ถือเป็นอีกหนึ่งธนาคารที่สามารถทำผลงานในโลกดิจิทัลได้อย่างแข็งแรง และมีประสิทธิภาพชัดเจนต่อเนื่องมาโดยตลอดสำหรับ ‘ธนาคารกสิกรไทย’ หลังจากที่พวกเขาเพิ่งออกมาเปิดเผยตัวเลขสถิติการให้บริการบนโลกดิจิทัลของธนาคาร และพบว่ากสิกรไทยสามารถให้บริการลูกค้า ผู้ใช้บริการ ได้ในระดับที่น่าประทับใจเป็นอย่างมาก
ทั้งยังยกระดับองค์กรให้ใกล้เคียงกับการเป็นผู้นำทางการเงินบนโลกดิจิทัลไปอีกสเต็ปเป็นที่เรียบร้อย หลังเพิ่งประกาศแผนและแนวคิด ‘*ชาเลนเจอร์แบงก์’ แห่งแรกในประเทศไทยไปเพียงแค่ 6 เดือนเท่านั้น
(*ชาเลนเจอร์แบงก์ หมายถึง การเป็นธนาคารที่นำเทคโนโลยีเข้ามาผสมผสานรูปแบบการให้บริการ การดำเนินการเพื่อให้บริการลูกค้าได้อย่างทั่วถึง ไร้ข้อจำกัด ซึ่ง ณ วันนี้มีคนไทยมากกว่า 30 ล้านรายที่เป็น Unbanked ไม่สามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ของธนาคารได้)
โดยตลอดทั้งปี 2565 ธนาคารกสิกรไทย (KBank) เปิดเผยยอดการใช้งานแพลตฟอร์มดิจิทัลของธนาคาร และพบว่าแพลตฟอร์มดิจิทัลของกสิกรไทยมีผู้ใช้งานมากถึง 2 ล้านรายที่สมัครใช้งานแอปพลิเคชัน K PLUS
ในจำนวนนี้ ครึ่งต่อครึ่งหรือราว 1 ล้านคนเป็นลูกค้าใหม่ที่เพิ่งใช้บริการธนาคารกสิกรไทยเป็นครั้งแรก สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของกสิกรไทย แอป K PLUS ที่สามารถดึงกลุ่มลูกค้าหน้าใหม่ให้เข้ามาอยู่กับพวกเขาได้สำเร็จ โดยมียอดการทำธุรกรรมตลอดทั้งปีสูงกว่า 10 ล้านล้านบาท
ซึ่งในแต่ละชั่วโมง K PLUS จะมีจำนวนธุรกรรมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประมาณ 1 ล้านรายการต่อชั่วโมง
อีกสถิติที่น่าสนใจคือ การที่กว่า 98% ของการทำธุรกรรมของธนาคารกสิกรไทยในปัจจุบันเป็นการธุรกรรมที่ทำผ่าน ‘ระบบออนไลน์’ ล้วนๆ ทั้งยังเป็นครั้งแรกอีกด้วยที่ยอดเงินโอนผ่านแอป K PLUS รวมตลอดทั้งปีมีปริมาณสูงกว่ายอดเงินที่ถูกโอนผ่านช่องทางอื่นๆ ทั้งหมดของธนาคารรวมกัน (การทำธุรกรรมที่สาขาธนาคาร, เครื่องทำรายการอิเล็กทรอนิกส์ และตัวแทนธนาคาร เป็นต้น)
ตัวเลขสถิติทั้งหลายแสดงให้เห็นว่า นิยามการเป็นชาเลนเจอร์แบงก์ และผู้นำด้านธนาคารดิจิทัลอันดับหนึ่งของไทยไม่ได้เกิดขึ้นได้แค่เพราะชื่อเพียงอย่างเดียว แต่เพราะพวกเขาสามารถพิสูจน์ได้ผ่านผลงานที่โดดเด่นเป็นรูปธรรม จับต้องได้
LINE BK ไม่น้อยหน้า ปล่อยสินเชื่อแล้วกว่า 1.8 หมื่นล้านบาท ผู้ใช้หน้าใหม่ทะยานสูง 1.4 ล้านราย
นอกเหนือจาก K PLUS อีกหนึ่งผลิตภัณฑ์และบริการที่กสิกรไทยสามารถสร้างผลงานได้อย่างโดดเด่นคือ LINE BK ผู้ให้บริการธนาคารผ่านโซเชียลมีเดียเพียงรายเดียวของไทยผ่านแพลตฟอร์มซูเปอร์แอปยอดนิยมอย่าง LINE
ภายใต้การจับมือกับ LINE เพื่อให้บริการธนาคารผ่านทางโซเชียลมีเดีย กสิกรไทยเปิดเผยว่า พวกเขามียอดการให้บริการที่เติบโตขึ้นอย่างชัดเจน โดย ณ สิ้นปี 2565 LINE BK มีผู้ใช้บริการรายใหม่เพิ่มขึ้นมากกว่า 1,400,000 ราย
และมียอดสินเชื่อปล่อยกู้ผ่าน LINE BK กว่า 1.8 หมื่นล้านบาท โดยการปล่อยกู้ส่วนใหญ่เป็นการให้กู้ยืมกับกลุ่มลูกค้าที่ไม่มีรายได้ประจำหรือไม่มีเงินเดือนประจำ เช่น คนทำงานอิสระ และผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยอื่นๆ ซึ่งแนวทางดังกล่าวโดยกสิกรไทยและ LINE นี้ ถือเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพเป็นอย่างมากในการอุดรอยรั่วของการกู้นอกระบบ และการเพิ่มโอกาสให้คนไทยได้เข้าถึงบริการทางการเงินอย่างเท่าเทียม
ไม่เพียงเท่านั้น LINE BK ยังถือเป็นทั้ง Path และเคสตัวอย่างที่ดีที่จะเร่งปฏิกิริยาให้กสิกรไทยวิ่งเข้าสู่การเป็นชาเลนเจอร์แบงก์ได้เร็วขึ้นกว่าเดิม เพราะการให้บริการทั้งหมดของธนาคารเกิดขึ้นบนแพลตฟอร์มดิจิทัลล้วน 100% (โซเชียลมีเดีย LINE) ทั้งยังนำเทคโนโลยีอย่าง AI เข้ามาใช้วิเคราะห์ข้อมูล พฤติกรรมต่างๆ ของผู้ขอสินเชื่อก่อนการอนุมัติเพื่อประเมินความสามารถและความตั้งใจในการชำระคืนเงินกู้ของผู้กู้ได้อย่างชาญฉลาด
ซึ่งตรงกับคอนเซปต์ของการเป็นชาเลนเจอร์แบงก์ที่พร้อมจะลงทุนด้านนวัตกรรม เทคโนโลยีดิจิทัล พลิกแพลงเครื่องมือต่างๆ เข้ามาปรับใช้กับการให้บริการเพื่อให้ธนาคารสามารถให้บริการประชาชนทุกคนได้อย่างไร้แรงเสียดทาน ช่วยให้คนไทยเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างทั่วถึงทุกคน
แม่ทัพกสิกรไทยลุยต่อไม่ผ่อนคันเร่ง! เล็งยกระดับกสิกรไทยขึ้นแท่นผู้นำ ‘ธนาคารดิจิทัลระดับภูมิภาค’ สานต่อภารกิจชาเลนเจอร์แบงก์แบบไม่แผ่ว
สำหรับหลักไมล์ความสำเร็จที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ของทั้ง K PLUS และ LINE BK นั้น ทาง ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย ในฐานะแม่ทัพของกสิกรไทยได้ออกมาตอกย้ำวิสัยทัศน์เดิมขององค์กรอีกครั้งในการทะยานขึ้นเป็นผู้นำด้านธนาคารดิจิทัลระดับภูมิภาค และการพลิกโฉมสู่การผสานเอาความเป็นชาเลนเจอร์แบงก์เข้ามาในองค์กรให้สำเร็จ
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า “ความนิยมที่เพิ่มขึ้นทำให้เรามีความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ตามไปด้วย ที่จะต้องก้าวล้ำไปข้างหน้ากับเทคโนโลยีต่างๆ อยู่เสมอ เพื่อให้ผู้ใช้บริการเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการของธนาคารได้อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนด้วยระบบที่มีเสถียรภาพสูง เพราะวิสัยทัศน์ของเรามองไปไกลเกินขอบเขตประเทศไทย โดยเป้าหมายของเราคือการเป็นผู้นำการให้บริการธนาคารดิจิทัลที่ดีที่สุดระดับภูมิภาค”
นอกจากนี้ ธนาคารยังให้ความสำคัญในการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยการใช้บริการ K PLUS โดยนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการป้องกันและตรวจจับธุรกรรมที่ผิดปกติควบคู่ไปกับการใช้งานที่สะดวกและเหมาะสมกับลูกค้าทุกกลุ่มของธนาคาร
ส่วนวิสัยทัศน์การเป็นชาเลนเจอร์แบงก์นั้น ธนาคารกสิกรไทยมุ่งมั่นที่จะนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยเหลือธุรกิจขนาดย่อม และผู้ประกอบอาชีพอิสระที่เข้าถึงโอกาสทางการเงินได้ยาก รวมถึงดึงดูดลูกค้าของธนาคารในปัจจุบันด้วยการกำจัดกระบวนการที่ขาดความคล่องตัว ให้บริการที่รวดเร็วกว่า ใช้งานง่ายกว่า และสามารถเข้าถึงได้ทุกที่ตลอดเวลา
โดยที่ภายใต้โครงการดังกล่าวนี้ ธนาคารกสิกรไทยได้จัดสรรงบประมาณ 22,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนด้านเทคโนโลยีในช่วงปี 2565-2567 โดยเฉพาะ
นับเป็นมูฟเมนต์ที่ทะเยอทะยาน แต่ขณะเดียวกันก็น่าจับตาเป็นอย่างยิ่งว่า พวกเขาจะสามารถเร่งทะยานไปให้ถึงเป้าหมายที่ว่าได้อย่างราบรื่นและน่าประทับใจในระดับใดในสายตาผู้บริโภค เพราะหากวัดกันที่ความโดดเด่นด้านนวัตกรรมเพียวๆ กสิกรไทยสามารถทำได้ในระดับ ‘ดีเยี่ยม’ มาโดยตลอดอยู่แล้ว
แต่โจทย์ใหญ่ที่สำคัญไม่แพ้กัน คือการรับมือความท้าทายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกการเงิน การทำธุรกรรม และดิสรัปชัน โดยเฉพาะการพัฒนานวัตกรรมที่จะเข้ามาช่วยเสริมภูมิต้านทานความแข็งแกร่งให้ผู้ใช้บริการสามารถป้องกันตัวเองจากการถูกสแกมหลอกลวงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ดีเดย์ มิ.ย. นี้ ผู้ใช้งาน Mobile Banking ต้องสแกนใบหน้ายืนยันตัวตน กรณีโอนเงินมากกว่า 50,000 บาทต่อรายการ
- ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Banking) โอกาสหรือความเสี่ยงสำหรับนักลงทุน
- Banking for Net Zero: ธนาคารกับการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจไร้คาร์บอน