มานานมาก ตั้งแต่ปี 1927 โดยแรกเริ่มเป็นวิทยุก่อนจะมาเป็นระบบโทรทัศน์ ซึ่ง KBS ก็จะมีแตกย่อยลงไปอีกเป็น KBS 1 ช่องข่าว เน้นการรายงานข่าว สารคดีประเด็นสังคมตลอดทั้งวัน เกิดขึ้นเมื่อปี 1961 ส่วน KBS 2 ที่มาทีหลังในปี 1980 จะเป็นสายเอ็นเตอร์เทนเมนต์ ฉายซีรีส์วนทั้งวัน แม่บ้านจะรักช่องนี้มาก ซีรีส์ของช่อง KBS ทุกวันนี้ก็จะฉายอยู่ที่ช่องนี้ แต่ก็มีบางเรื่องเหมือนกันที่ฉายกับ KBS 1 ซึ่งจะเป็นซีรีส์แนวจริงจังๆ และฉายดึกๆ หน่อย ซอฟเคยหาข้อมูลเจอว่าเมื่อก่อนช่อง KBS จะได้เงินสนับสนุนมาจากประชาชน เหมือนเป็นค่า Broadcasting Fees ซอฟเลยรู้สึกว่าเสน่ห์คือซีรีส์เขาจะแนวครอบครัวแนวมหาชนแบบที่แม่บ้านจะชอบ แล้วทำออกมาดีมากๆ เรตติ้งดีมากๆ อย่างเช่น My Only One (2018-2019), My Golden Life (2018) ที่ทำเรตติ้งสูงเกือบแตะ 50% เลย
MBC เป็นช่องที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรของรัฐบาล บางคนบอกว่าได้งบจากกระทรวงวัฒนธรรมด้วย ช่องนี้เลยจะเน้นเรื่องวัฒนธรรม ตามชื่อ ที่ M มาจาก Munhwa ที่แปลว่า ‘วัฒนธรรม’ ซีรีส์ของเขาจะเป็นซีรีส์ย้อนยุคดังๆ อย่าง แดจังกึม (A Jewel in the Palace (2003)) หรือ จูมง (Prince of the Legend (2006)) แล้วเขามีโรงถ่ายย้อนยุคของตัวเอง Yongin MBC Dramia อยู่ที่ยงอิน ใหญ่มากๆ ถ้าได้ไปจะจำได้เลยว่าฉากไหนอยู่ในซีรีส์เรื่องไหนบ้าง
SBS ถือเป็นช่องโทรทัศน์น้องใหม่ที่สุดในบรรดา 3 ช่องหลัก ปีนี้เพิ่งอายุ 28 ปีเอง (เริ่มออกอากาศในปี 1990) เป็นช่องที่มีความวัยรุ่นสูง ซีรีส์จะเน้นนักแสดงดังๆ ไอดอลต่างๆ ความวัยรุ่นชอบจะอยู่ที่ช่องนี้ เท่าที่ดูมาซอฟว่าจะค่อนข้างขายตัวนักแสดงกว่าช่องอื่น ด้วยความที่เขาเปิดมาทีหลัง เขาก็ต้องใช้ความแหวกแนวที่สุดสำหรับฟรีทีวี จะมีความหัวทันสมัยแบบที่ต่างชาติจะชอบ ซีรีส์ที่ดังจากช่องนี้ เช่น You’re Beautiful (2009), The Heirs (2013), My Love From the Star (2013), It’s Okay , That’s Love (2014)
แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป แนวทางของช่องแต่ละช่องก็มีความหลากหลายมากขึ้นกว่าเดิมมาก ยิ่งตอนนี้การแข่งขันค่อนข้างสูง แต่ละช่องก็พยายามจะแข่งกันผลิตคอนเทนต์ออกมาหลากหลายแนว อย่างที่เห็นช่วงหลังๆ เราจะเห็นแนว Cross-genre (หรือเรียกอีกอย่างว่า Hybrid genre) มากยิ่งขึ้น คือหนึ่งเรื่องมีหลายแนว เพื่อให้ผู้ชมรู้สึกถึงความแปลกใหม่ไม่จำเจ เช่น ซีรีส์แนวโรแมนติกคอเมดี้แล้วยังผสมแฟนตาซีเข้ามาอีก, แนวการแพทย์-สืบสวน หรือแม้กระทั่งเทรนด์การนำเรื่องราวจากนวนิยายหรือเว็บตูนมาดัดแปลงเป็นซีรีส์ก็ได้รับความนิยม เพราะไม่ต้องห่วงเรื่องพล็อตเรื่อง ถ้าเว็บตูนดังแสดงว่าคนชอบเรื่องราวอยู่แล้ว แถมยังได้ฐานผู้ชมที่ดูเว็บตูนมาติดตามซีรีส์เพิ่มอีก หลังๆ เลยเห็นค่อนข้างบ่อย อย่างในปีนี้ Her Private Life ดัดแปลงมาจากนวนิยาย ส่วน Love Alarm, The Tale of Nokdu, Extraordinary You ดัดแปลงมาจากเว็บตูน
Goblin (2016)
ฝั่งของเคเบิลทีวีจะมีช่องอย่าง tvN, OCN, Mnet ก็คืออยู่ในเครือเดียวกัน หรือเจ้าของจริงๆ ก็คือ CJ Entertainment ซึ่งเป็นองค์กรสื่อที่ยิ่งใหญ่มากๆ ของเกาหลี
สำหรับ tvN นับว่าเป็นช่องน้องใหม่มากๆ เพิ่งจะเปิดมาได้ 12 ปี สโลแกนช่องเขาคือ Content Trend Leader ซึ่งต้องยกให้เขาว่าเป็นผู้นำอะไรใหม่ๆ จริง แต่ในช่วงแรกคนที่ทำงานเบื้องหลังออกมาให้สัมภาษณ์ว่าหานักแสดงมาร่วมงานด้วยยากมาก เพราะความที่เป็นช่องใหม่ ดาราดังๆ ไม่พร้อมจะมา ดังนั้นจุดขายของเขาคือตัวบทเลย ซีรีส์ใหม่ๆ พล็อตที่ไม่ซ้ำจะอยู่ที่ช่องนี้ และประสบความสำเร็จจนแจ้งเกิดดาราหลายคน แล้วพอมันแจ้งเกิดมากๆ เข้า ช่วงหลังก็เริ่มดึงนักแสดงดังๆ มาร่วมงานได้หนักมาก ทั้ง กงยู อีดงอุค ก็ยังมาแสดง
OCN เดิมทีเป็นช่องที่ฉายซีรีส์ฝรั่งหรือฉายภาพยนตร์ หลังๆ ก็เริ่มทำซีรีส์เอง แล้วสไตล์ชัดมากว่าเป็นสายโหด หนักๆ ดูแล้วตึงๆ อย่างเรื่องล่าสุดที่ดูแล้วเครียดปวดหัวคือ Stranger From Hell (2019) น่าสนใจตรงที่ว่า OCN ได้เริ่มใช้ระบบการผลิตแบบ Cinematic Drama อย่างซีรีส์เรื่อง Stranger From Hell ก็ใช้วิธีนี้ คือการใช้คนจากวงการภาพยนตร์มาทำซีรีส์ มู้ดแอนด์โทน มิติ มุมกล้องจะค่อนข้างต่างจากซีรีส์ทั่วไปชัดเจนมาก
JTBC, MBN, TV Chosun ช่องทีวีเหล่านี้จะมีเจ้าของเป็นหนังสือพิมพ์ อย่าง JTBC เจ้าของคือหนังสือพิมพ์จุงอัง MBN ก็เป็นของหนังสือพิมพ์มุนฮวา ส่วน TV Chosun ก็เป็นของหนังสือพิมพ์โชซอนอิลโบ ก่อนหน้านี้จะทำซีรีส์ประปรายมาตลอด จนหลังๆ เริ่มทำจริงจังขึ้น ซึ่งช่องทีวีที่เป็นม้ามืดสำหรับซอฟมากๆ คือ MBN ตอนนี้ซีรีส์ที่เขาฉายเรื่อง Graceful Family (2019) กระแสแรงมาก ยิ่งฉายเรตติ้งยิ่งดี มู้ดแอนด์โทนมันแปลกใหม่สำหรับวงการเกาหลี ที่ตัวละครอย่างนางเอกเป็นผู้หญิงที่สตรองและสู้คนสุดๆ
มีคำที่ว่าทีวีกำลังจะตาย แต่สำหรับเกาหลีน่าจะเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบน้อยกว่าที่อื่นไหม เพราะซีรีส์ค่อนข้างแข็งแรงมาก
หลังๆ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีเข้ามา แล้วคนใช้มือถือเยอะขึ้นก็ส่งผลกับเรตติ้งเหมือนกันนะคะ เมื่อก่อนรายงานซีรีส์เรตติ้งจะ 10+ ตลอด แต่เดี๋ยวนี้เรตติ้งเฉลี่ยจะไม่ถึง 10 นะคะ ถ้าซีรีส์ดังจริงๆ จะเรตติ้งสูงอยู่แล้ว แต่ซีรีส์เรื่องธรรมดาจะอยู่แค่เลขตัวเดียว ขนาดเราเห็นยังท้อเลย เพราะทุกวันนี้คนตามดูย้อนหลังกันได้ หรือดูผ่าน แพลตฟอร์มต่างๆ เลยทำให้คนที่จะดูทีวีสดก็น้อยลง และส่วนตัวแล้วรู้สึกว่าคนเอเชียทั้งประเทศอินโดนีเซียและไทยจะชอบคอนเทนต์เกาหลีหนักมาก หนักกว่าคนเกาหลีเองด้วยซ้ำ
เทคโนโลยีใหม่ๆ อะไรบ้างที่เริ่มต้นแล้วในเกาหลี และเป็นการปรับให้ซีรีส์ได้รับความนิยมมากขึ้น
ตอนนี้คนไม่ค่อยดูทีวีเหมือนแต่ก่อน เปลี่ยนมาเป็นการดูออนไลน์มากขึ้น คนเกาหลีเขาก็สร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาเรียกว่า Web Drama ก็คือการฉายซีรีส์สั้นๆ ออนไลน์ หลายเรื่องก็ดังมาก ส่วนใหญ่จะเป็นซีรีส์แนววัยรุ่น เพราะจับกลุ่มตลาดวัยรุ่นที่เป็นผู้ใช้โซเชียลหลักๆ ตอนหนึ่งราว 10-20 นาทีฉายทาง YouTube คนก็โหลดดูระหว่างนั่งรถไปไหนมาไหน ใช้เวลาไม่นาน
Web Drama ก็คือการฉายซีรีส์สั้นๆ ออนไลน์ หลายเรื่องก็ดังมาก ส่วนใหญ่จะเป็นซีรีส์แนววัยรุ่น เพราะจับกลุ่มตลาดวัยรุ่นที่เป็นผู้ใช้โซเชียลหลักๆ
Web Drama สร้างโดยบริษัทโปรดักชันน้องใหม่อย่าง PlayList Global แล้วบริษัทโปรดักชันเหล่านี้ก็จะดึงนักแสดงหน้าใหม่มาร่วมงาน ส่วนใหญ่เป็นเด็กนักเรียนการแสดง แล้วพอมันปังขึ้นมา นักแสดงหลายคนก็ถูกดึงตัวไปอยู่สังกัดต่างๆ อย่าง คิมดงฮี ชินเยอึน ก็แจ้งเกิดจากเว็บดราม่า ซอฟว่ามันเป็นเวย์ใหม่มากของวงการซีรีส์ แล้วทำดีด้วย ตีตลาดวัยรุ่นได้ถูกจุดมาก เรื่องสนุกมาก การตัดต่อ โปรดักชันก็ไม่ต่างจากซีรีส์ทั่วไปเลย แนะนำเรื่อง A-TEEN และ Love Playlist ที่ดังๆ เป็นแนววัยรุ่นที่รู้ใจคนดูมากๆ มีทั้งพาร์ตที่ฟินด้วย สอดแทรกเรื่องสังคมได้ด้วย
Web Drama: A-TEEN, Love Playlist
สำหรับใครที่อยากเริ่มต้นเข้าสู่วงการซีรีส์เกาหลี อยากให้แนะนำซีรีส์ 3 เรื่องที่ถ้าเริ่มแล้วรับรองจะอยู่วงการนี้ไปนานแน่ๆ
เลือกยากมากค่ะ ซอฟขอเลือกเรื่องที่ทำให้เราประทับใจมากๆ อย่าง Scent of a Women (2011) เป็นเรื่องที่นางเอกพบว่าตัวเองเป็นมะเร็ง ก็เลยตัดสินใจลาออก ใช้เงินก้อนสุดท้ายที่เหลือในต่างประเทศ แล้วเจอพระเอกที่นั่น ชอบอย่างหนึ่งคือนางเอกรู้ว่าตัวเองจะตายแล้ว ก็เขียน Bucket List เอาไว้ อยากใส่ชุดแต่งงาน อยากไปเที่ยวดูพลุ ฯลฯ แล้วพระเอกไปเห็นก็ทำให้นางเอกทุกอย่าง ซอฟร้องไห้เลย มันดีมากจริงๆ ค่ะ อินถึงขนาดทุกวันนี้เราก็ยังเขียน Bucket List เป็นของตัวเองว่าอยากจะทำอะไรในชีวิตนี้บ้างเลย
Because This Is My First Life (2017) อีมินกิกับจองโซมิน เรื่องนี้ซอฟคิดว่าคนทั่วไปน่าจะชอบอยู่นะ พระเอกจะเป็นคนซึนๆ เลี้ยงแมว ไม่คบค้าสมาคมกับใคร นางเอกมาเช่าบ้านพระเอก แล้วทั้งคู่ก็คลาดกันไปมาโดยไม่รู้ว่าคนที่เช่าอยู่เป็นใคร ชอบที่ซีรีส์มีกิมมิกของครั้งแรก นี่คือการอกหักครั้งแรก นี่คือความรักครั้งแรก คือทุกอย่างในชีวิตมันจะมีครั้งแรกเสมอสำหรับเรา มันทัชเราตรงประเด็นนี้ ส่วนเรื่องก็เป็นแนวคอเมดี้อบอุ่นหัวใจ
The Moon Embracing The Sun (2012) ซีรีส์ฟอร์มยักษ์ รวมนักแสดงรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ดังๆ ทั้งเรื่อง พระเอก คิมซูฮยอน นางเอก ฮันกาอิน ส่วนรุ่นเล็ก ยอจินกู คิมยูจอง คิมโซฮยอน ดังทุกคน เบอร์ใหญ่หมดเลย เรื่องนี้พระเอกกับนางเอกชอบกันตอนเด็ก แล้วนางเอกโดนมนต์ดำทำให้ตาย ทุกคนก็เข้าใจว่านางเอกตายไปแล้ว แต่ปรากฏว่าคนที่ร่ายมนต์ดำสงสารเลยเก็บนางเอกเอาไว้ แต่ให้ลืมความทรงจำทั้งหมด จนนางเอกโตขึ้นมาในหอดารา แล้ววันหนึ่งก็ถูกเรียกเข้าวังไปปัดเป่าฝันร้ายของพระเอก และก็ได้กลับมาเจอกันอีกครั้ง ซึ่งตอนที่เจอกันนางเอกเปลี่ยนชื่อและจำไม่ได้แต่พระเอกมั่นใจว่านี่คือผู้หญิงที่เขาตามหามาตลอด
The Moon Embracing The Sun (2012)
Photo: www.imbc.com
ทุกวันนี้ซีรีส์เกาหลีประสบความสำเร็จไม่เฉพาะในประเทศ แต่รวมถึงแฟนซีรีส์ในเอเชีย และทั่วโลก มองปรากฏการณ์นี้อย่างไรบ้าง
ถ้าประเด็นนี้จะต้องพูดถึง Netflix ที่ชัดเจนมากๆ กับซีรีส์ Original Content หลายๆ เรื่อง ที่ชัดเจนที่สุดก็ต้อง Kingdom (2019) ที่มีส่วนผสมระหว่างตะวันออกกับตะวันตกชัดเจนมาก อีกอย่างคือทุกวันนี้ในเกาหลี ช่องทีวียังมีข้อจำกัดเรื่องการเซนเซอร์จากสมาคมต่างๆ ที่เข้ามาควบคุม ทำให้ซีรีส์แหวกแนวมากๆ ไม่ได้ ผู้สร้างหลายคนก็เริ่มมาทำงานกับ Netflix เพราะมีอิสระทางความคิดและการนำเสนอที่ขอบเขตมากกว่า หรือข่าวล่าสุดที่ Netflix เซ็นสัญญากับ Studio Dragon และ CJ ENM ในการสร้างคอนเทนต์ร่วมกัน รวมถึงการเซ็นสัญญากับช่อง JTBC เพื่อเผยแพร่ซีรีส์ผ่านทาง Netflix ซึ่งจะทำให้ซีรีส์เกาหลีเติบโตมากขึ้นในตลาดต่างประเทศ
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
-
Korseries เริ่มต้นจากการเปิดบัญชีทวิตเตอร์เมื่อปี 2556 ก่อนจะตัดสินใจเปิดเฟซบุ๊กแฟนเพจในปี 2557 และเพิ่งขยายมาทำเว็บไซต์ในปี 2560
-
นักแสดงชายที่ซอฟชื่นชอบมากที่สุดคือ คังดงวอน กงยู และอีซังยุน ส่วนนักแสดงหญิงที่ชื่นชอบมากที่สุดคือ กงฮโยจิน อีโบยอง และจางนารา
-
ซีรีส์ที่ซอฟดูซ้ำไม่รู้จักเบื่อ (นอกเหนือจากที่แนะนำด้านบน) คือ ซีรีส์ตระกูล Reply (Reply 1997, Reply 1994, Reply 1988) และ Signal ช่อง tvN
- ติดตาม Korseries ได้ทาง www.korseries.com เฟซบุ๊ก Korseries และทวิตเตอร์ @Korseries