กระทรวงพาณิชย์เผยตัวเลข การส่งออก เดือนกรกฎาคมขยายตัวที่ 4.3% ขณะที่ภาพรวมการส่งออก 7 เดือนแรกโตได้ 11.5% สั่งทูตพาณิชย์ทั่วโลกเร่งจัดกิจกรรมกระตุ้นการส่งออก มั่นใจทั้งปียังโตได้เกินเป้าหมายที่ 4-5%
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงข่าวภาวะการค้าระหว่างประเทศเดือนกรกฎาคม 2565 พบว่า ตัวเลขการส่งออกขยายตัวได้ 4.3% คิดเป็นมูลค่ารวม 2.36 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 8.25 แสนล้านบาท ส่งผลให้ตัวเลขการส่งออกช่วง 7 เดือนแรกของปี 2565 ขยายตัวได้ 11.5% คิดเป็นมูลค่า 1.72 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 5.77 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้ หากจำแนกดูตามหมวดสินค้าพบว่า การส่งออกหมวดสินค้าเกษตรหดตัวลงเล็กน้อยที่ -0.3% จากการหมดฤดูกาลของผลไม้บางตัวที่เร็วกว่าคาด โดยมีมูลค่าคิดเป็นมูลค่าราว 2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 8.2 หมื่นล้านบาท สำหรับสินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ ผลไม้แช่แข็ง ผลไม้แห้ง ไก่สดไก่แปรรูป ข้าว และยางพารา
ขณะที่หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรขยายตัวได้ 38.1% คิดเป็นมูลค่าราว 2.06 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 7.25 หมื่นล้านบาท โดยมีสินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ น้ำตาลทราย ไอศกรีม อาหารสัตว์เลี้ยง ผลไม้ประป๋องและผลไม้แปรรูป อาหารทะเลกระป๋อง และอาหารทะเลแปรรูป
ด้านหมวดสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวได้เพียง 0.1% จากปัญหาขาดแคลนชิปและเซมิคอนดักเตอร์ คิดเป็นมูลค่า 1.79 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 6.3 แสนล้านบาท มีรายการสินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศ ผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม อัญมณีและเครื่องประดับ และเครื่องนุ่งห่ม
สำหรับตลาดที่ขยายตัวสูง 10 อันดับแรก ประกอบด้วย
- เกาหลีใต้ +39.4%
- ตะวันออกกลาง +27.4%
- แคนาดา +27.3%
- CLMV +24.2%
- อาเซียน +21.3%
- เอเชียใต้ +21.1%
- ออสเตรเลีย +20.0%
- สหราชอาณาจักร +17.2%
- สหภาพยุโรป +8.1%
- สหรัฐอเมริกา +4.7%
สำหรับปัจจัยบวกสำคัญที่ช่วยสนับสนุนตัวเลขการส่งออกเพิ่มขึ้นในเดือนกรกฎาคม ประกอบด้วย
- ความต้องการอาหารจากทั่วโลกที่ยังอยู่ในระดับสูงขึ้น
- การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิดที่ทำให้สินค้าในหมวดที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางปรับตัวดีขึ้น
- การที่ค่าระวางเรือเริ่มมีแนวโน้มลดลง และปัญหาความล่าช้าในการขนส่งที่ท่าเรือหลักๆ ทั่วโลกเริ่มคลี่คลาย
- การอ่อนค่าของเงินบาทที่มีส่วนช่วยให้การส่งออกการแข่งขันในตลาดโลกแข่งขันได้มากขึ้น
รมว.พาณิชย์ยังประเมินว่า ปัจจัยบวกในข้างต้นจะมีส่วนช่วยให้แนวโน้มการส่งออกไทยในช่วงที่เหลือของปียังเป็นบวกต่อเนื่อง โดยเชื่อมั่นว่าภาพรวมการส่งออกในปีนี้จะขยายตัวได้เกินเป้าหมายที่วางเอาไว้ในช่วงต้นปีที่ 4-5%
อย่างไรก็ดี ปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องจับตาดูคือ ปัญหาสงครามในยูเครน ที่จะสร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของโลก และปัญหาการขาดแคลนชิปและเซมิคอนดักเตอร์ที่อาจสร้างผลกระทบต่อการผลิตของไทย
“ยังมั่นใจว่าการส่งออกในปีนี้จะโตได้เกินเป้าแน่นอน แต่จะโตได้มากเท่าไรจะมีการประเมินอีกครั้งในอีก 1-2 เดือน เนื่องจากตอนนี้กระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างเตรียมแผนเชิงรุกและเชิงลึกเพื่อผลักดันการส่งออกในช่วง 5 เดือนที่เหลือ โดยได้สั่งการให้ทูตพาณิชย์ทั่วโลกเร่งจัดกิจกรรมเชิงรุกเพิ่มขึ้นอีก 345 กิจกรรม ทำให้เมื่อรวมกับของเดิมจะมีกิจกรรมกระตุ้นส่งออกในปีนี้มากถึง 530 กิจกรรม” จุรินทร์กล่าว
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP