วันนี้ (8 กรกฎาคม) จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่วมประชุมกับทุกฝ่ายในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบในการส่งออกผลิตภัณฑ์มะพร้าว กรณี PETA เปิดเผยข้อมูลว่ามีการใช้แรงงานลิงเก็บมะพร้าว โดยใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมง หลังจากนั้นได้ร่วมแถลงข่าวกับองค์กรพัฒนาเอกชน และตัวแทนจากภาคเอกชน
อาทิ เกียรติศักดิ์ เทพผดุงพร กรรมการบริหาร บริษัท เทพผดุงพรมะพร้าว จำกัด (กะทิชาวเกาะ) และตัวแทนสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ศศิวรรณ นวลศรี ผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาดอาวุโส (ยี่ห้ออร่อยดี) บริษัท ไทย อกริ ฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) ธีรวุฒิ สุวัธนะเชาว์ ผอ. กองการสวัสดิภาพสัตว์และสัตวแพทย์บริการ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ สมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
จุรินทร์ กล่าวว่า การหารือกันในวันนี้ เนื่องจากผลิตภัณฑ์มะพร้าวจากประเทศไทย เช่น ชาวเกาะ อร่อยดี เป็นต้น ได้ถูกนำออกจากชั้นวางในห้างสรรพสินค้าบางแห่งในประเทศอังกฤษ สันนิษฐานว่ามีความกังวลในเรื่องที่คิดว่า 2 บริษัทนี้ รับซื้อมะพร้าวจากสวนที่ใช้แรงงานลิง และเกรงว่าถ้าไม่มีการดำเนินการใดๆ อาจมีผลกระทบกับผลิตภัณฑ์ยี่ห้ออื่นๆ หรือห้างสรรพสินค้าอื่นๆ
จึงได้มีการหารือร่วมกันกับภาคเอกชน ประกอบด้วยสมาคมอุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูปของไทย และตัวแทนจากกะทิทั้ง 2 ยี่ห้อ และสมาคมที่เกี่ยวข้องกับการพิทักษ์สัตว์ในประเทศไทย จนได้ข้อสรุปถึงแนวทางที่ควรจะได้มีการดำเนินการต่อไป 3 ประการ
ประการที่ 1 ภาคเอกชนหรือโรงงานผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว ได้ให้ข้อมูลว่าจากนี้ไปจะมีการกำหนดมาตรการที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ชัดเจน ที่ผลิตภัณฑ์กล่องหรือบรรจุภัณฑ์ว่าผลิตจากมะพร้าวที่มาจากสวนไหน มีการใช้แรงลิงหรือไม่ โดยใส่รหัสลงบนบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดลงไปเพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้
ประการที่ 2 เพื่อให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้กระจายสินค้าหรือตัวแทนห้างสรรพสินค้าต่างๆ ที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวของประเทศไทยได้รับทราบกระบวนการทางด้านการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ ไปถึงปลายน้ำว่าดำเนินการเช่นไร จะได้มีการเชิญตัวแทนเอกอัครราชทูตของประเทศต่างๆ ที่ประจำอยู่ในประเทศไทย รวมทั้งสื่อมวลชนและองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการพิทักษ์สัตว์เข้าร่วมตรวจสอบด้วย และเมื่อสถานการณ์โควิด-19 หมดไปจะสามารถเชิญผู้นำเข้า ผู้กระจายสินค้า และตัวแทนห้างสรรพสินค้าในต่างประเทศเข้ามาชี้แจงได้
ประการที่ 3 ในส่วนของทีมไทยที่ประจำอยู่ต่างประเทศได้ช่วยกันจัดทำคำชี้แจงและนัดพบผู้นำเข้า และห้างสรรพสินค้าต่างๆ ที่เป็นลูกค้าผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวของประเทศไทยเพื่อทำความเข้าใจต่อไป
ด้าน เกียรติศักดิ์ เทพผดุงพร กรรมการบริหารกะทิชาวเกาะ กล่าวว่า ห้างสรรพสินค้าหลายแห่งเริ่มทยอยเอาสินค้ามะพร้าวจากไทยลงจากชั้นวางแล้ว และบางห้างเริ่มควบคุมสินค้า ซึ่งจะมีผลกระทบนอกจากประเทศอังกฤษ โดยเฉพาะในโซนยุโรป รวมถึงอเมริกาและออสเตรเลียเริ่มจะถามปัญหานี้กับเรา สำหรับตัวเลขผลกระทบนั้น ยังไม่ทราบข้อมูลที่ชัดเจนในแง่ความเสียหาย และในภาคอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เพื่อการส่งออกมีการทำ MOU กับผู้ส่งวัตถุดิบทุกรายว่าจะไม่รับซื้อมะพร้าวที่ใช้ลิงเก็บ
ศศิวรรณ นวลศรี ผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาดอาวุโส (ยี่ห้ออร่อยดี) บริษัท ไทย อกริ ฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า อร่อยดีมีการทำ MOU กับเกษตรกรและเพิ่มเติมทีมงานที่จะไปตรวจสอบที่สวนให้เข้มข้นมากขึ้นเช่นเดียวกัน ส่วนเรื่องการตรวจสอบย้อนกลับบนบรรจุภัณฑ์ก็จะมีวันที่และเวลาว่ามาจากผู้จัดส่งรายใด โดยโรงงานส่วนใหญ่ยืนยันว่าไม่ได้ใช้ลิงในการเก็บมะพร้าว
บุณยฤทธิ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องเข้าใจว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่มาตรการของรัฐบาลต่างประเทศ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ จึงไม่ใช่การกีดกันทางการค้าที่อยู่ในกรอบกติกาการค้าสากล เป็นเรื่องของภาคเอกชนกับภาคเอกชน
ด้าน สมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า สำหรับกิจกรรมที่เราจะนำพาทูตต่างๆ ที่ประจำอยู่ในประเทศไทย รวมถึงองค์กรอิสระต่างๆ ลงพื้นที่เข้าไปดูกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำข้อมูลว่าจะไปที่ไหนที่มีความเหมาะสม
ส่วนกรมปศุสัตว์ระบุว่า ในเรื่องของการใช้ลิงนั้น ประเทศไทยมี พ.ร.บ. ป้องกันการทารุณกรรม 2557 มีมาตรการรับข้อร้องทุกข์กล่าวโทษอยู่แล้ว และในช่วง 6 ปีที่ผ่านมาไม่ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการใช้ลิงเกี่ยวกับความทรมาน มีเฉพาะการทำร้ายลิงในธรรมชาติ แต่ก็ถูกดำเนินคดี ถ้ามีการร้องเรียนหรือร้องทุกข์ขึ้นมา กรมก็จะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปสอบสวน
สำหรับยอดการส่งออกกะทิของไทย โดยรวมในปี 2562 รวมอยู่ที่ 1.2 หมื่นล้านบาท โดยส่งไปอังกฤษประมาณ 1,000 ล้านบาท คิดเป็นประมาณร้อยละ 8
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์