×

จุรินทร์ ย้ำไม่มีนโยบายส่งออกหน้ากากอนามัย ตราบใดที่คนไทยยังไม่พอใช้ ชี้ถ้าส่งออก 330 ตัน ต้องใช้เวลาผลิต 239 ปี

โดย THE STANDARD TEAM
12.03.2020
  • LOADING...

วันที่ 11 มีนาคม 2563 เวลา 20.30 น. จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ในรายการ ‘คนเคาะข่าว’ ช่อง NEWS1 ต่อกรณีที่มีข่าวกรมศุลกากรเปิดเผยยอดส่งออกหน้ากากอนามัยช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ระบุว่ามีจำนวนสูงถึง 330 ตันนั้นว่า เป็นเรื่องที่ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนเข้าใจผิดเป็นจำนวนมาก มีการวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลกันมาก เพราะฉะนั้นการเสพข่าวตอนนี้ต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง ต้องใช้การวิเคราะห์ และต้องใช้ดุลยพินิจเป็นพิเศษ เพราะว่าเป็น Fake News เยอะ และข่าวที่คลาดเคลื่อนก็มีไม่น้อยทีเดียว แต่เรื่องนี้ก็ไม่ตำหนิใคร 

 

จากความผิดพลาดนี้ทำให้ในที่สุดกรมศุลกากรก็ต้องออกข่าวฉบับที่ 29/2563 ลงวันที่ 11 มีนาคม 2563 พร้อมกับได้ตรวจสอบแล้ว และได้รับการชี้แจงจาก กรีชา เกิดศรีพันธ์ เลขานุการกรมศุลกากร ยืนยันว่าข่าวล่าสุดนี้ กรมศุลกากรได้ออกแถลงข่าวชี้แจงความคลาดเคลื่อนนี้จริง 

 

โดยมีเนื้อหาดังนี้ 

กรมศุลกากรชี้แจงข้อเท็จจริงในการแถลงข่าวเรื่องการส่งออกหน้ากากอนามัย 

 

ในการแถลงข่าวกรมศุลกากร ประจำเดือนมีนาคม 2563 ซึ่งกรมศุลกากรได้ชี้แจงว่า ข่าวในโซเชียลมีเดีย เรื่อง หน้ากากอนามัยจำนวน 5 ล้านชิ้นถูกกัก โดยกรมศุลกากรขอแบ่งจำนวน 2 ล้านชิ้นนั้น ไม่เป็นความจริง และสื่อมวลชนได้มีการสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับในประเด็นสถิติการนำเข้า-ส่งออกหน้ากากอนามัยในช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ 2563 โดยมีการเขียนข่าวว่ามีการส่งออกหน้ากากอนามัยเป็นจำนวน 330 ตัน

 

ในการนี้กรมศุลกากรขอชี้แจงว่า ตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขจากพิกัดศุลกากร ซึ่งรวมสินค้าชนิดอื่นนอกจากหน้ากากอนามัยอีกหลายชนิด เช่น ชุดผ้าหุ้มเบาะ เชือกผูกรองเท้า ผ้ากันเปื้อน ผ้าคลุม สายคล้องคอทำด้วยผ้าทอ เป็นต้น โดยที่ตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขในช่วงเดือนมกราคมถึงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 ก่อนที่จะมีประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2563 ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 เรื่อง การควบคุมการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งหน้ากากอนามัย มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563 เพื่อควบคุมการส่งออกหน้ากากอนามัย เพื่อลดการขาดแคลนหน้ากากอนามัยในประเทศ

 

กรมศุลกากร ได้ตระหนักและให้ความสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด โดยนับตั้งแต่กระทรวงพาณิชย์ออกประกาศควบคุมการส่งออกหน้ากากอนามัยตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา มีปริมาณการส่งออกน้อยมาก

 

จุรินทร์ กล่าวว่า จากการชี้แจงของกรมศุลกากรล่าสุดนี้ เป็นข้อสรุปชี้แจงในตัวเองชัดเจน เพราะตนมีนโยบายชัดเจน และมีประกาศชัดเจนว่าการที่จะส่งออกหน้ากากอนามัยได้นั้น แม้แต่ชิ้นเดียวก็ต้องขออนุญาต และนโยบายไม่มีการอนุญาตเด็ดขาด ยกเว้นกรณีที่ผลิตชนิดที่ประเทศไทยไม่ใช้ หรือเป็นการผลิตในกรณีที่เป็นการผลิตภายใต้แบรนด์ หรือยี่ห้อ เนื่องจากเป็นการผลิตภายใต้ข้อผูกพัน ยี่ห้อ ที่นำมาจำหน่ายในประเทศไม่ได้ เพราะหากนำมาขายก็จะผิดกฎหมายลิขสิทธิ์ในเรื่อง Trademark หรือเครื่องหมายการค้า ซึ่งสิ่งนี้จะต้องอนุญาตเพราะเป็นการทำการค้าปกติ แต่ถ้าเป็นหน้ากากอนามัยที่ประเทศไทยต้องใช้นั้นจะไม่อนุญาตเด็ดขาด ดังนั้นจึงต้องทำความเข้าใจกับข่าวในโซเชียล ที่กระจายออกไปและเกิดการวิพากษ์วิจารณ์เป็นจำนวนมากแล้ว จึงจำเป็นต้องเร่งชี้แจง 

 

พร้อมกันนี้ยังได้ย้ำอีกด้วยว่า หลังจากวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นต้นมา ไม่มีการส่งออกหน้ากากอนามัยแบบที่ประเทศไทยใช้ และผู้อนุญาตส่งออกนั้นไม่ใช่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แต่เป็นอธิบดีกรมการค้าภายใน ซึ่งเป็นเลขานุการคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ซึ่งจะมีคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาอนุญาตส่งออกตามนโยบายที่ได้วางไว้ 

 

เมื่อถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการซิกแซ็กมุบมิบระหว่างกรมการค้าภายในกับผู้ส่งออกบางราย จุรินทร์กล่าวว่า หากเป็นอย่างนั้นก็จะไม่เอาไว้แน่ ดังนั้นเมื่อเห็นข่าวจึงโทรศัพท์ไปสอบถามอธิบดีกรมการค้าภายในทันทีว่าได้อนุญาตส่งออกหรือไม่ ก็ได้รับการยืนยันว่าไม่มี และเป็นการผลิตภายใต้ข้อผูกพันยี่ห้อตามที่ได้กล่าวข้างต้น 

 

“ผมดีใจนะครับ ผมเปิดโซเชียลดู มีความเห็นหนึ่ง เขาบอกว่า 330 ตัน เป็นไปได้เหรอ ถ้าผลิต 330 ตัน จะต้องใช้เวลาผลิต 239 ปี สำหรับกำลังการผลิต 11 โรงที่มีอยู่ในประเทศไทย ผมก็คิดว่ามีบางส่วนจะเชื่อ แต่ก็มีบางท่านที่ไม่เชื่อ และมีคำถามว่ามันจะจริงหรือ มันจะเป็นไปได้อย่างไร ก็ต้องขอบคุณความเห็นนี้ ผมก็เข้าไปดู เจอพอดีก็เลยจำไว้ว่าท่านคอมเมนต์ไว้ว่าอย่างไร” จุรินทร์กล่าว

 

พร้อมกับระบุว่าหากมีการลักลอบส่งออกหรือไม่นั้น จะเป็นหน้าที่ของกรมศุลกากร เพราะการผ่านด่านจะต้องผ่านด่านศุลกากร หรือผ่านช่องทางที่ไม่เป็นทางการ ซึ่งเป็นหน้าที่ของฝ่ายความมั่นคงที่จะต้องจับกุมดำเนินคดี แต่โดยนโยบายนั้นไม่มีนโยบายอนุญาตให้ส่งออก ตราบใดที่คนไทยยังไม่พอใช้ ใครไปอนุญาตให้ส่งออกคนนั้นตายก่อน

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X