×

‘ความยุติธรรม’ ของข้าราชการ กทม. ที่ต่างเฝ้ารอให้ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ทำให้ปรากฏ

01.11.2022
  • LOADING...
ข้าราชการ กทม

HIGHLIGHTS

4 MIN READ
  • ย้อนกลับไปตอนที่ทีมอาจารย์ชัชชาติเข้าไปหาเสียงเลือกตั้งที่ศาลาฯ กทม. มีคนเข้ามาพูดว่าขอให้คืนความยุติธรรมให้กับ กทม. ตั้งแต่วันนั้นเราก็ฝังหัวไว้ ถ้าได้เข้าไปบริหาร ต้องตามหาว่าความยุติธรรมนั้นคืออะไร
  • 31 ปีในอาชีพข้าราชการ กทม. การรอคอยซ้ำแล้วซ้ำเล่าทำให้เกิดความคิดว่า “ที่ผ่านมา กทม. ไม่ได้ให้อะไรเรา เหมือนที่เราให้ กทม. เลย”

‘ชัชชาติ ลงชื่อคำสั่ง แต่งตั้ง-โยกย้ายข้าราชการ กทม. ตั้งแต่ระดับผู้อำนวยการเขต’ คือหัวข้อข่าวที่ THE STANDARD ใช้พาดหัวไว้เมื่อวันที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา ในเนื้อหาเป็นเพียงการอ้างอิงถึงคำสั่งของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ลงชื่อแต่งตั้ง-โยกย้าย ข้าราชการในสังกัด กทม. รวมไปถึงผู้อำนวยการเขต 12 รายชื่อ

 

จัดทัพใหม่? ล้างขั้วอำนาจเก่า? ช่วยคนที่ถูกดอง? เป็นคำถามที่เกิดขึ้นหลังจากเราได้ติดตามประเด็นนี้ และจนในที่สุดได้มีโอกาสพูดคุยอย่างลึกซึ้งกับทีมบริหาร (ทีมหลังบ้าน) ที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรงเพื่อไขข้อข้องใจ และตอบคำถามที่เกิดขึ้น

 

วันนี้ THE STANDARD ชวนทุกคนมาร่วมวิเคราะห์ และหาคำตอบของปมคำถามเหล่านี้ไปด้วยกัน

 

ชมคลิปสัมภาษณ์: 

 

 

 

เสียงร้องขอที่ลอยมาตั้งแต่…วันที่ยังไม่เป็นผู้ว่าฯ

 

“ย้อนกลับไปตอนที่ทีมอาจารย์ชัชชาติเข้าไปหาเสียงเลือกตั้งที่ศาลาฯ กทม. มีคนเข้ามาพูดว่าขอให้คืนความยุติธรรมให้กับ กทม. ตั้งแต่วันนั้นเราก็ฝังหัวไว้ถ้าได้เข้าไปบริหาร ต้องตามหาว่าความยุติธรรมนั้นคืออะไร”

 

ต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. เล่าถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ที่ทีมของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. (ขณะนั้น) เข้าไปหาเสียงที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) ในระหว่างการพูดคุย แจกแผ่นพับ ร่วมถ่ายรูป มีหนึ่งในข้าราชการที่ทำงานอยู่เข้ามาพูดกับชัชชาติว่า “ขอให้คืนความยุติธรรมให้กับ กทม.” 

 

ตั้งแต่วันนั้นมาการตามหาความยุติธรรมเป็นหนึ่งในโจทย์ของทีมผู้บริหาร จนกระทั่งการประชุมหารือกันเพื่อเตรียมรับการเกษียณอายุราชการของข้าราชการที่จะมีถึงในวันที่ 30 กันยายน

 

ต่อศักดิ์กล่าวว่า ในกระบวนการข้าราชการจะตัดกันในวันที่ 30 กันยายน ฉะนั้นจะเกิดการปรับโครงสร้างตัวใหญ่ที่สุดที่เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยของผู้ว่าฯ ชัชชาติ ครั้งนี้จะเป็นการเริ่มเปลี่ยนแปลง ปรับปรุงองคาพยพที่ระบบราชการมี ที่สำคัญคือรอบนี้มีระดับผู้อำนวยการเขตเกษียณทั้งหมด 12 คน เพราะฉะนั้นต้องมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น

 

ทีมบริหารได้ค้นพบความผิดปกติอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นกับข้าราชการ กทม. คือคนที่อายุไม่มาก มีอายุห่างกับคนที่จะเกษียณ 15 ปี แต่มีตำแหน่งขึ้นแซงผู้ที่อาวุโสกว่าเป็น 10 ปี ส่วนนี้ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่า ต้องมีระบบโครงสร้างอะไรผิดปกติ เพราะหากเป็นไปตามหลักที่พึงเป็นแล้ว องคาพยพต้องขยับแบบไม่ทิ้งห่างกันแบบนี้

 

“ผมยังคิดว่าระบบอุปถัมภ์บ้านเราเป็นเรื่องปกติ เพียงแต่จากนี้เราต้องมีอะไรที่เป็นวิทยาศาสตร์ มีหลักการที่สามารถตอบคนอื่นได้ว่าหลักการเป็นอย่างไร”

 

ต่อศักดิ์กล่าวต่อไปว่า ในช่วงที่ทีมบริหารของผู้ว่าฯ ชัชชาติเข้ามาทำงานแรกๆ มีหลายคนมาพูดเรื่องการวิ่งเต้น ซึ่งผู้ว่าฯ พูดชัดเจน และย้ำเสมอว่าไม่ได้เลย ห้าม

เพราะถ้าเราเริ่มต้นด้วยการซื้อตำแหน่ง รับเงิน การบริหารงานเราทั้งหมดจะถือว่าจบเลย ถ้าเริ่มต้นผิดมันจะผิดไปหมด

 

สิ่งที่ท่านผู้ว่าฯ ไม่ยอมเลยคือการทุจริต ถ้ามีการร้องเรียนเรื่องนี้ท่านเอาเป็นเรื่องเป็นราว และจะต้องตั้งคณะกรรมการหลายชุด ตรวจสอบอย่างจริงจัง และถ้ามีคนที่สงสัยขึ้นมาและอยากสอบถามก็จะรู้ว่ากระบวนการคัดเลือกของทีมนี้มีขั้นตอน และเราตอบได้แน่นอน

 

คงปฏิเสธไม่ได้เรื่องเด็กคนเก่า เด็กคนใหม่ ต่อศักดิ์กล่าวว่า ในเรื่องนี้ผู้ว่าฯ บอกว่าทุกคนไม่ว่าจะเป็นเด็กคนเก่า เด็กคนใหม่ให้มาวัดกันที่งาน เอางานเป็นหลัก

แม้ระบบโครงสร้างไม่สามารถเปลี่ยนได้ในวันเดียว และถ้าเราคุมคนแสนคนด้วยระบบโครงสร้างไม่ดี การจัดการไม่ดี ท้ายสุดองคาพยพก็เดินไม่ได้ สิ่งที่สำคัญคือความยุติธรรมต้องอยู่ในกรอบที่เรากำหนด มีระบบระเบียบจัดการอย่างถูกต้อง

 

แต่ทั้งนี้ระบบต่างๆ จะเดินต่อได้ผู้บริหารต้องยินยอม เพราะว่ามันคือการทำลายอำนาจผู้บริหารอย่างแท้จริง ในวันนี้ข้าราชการจำนวนมากต่างรอการเปลี่ยนแปลง ถ้าเราสามารถทำให้เขามั่นใจว่าการเปลี่ยนแปลงสร้างความไว้วางใจได้ ตัวเขาเมื่ออยู่ในระบบหน้าที่การงานก็จะสร้างความไว้วางใจให้ประชาชนได้เช่นกัน

 

“เราต้องใช้ของภาษีประชาชนให้เกิดประโยชน์จริงๆ และอย่ามีการทุจริตเด็ดขาด ท่านผู้ว่าฯ ไม่เลี้ยงเลย เอาตาย” ต่อศักดิ์กล่าว

 

หมดเวลาของการวิ่งเต้น ถึงเวลาทำงานให้ปรากฏ

 

 

พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัด กทม. ในฐานะที่ได้รับการแต่งตั้งจากผู้ว่าฯ กทม. ให้เป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกเพื่อเลื่อน และแต่งตั้งข้าราชการ กทม. ในส่วนของระดับอำนวยการสูง กล่าวว่าได้รับโจทย์สำคัญจากทางผู้ว่าฯ คือต้องทำให้ตรงไปตรงมา สิ่งที่เน้นคือเรื่องของคนต้องเลือกอย่างมีคุณธรรม เลือกให้ได้คนที่มีศักยภาพ มีคุณภาพมาทำงานในตำแหน่งที่สมกัน

 

ในส่วนของผู้ที่จะสมัครระดับอำนวยการสูง จะต้องนำเสนอผลงานออกมาเป็นรูปเล่มตามแนวทางที่คณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานครและบุคลากรกรุงเทพมหานคร (กก.) กำหนด เนื้อหาภายในที่เสนอต้องสามารถตรวจสอบได้ถึงคุณสมบัติของผู้สมัคร และต้องนำเสนอแนวคิดพัฒนางานในตำแหน่งที่จะสมัครประกอบด้วย

 

พญ.วันทนีย์กล่าวต่อไปว่า คณะกรรมการฯ จะต้องตรวจสอบถึงเรื่องประวัติการทำงาน ประวัติการรับราชการ ว่าเคยโดนสอบวินัยหรือไม่ มีปัญหาสุขภาพ ปัญหาอย่างอื่นไหม เมื่อกรรมการอ่านผลงานในรูปเล่มจะมีเค้าโครงที่จะให้คะแนนระดับหนึ่ง แต่การสัมภาษณ์เจอตัวเป็นๆ ผู้สมัครจะต้องตอบคำถามตามที่วางแผนไว้ให้ได้

 

“ถ้าใครรู้จักหมอก็คงจะรู้ว่าหมอเป็นคนตรงๆ หมอให้ความเป็นธรรมกับทุกคน ไม่ต้องวิ่งค่ะ ทำงานให้ปรากฏ” พญ.วันทนีย์กล่าว

 

 

ถ้าวันเวลาไม่อาจพิสูจน์คุณค่าของคน แล้วอะไรกันที่จะพิสูจน์?

 

“ที่ผ่านมาความรู้สึกเราที่ไม่เคยถูกรับเลือกเป็นอย่างไร” เป็นคำถามที่เราตั้งใจถามกับ วาสนา บูรณกิตติโสภณ ผู้อำนวยการเขตบางคอแหลม หลังจากที่ได้เล่าให้ฟังว่า เธอรับราชการในสังกัด กทม. มานานกว่า 31 ปี ผ่านการสอบเลื่อนระดับเป็นผู้อำนวยการเขตมานับครั้งไม่ถ้วน จนเคยถอดใจและยอมแพ้ต่อคำตัดสินที่ได้รับว่าไม่ถูกรับเลือก

 

“บรรยายยากเหมือนกันนะน้อง เราเหมือนคนล้มเหลวในชีวิต คนที่ต้องเข้าห้องสัมภาษณ์หลายๆ หน พี่สมัครมาเป็นสิบครั้งเลยได้มั้ง เรารู้สึกว่าเหมือนคนล้มเหลว แล้วก็เราไม่ได้รับการพิจารณาสักทีหนึ่ง ทั้งๆ ที่เราทำงานในพื้นที่เราก็ตั้งใจเต็มที่ มีทั้งประชาชนส่งแรงใจเชียร์ เวลาเราจะไปสอบทุกคนก็เชียร์ แต่ที่นี่เราก็ไม่ได้รับการพิจารณาจะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่เราก็ไม่พูดถึงตรงนั้น”

 

วันที่ถอดใจว่าคงจะไม่ได้เลื่อนระดับเธอมีความคิดหนึ่งฉายเข้ามาในการรับรู้ว่า “กทม. ไม่ได้ให้อะไรเรา เหมือนที่เราให้ กทม.”

 

วาสนาเป็นตัวแทนของข้าราชการอีกหลายๆ คน ที่ต้องการสะท้อนไปถึงผู้บริหารระดับสูงว่าจากนี้ ขอให้เห็นคุณค่าของคนที่ตั้งใจทำงานจริงๆ และควรจะมีการดูแลคนที่เขาตั้งใจทำจริงๆ ไม่ใช่ดูกันแบบฉาบฉวยหรือคนที่พรีเซนต์เก่งอีกต่อไป

 

“ประชาชนทุกคนเป็นพี่น้องของพี่ พี่กับประชาชนเราคือครอบครัวเดียวกัน เราจะดูแลเขาเหมือนเขาคือน้อง คือพี่ คือพ่อแม่ของเรา ทุกข์สุขของเขาคือทุกข์สุขของเรา ความเดือดร้อนของเขาคือความเดือดร้อนของเรา แต่ความสุขของเขาไม่ต้องแชร์ให้เราก็ได้ นั่นคือสิ่งที่พี่จะทำให้เขา” วาสนากล่าว

 

27 ปี คืออายุราชการที่ โครงการ เจียมจีรกุล ผู้อำนวยการเขตวังทองหลาง ปฏิบัติงานมา โดยเริ่มต้นจากเจ้าพนักงานการเกษตร ที่สำนักงานสวนสาธารณะสวนธนบุรีรมย์ ที่ผ่านมาโครงการมีความคิดเสมอว่า โอกาสในการเติบโตเป็นไปตามโอกาสที่ผู้บังคับบัญชาจะพิจารณา ในเมื่อผู้บังคับบัญชายังคิดว่าโอกาสต้องรอต่อไป ก็ให้คิดว่าเราได้ทำงาน อย่าคิดว่านี่คือการรอ

 

“ถ้ามองในหลักรัฐศาสตร์ ระบบอุปถัมภ์จะต้องมีไว้บ้าง แต่สัดส่วนเปอร์เซ็นต์จะต้องน้อยกว่าระบบคุณธรรม เพราะระบบคุณธรรมใช้คัดเลือกคนที่มีความรู้ความสามารถจริงๆ เพื่อขับเคลื่อนองค์กรของเราก้าวไปให้สู้องค์กรอื่นได้” สมฤดีกล่าว

 

ด้าน สมฤดี ลันสุชีพ ผู้อำนวยการเขตหลักสี่ ยอมรับว่าในสมัยก่อนส่วนตัวคิดว่าการเลื่อน การแต่งตั้งระดับสูงจะมีสองระบบรวมกันคืออุปถัมภ์กับคุณธรรม สัดส่วนจะแตกต่างกันตามนโยบายผู้บริหาร

 

แม้จะผ่านการสอบเลื่อนระดับเป็นผู้อำนวยการเขต ระดับอำนวยการต้นถึง 7 ครั้งถึงจะประสบความสำเร็จ สมฤดีรู้สึกว่าความรู้ความสามารถที่สั่งสมคงควรค่าแก่ตำแหน่ง ที่ในที่สุดครั้งนี้เธอก็ได้รับจากความสามารถของตัวเอง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X