×

จุรินทร์เผยตรึงราคานมด้วย ‘วิน-วินโมเดล’ ให้ทุกฝ่ายอยู่ได้ คาดราคาน้ำมันปาล์มขวดลดลงเพราะราคาปาล์มดิบโลกปรับลด

โดย THE STANDARD TEAM
12.07.2022
  • LOADING...
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

วันนี้ (12 กรกฎาคม) จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวประเด็นราคาน้ำมันปาล์มขวดบริโภค การขอปรับขึ้นราคานม และแผนการดำเนินงานของกระทรวงพาณิชย์ ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)

 

จุรินทร์กล่าวว่า ราคาผลปาล์มขึ้นไปสูงมากในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา จาก 2 บาทกว่าต่อกิโลกรัม ขึ้นเป็น 4-5 บาทต่อกิโลกรัม และไปถึง 11-12 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเกษตรกรได้รับประโยชน์สูงมาก แต่ในช่วงปลายเดือนที่แล้วราคาผลปาล์มปรับลดลงเนื่องจากอินโดนีเซียหันมาเร่งรัดการส่งออกอีกครั้งหนึ่ง มีผลให้ราคาในตลาดโลกปรับลดลง มีส่วนในการทำให้ราคาผลปาล์มปรับลดลงมาในช่วงนี้ 

 

แต่อย่างไรก็ตาม คำถามที่ว่า ทำไมราคาผลปาล์มลดลงมา แต่ราคาน้ำมันปาล์มขวดบริโภคยังสูงอยู่ ขอเรียนว่ากระทรวงพาณิชย์ติดตามตลอด ราคาน้ำมันปาล์มขวดบริโภคยังทรงตัวอยู่ เพราะเป็นสต๊อกเดิมที่รับซื้อในช่วงที่ราคาผลปาล์มสูงมาก สกัดเป็นน้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มขวดในช่วงต้นทุนที่สูง แต่ตนสั่งการไปแล้วก่อนหน้านี้ให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เร่งกำกับให้ปรับลดราคาน้ำมันปาล์มขวดบริโภคลงมาให้สอดคล้องกับต้นทุนให้เร็วที่สุด จะมีตัวเลขสต๊อกล่าสุดกลับเข้ามาอีกครั้งหนึ่งจากการสำรวจล่าสุดในวันนี้ จะเห็นตัวเลขว่าสามารถปรับลดราคาได้เมื่อไร คาดว่าเป็นในช่วงสัปดาห์นี้ สอดคล้องกับต้นทุนใหม่ที่เกิดขึ้น

 

จุรินทร์กล่าวต่อไปว่า ตนจะพยายามดูแลผลประโยชน์ของทุกฝ่ายให้ดีที่สุด ไม่ต้องกังวล ยึดประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลักเหมือนที่ตนพูดว่าเป็น ‘วิน-วินโมเดล’ ดูแลทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการ ผู้ผลิต และผู้บริโภคให้อยู่ร่วมกันได้ ให้เป็นภาระของแต่ละฝ่ายน้อยที่สุด ให้เป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายให้ได้มากที่สุด

 

จากนั้นผู้สื่อข่าวได้สอบถามถึงประเด็นที่นมขอปรับราคาขึ้น จุรินทร์ตอบว่า ได้มีการเสนอขอปรับขึ้นราคานมผงและนมพร้อมดื่มทั้งพาสเจอไรซ์และยูเอชที แต่กระทรวงพาณิชย์ยังไม่อนุญาตให้ปรับราคาขึ้น พยายามตรึงไว้ให้นานที่สุดจนกว่าจะอั้นไม่อยู่จริงๆ เมื่อต้นทุนปรับสูงขึ้นจนผู้ประกอบการไม่สามารถผลิตต่อได้ ไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาของขาด ถ้ามีของขาดจะมีความรู้สึกใหม่ตามมาคือ แพงหน่อยดีกว่าไม่มีของกิน ต้องพยายามดูให้สมดุลที่สุด รักษาประโยชน์ของทุกฝ่ายไว้ให้ได้มากที่สุด ซึ่งได้ทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการ และต้องดูด้วยเหตุด้วยผลแต่ละกรณี 

 

“หากส่วนไหนจำเป็น ต้นทุนสูงขึ้นมาจริง ต้องพิจารณาใช้เป็นกรณี ไม่ใช่อนุมัติให้ปรับราคาทั้งหมดโดยไม่ดูว่าอันไหนสูงขึ้นจริงหรือไม่จริง หรือเป็นแค่ข้ออ้างว่าสูงขึ้น ในภาพรวมต้องยอมรับว่าขณะนี้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้นจริง ที่เราเห็นก็คือราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำมัน ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นและค่าขนส่งก็สูงขึ้นตามไปด้วย ต้องให้กระทบกับราคาขายปลีกไปยังผู้บริโภคน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ และสำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังดีขึ้นในช่วงระยะหลังนี้” จุรินทร์กล่าว

 

จุรินทร์กล่าวต่อไปว่า สำหรับเรื่องพลังงานเป็นภารกิจที่กระทรวงพลังงานจะเป็นตัวหลักในการดำเนินการ ถ้าเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคในภาพรวมกระทรวงพาณิชย์จะเข้าไปดูว่าจะต้องรับมืออย่างไร ดูแลอย่างไร แต่ในภาคการผลิตหลายกระทรวงก็เกี่ยวข้อง อย่างสินค้าเกี่ยวกับเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็เข้าไปดู เรื่องต้นทุนการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม ทางกระทรวงอุตสาหกรรมก็เข้าไปดู เรื่องค่าการผลิต การลดต้นทุน หรือในส่วนอื่นๆ เป็นต้น อย่างกระทรวงพาณิชย์มีแผนงานในการเดินหน้าตลอดปี 2565 ประกาศตั้งแต่ต้นปี เพราะกระทรวงพาณิชย์ไม่ได้ดูเฉพาะเรื่องราคาสินค้าอุปโภคบริโภคเท่านั้น แต่ดูในเรื่องของราคาพืชผลการเกษตร การดูแลเกษตรกรในเรื่องประกันรายได้เกษตรกร รวมถึงการค้าชายแดน การเร่งรัดการส่งออก ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง การส่งออกเฉพาะ 5-6 เดือนนี้ เพิ่มขึ้นถึง 13% เงินเข้าประเทศไปแล้ว 4 ล้านล้านบาท ถือว่าเยอะมาก จะต้องปรับบางส่วนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย เป็นรายละเอียดที่ต้องเข้าไปดู แต่แผนรวมทำไว้และเดินหน้าอยู่แล้ว

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising