×

จุรินทร์ ย้ำประชาธิปัตย์โหวตเห็นชอบแก้รัฐธรรมนูญวาระที่ 3 ต้องการยืนหยัดทำหน้าที่จนสุดทาง ไม่ขอวิจารณ์ท่าทีพลังประชารัฐ

โดย THE STANDARD TEAM
18.03.2021
  • LOADING...
จุรินทร์ ย้ำประชาธิปัตย์โหวตเห็นชอบแก้รัฐธรรมนูญวาระที่ 3 ต้องการยืนหยัดทำหน้าที่จนสุดทาง ไม่ขอวิจารณ์ท่าทีพลังประชารัฐ

วันนี้ (18 มีนาคม) ที่อาคารรัฐสภา จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า พรรคประชาธิปัตย์ก็ได้ทำหน้าที่สุดกำลังความสามารถแล้ว ในความพยายามที่จะผลักดันให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญประสบความสำเร็จ สำหรับการประชุมเมื่อวานนี้ก็เริ่มต้นด้วยการเสนอทางออกเมื่อมีความขัดแย้งกันสองฝ่าย เรื่องความเห็นต่อคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญ นั่นคือตนก็ได้เสนอขอให้มีการส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เกิดความชัดเจนอีกครั้งหนึ่งว่าสามารถที่จะโหวตลงมติในวาระที่ 3 ได้หรือไม่ แต่ว่าเนื่องจากที่ประชุมไม่ได้พิจารณาเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะมีญัตติอีกญัตติหนึ่งเข้ามาสู่การพิจารณา และที่ประชุมเห็นชอบไป ก็หมายความว่าสุดท้ายก็ต้องนำไปสู่การโหวตในวาระที่ 3 ซึ่งการโหวตในวาระที่ 3 พรรคก็ตัดสินใจเดินหน้าต่อไปชัดเจนตามสิ่งที่เราได้พูดไว้ นั่นก็คือลงมติโหวตให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 แต่ว่าเสียงไม่พอ ก็ต้องตกไปอย่างที่ปรากฏในข่าว

 

จุรินทร์ได้ระบุว่า เราได้ทำหน้าที่ของเราจนสุดทางแล้ว สำหรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ สิ่งที่จะต้องคิดต่อไปก็คือว่า เมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ตกไป ความคิดความอ่านในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาธิปัตย์หมดสิ้นไปหรือไม่ ตนก็ขอเรียนว่า เรายังยืนอยู่ในจุดเดิม นั่นคือต้องการเห็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเดินหน้าต่อไปเพื่อพาประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับอนาคตการเมืองของประเทศไทย เพราะฉะนั้นเราก็ต้องมานั่งคิดถัดจากนี้ว่า จะต้องแก้รัฐธรรมนูญในรูปแบบไหน อย่างไร 

 

“อย่างน้อยที่คิดได้เร็วๆ ตอนนี้ก็คือว่า ต้องเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา แล้วก็ต้องย้อนกลับไปสิ่งที่ผมและพรรคประชาธิปัตย์ได้พูดไว้ตั้งแต่เบื้องต้นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีอุปสรรคสำคัญอันหนึ่งก็คือ มีกุญแจดอกใหญ่คล้องประตูประชาธิปไตยไว้ไม่ให้สามารถเปิดออกไปได้ หรือว่าเปิดยากมาก นั่นก็คือมาตรา 256 ในเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีวิธีการที่กำหนดไว้ซับซ้อนมาก เช่น นอกจากต้องใช้เสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของที่ประชุมร่วมแล้ว ในจำนวนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งยังต้องเป็นเสียงของวุฒิสมาชิกไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 และต้องมีเสียงฝ่ายค้านไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ซึ่งอันนี้ก็เป็นเงื่อนไขเพิ่มเติมที่ทำให้สุดท้ายการแก้รัฐธรรมนูญทำได้ยากมาก ถ้าเราไม่แก้มาตรา 256 หรือสะเดาะกุญแจดอกนี้ออกเสียก่อน ประตูประชาธิปไตยก็เปิดออกได้ยากสำหรับอนาคต เพราะจะนำไปสู่การแก้ไขมาตราอื่นๆ หรือเรื่องอื่นๆ เกือบจะเรียกว่าไม่ได้เลยหรือว่ายากยิ่ง เพราะฉะนั้นอย่างน้อยที่สุดความเห็นประชาธิปัตย์ก็คือ ต้องกลับมายืนที่จุดเดิม เมื่อการแก้รัฐธรรมนูญด้วยการยกร่างใหม่ การตั้ง สสร. มีอุปสรรค ก็ต้องย้อนกลับมาที่รายมาตรา มาตรา 256 ที่เป็นจุดยืนดั้งเดิม” จุรินทร์ กล่าว 

 

จุรินทร์กล่าวอีกด้วยว่า ด้วยเหตุที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถดำเนินการโดยลำพังได้นั้น เพราะวันนี้ประชาธิปัตย์มีเสียงแค่ประมาณ 50 เสียง ซึ่งไม่ถึง 100 เสียง ในการยื่นก็จำเป็นจะต้องรวมกับพรรคการเมืองอื่นในการที่จะยื่นญัตตินี้ต่อไป ซึ่งก็จะต้องมีการหารือกัน อย่างน้อยที่สุดก็ในส่วนของวิปรัฐบาลที่จะต้องไปคุยกันต่อไปว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร ส่วนมาตราอื่นๆ ก็จะต้องมีการหารือกันต่อไปว่ามาตราไหนบ้าง อย่างไร แต่อย่างน้อยที่สุดกุญแจดอกใหญ่ต้องได้รับการสะเดาะออกไปเสียก่อนอันนี้คือจุดยืนที่มีความชัดเจนของพรรคประชาธิปัตย์

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเงื่อนไขในการเข้าร่วมรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์จะตอบสังคมอย่างไรนั้น จุรินทร์กล่าวตอบว่า ก็เป็นเงื่อนไขในการเข้าร่วมรัฐบาล ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ยังต้องเดินหน้า ถ้าตราบใดที่รัฐบาลยังไม่เปลี่ยนนโยบายในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผูกพันไว้ต่อรัฐสภาในการแถลงไปแล้ว ประชาธิปัตย์ก็ต้องร่วมมือกับพรรคร่วมรัฐบาลในการผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เดินหน้าต่อไปให้ได้

 

“ผมขอตอบในฐานะที่เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนพรรคการเมืองอื่นก็ถือว่าเป็นดุลพินิจในการตัดสินใจ ที่ตัดสินใจไปอย่างนั้นอย่างนี้เมื่อวาน ซึ่งสื่อก็ทราบดีอยู่แล้ว ส่วนประชาธิปัตย์ที่อยู่ในที่ประชุมและลงมติจนนาทีสุดท้าย อันนั้นก็เป็นจุดยืนของเรา เพราะเราก็ต้องการทำหน้าที่ของเราจนนาทีสุดท้ายเพื่อโหวตลงคะแนนเห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญจนสุดทางที่เราสามารถทำได้แล้ว ตามหน้าที่ของเรา ผมคิดว่าสิ่งนี้ประชาชนก็มองเห็นและเข้าใจได้” จุรินทร์กล่าว

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า เรื่องดังกล่าวจะมีผลต่อการทบทวนท่าทีการร่วมรัฐบาลหรือไม่ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ตอบว่าเรื่องการร่วมรัฐบาล หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ตอบคนเดียวไม่ได้ ไม่ใช่แปลว่าไม่มีอำนาจ แต่ประชาธิปัตย์นั้นไม่มีใครคนใดคนหนึ่งตอบคนเดียวได้ ทุกคนก็ทราบอยู่แล้ว แต่ ณ นาทีนี้ตนคิดว่าสิ่งที่เราจะต้องคิดต่อไปเรื่องรัฐธรรมนูญ ก็จะต้องเดินหน้าที่จะหารือกันกับพรรคร่วมรัฐบาลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไปด้วยรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง และความเห็นประชาธิปัตย์ก็ชัดเจนอย่างที่ได้เรียนไปแล้ว

 

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า จะนำเรื่องนี้ไปคุยกับที่ประชุมพรรคหรือไม่ จุรินทร์ตอบว่า เรื่องนี้ใครคนใดคนหนึ่งตอบไม่ได้ และบางเรื่องเป็นเรื่องอนาคต ซึ่งไม่สามารถตอบเดี๋ยวนี้ได้ แต่ตราบใดที่เรายังทำหน้าที่ในรัฐบาลเราก็จะต้องทำหน้าที่ในการผลักดันในการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไปให้สำเร็จให้จงได้ อันนี้ก็คือความคิดที่มีความชัดเจน 

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หากสมาชิกเรียกร้อง หรือกระแสสังคมเรียกร้องให้ทบทวนจะทำได้หรือไม่ จุรินทร์ตอบว่า เรื่องนี้ต้องเป็นไปตามข้อบังคับ เพราะประชาธิปัตย์ไม่ใช่พรรคการเมืองของใครคนใดคนหนึ่ง จึงต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์ กติกาของพรรค ตอนเข้าร่วมรัฐบาลก็มีการลงมติ เพราะฉะนั้นทุกอย่างมีกฎเกณฑ์กติกา แต่ภารกิจเฉพาะหน้านี้ตนคิดว่าควรจะได้เดินหน้าต่อไปที่มีความชัดเจนอย่างที่ได้เรียนไปแล้ว ก็คือการที่จะต้องผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สามารถที่จะเดินหน้าต่อไปได้ด้วยรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง

 

ผู้สื่อข่าวถามถึงการที่เมื่อช่วงเช้ามีการจุดประเด็นเรื่องการยุบสภาขึ้นมา มองเสถียรภาพรัฐบาลอย่างไร จุรินทร์กล่าวว่า การยุบสภานั้นเป็นกลไกหนึ่งของประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาที่นายกรัฐมนตรีมีอำนาจที่จะยุบสภาได้ เพียงแต่ว่าถ้ามีการยุบสภาในขณะนี้มันก็จะย้อนกลับไปที่สังคมมีความเห็นเมื่อหลายเดือนที่ผ่านมาว่า ถ้ามีการยุบสภา แล้วมีการเลือกตั้งใหม่ ก็จะย้อนกลับไปสู่การใช้กติกาเดิมก็คือกติกาที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แล้วก็การเมืองมันก็อาจจะย้อนกลับมาที่เดิมอีก ก็คือ ณ ที่เป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบัน เพราะฉะนั้นอันนี้คิดว่าสังคมก็ได้รับทราบและเรียนรู้มาระดับหนึ่งแล้ว แต่ว่าถึงอย่างไรไม่ได้แปลว่าตนจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการยุบสภา เพราะเป็นกลไกหนึ่งของการเมืองประชาธิปไตยระบบรัฐสภา ที่สามารถเกิดขึ้นแต่เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี  

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามอีกว่า มองท่าทีของพลังประชารัฐคือการแสดงความไม่จริงใจในการแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่ จุรินทร์กล่าวว่า ตนไม่ขอไปวิจารณ์ล่วงไปถึงพรรคการเมืองอื่น ขอชี้แจงจุดยืนแนวทางของประชาธิปัตย์เท่านั้นว่าเรายังยืนหยัดทำหน้าที่เมื่อวานนี้จนนาทีสุดท้าย ด้วยการลงคะแนนเห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเมื่อร่างรัฐธรรมนูญตกไปก็จะเดินหน้าทำหน้าที่ในการหาวิธีทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไปเพื่อพาประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น นอกจากการที่จะทำหน้าที่ในการเข้าไปดูแลแก้ปัญหาปากท้องให้กับพี่น้องประชาชนในมิติต่างๆ เพราะทั้งสองเรื่องก็จำเป็นจะต้องทำควบคู่กันไป ประเทศก็มีความจำเป็นที่ต้องเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น การแก้ปัญหาปากท้อง เศรษฐกิจ โควิด-19 ให้กับประชาชนก็เป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่จะต้องทำหน้าที่คู่ขนานกันไป เพราะหลายท่านอาจเกิดคำถามว่า ทำไมมายุ่งแต่เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน ตนจึงต้องเรียนว่า ประชาธิปัตย์มีความเห็นว่าต้องทำทั้งสองเรื่อง ทุกอย่างทำสองเรื่องสามเรื่องพร้อมกันได้ และให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาปากท้องให้ประชาชน สามารถทำได้คู่กับการแก้รัฐธรรมนูญได้

 

ทั้งนี้จุรินทร์ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันนี้ก็จะทำหน้าที่ให้เต็มที่อีกเรื่องหนึ่ง คือจะสนับสนุนให้กฎหมายประชามติผ่านที่ประชุมร่วมรัฐสภาให้ได้ เพราะเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญในการที่จะใช้ในการดำเนินการต่อไปในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะว่าบางมาตราระบุไว้ว่าถ้าจะแก้มาตรานั้น เช่น มาตรา 256 (8) ก็จำเป็นต้องนำไปทำประชามติถ้าไม่มีกฎหมายประชามติ การแก้รัฐธรรมนูญก็จะมาติดหล่มที่ไม่มีกฎหมายประชามติอีก เพราะฉะนั้นเพื่ออนาคต เราก็ต้องผ่านกฎหมายประชามติไว้ก่อนวันนี้ แม้รัฐธรรมนูญเมื่อวานนี้ไม่ผ่านก็ตาม

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising